กรุงเทพฯ 27 มกราคม 2568 – สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์แนวโน้มของทองคำสำหรับปี 2568 โดยเน้นว่าอัตราดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปริมาณความต้องการทองคำในปี 2568 ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ทองคำได้แสดงผลตอบแทนที่โดดเด่นในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตรายปีสูงที่สุดในรอบ 24 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับปี 2567 ทองคำมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 25.5% สูงกว่าสินทรัพย์หลักประเภทอื่น ๆ ทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากบทบาทของทองคำในการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของตลาดที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยตลอดทั้งปีราคาทองคำจากสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอนที่ทำการซื้อขายช่วงบ่าย (LBMA Gold Price PM) ได้ทำสถิติแตะระดับสูงสุดใหม่ถึง 40 ครั้ง โดยราคาสูงสุดตลอดกาล (All-Time High) ของทองคำครั้งล่าสุดนั้นอยู่ที่ 2,777.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก ให้ความเห็นว่า “การซื้อทองคำของธนาคารกลางและนักลงทุนได้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของความต้องการภาคผู้บริโภคได้เป็นอย่างมาก นักลงทุนจากภูมิภาคเอเชียนั้นยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนที่ลดลงและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 3 ของปี 2567 ได้กระตุ้นกระแสการลงทุนจากฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามบทบาทของทองคำในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงท่ามกลางความผันผวนของตลาดและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์นั้นน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยอธิบายถึงผลการประกอบการที่น่าทึ่งนี้”
ตลาดโดยรวมคาดการณ์ว่าราคาทองคำจะเคลื่อนไหวภายในกรอบจำกัด สำหรับปี 2568
สภาทองคำโลกได้เปิดเผยว่า ความเห็นของตลาดโดยรวมนั้นคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมเป็น 1.00% ภายในสิ้นปี 2568 โดยที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงแต่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมาย ด้านธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้เคียงกันเช่นกัน สถานการณ์นี้อาจบ่งชี้ว่าผลการประกอบการของทองคำจะอยู่ในระดับปานกลางสำหรับปีนี้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีปัจจัย
อื่น ๆ เข้ามากระตุ้นในช่วงระหว่างปีนี้ได้ ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจสร้างแรงกระตุ้นให้กับเศรษฐกิจในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความวิตกกังวลในระดับหนึ่งให้กับนักลงทุนทั่วโลกเช่นกัน
ภายใต้บริบทนี้ การดำเนินการของธนาคารกลางสหรัฐและความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ ฯ ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทองคำ แต่อย่างไรก็ดีช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่กำหนดผลการดำเนินงานของทองคำ โดยสภาทองคำโลกได้ใช้กรอบแนวทางการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมทุกปัจจัยและภาคส่วนที่ผลักดันอุปสงค์และอุปทานของทองคำ จากการวิเคราะห์บนพื้นฐานของ QaurumSM สภาทองคำโลกเชื่อว่าหากเศรษฐกิจโลกเป็นไปตามการคาดการณ์ในปี 2568 ทองคำอาจมีการซื้อขายภายในกรอบที่ใกล้เคียงกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา และอาจมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในบางสถานการณ์
ความต้องการทองคำผู้บริโภคในประเทศไทยได้พุ่งสูงขึ้นในปี 2567
สภาทองคำโลกยังได้กล่าวถึงความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยในปี 2567 ที่มีความแข็งแกร่งและโดดเด่นอย่างน่าสนใจเป็นพิเศษ โดยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่คนไทยเลือกและลงทุน ในช่วงที่เศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศมีความไม่แน่นอน
คุณเซาไก ฟาน กล่าวเสริมว่า “เราพบว่านักลงทุนไทยได้มองทองคำเป็นทั้งเครื่องมือรักษามูลค่าของทุนและการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว โดยการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ แม้ว่าในระดับโลกความต้องการจะลดลง 9% แต่ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำของผู้บริโภคไทยกลับสวนทางและเพิ่มขึ้นถึง 15% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับไตรมาสดังกล่าวอีกด้วย”
เงินเฟ้อและความเสี่ยงต่าง ๆ อาจช่วยกระตุ้นความต้องการทองคำให้สูงขึ้น
นโยบายการคลังที่เป็นมิตรกับธุรกิจมากขึ้น ผสานกับแนวทาง "America First" ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นมีแนวโน้มที่จะช่วยปรับปรุงความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น (Risk-On) ในช่วงเดือนแรก ๆ ของปี อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญคือนโยบายเหล่านี้จะนำไปสู่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานหรือไม่
