บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง (Blue Ocean Plastic Recycling) สตาร์ตอัปด้านการจัดเก็บและรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเลเดินหน้าโครงการรีไซเคิลที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนบนเกาะสมุย เพื่อต่อสู้กับขยะพลาสติกในทะเลและตามแนวชายฝั่งควบคู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประโยชน์ของชุมชนและธุรกิจในท้องถิ่น

โครงการนี้ทำงานร่วมกับพันธมิตร ไทด์ โอเชียน แมทีเรียล (Tide Ocean Material) เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกที่มีการจัดเก็บมาเป็นพลาสติกรีไซเคิลที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน (sustainability-certified recycled plastic) ซึ่งนำไปใช้ผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท และสามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อติดตามประวัติของผลิตภัณฑ์ได้ทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า เริ่มตั้งแต่คนเก็บขยะ คนรวบรวมขยะ ไปจนถึงบริษัทหรือแบรนด์ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ทั้งนี้ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ระบุว่า กระบวนการทั้งหมดควรได้รับการรับรองและตรวจสอบโดยองค์กรที่เป็นบุคคลที่ 3 เช่นเดียวกับโครงการที่เราได้ดำเนินไปแล้วในจังหวัดระนอง เพื่อให้มั่นใจว่าพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตได้นั้นมาจากการจัดเก็บขยะพลาสติกตามแนวทางที่ยั่งยืนและก่อเกิดเป็นรายได้กลับคืนสู่ชุมชนโดยตรง

ดร. มิเชล พาร์โดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ขึ้นในปี 2565 กล่าวว่า “โครงการรีไซเคิลแบบดั้งเดิมมักมองข้ามประเด็นของชุมชนและความโปร่งใส เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อติดตามขยะพลาสติกหลังจากถูกขายให้กับโรงงานรีไซเคิล”

“บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง และพันธมิตรได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนการ โดยเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บขยะไปจนถึงการเปลี่ยนเป็นพลาสติก รีไซเคิล ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนต้นทาง ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ยั่งยืนในระยะยาว ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการทำงานของโครงการ แสดงความเห็นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จุดรวบรวมขยะในโรงเรียนและที่ตั้งของศูนย์รับขยะรอบเกาะ และตระหนักว่า บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง จะส่งมอบประโยชน์เชิงเศรษฐกิจโดยตรงต่อชุมชนได้อย่างไร” ดร. มิเชล กล่าว

บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากความสำเร็จของ โครงการวิสาหกิจชุมชนรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม จังหวัดระนอง (Ranong Recycle for Environment) ที่ได้รับการรับรองด้านขยะพลาสติกในทะเลจาก Ocean Bound Plastic และทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นชาวมอแกนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับท้องทะเล

เซคเคินด์มิวส์ (SecondMuse) ซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งเสริมผลกระทบเชิงบวกและนวัตกรรม ระบุว่า โครงการในจังหวัดระนอง เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานของ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ในการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้านของชุมชนต่าง ๆ บนเกาะสมุย

นางสาว ซาราห์ ฟาน บูคเคาท์ ผู้จัดการโครงการเซคเคินด์มิวส์ กล่าวว่า “โครงการวิสาหกิจชุมชนรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง เป็นโมเดลที่แปลกใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางในภาคใต้ของไทย และการลดจำนวนพลาสติกที่รั่วไหลออกไปสู่สิ่งแวดล้อม เราประทับใจมากที่โครงการนี้ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน โดยสนับสนุนให้ทุกคนเป็นผู้จัดเก็บขยะในห่วงโซ่อุปทานของพลาสติกรีไซเคิลแบบองค์รวม และเมื่อบลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง เสนอแผนงานการขยายโครงการสู่เกาะสมุย เราจึงรู้สึกยินดีและพร้อมให้การสนับสนุน”

ระหว่างปี 2562-2565 สมาชิกเก็บขยะของวิสาหกิจชุมชนรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ได้เก็บขยะในทะเลและนำมารีไซเคิลแล้วเป็นจำนวนกว่า 422 ตัน โดยกว่า

70% ของกำไรจากการดำเนินโครงการได้รับการส่งมอบกลับคืนสู่ชุมชนในรูปแบบของโครงการด้านการศึกษาตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงสวัสดิการทางสังคมของคนงาน1

นอกจากนี้ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ยังมุ่งมั่นลดความเชื่อผิด ๆ ทางสังคมเกี่ยวกับคนเก็บขยะนอกระบบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 750,000 – 1.5 ล้านคนในประเทศไทย “คนเก็บขยะนอกระบบมักถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเนื่องจากเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรกและไม่เป็นที่ต้องการ เราต้องการจะเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวและแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืนให้แก่ทุกคนในประเทศไทย” ดร. มิเชล กล่าว

นายอนุศิษย์ ศรีษะย์ อายุ 29 ปี เป็นคนรับซื้อขยะจากโครงการเพื่อนำไปรีไซเคิล กล่าวว่า “เทียบกับโครงการอื่น ๆ ที่เคยเข้าร่วมก่อนหน้านี้ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากที่สุดและแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทต่อชุมชน”

