

สสว. MOU ไคโก ไลฟ์ จากแดนปลาดิบ เพื่อขยายช่องทางการตลาดไปในประเทศญี่ปุ่นผ่านแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ Thai-Japan BIG ADVANCE GLOBAL เชื่อมต่อสถาบันการเงินทั้งไทยและญี่ปุ่น ให้บริการแก่สมาชิก ONE ID ของ สสว.
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า พิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สสว. และ บริษัท ไคโก ไลฟ์ จำกัด ผ่านแพลตฟอร์ม “Thai-Japan BIG ADVANCE GLOBAL” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นสมาชิก ONE ID ของ สสว. ผ่านแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ Thai-Japan BIG ADVANCE GLOBAL (“TH-JP BAG”) กำหนดระยะเวลาความร่วมมือตั้งแต่ วันนี้ จนถึง วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2571 หรือมีระยะเวลา 3 ปี เป็นต้นไป
รก. ผอ. สสว. เผยอีกว่า สำหรับบทบาทของ สสว. คือ เพื่อสร้างขีดความสามารถและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เอสเอ็มอี รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ และร่วมประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบกิจการของเอสเอ็มอีและวิสาหกิจรายย่อย เช่น จัดหาสิทธิประโยชน์สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์ม “TH-JP BAG” และความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับคู่ธุรกิจระหว่างเอสเอ็มอีไทย-ญี่ปุ่น ตลอดจนการให้คำปรึกษาทางธุรกิจเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ
“บริษัท ไคโก ไลฟ์ ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น คือ Kokopelli ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 64,000 ราย และธุรกิจเหล่านี้ก็จะเข้าร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทยเอสเอ็มอีไทยในอนาคตอีกด้วย”
นายชินธิป พรประภา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไคโก ไลฟ์ จำกัด กล่าวว่า ขอบเขตความร่วมมือของบริษัท ได้แก่ การให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของ สสว. ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจรายย่อย รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ “TH-JP BAG” ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศญี่ปุ่น ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจรายย่อย
“บริษัท ไคโก ไลฟ์ จำกัด ขอมอบสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการภายใต้ MOU โดยจะร่วมกันขยายช่องทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจที่มีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ในด้านการเชื่อมต่อสถาบันการเงินร่วมให้บริการแก่สมาชิกเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีสถาบันการเงินกว่า 80 สถาบัน ร่วมให้บริการในประเทศญี่ปุ่น การต่อยอดในประเทศไทยจะเป็นการพัฒนาคุณลักษณะของการใช้งาน เชื่อมโยงสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อให้บริการร่วมในแพลตฟอร์ม TH-JP นี้ โดย Kokopelli ร่วมกับบริษัท ไคโก ไลฟ์ จำกัด พัฒนาระบบให้เหมาะกับเอสเอ็มอีไทยที่มีความแตกต่างในการทำธุรกิจและการเชื่อมต่อกับสถาบันการเงินที่แตกต่างกัน โดยอ้างอิงจากการดำเนินการที่ญี่ปุ่นเป็นพื้นฐาน รวมถึงการเชื่อมต่อเครื่องมือทางการเงินจากต่างประเทศและการสร้างโอกาสผ่านการจับคู่ธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตและบริการของเอสเอ็มอี” นายชินธิป กล่าว
เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ระดับ 53.9 อานิสงส์จากช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และการเบิกจ่ายเงินโบนัสประจำปีของภาคเอกชน ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่ท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาคและกระตุ้นใช้จ่ายมากขึ้น
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยดัชนี SMESI ประจำเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 53.9 จากระดับ 53.0 ของเดือนก่อนหน้า และปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มีปัจจัยบวกจากการขยายตัวอย่างชัดเจนของภาคการบริการ ตามแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เร่งตัวสูงในช่วงเทศกาลปลายปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกด้านกำลังซื้อจากการเบิกจ่ายเงินโบนัสประจำปีของภาคเอกชนที่กระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก อย่างไรก็ตามภาคการผลิตมีแนวโน้มทรงตัว ตามการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลดกำลังการผลิตตามจำนวนวันหยุดในช่วงสิ้นปี เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบ มีสาเหตุมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งด้านการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค โดยองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 62.0 เป็นระดับ 63.3 องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 58.1 เป็นระดับ 58.5 องค์ประกอบด้านการลงทุนโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดจากระดับ 50.6 เป็นระดับ 52.2 องค์ประกอบด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 39.2 เป็นระดับ 39.8 องค์ประกอบด้านกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 58.0 เป็นระดับ 59.4 และองค์ประกอบด้านการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.2 เป็นระดับ 50.3