นอกจากนี้ความกังวลต่อเรื่องหนี้สาธารณะในยุโรปก็ได้กลับมาสร้างความกดดันอีกครั้ง ไม่นับว่าความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในประเทศเกาหลีใต้และซีเรียเมื่อเดือนธันวาคม 2567 สภาทองคำโลกเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้อาจกระตุ้นให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยง เช่น ทองคำ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตอบรับกับสภาวะการณ์ดังกล่าว
ธนาคารกลางยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารกลางนั้นเป็นผู้ซื้อสุทธิมายาวนานเกือบ 15 ปีติดต่อกัน1 และถึงแม้ว่าความต้องการทองคำจากธนาคารกลางในปีนี้อาจต่ำกว่าสถิติปีในที่ผ่านมา แต่สภาทองคำโลกมองว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดตอบแทนของทองคำได้ในระดับประมาณ 7-10%2
นอกจากนี้ธนาคารกลางจะยังคงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญต่อทิศทางของทองคำต่อไป ซึ่งการซื้อทองคำของธนาคารกลางนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายและยากที่จะคาดการณ์เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามการสำรวจและวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกได้ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มปัจจุบันจะยังคงอยู่ในทิศทางเดิม และคาดการณ์ว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางระยะยาวโดยประมาณจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 500 ตัน และจะยังคงส่งผลกระทบสุทธิเชิงบวกต่อผลตอบแทนทองคำ ทั้งนี้สภาทองคำโลกมองว่าความต้องการของธนาคารกลางในปี 2568 อาจสูงกว่าระดับดังกล่าวได้ แต่ในทางกลับกันหากลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์สภาวะนี้อาจเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดทองคำได้เช่นกัน
บทสรุปภาพรวมของทองคำในปี 2568 การวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกซึ่งอ้างอิงจากโมเดลของ QaurumSM ระบุว่า หากความคาดหวังของตลาดในปัจจุบันนั้นถูกต้อง ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ภายในกรอบไม่กว้างมาก (Rangebound) อย่างไรก็ตามการผสานระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อนักลงทุนและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย
ในทางกลับกันหากอัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และหากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์หรือสภาวะตลาดเป็นไปในทิศทางที่ทรุดตัวลงกว่าเดิม ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผลการดำเนินงานของทองคำปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางซึ่งยังคงแข็งแกร่งจะช่วยสนับสนุนตลาดทองคำต่อไป ท้ายที่สุดแล้วราคาทองคำนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยขับเคลื่อนหลัก 4 ประการ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงต่าง ๆ ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการลงทุน และแรงผลักดันของแนวโน้มจากทิศทางตลาด
สภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มของทองคำตามกรอบแนวทางการประเมินมูลค่าของ QaurumSM และสภาทองคำโลก โดยได้วิเคราะห์ว่าหากทิศทางเศรษฐกิจโลกและอัตราดอกเบี้ยยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดในปัจจุบัน ทองคำอาจจะยังคงได้รับแรงหนุนจากการลงทุนต่อไป
รายงานภาพรวมของทองคำช่วงกลางปีที่สภาทองคำโลกได้เผยแพร่ยังชี้ให้เห็นว่าทองคำมีผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์หลักส่วนใหญ่ในครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา โดยในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ทองคำพุ่งขึ้นสูงถึง 12% และเกือบแตะ 15% ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ผลตอบแทนของทองคำในครึ่งแรกของช่วงครึ่งปีหลังนี้มีความแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับสูงและเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งมักจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อทองคำ มีสาเหตุหลายประการด้วยกันที่จะทำให้ทองคำมีผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง สภาทองคำโลกได้เริ่มเห็นว่านักลงทุนได้หันกลับมาสนใจในทองคำอีกครั้ง จากกระแสการลงทุนที่ไหลเข้าสู่กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำสำหรับนักลงทุนในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม และในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการลดลงของอัตราดอกเบี้ยควบคู่กับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ อาจช่วยสนับสนุนแนวโน้มนี้ต่อไป