“หลังจากเข้าร่วมโครงการ ผมมีมุมมองที่กว้างขึ้นต่อสิ่งที่ทำอยู่ ผมอยากเรียนและใช้ภาษาอังกฤษให้เก่งขึ้นและอยากเป็นคนซื้อขายพลาสติกหรือขยะระดับอินเตอร์ฯ”

ทั้งนี้ พลาสติกรีไซเคิลจากโครงการสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าคุณภาพสูง เช่น นาฬิกาข้อมือ รุ่น AIKON #tide ของ Maurice Lacroix ซึ่งสินค้าในลักษณะนี้ยังช่วยลดความเชื่อผิด ๆ ทางสังคมได้เช่นกัน

นางสาวกสิณี มะเย็ง และนายมูฮัมหมัด ผดุง สองสามีภรรยาที่รวบรวมขยะให้กับโครงการ กล่าวถึงศักยภาพของโครงการว่า “ตอนแรกเราขาดทุน เพราะยังไม่มีความรู้เรื่องการแยกขยะ แต่เราเรียนรู้สิ่งใหม่ทุกครั้งที่ซื้อขยะจากชุมชน หรือเอาขยะมาขายให้ร้านรีไซเคิล สุดท้ายนี่จะกลายเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ของเรา”

บริษัทต่าง ๆ ที่สนใจสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของบลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ได้ด้วยการรับซื้อสินค้าจากทางโครงการหรือให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานของคลังเก็บขยะ จุดรวบรวมขยะ และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยจะได้รับพลาสติกเครดิตเพื่อหักกับปริมาณพลาสติกฟุตปรินท์ของบริษัท

วัตถุประสงค์การดำเนินงานของ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ของรัฐบาลไทย ซึ่งตั้งเป้ารีไซเคิลหรือเปลี่ยนเส้นทางขยะที่เข้าสู่บ่อฝังกลบให้ได้ 100% และลดปริมาณขยะที่มีโอกาสรั่วไหลลงสู่ทะเลให้ได้ 50% ภายในปี 2570

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง กรุณาติดต่อ ดร.มิเชล พาร์โดส

นายเบนจามิน ซาวัคกี้ ผู้เชี่ยวชาญโครงการระดับอาวุโสของมูลนิธิเอเชีย กล่าวสุนทรพจน์ในงาน EAS Hackathon Combatting Marine Plastic ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565

 ออสเตรเลีย อินเดีย และสิงคโปร์ ผนึกกำลังร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแฮกกาธอนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือ EAS (East Asia Summit) Hackathon ในหัวข้อ “การต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล (Combating Marine Plastic)” เมื่อวันที่ 13 - 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยงานแฮกกาธอนครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พณฯ วิล แนนเคอร์วิส (H.E. Will Nankervis) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำอาเซียน; พณฯ ไชยันต์ โคบราเกด (H.E. Jayant Khobragade) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอาเซียน และนาย บอร์ก เซียน ธรรม (Borg Tsien Tham) อุปทูตผู้แทนถาวรประเทศสิงคโปร์ประจำอาเซียน เป็นประธานเปิดการแข่งขัน ร่วมด้วยเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่จาก EAS รวมถึงเจ้าหน้าที่อาวุโสจากสำนักเลขาธิการอาเซียน องค์กรภาคประชาสังคม และผู้แทนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ มีตัวแทนจากประเทศไทย 1 ทีมเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

การแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของงาน EAS Marine Plastic Debris Workshop ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเอเชีย (TAF) มูลนิธิอาเซียน และ องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ (Singapore’s National Environment Agency) และศูนย์บริการข้อมูลมหาสมุทรและการวิจัยชายฝั่งแห่งชาติประเทศอินเดีย (India’s National Centres for Ocean Information Services and Coastal Research) ที่มาร่วมแบ่งปันข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลระดับภูมิภาคให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้รับทราบ

เยาวชนจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม EAS (EPCs) ได้เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชันในการช่วยตรวจสอบปริมาณขยะในทะเลให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการทิ้งขยะเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลดการใช้พลาสติกและหันมารีไซเคิลพลาสติกให้มากขึ้น

ลพิษขยะพลาสติกในทะเลถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยคิดเป็น 80% ของมลพิษทางทะเลทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณพลาสติกมากถึง 8-14 ล้านเมตริกตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทร อีกทั้งยังมีพลาสติกและไมโครพลาสติกกว่า 20-75 ล้านล้านชิ้นในมหาสมุทร ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ปริมาณขยะพลาสติกจะมีน้ำหนักมากกว่าปลาทั้งหมดในมหาสมุทร โดยปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบร้ายแรงกับสัตว์ทะเลและระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และสุขภาพของมนุษย์เช่นเดียวกัน

