November 21, 2024

จาก FAM สู่ KMITL Business School

July 21, 2020 8496

คณะการบริหารและจัดการภายใต้การบริหารของ ผศ.ดร.สุดาพร สาวม่วง จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งสอดรับกับการครบรอบ 60 ปีของสจล.

โดยแนวทางการบริหารคณะจะมีการนำ OKR มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย พร้อมปรับ FAM ให้เป็น KMITL Business School โดยมี Harvard Business School เป็นต้นแบบ

ผศ.ดร.สุดาพร สาวม่วง คณบดีคณะการบริหารและจัดการ (Faculty of Administration and Management – FAM) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล. - KMITL) กล่าวว่า คณะมีการนำ OKR (Objectives & Key Results) มาใช้เมื่อปีการศึกษา 2562 OKR เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่เป้าหมาย โดย O คือ Objectives วัตถุประสงค์ในการทำงาน KR คือ Key Results ผลสำเร็จในการทำงาน โดยหลักสำคัญของการใช้ OKR องค์กรต้องรู้ก่อนว่าวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรคืออะไร และวางอนาคตขององค์กรไว้อย่างไร อันนี้คือ Objectives หลังจากนั้นจะต้องวาง Key Results ว่าจะวัดผล 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือนเพื่อให้ทราบว่าสิ่งที่ทำได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

อย่างไรก็ดี OKR ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีการนำมาใช้ 20 ปีแล้วตั้งแต่ปีค.ศ.1999 โดยบริษัท Google เป็นเจ้าแรกๆ ที่นำมาใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กร แต่หลายคนอาจเพิ่งเคยได้รู้จักเนื่องจาก OKR แพร่หลายอยู่แต่ในกลุ่ม Technology Company ในอเมริกา การนำ OKR มาใช้จะช่วยให้องค์กรเกิดการพัฒนาในเชิงท้าทาย

สำหรับความแตกต่างระหว่าง OKR กับการวัดผลความสำเร็จอื่นนั้น OKR จะเน้นวัตถุประสงค์ขององค์กร ดังนั้น องค์กรจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ต้องมีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจน และมีการวัดผลเป็นระยะสั้น กลาง หรือยาว แต่ไม่ต้องรอให้เสร็จสิ้นโครงการเหมือนกับการวัดผลความสำเร็จอื่นทำให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารต้องมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการวัดผลระยะสั้นถือเป็นข้อดีของ OKR เพราะทำให้องค์กรสามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ หรือการ Disruption ทำให้องค์กรก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี OKR จะสำเร็จได้คนในองค์กรจะต้องมองเห็นสิ่งเดียวกันและช่วยกันสร้างวัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ พันธกิจเดียวกันซึ่งนั้นจะทำให้บรรลุ KR ได้

การทำ OKR เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นการตั้งเป้าหมายความสำเร็จที่ท้าทาย แต่คนในองค์กรจะต้องยอมรับกับความท้าทาย ถ้าไม่อย่างนั้นจะเป็นการย่ำอยู่กับที่ การยอมรับซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้เป้าหมายนั้นเกิดการยอมรับและถูกปฏิบัติแล้วก็สำเร็จได้ในที่สุด และความสำเร็จอันนั้นจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กรต่อไป

ขอ FAM บรรลุ 3 เรื่อง ถือว่า OKR สำเร็จ

ผศ.ดร.สุดาพร กล่าวต่อว่า “วัตถุประสงค์ของคณะมีด้วยกัน 4 ส่วน คือ 1.Educational คือ การจัดการศึกษา 2.Academic คือ วิชาการ 3.Social คือ ผลกระทบต่อสังคม และ 4.Industry คือ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรม โดยวิสัยทัศน์ของคณะ คือ FAM for the next generation towards ASEAN and the world เรามีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาสำหรับคนในอาเซียน และคนในโลก สำหรับพันธกิจ คือ เราต้องทำให้มีความเป็น International Outlook นั้นคือ Key Results”

โดย Key Results ของคณะจะต้องมี 3 ส่วน คือ 1.มีหลักสูตรนานาชาติอย่างน้อย 2 หลักสูตรในหนึ่งรอบปีการศึกษา ปัจจุบันมีหลักสูตรนานาชาติแล้วหนึ่งหลักสูตร คือ Business Administration International Program และกำลังจะทำหลักสูตรที่สอง คือ หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการระดับโลก Global Entrepreneur คาดว่าจะเสร็จใน 6 เดือนข้างหน้า 2.ต้องมีอาจารย์ต่างชาติ 100% ในหนึ่งรอบปีการศึกษา ปัจจุบันมีอาจารย์ต่างชาติจาก 1 คนเพิ่มเป็น 5 คน 3.ต้องมีอาคารอินเตอร์เนชันแนล 1 อาคาร ปัจจุบันคณะได้รับการอนุมัติงบประมาณสำหรับสร้างอาคารมูลค่า 107 ล้านบาท นอกจากนี้ คณะยังได้คะแนนของความเป็น Internal outlook ในระดับคะแนนดีเยี่ยมด้านประกันการศึกษา AUN-QA และยังได้คะแนนประกันคุณภาพในการเข้าสู่มาตรฐานสากล