คุณฮวน คาร์ลอส อาร์ทิกัส (Juan Carlos Artigas) หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “เช่นเดียวกับในเศรษฐกิจระดับโลก ดูเหมือนว่าทองคำกำลังรอปัจจัยที่จะเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของกระแสการลงทุนจากทางตะวันตกในขณะที่อัตราดอกเบี้ยลดลง หรือตัวชี้วัดระดับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มของทองคำในอนาคตอาจจะยังมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการจัดสรรสินทรัพย์นั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น”
คุณฮวน กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน นักลงทุนจึงต้องการรู้ว่าแนวโน้มของทองคำที่ผ่านมาจะยังสามารถดำเนินต่อไปหรือจะลดความร้อนแรงลง ในอดีตตลาดมักมองเฉพาะที่อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในการกำหนดมุมมองเกี่ยวกับทองคำ ซึ่งหากมองจากแนวทางดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นั้นน่าจะส่งผลเชิงลบต่อทองคำ แต่ราคาทองกลับพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง และมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในตลอดทั้งไตรมาสที่ 2”
สภาทองคำโลกคาดว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางในปีนี้จะยังคงสูงกว่าแนวโน้มที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับ Metals Focus โดยการคาดการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานผลการสำรวจจากธนาคารกลางของสภาทองคำโลกที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองทองคำยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำต่อไป อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าธนาคารกลางบางแห่งซึ่งรวมถึงธนาคารประชาชนจีน (PBoC) นั้นได้ปรับลดปริมาณการซื้อทองคำลง นักลงทุนชาวเอเชียยังได้มีบทบาทสำคัญต่อผลการดำเนินงานของทองคำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดจากความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ รวมถึงการไหลเข้าของกระแสการลงทุนใน ETF ทองคำในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567
คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ได้เพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับจำนวน 9 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตคิดเป็น % ที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับไตรมาสที่ 2 และแม้ว่าราคาทองคำได้พุ่งสูงขึ้น ความต้องการทองคำทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1,258 ตัน และถือเป็นไตรมาสที่ 2 ของปีที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เราได้เก็บรวบรวมข้อมูลมา เมื่อมองไปในอนาคต คำถามคือมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะผลักดันให้ทองคำยังคงมีความน่าสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ในกลยุทธ์การลงทุนต่อไป จากการคาดการณ์และรอคอยมาเป็นระยะยาวนานว่าธนาคารกลางสหรัฐ ฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้ ทำให้กระแสการลงทุนได้ไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจากตะวันตกหันกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง การฟื้นตัวของการลงทุนจากกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง อาจเปลี่ยนแนวโน้มการเคลื่อนไหวของความต้องการทองคำในช่วงครึ่งหลังของปี 2567”
ผลการดำเนินงานของทองคำในสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยหลักสี่ประการ
โดยสรุปแล้วทองคำอาจยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่จำกัด (Rangebound) หากธนาคารกลางสหรัฐใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ทองคำจะมีผลตอบแทนสูงกว่าจากจุดนี้ โดยอาจเกิดจากแรงหนุนของกระแสการลงทุนในฝั่งตะวันตก ในทางกลับกันหากความต้องการทองคำของธนาคารกลางลดลงอย่างมาก และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอเชียเปลี่ยนไป นักลงทุนอาจเห็นการปรับฐานในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้การวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกได้แสดงให้เห็นว่าทองคำมีบทบาทสำคัญในการกระจายความเสี่ยง และเป็นแหล่งสภาพคล่องทางการเงิน ควบคู่ไปกับการให้ผลตอบแทนระยะยาวในเชิงบวก
นายคริสชัน โกพอล นักวิเคราะห์อาวุโส ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้ให้ความเห็นในบทความวิเคราะห์ด้านการซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดคำถามหลายประการ หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่าธนาคารกลางต่าง ๆ ซึ่งมีความต้องการทองคำที่ผลักดันให้ราคาพุ่งสูงในช่วงที่ผ่านมา จะมีพฤติกรรมการซื้อทองคำเปลี่ยนไปตอบสนองต่อราคาที่สูงขึ้นหรือไม่
จากการที่สภาทองคำโลกมีข้อมูลเดือนมีนาคมในปัจจุบันที่สมบูรณ์ขึ้น รวมถึงได้รับข้อมูลเบื้องต้นของเดือนเมษายน ทำให้มีมุมมองต่อแนวทางของธนาคารกลางชัดเจนมากขึ้น โดยตัวเลขล่าสุดจากการรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าปริมาณทองคำสำรองสุทธิ (Net Reserves) เพิ่มขึ้น 33 ตันในเดือนเมษายน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่พบในเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 27 ตัน1 แม้ว่ายอดการซื้อรวม (Gross Purchase) ได้ลดลงมาอยู่ที่ 36 ตัน จาก 39 ตันในเดือนมีนาคม แต่ยอดขายรวม (Gross Sales) นั้นลดลงอย่างอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยลดจาก 36 ตันเหลือเพียง 3 ตันในเดือนเมษายน
