เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่สำรวจ และติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ถนนพระราม 3 ณ หน้าสวนศิลาฤกษ์ และบริเวณเส้นทางโครงการโดยรอบ โดยเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติงานให้ลดผลกระทบจากการก่อสร้างกับประชาชนมากที่สุด
รองผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดความปลอดภัย และเกิดทัศนียภาพที่สวยงาม โดยได้ดำเนินงานในช่วงเวลา 22.00 - 05.00 น. ของทุกวันเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลากลางวันที่มีการเปิดให้รถสัญจรเป็นปกตินั้น MEA ได้กำหนดรูปแบบการดำเนินงานให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในแต่ละโครงการ เช่น การปิดฝาบ่อพักชั่วคราว การวางแผ่น Road Deck ตลอดจนการเทคอนกรีตเพื่อแก้ไขปัญหาผิวการจราจร แต่เนื่องจากปัญหาอุปสรรคการทรุดตัวของดิน และข้อจำกัดในด้านระยะเวลาดำเนินงาน จึงส่งผลต่อความราบเรียบและความสม่ำเสมอของผิวถนนในบางพื้นที่ ซึ่ง MEA และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการวางแนวทางด้านวิศวกรรมแล้ว MEA ได้วางมาตรการกำกับการปฏิบัติงานของบริษัทผู้รับเหมา โดยการจัดให้มีการตรวจสอบความเรียบร้อยของฝาบ่อ และผิวจราจรตลอดระยะพื้นที่ของโครงการก่อสร้าง 2 ช่วงเวลาต่อวัน รวมถึงการจัดทีมงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขเหตุเร่งด่วน และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแผนดำเนินการรวมทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปี 2572 ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 90 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญหลายแห่ง ขณะที่อีก 223.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ร่วมกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในคราวเดียวกัน
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของ MEA รวมถึงพบสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด หรืออยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนระบบ iOS และ Android ดาวน์โหลดฟรีได้ที่ App Store และ Google Play หรือช่องทางโซเชียลมีเดียทางการของ MEA ได้ที่ Line: MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการ เลือกเมนู ติดต่อ MEA Call Center Online 1130 ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานงาน “MEA มอบของขวัญปีใหม่ ถนนสวยไร้เสาสายจรัญสนิทวงศ์” พร้อมด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการส่วนสิทธิแห่งทาง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมด้วยผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการ MEA โดยมี นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA กล่าวรายงานผลความสำเร็จในโอกาสมอบของขวัญปีใหม่ 2568 ด้วยโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินให้กับประชาชน ณ ลานแขกแพ Meeting Mall บางอ้อ สเตชัน ถนนจรัญสนิทวงศ์
รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดเผยว่า โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ 10 ด้านของกระทรวงมหาดไทย โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย สำหรับโครงการที่ดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนถนนจรัญสนิทวงศ์ รวมระยะทางทั้งสิ้น 11.4 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2568 นี้ โดยพื้นที่ที่ดำเนินการเสร็จล้วนเป็นพื้นที่สำคัญของเมือง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความสวยงามของภูมิทัศน์เมืองให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับพื้นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ MEA ได้ดำเนินการรื้อถอนเสาไฟฟ้า พร้อมจัดระเบียบสายสื่อสารเพิ่มเติม ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94/1 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 และช่วงแยกท่าพระถึงแยกไฟฉาย เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงามยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ความสำเร็จของโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศโดยรวม ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต
ผู้ว่าการ MEA กล่าวเสริมถึงแผนงานภาพรวมโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินว่า ปัจจุบันมีแผนดำเนินการรวมทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปี 2572 ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 73.4 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญหลายแห่ง ขณะที่อีก 240.1 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะมีระยะทางที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 16.6 กิโลเมตร ทำให้ระยะทางรวมของสายไฟฟ้าใต้ดินสะสมเป็น 90 กิโลเมตร
