December 22, 2024

ภาวะเงินเฟ้อหนุน ความต้องการทองคำในไทยเพิ่มขึ้นแตะ 14% เมื่อเทียบเป็นรายปี  

August 04, 2022 1088

 

รายงาน Gold Demand Trends ฉบับล่าสุดจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยความต้องการของทองคำทั่วโลก (ไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์) ในไตรมาส 2 ดิ่ง 8% มาอยู่ที่ 948 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม กระแสเงินลงทุนจาก ETF ที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1 กลับเป็นแรงผลักให้ความต้องการทองคำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 12% หรือที่ 2,189 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ 2564

ในไตรมาส 2/2565 ความต้องการทองคำของผู้บริโภคในไทยเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบเป็นรายปี กล่าวคือ จาก 7.5 ตัน ในไตรมาส 2/2564 ไปเป็น 8.5 ตัน ในไตรมาส 2/2565 ด้วยแรงหนุนจากความต้องการอัญมณีที่สูงขึ้น 10% จาก 1.7 ตัน ในไตรมาส 2/2564 เป็น 1.9 ตัน ในไตรมาส 2/2565 และความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำพุ่ง 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี จาก 5.7 ตัน ในไตรมาส 2/2564 มาเป็น 6.6 ตัน ในไตรมาส 2/2565 ทั้งนี้ การใช้เครื่องประดับได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การผ่อนคลายมาตรการด้านโควิด-19 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

Mr. Andrew Naylor ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาค APAC (ไม่รวมประเทศจีน) ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ครั้งนี้นับเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันที่เราได้เห็นความต้องการของอัญมณีในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาทองคำที่ลดลง รวมถึงความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน ท่ามกลางปัญหาเงินบาทอ่อนค่าและความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องประดับทั่วโลกยังคงสูงกว่าการบริโภค เนื่องจากความต้องการในภาคส่วนนี้ยังคงต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด”

เมื่อพิจารณาจากภาพรวมของดีมานส์ทั่วโลกแล้วหลังจากที่มีกระแสความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นช่วงแรกในเดือนเมษายนราคาทองคำกลับปรับลดในไตรมาส 2/2565 เนื่องจากนักลงทุนหันไปสนใจอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมาก 

ราคาทองคำที่ลดลง 6% ในไตรมาสนี้ส่งผลกระทบต่อ ETF ทองคำ ทำให้เกิดการไหลออกที่ 39 ตัน ในไตรมาส 2 การไหลเข้าสุทธิในครึ่งปีแรกคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 234 ตัน เทียบกับ 127 ตัน ของการไหลออกในครึ่งปีแรกของปี 2564  อย่างไรก็ตาม การลดลงในไตรมาส 2 มีแนวโน้มทำให้ ETF อ่อนลงในช่วงครึ่งปีหลัง หากภาพรวมเงินเฟ้อลดลงท่ามกลางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง 

ความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำยังคงทรงตัวอยู่ที่ 245 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี ในไตรมาส 2 ความต้องการที่เพิ่มขึ้นชี้ชัดว่ามาจากตลาดอินเดีย ตะวันออกกลาง และตุรกี ซึ่งช่วยพยุงในส่วนของความต้องการที่ลดลงของจีน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ดีมานส์ทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกจึงตกลงมาที่ 12% มาอยู่ที่ 526 ตัน ในครึ่งปีแรก เมื่อเทียบเป็นรายปี

ในภาคอัญมณี ดีมานส์ทองคำในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 4% มาอยู่ที่ 453 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของดีมานส์ในอินเดีย นับว่าเพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ผลประกอบการที่แข็งแกร่งในอินเดียช่วยลดแรงปะทะจากดีมานส์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่า 29% ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ธนาคารกลางต่าง ๆ นับเป็นผู้ซื้อสุทธิในไตรมาส 2 โดยเพิ่มทุนสำรองทางการทั่วโลกที่ 180 ตัน การซื้อสุทธิสูงถึง 270 ตันในครึ่งปีแรก ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของธนาคารกลางเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ 25% ของผู้ทำแบบสอบถามชี้ถึงแผนที่จะเพิ่มการสำรองทองคำในอีก 12 เดือนข้างหน้า[1] 

เมื่อหันไปมองภาคเทคโนโลยี จะเห็นว่าดีมานส์ทองคำลดลง 2% จากไตรมาส 2/2564 ที่ 78 ตัน ส่งผลให้ความต้องการในครึ่งปีแรกของปี 2565 ลดลงเล็กน้อยที่ 159 ตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี ภาคอิเล็กทรอนิกส์ยังคงประสบปัญหากับการหยุดชะงักของสายการผลิต อีกทั้งความต้องการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคยังลดลง เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยทั้งสองปัจจัยนี้มีผลต่อดีมานส์ที่ลดลงมาเล็กน้อยนี้

จากรายงานข้อมูล Gold Demand Trends[2] การทำเหมืองในช่วงครึ่งปีแรกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,764 ตัน เพิ่มขึ้น 3% ในครึ่งปีแรกของปี 2564 การผลิตได้รับแรงหนุนจากการที่บางโครงการขุดแร่ทองคำที่มีคุณภาพสูงขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของจีนยังกลับมาสร้างผลผลิตได้ในระดับปกติ หลังจากการหยุดเดินเครื่องเพื่อความปลอดภัยเมื่อปีที่ผ่านมา ราคาทองคำที่สูงขึ้นในไตรมาส 1 และความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนได้เพิ่มกิจกรรมการรีไซเคิลให้สูงขึ้น โดยการรีไซเคิลในช่วงครึ่งปีแรกทั้งหมดอยู่ที่ 592 ตัน เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

Ms. Louise Street  นักวิเคราะห์อาวุโสประจำภูมิภาค EMEA ของสภาทองคำโลกให้ความเห็นว่า “ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ตลาดทองคำทั่วโลกได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ มันยังต้องปะทะกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และแม้ว่าเราจะเห็นราคาที่ลดลงจากระดับที่สูงเป็นพิเศษในไตรมาส 1 ก็ตาม แต่ทองคำก็ยังนับเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดของปีนี้

“ในอนาคต เราเล็งเห็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับทองคำในครึ่งปีหลังของปี 2565 ความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมีแนวโน้มผลักดันให้เกิดการลงทุนในทองคำต่อไป แต่การตึงตัวของค่าเงินและดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปัญหาได้ และเนื่องจากหลายประเทศกำลังเผชิญหน้ากับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและวิกฤตค่าครองชีพยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจำกัดการใช้จ่าย ความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดลง แม้ว่าควรจะมีจุดแข็งอยู่บ้างก็ตาม”

สามารถอ่านรายงาน Gold Demand Trends ฉบับครอบคลุมข้อมูลสำหรับไตรมาส 2/2565 ของทาง Metals Focus ได้ที่นี่: https://www.gold.org/goldhub/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-q2-2022   

สามารถติดตามข่าวสารของสภาทองคำโลกเพิ่มเติมได้ทาง Twitter @goldcouncil หรือกดไลก์ได้ที่ Facebook Page: World Gold Council

 

 

[1]สภาทองคำโลก, แบบสำรวจธนาคารกลางประจำปี - มิถุนายน 2565 https://www.gold.org/goldhub/data/2022-central-bank-gold-reserve-survey

[2]ชุดข้อมูล Gold Demand ที่อ้างอิงในที่นี้ย้อนไปถึงปี 2543

X

Right Click

No right click