การซื้อสุทธิของธนาคารกลาง ฟื้นตัวในเดือนเมษายน
ปริมาณการซื้อและการขายโดยรวมของธนาคารกลาง รายเดือน (หน่วย: ตัน)*
* ข้อมูลจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2024 ที่สามารถรวบรวมได้ (ที่มา: สถิติการเงินระหว่างประเทศ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF IFS) ธนาคารกลางที่เกี่ยวข้อง และสภาทองคำโลก (WGC) )
สภาทองคำโลกรายงานว่าธนาคารกลางจำนวนแปดแห่งได้เพิ่มปริมาณสำรองทองคำอย่างน้อยหนึ่งตันในเดือนเมษายนโดยมีธนาคารกลางตุรกีเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้เพิ่มทุนสำรองอย่างเป็นทางการขึ้น 8 ตัน2 และซื้อต่อเนื่องเป็นเวลา 11 เดือนติดต่อกัน ยอดซื้อสุทธิของธนาคารกลางตุรกีในปี 2567 ขณะนี้รวมอยู่ที่ 38 ตัน รวมการถือครองทองคำอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นเป็น 578 ตัน นอกจากนี้แล้วธนาคารกลางคาซัคสถานได้เพิ่มทองคำสำรองอีก 6 ตัน ธนาคารกลางอินเดียจำนวน 6 ตัน ธนาคารแห่งชาติโปแลนด์จำนวน 5 ตัน องค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์จำนวน 4 ตัน ธนาคารกลางรัสเซียจำนวน 3 ตัน และธนาคารแห่งชาติเช็กเพิ่มขึ้นจำนวน 2 ตันในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ด้านธนาคารประชาชนจีนได้รายงานการซื้อทองคำที่ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยแจ้งว่าปริมาณทองคำสำรองเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 ตันในเดือนเมษายน รวมเป็นจำนวน 2,264 ตัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ได้กลับมารายงานปริมาณถือครองทองคำในเดือนพฤศจิกายน 2565 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนก่อนเมษายนซึ่งเคยอยู่ที่ 18 ตัน
ด้านยอดขายรวมที่น่าสนใจจำกัดอยู่เพียงธนาคารกลางของประเทศอุซเบกิสถานและจอร์แดนเท่านั้น ทั้งสองประเทศรายงานว่ามีทองคำสำรองลดลง 1 ตัน ซึ่งเป็นอัตราการขายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม
ความต้องการทองคำของธนาคารกลางยังคงแข็งแกร่งในปี 2567
ปริมาณการซื้อ/ขายสุทธิ ตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไปของธนาคารกลาง ในปี 2567 นับจนถึงปัจจุบัน (Year to Date)*
* ข้อมูลจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2024 ที่สามารถรวบรวมได้ ( ที่มา: สถิติการเงินระหว่างประเทศ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF IFS) ธนาคารกลางที่เกี่ยวข้อง และสภาทองคำโลก (WGC) )
นายคริสชัน โกพอล ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในเดือนมีนาคมภายหลังจากที่ได้รวมรายงานการขายที่ล่าช้าของธนาคารกลางของฟิลิปปินส์จำนวน 12 ตันแล้ว พบว่ายอดซื้อสุทธิได้ปรับลดลงเหลือเพียง 3 ตัน และแม้ว่ายอดซื้อรวมของเดือนมีนาคมจะค่อนข้างคงที่ในสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยอดขายรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการขายจำนวนมากของธนาคารกลาง 4 แห่ง (รายงาน ณ ปัจจุบัน) สิ่งนี้แสดงให้เห็นโดยนัยว่าราคาอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของธนาคารกลางบางแห่งได้ในบางส่วน
นายคริสชันยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าการซื้อสุทธิได้ชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม แต่การเพิ่มขึ้นของปริมาณในเดือนเมษายนเบื้องต้นอาจส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางได้มองข้ามราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น และดำเนินตามแผนการซื้อเชิงกลยุทธ์ต่อไป แน่นอนว่าเมื่อข้อมูลของเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมรายงานออกมาเพิ่มเติมจะช่วยให้แนวทางสำหรับการประเมิณว่าการซื้อทองคำของธนาคารกลางจะพัฒนาไปในทิศทางใดได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายนทางสภาทองคำโลกจะเผยแพร่ผลการสำรวจด้านทองคำของธนาคารกลางประจำปี 2567 (Central Bank Gold Survey 2024) ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดของธนาคารกลางทั่วโลกต่อทองคำ และสิ่งที่จะส่งอิทธิพลต่อการซื้อทองคำในอนาคต
บทความ : คริสซัน โกลพอล / นักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ( EMEA) สภาทองคำโลก
รายงาน Gold Demand Trends ฉบับล่าสุดจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยความต้องการของทองคำทั่วโลก (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) ในไตรมาส 2 ดิ่ง 8% มาอยู่ที่ 948 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม กระแสเงินลงทุนจาก ETF ที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1 กลับเป็นแรงผลักให้ความต้องการทองคำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 12% หรือที่ 2,189 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ 2564