ในส่วนของแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน MEA และหน่วยงานภาคี ได้ดำเนินการไปแล้วรวม 32 เส้นทาง ระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร ครอบคลุมถนนสายสำคัญ เช่น ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนอโศกมนตรี ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 4 ถนนบรรทัดทอง และถนนจรัญสนิทวงศ์ นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า จำนวน 183 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 570 กิโลเมตร เฉลี่ยดำเนินงานเดือนละ 45 กิโลเมตร และในปี 2568 ยังมีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ารวมระยะทาง 800 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนนี้ MEA ได้สนับสนุนการติดตั้งคอนสายสื่อสาร เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินโครงการสายไฟฟ้า และสายสื่อสารใต้ดิน จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า โดย MEA ช่วยสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์คอนสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ตามแผนการจัดระเบียบ สายสื่อสารปี 2566 – 2567 ของ MEA และสำนักงาน กสทช. ที่มีระยะทางรวม 1,360 กิโลเมตร โดยความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม MEA ยังได้ใช้เสาไฟฟ้าที่รื้อถอนมาดำเนินโครงการ MEA’s Model ในการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ และชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน ช่วยเพิ่มการสะสมของตะกอนหลังแนวป้องกัน ส่งผลให้ต้นไม้ป่าชายเลน เช่น โกงกาง และพรรณไม้น้ำต่าง ๆ เติบโตหนาแน่นขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำ และนกหลากหลายชนิด
ทั้งนี้ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินประสบความสำเร็จ MEA ได้ร่วมวางแผนกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้างและจำกัดผลกระทบด้านการจราจร โดยมุ่งดำเนินงานในช่วงวันหยุด พร้อมคงมาตรการความปลอดภัยตามมาตรฐานที่ MEA กำหนด นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับ NT และ สำนักงาน กสทช. ในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยร่วมกับผู้ประกอบการสายสื่อสารดำเนินภารกิจดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าและระบบโทรคมนาคม ตลอดจนสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม
หากกล่าวว่า “ไฟฟ้า” คือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนชีวิต เมือง อุตสาหกรรม และการสัญจรบนท้องถนน “สายไฟฟ้า” ก็เปรียบเสมือน “กระดูกสันหลัง” ที่ค้ำยันให้โครงสร้างพื้นฐานทั้งบนดิน ใต้ดิน ในน้ำ ในบ้าน ในอาคาร ในโรงงานขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคงในทุกสภาพแวดล้อม สายไฟเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล
บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ถือเป็นหนึ่งในบริษัทคนไทยที่มีบทบาทขับเคลื่อน “กระดูกสันหลัง” ของโครงสร้างพื้นฐานมายาวนาน ตั้งแต่เจเนอเรชันที่ 1 ภายใต้บังเหียนของ “สมพงศ์ นครศรี” จนมาถึงเจเนอเรชันที่ 3 ที่มี “พงศภัค นครศรี” เข้ามาช่วยบริหาร ล่าสุด บางกอกเคเบิ้ล จัดงานฉลองใหญ่ครบรอบ 60 ปี ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีผู้บริหารระดับสูงในแวดวงพลังงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน ภายในงานมีนิทรรศการโชว์บทบาทของสายไฟในการพัฒนาเมือง พร้อมทั้งมีการประกาศเป้าหมายใหม่ในการร่วมเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยสู่โลกแห่งอนาคต
นายพงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) ผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลชั้นนำของประเทศไทย กล่าวว่า บางกอกเคเบิ้ล ถือเป็นบริษัทคนไทยรายแรกที่บุกเบิกและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านจากการใช้ไฟฟ้าแบบ 110 โวลต์ เป็น 220 โวลต์ และเดินหน้าพัฒนาสายไฟฟ้าของบริษัทเรื่อยมาตลอด 6 ทศวรรษ เพื่อมีส่วนร่วมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาสายไฟฟ้าให้เป็นเสมือนเส้นเลือดที่ส่งพลังงานไปยังพื้นที่ต่างๆ เชื่อมโยงประเทศ ภูมิภาค ชุมชน และสังคมเมือง รวมถึงเชื่อมโยงมนุษย์กับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เส้นทางคมนาคม สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนให้สอดคล้องกับทิศทางพัฒนาการของโลก
2.การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เดินหน้าส่งมอบสายไฟฟ้าคุณภาพและมาตรฐานสูงสุด สำหรับใช้ทั้งในครัวเรือนและในระดับประเทศ เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียที่เกิดจากอัคคีภัยและอุบัติเหตุทางไฟฟ้า พัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบทางไฟฟ้า (Lab) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยเป็นของตัวเอง เดินหน้าพัฒนาโรงงานผลิตสายไฟสู่ Smart Factory และ 3.การเสริมสร้างภูมิทัศน์ของเมืองมหานคร ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) พัฒนา “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับเมืองมหานคร” ร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ และเมืองหลักต่างๆ ในประเทศไทยให้เป็น “มหานครไร้สาย” ด้วยการนำสายไฟลงดิน พัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองให้ทันสมัยและยั่งยืน
“เราพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้ง 3 ด้าน เรายังมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว ด้วยสายไฟฟ้าที่รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไปจนถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger เราจะไม่หยุดเพียงแค่การส่งผ่านพลังงาน แต่จะมุ่งมั่นสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่พลังงานสะอาด เริ่มจากการตั้งเป้าให้องค์กรของเราเป็นองค์กร Net Zero ภายในปี ค.ศ.2045 โดยจะมี Big Move ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเร็วๆ นี้” นายพงศภัค ระบุ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า สายไฟฟ้า นับเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการปรับเปลี่ยนทิศทางพลังงานของประเทศให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม รวมถึงการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาป มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีสายไฟฟ้าคุณภาพสูง ประสิทธิภาพยอดเยี่ยม เพื่ออัปเกรดสายไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ ให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ ยังคงต้องสอดคล้องกับการนำพาประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2050 และ Net Zero ภายในปี ค.ศ.2065 เรายังมีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้า ทั้งการพัฒนา Smart Grid ควบคู่กับการแก้ปัญหาอื่นๆ ด้านพลังงาน เรามองว่า บางกอกเคเบิ้ล ในฐานะบริษัทสายไฟของคนไทย ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน จะเป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญที่มีส่วนช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน” นายพีระพันธุ์ กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ต่างให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุภายในโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์ (Zero Accident) สายไฟฟ้าที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ผ่านการออกแบบอย่างเหมาะสมให้รองรับต่อทุกสภาพแวดล้อม ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โรงงานต่างๆ สามารถลดอุบัติเหตุทางไฟฟ้า และลดความเสียหายต่อเครื่องจักร ตลอดจนทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลในโรงงาน สายไฟฟ้า จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้น ในการช่วยนำพาองค์กรธุรกิจและองค์กรในภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนผ่านสู่เส้นทางความยั่งยืน
“วันนี้ ภาคธุรกิจจำนวนมาก ต่างทยอยประกาศทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งเร็วกว่าทิศทางของประเทศ นั่นหมายความว่า องค์กรเอง ก็ต้องทยอยเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาด และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เราเชื่อมั่นว่า บางกอกเคเบิ้ล จะเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เส้นทาง Net Zero ได้อย่างแข็งแกร่ง” นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) เป็นผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลชั้นนำของประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2507 ให้บริการครอบคลุม 7 กลุ่มการใช้งาน ได้แก่
1.ระบบผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission)
2.ระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (Distribution)
3.ระบบไฟฟ้าภายในบ้านพักและอาคาร (Construction and Building)
4.ระบบขนส่งและคมนาคม (Transportation and Mobility)
5.ระบบไฟฟ้าในโรงงาน และภาคอุตสาหกรรม (Industrial)
6.พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
และ 7.ระบบไฟฟ้าในรถยนต์ (Automotive) เพื่อสร้างความปลอดภัยและขับเคลื่อนเมืองสู่อนาคต
ปัจจุบัน มีลูกค้าโครงการขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ใช้สายไฟฟ้าของบางกอกเคเบิ้ล อาทิ โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 โครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออก โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์
ก้าวที่เดินหน้าของประเทศไทย ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ Thailand 4.0 หรือ “ประเทศไทย 4.0” มีเป้าหมายสำคัญ คือการยกระดับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart Metro