สำหรับการทำ OKR ของคณะต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น ต้องมีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างคณะกับภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อให้ผลการวิจัยได้จดสิทธิบัตรหรือต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ เรื่องการจดสิทธิบัตรนั้นเป็นงานการศึกษาที่สำคัญคณะต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่อง Entrepreneur โดยเฉพาะ Hi-Technology Entrepreneur ผู้เรียนต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อัลกอริทึม และคณะจะเอาสิ่งเหล่านี้มา Disrupt และสร้างเป็นชิ้นงานเพื่อนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้ได้เพื่อเป็นการบรรจุ KR ด้านการให้บริการต่อสังคม ที่ผ่านมางานวิจัยของคณะที่มีการจดสิทธิบัตรไปแล้ว เช่น เครื่องสีข้าวขนาดเล็กสำหรับใช้ในครัวเรือน

นอกจากนี้ มีการจับมือกับภาคอุตสาหกรรมพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการให้บริการ Smart Farmer โดยมีการนำโดรนมาใช้ในเชิง High Agriculture Technology เช่น ระบบการให้บริการกำจัดศัตรูพืช และการพยากรณ์ผลผลิตเพื่อการวางแผนทางการตลาด สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ในเชิงเทคโนโลยี ซึ่งสจล.มีดีเอ็นเอเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว ความรู้เหล่านี้จึงถูกใส่อยู่ในแทบทุกวิชาของสจล.

Harvard Business School ต้นแบบที่ดี

ผศ.ดร.สุดาพร กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายและพันธกิจสำคัญของคณะในวาระที่สจล.ครบรอบ 60 ปี ว่า “ในยุคสมัยการบริหารจัดการที่อาจารย์เป็นคณบดี ภายในปี 2565 จะต้องมี 17 โครงการเกิดขึ้นเพื่อตอบรับ OKR เช่น หลักสูตรสายพันธุ์ใหม่ เราจะมีการจัดหลักสูตรใน 5 กลุ่มสำคัญทั้งแบบ Non-Degree และ Degree โดยจัดการเรียนการสอนเป็นรายวิชาทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ อย่าง หลักสูตร Global Entrepreneur ปกติต้องเรียน 4 ปีเราก็จัดการเรียนการสอนเป็นรายวิชา เช่น วิชา E-commerce อากงอาม่าอยากจะใช้มือถือขายของออนไลน์ อยากวางแผนมาร์เก็ตติ้งออนไลน์เป็น ก็สามารถเรียนได้เมื่อเรียนจบรายวิชาจะได้รับ Certificate ถ้าเรียนจบทุกวิชาก็สามารถขอเป็นปริญญาบัตรได้ อันนี้ตอบโจทย์สังคมปัจจุบันที่บางคนจบแค่มัธยม ประถม 4 หรือไม่ได้จบมาเลยก็มาเรียนได้ไม่เป็นอุปสรรค โดยเรามี Harvard Business School เป็นต้นแบบ”

สำหรับแนวคิดดังกล่าวได้มีการเปิดให้สอนแล้วในหลักสูตรนานาชาติ เนื่องจากคณะมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ สำหรับภาษาไทยกำลังอยู่ในขั้นพัฒนาคาดว่าจะเปิดรับสมัครได้ในปีการศึกษา 2563 และในอีก 3 เดือนข้างหน้าคณะจะมีการปรับโฉมใหม่ด้วยการเปลี่ยนชื่อคณะจากคณะการบริหารและจัดการเป็นคณะบริหารธุรกิจ (KMITL Business School) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ด้านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับโลกนั้นที่ผ่านมาคณะมีการทำ MOU กับ University of Cambridge เพื่อจัดทำหลักสูตรอบรมนานาชาติร่วมกัน อย่าง หลักสูตร PDP (Professional Development Program) นักบริหารคิงส์บริดจ์ระดับสูงเพื่อพัฒนาบุคลากรของไทย อาเซียน และโลก และหลักสูตรโพสดอก (Postdoctoral development Program) ผู้เรียนหลักสูตรนี้จะเป็นผู้ช่วยในการขับเคลื่อนองคาพยพของประเทศไทยในทุกมิติ


เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 08 July 2022 07:22
X

Right Click

No right click