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME รายสาขาธุรกิจ ประจำเดือนธันวาคม 2567 พบว่า ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 54.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.3 ของเดือนก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวในทุกพื้นที่จากภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างประเทศที่พุ่งสูงในช่วงปลายปี นอกจากนี้วันหยุดยาวและการจัดงานอีเว้นท์ส่งเสริมเทศกาลต้อนรับปีใหม่ ยังส่งผลดีให้กับหลายสาขาธุรกิจ ทั้งกลุ่มงานจัดเลี้ยง งานสันทนาการ ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 58.6 ปรับเพิ่มจากระดับ 57.8 ของเดือนก่อนหน้า โดยปรับตัวดีขึ้น ตามองค์ประกอบด้านปริมาณผลผลิตที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ หลายรายการยังมีราคาสูงต่อเนื่อง และแรงส่งด้านสภาพอากาศที่เย็นลง ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 53.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 52.6 ของเดือนก่อนหน้า ซึ่งภาคการค้ายังขยายตัวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่กลุ่มการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามกลุ่มสินค้ากึ่งคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ปรับตัวดีขึ้นในบางพื้นที่จากการจ่ายเงินโบนัสประจำปี ขณะที่ภาคการผลิตอยู่ในระดับทรงตัวที่ระดับ 52.6 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.5 เป็นผลมาจากการทยอยขายสินค้าที่ผลิตไว้ โดยเฉพาะอาหาร ยาและสมุนไพร และสินค้าของฝาก ในกลุ่มที่มีราคาต่อหน่วยไม่สูง ในขณะที่ภาพรวมเดือนนี้มีการลดปริมาณการผลิตลง ตามจำนวนวันทำงานที่มีวันหยุดในช่วงเทศกาล ในขณะที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก ชะลอตัวต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค ประจำเดือนธันวาคม 2567 พบว่า ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 54.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 52.4 ของเดือนก่อนหน้า โดยภาคธุรกิจในพื้นที่ขยายตัวอย่างมากจากปัจจัยของสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิ
เย็นลง ทำให้กิจกรรมที่ดึงดูดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น กิจกรรมที่พักแรม สินค้าของฝากของที่ระลึก เช่น ยา สมุนไพร เสื้อผ้า สิ่งทอ และกิจกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ท้องถิ่น นอกจากนี้ธุรกิจการเกษตรยังขยายตัวดีจากปัจจัยของสภาพอากาศเช่นเดียวกัน ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 52.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.7 ของเดือนก่อนหน้า เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการเดินทางระหว่างภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นจากเทศกาลวันปีใหม่กับเดือนก่อนหน้าและช่วงเดียวกันในปีก่อน พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ตามเส้นทางการเดินทางขยายตัวอย่างชัดเจน ส่งผลดีต่อภาคการบริการ รวมถึงการค้าสินค้าของฝาก ของที่ระลึก และอาหาร ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 54.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.4 ของเดือนก่อนหน้า มีสาเหตุจากแรงกระตุ้นของภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มตลาดระยะไกล (Long-haul) ที่ยังเพิ่มต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก่อนหน้า ส่งผลให้กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวชัดเจน ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินโบนัสประจำปียังสร้างผลดีกับภาคการค้า และยอดขายของภาคการผลิตในพื้นที่ ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 54.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.2 ของเดือนก่อนหน้า โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เข้าสู่ช่วง High season เป็นปัจจัยบวกช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซีย อย่างไรก็ตามบางพื้นที่ เช่น สุราษฎร์ธานี ยังเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน และอุทกภัยระยะสั้นในช่วงกลางเดือน ซึ่งกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในบางส่วน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 54.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 54.2 ของเดือนก่อนหน้า โดยธุรกิจในพื้นที่ได้รับกำลังซื้อเพิ่มเติมจากแรงงานกลับถิ่นในช่วงวันหยุดเทศกาล ส่งผลดีกับธุรกิจภาคการค้าปลีก ค้าส่ง รวมถึงกลุ่มค้าจักรยานยนต์ที่มียอดขายเพิ่มมากขึ้นจากรายได้ภาคการเกษตรตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ยังเห็นการซื้อสินค้ากึ่งคงทนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก และเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น สร้างผลดีกับสาขาการผลิตเฟอร์นิเจอร์ และภาคการค้าในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 53.3 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 53.1 ของเดือนก่อนหน้า มีสาเหตุจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วง High season โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซีย ส่งผลดีกับกิจกรรมบริการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น การขนส่งบุคคล ร้านอาหาร อย่างไรก็ตามในเชิงของที่พัก เริ่มเห็นการตึงตัวของค่าใช้จ่ายจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกที่พักที่มีราคาถูก รวมถึงกลุ่มที่พักที่ปล่อยเช่ารายวัน ผ่านแอปพลิเคชันที่มีราคาเฉลี่ยถูกกว่า
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.0 ซึ่งปรับลดลงจากระดับ 53.9 ที่คาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า มีสาเหตุจากความกังวลของผู้ประกอบการภาคการผลิตเป็นสำคัญที่ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งปัจจัยกำลังซื้อในระยะยาวยังแผ่วลงอย่างต่อเนื่องซึ่งกระทบต่อกำลังการผลิต และปริมาณการขายสินค้า รวมถึงแรงกดดันจากด้านต้นทุน โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งกระทบต่อการดำเนินการของภาคธุรกิจการผลิต ในขณะที่ภาคการค้าและการบริการชะลอตัวลงเช่นกัน ตามการขาดแรงส่งด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางเป็นหลัก
