×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

กรุงเทพฯ มหานครไร้สาย กับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน

December 08, 2017 5038

ก้าวที่เดินหน้าของประเทศไทย ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ Thailand 4.0 หรือ “ประเทศไทย 4.0” มีเป้าหมายสำคัญ คือการยกระดับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart Metro 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสร้างให้เกิดความเป็น Smart Metro ก็คือการมีพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคง ปลอดภัย ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน  ประกาศถึงความพร้อม ขานรับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ด้วยการริเริ่มขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ที่จะมีส่วนช่วยยกระดับชีวิตของคนเมือง คือโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าจากอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ผลลัพธ์ที่ได้คือกรุงเทพมหานคร จะเป็นมหานครไร้สายในเร็วๆนี้ 

 

กว่าจะมาเป็นโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน

โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เป็นโครงการที่ การไฟฟ้านครหลวงวางแผนดำเนินการมานับแต่ปี 2527 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่า 41.9 กิโลเมตร และอยู่ในระหว่างดำเนินการอีก 45.4 กิโลเมตร โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กฟน. ดำเนินโครงการเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนอีก 127.3 กิโลเมตร วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการประกอบด้วย เพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ให้รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก ตั้งแต่ ภัยธรรมชาติ เช่น พายุ ลมแรง การพัดพาเศษวัสดุ หรือวัตถุขนาดใหญ่มาเกี่ยวสายไฟฟ้า ทำให้เกิดอันตราย รวมทั้งอุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า หรือเกี่ยวสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร ทำให้เสาไฟฟ้าล้มเมื่อนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมรื้อถอนเสาไฟฟ้าออก จะทำให้ได้ทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองหลวงอย่างเต็มตา

 

 

 

ขั้นตอนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน

 ขั้นตอนที่ 1 วางแผนและออกแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลระบบสาธารณูปโภค และหาวิธีแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชน จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการวางแผน และออกแบบเพื่อเปลี่ยนระบบจากสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน

 

 ขั้นตอนที่ 2 ก่อสร้างบ่อพักคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งวิธีการก่อสร้างมี 4 วิธีคือ 

- วิธีการขุดเปิด (Open Cut) คือการขุดเปิดเป็นช่องตามแนวทางเท้า จากนั้นจึงนำท่อร้อยสายไฟฟ้าวางตามแนวที่ขุดบนทางเท้า แล้วจึงนำแผ่นคอนกรีตมาปิดทับเป็นการชั่วคราว เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จึงซ่อมคืนสภาพพื้นที่ทางเท้าให้เหมือนเดิม

- วิธีการดึงท่อ (Horizontal Directional Drilling: HDD) วิธีนี้จะใช้กับสายไฟฟ้าแรงสูง โดยขุดบ่อให้มีความลึกไม่น้อยกว่า 4 เมตร เพื่อเป็นบ่อต้นทางและปลายทาง หลังจากใช้เครื่องขุดบ่อจากต้นทางไปยังปลายทางแล้วจะเปลี่ยนหัวเจาะให้กลายเป็นหัวลาก ดึงท่อส่งสายไฟฟ้าแรงสูงเพื่อกลับไปยังบ่อต้นทาง 

- วิธีการดันท่อ (Pipe Jacking) โดยจะก่อสร้างบ่อพักขนาดใหญ่บนผิวจราจร วางเครื่องมือสำหรับเจาะท่อ และใช้หัวเจาะเพื่อเจาะเป็นท่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร ดันท่อตามหัวเจาะเข้าไปจนทะลุถึงปลายทางอีกฝั่งหนึ่งของบ่อพักถัดไป ก่อนที่จะสร้างท่อขนาดเล็กหลายๆ ท่อสำหรับวางสายไฟฟ้าแรงสูงแล้วทำการอุดช่องว่างด้วยซีเมนต์แห้งเร็ว

- วิธีการก่อสร้างอุโมงค์ (Tunnelling) คือการขุดพื้นถนนลึกลงไป 30 เมตร เพื่อป้องกันปัญหา การรบกวนระบบการจ่ายไฟฟ้า จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ

 

 ขั้นตอนที่ 3 ติดตั้งสายไฟฟ้าใต้ดินและอุปกรณ์ไฟฟ้า

 

 ขั้นตอนที่ 4 เปลี่ยนระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน

 

 ขั้นตอนที่ 5 รื้อถอนเสาไฟฟ้า และสายไฟฟ้าอากาศ รวมทั้งสายสื่อสารออก โดยได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานสายสื่อสารที่เกี่ยวข้อง

 