หลายภาคส่วนได้ริเริ่มมาตรการและโครงการต่างๆ มากมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) การจัดตั้งธนาคารแปรรูปขยะ และการสนับสนุนการใช้พลาสติกรีไซเคิล เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันที่เหล่าเยาวชนได้พัฒนาขึ้นระหว่างการแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้ ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการจัดการกับปัญหามลพิษขยะทางทะเลที่เกิดขึ้น

พณฯ วิลล์ นานเคอร์วิส เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำอาเซียน กล่าวว่า “ปัญหาของพลาสติกในทะเลจะไม่ได้รับการแก้ไข หากขาดการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างยั่งยืน”

“เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ การตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในวงกว้างจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสังคมถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” พณฯ ไชยันต์ โคบราเกด เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอาเซียน กล่าวเสริม

นาย บอร์ก เซียน ธรรม อุปทูตผู้แทนถาวรประเทศสิงคโปร์ประจำอาเซียน กล่าวย้ำว่า “งานแฮกกาธอนครั้งนี้เปรียบเสมือนเวทีสำคัญที่ให้เหล่าเยาวชนของเราได้มีโอกาสโชว์ทักษะความสามารถและไอเดียการแก้ปัญหาที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์”

งานแฮกกาธอนครั้งนี้มีทีมผู้แข่งขันจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมด 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี ไทย และเวียดนาม โดยในระหว่างการแข่งขัน ทีมที่เข้าร่วมยังได้รับคำแนะนำจากคณะผู้เชี่ยวชาญ และต้องผ่านการประเมินจากคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลาสติกในทะเล และกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ

ชาญฤทธิศักดิ์ พก และบุญเนตร พึง จากประเทศกัมพูชา ผู้ชนะรางวัลอันดับหนึ่ง ของ EAS Hackathon ในหัวข้อ Combatting Marine Plastic

ทีมตัวแทนจากกัมพูชา ชาญฤทธิศักดิ์ พก (Chanrithisak Phok ) และ บุญเนตร พึง (Bunnet Phoung) ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัลอันดับหนึ่งของการแข่งขัน EAS Hackathon หลังจากผ่านกระบวนการการตัดสินอย่างยุติธรรมและเข้มข้น โดยทั้งคู่ประสบความสำเร็จในการสร้างแอปพลิเคชันที่มาจากความภักดีของลูกค้า หรือ loyalty-based application ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถลดการใช้พลาสติกลงได้ แอปพลิเคชันนี้ยังเชื่อมต่อกับร้านค้ามากมาย ตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงร้านขายของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าเหล่านี้โดยไม่ใช้พลาสติก จะได้รับสิทธิ์ในการสแกนคิวอาร์โค้ดที่กำหนดไว้เพื่อเปลี่ยนเป็นรางวัลผ่านทางแอปพลิเคชันได้

รางวัลที่สองและรางวัลที่สามตกเป็นของทีมตัวแทนจากสาธารณรัฐเกาหลี กู ฮง มิน (Gu Hong Ming) และ ทอ ฮง มิน (To Hong Ming) และทีมตัวแทนจากมาเลเซีย ห่าวเจียต้า (Hoh Jia Da) ฟาง แจ๊ค ออสการ์ หลิง (Fang Jack Oscar Ling) ตามลำดับ

“เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ และรู้สึกตื่นเต้นที่เราจะมีโอกาสได้นำเสนอไอเดียของเราต่อบุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโปรแกรมการอบรมของ CSIRO และเครือข่ายที่เราสร้างขึ้น

(ในช่วงการแข่งขันแฮกกาธอน) จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันของเรา และสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ในที่สุด” ชาญฤทธิศักดิ์ พก และบุญเนตร พึง ทีมผู้ชนะจากกัมพูชา กล่าว

ชาญฤทธิศักดิ์ พก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าแนวคิดของพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากข้อมูลที่พวกเขาค้นพบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนทำให้เกิดมลพิษขยะพลาสติกในทะเลมากถึง 31%

นอกจากโอกาสในการได้เป็นวิทยากรในเวทีระดับภูมิภาคแล้ว ผู้ชนะการแข่งขันแฮกกาธอนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก (EAS Hackathon) ยังได้รับรางวัลเงินสดมูลค่าทั้งสิ้น 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 250,000 บาท) พร้อมโอกาสในการเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมที่ศูนย์นวัตกรรมพลาสติกของ CSIRO ด้วย

ดร. หยาง หมี่ เอ็ง ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมของเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความตระหนักรู้เรื่องปัญหาพลาสติกในทะเล ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าพลังของเยาวชนจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการแก้ปัญหานี้ได้ โดยเมื่อพิจารณาจากผลงานที่ทีมผู้เข้าแข่งขันได้ส่งเข้ามา เราพบไอเดียความสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมายที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราหวังว่าการแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้จะช่วยปูทางไปสู่การวิจัย การสร้างสรรค์นวัตกรรม และสร้างความตระหนักรูู้แก่สาธารณชนโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนให้มากขึ้นในอนาคต

นับตั้งแต่เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา นอกจากอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหรือสิ่งของต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นแล้ว “ขยะ” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

X

Right Click

No right click