นอกจากนี้ สสว. ยังเปิดเผยถึงภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 52.4 ปรับตัวลดลงจากปี 2566 ที่ระดับ 53.2 มีสาเหตุมาจากภาพรวมเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคชะลอตัวลง การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้นทุนราคาสินค้าและวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง รวมไปถึงปัญหาการเข้ามาแข่งขันของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ออกมาในระยะสั้น ปัญหาจากสภาวะแวดล้อม เช่น ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตในภาคการเกษตร สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคใต้ เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดคือ การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยให้สิทธิในการเข้าร่วมมาตรการครอบคลุมถึงธุรกิจรายย่อยมากขึ้น เป็นการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากขึ้นและเป็นมาตรการที่เป็นแบบต่อเนื่อง รองลงมา คือ ด้านภาระหนี้สินและเงินทุน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่อาจเผชิญปัญหาการผิดนัดชำระในช่วงเวลาถัดไป รวมถึงมาตรการควบคุมราคาต้นทุนปัจจัยการผลิต ที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิต นอกจากนี้ต้องการให้ภาครัฐมีการส่งเสริมเรื่องศักยภาพของธุรกิจ เช่น การหาเครือข่ายหรือกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะธุรกิจใกล้เคียงกันเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ โดย สสว. มีโค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่คอยให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือ ผ่าน https://coach.sme.go.th/ หรือ Application ‘SME Connext’ ที่รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ หรือสามารถสอบถามรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจรซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ สสว. Call Center โทร. 1301
สสว. ร่วมกับ บมจ. อินเตอร์เนตประเทศไทย ขยายโอกาส SME รับประโยชน์ในช่วงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการลดหย่อนภาษีปี 2568 เชิญชวน SME โดยเฉพาะกลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม เปิดร้านค้าบน Nex Gen Commerce พร้อมขึ้นทะเบียน e-Tax & e-Receipt ฟรี ตั้งแต่บัดนี้ – 15 กุมภาพันธ์ 2568
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ได้ โร่วมกับบริษัท อินเตอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (INET) ในการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถด้วยการถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำการดำเนินธุรกิจ เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดโดยเฉพาะช่องทางตลาดออนไลน์ผ่าน Nex Gen Commerce Platform รวมถึงให้บริการ เช่น E-Tax Invoice, E-Factoring พร้อมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งบางสิทธิประโยชน์ได้ครบกำหนดการให้บริการแล้ว แต่เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะวิสาหกิจรายย่อย ทั้งที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้วและยังไม่ได้จด VAT มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการ Easy E-receipt 2.0 หรือมาตรการลดหย่อนภาษีปี 2568 ของรัฐบาล พร้อมทั้งเป็นการยกระดับธุรกิจให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล จึงได้มีการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม
โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เปิดร้านค้าบน Nex Gen Commerce ตั้งแต่บัดนี้ - วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 จะสามารถขึ้นทะเบียน e-Tax Invoice & e-Receipt ได้ง่าย ๆ พร้อมรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ บริการ E-Tax Invoice ฟรี 200 Transection ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ตั้งแต่ 16 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2568 เนื่องจากผู้บริโภคทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ต้องการซื้อสินค้าจากร้านค้าที่สามารถออกใบเสร็จรับเงินเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2568 ได้ โดยค่าซื้อสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 50,000 บาท จึงขอเชิญชวน เอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของมาตรการลดหย่อนภาษีปี 2568 ใช้สิทธิเพื่อรับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว สำหรับกิจการที่ยังไม่มี e-Tax & e-Receipt ลงทะเบียนได้ https://forms.gle/aCoazfLE6qaTY1Fq8
นอกจากนี้ สสว. ยังมีแผนที่จะเชื่อมโยงความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขายสินค้าให้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ VAT Refund for Tourists หรือ VRT เพื่อเป็นการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในภาคการท่องเที่ยว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาออกสิทธิประโยชน์และแพคเกจสนับสนุนเอสเอ็มอีขึ้นทะเบียน VRT เพื่อเป็นบริการภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ของ สสว. ซึ่งจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว ให้กับผู้ประกอบการที่เข้ารับบริการในสัดส่วนร้อยละ 50-80 วงเงินสูงสุด 200,000 บาทต่อราย ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการเข้าสู่ระบบ
อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หน่วยงานพันธมิตรในความร่วมมือดังกล่าว เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ถือหุ้น ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีของประเทศ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้าน Infrastructure และ Digital Platform รวมทั้งให้บริการด้าน IT Solution แบบครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการนำ IT มาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ อาทิ บริการคลาวด์ ดิจิทัลเซอร์วิส บริการ e-Tax รวมถึงบริการด้านการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว e-VRT ที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำคัญในการสนับสนุนให้ SME นำเทคโนโลยี เข้ามาเป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