อุปสรรคและหลักเกณฑ์ในการเลือกพื้นที่

จากความตั้งใจของ กฟน.ที่จะนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินให้ได้ทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งถึงแม้โครงการจะมีความสำคัญ และมีแต่ข้อดี อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานก็ยังมีอุปสรรคในหลายๆด้าน ส่วนหนึ่งก็คือ ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนที่สูง รวมทั้งมีขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่ยุ่งยากและซับซ้อน และในทางปฏิบัติที่พบอุปสรรคระหว่างการขุดเจาะอันหลากหลาย รวมถึงระยะเวลาในการทำงานที่ได้รับอนุญาตเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น โดยพิจารณาจากปริมาณรถยนต์สัญจรที่น้อยกว่าช่วงเวลาทำงาน เนื่องเพราะการปิดการจราจรเพื่อการก่อสร้าง จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นช่วงเวลาที่ดำเนินงาน กฟน. จึงต้องมีการเตรียมแผนจัดการจราจร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและจัดทำแนวกั้นในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงการใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างเป็นหลายเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับการพาดสายไฟฟ้าบนเสา ซึ่งส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนการก่อสร้างคือ กฟน. มีการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างความเข้าใจถึงกระบวนการทำงาน ระยะเวลา ผลกระทบ รวมทั้งผลลัพธ์ที่จะได้มา ให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่รับทราบล่วงหน้าก่อนดำเนินการ เพื่อบรรเทาผลกระทบและข้อร้องเรียนจากประชาชน

 

จากอุปสรรค และขั้นตอนที่ยากลำบากในการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ครบทุกพื้นที่ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ ในการเลือกพื้นที่ก่อสร้างสายใต้ดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด โดยการพิจารณาจากแนวถนนสายหลักที่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นย่านการพัฒนาธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ แนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าและสาธารณูปโภค พื้นที่เศรษฐกิจกลางเมือง รวมถึงสถานที่สำคัญต่างๆ

 

การบำรุงรักษา

ในมุมมองของประชาชน อาจมีข้อกังวลถึงสายไฟฟ้าใต้ดินว่า ในอนาคตหากมีปัญหาจะมีวิธีการตรวจสอบ หรือบำรุงรักษาอย่างไร สำหรับข้อนี้ กฟน.ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สายไฟฟ้าใต้ดินมีโอกาสเกิดปัญหาน้อยมาก เมื่อเทียบกับสายไฟฟ้าอากาศ เพราะมีสิ่งรบกวนจากภายนอกน้อยกว่า อย่างไรก็ดีกรณีที่เกิดปัญหา จะใช้เครื่องทดสอบที่เรียกว่า Time Domain Reflection (TDR) ทำการส่งคลื่นเข้าไปยังจุดที่มีปัญหา เพื่อสะท้อนกลับมาเป็นระยะทาง ซึ่งจะสามารถระบุตำแหน่งและดำเนินการแก้ไขได้อย่างตรงจุด 

 

โครงการที่แล้วเสร็จ

ปัจจุบันการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นแล้วในถนนหลักหลายเส้น ได้แก่ ถนนสีลม ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 ถนนเพลินจิต ถนนราชดำริ ถนนพระราม 6 ถนนศรีอยุธยา ถนนราชวิถี ถนนสวรรคโลก ถนนสุโขทัย ถนนพิชัย ถนนอู่ทองใน ถนนราชดำเนินนอก ถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ ถนนพหลโยธิน ถนนประดิพัทธ์ ถนนโยธี ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และยังคงมุ่งมั่นดำเนินการโครงการที่เหลืออย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด 

 

โครงการที่อยู่ในแผนการก่อสร้างไปจนถึงปี 2564 มีหลายโครงการในเขตพื้นที่ ถนนราชปรารภ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอยสว่างอารมณ์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนพระราม 3 ถนนรัชดาภิเษก ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนเทียมร่วมมิตร ถนนวัฒนธรรม ถนนพระราม 9 ถนนอังรีดูนังต์ ถนนชิดลม ถนนหลังสวน ถนนสารสิน ถนนวิทยุ ถนนสาทร ถนนเจริญราษฎร์ ถนนดินแดง ถนนประชาราษฎร์สาย 1-2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนสามเสน ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนรามคำแหง ถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ ถนนทหาร ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนบรมราชชนนี ถนนพรานนก บริเวณรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถนนติวานนท์ และถนนเทพารักษ์

 

ทั้งนี้ กฟน. กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หากขาดความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และที่สำคัญคือประชาชนคนเมือง รวมทั้งพี่น้องในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและสมุทรปราการ ที่เป็นกำลังใจในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ กฟน. เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง ให้มีชีวิตที่สะดวกสบาย และทันสมัย โดยสร้างความมั่นคงทางด้านระบบไฟฟ้า ความปลอดภัย และทัศนียภาพที่สวยงามยิ่งขึ้น และจะเร่งพัฒนาและดำเนินงานโครงการที่เหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เมืองหลวงก้าวเข้าสู่การเป็น Smart Metro อย่างเต็มรูปแบบในอนาคตที่กำลังจะมาถึง 

 

 

X

Right Click

No right click