ขยะทะเลกับประเทศไทย

August 04, 2019 6953

นับตั้งแต่เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา นอกจากอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหรือสิ่งของต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นแล้ว “ขยะ” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกที่ปัจจุบันเกิดขึ้นมากกว่า 275 ล้านตันต่อปี และในแต่ละปีมีขยะมากกว่า 20 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับขยะทะเลเป็นอย่างมากเพราะเป็นประเทศที่มีอัตราการทิ้งขยะสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก

ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยปล่อยขยะสู่ท้องทะเลเป็นปริมาณกว่า 1.55 ล้านตัน ซึ่งขยะทะเลส่วนมากมักเป็นขยะพลาสติกกว่าร้อยละ 80 และมีความเกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค เช่น ถุงพลาสติก หลอด กล่องอาหาร ขวด ถ้วยโฟม และบุหรี่ โดยจากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ขยะเหล่านี้โดยมากมักเกิดขึ้นจากกิจกรรมชายฝั่งและการไหลจากแม่น้ำ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 80 ของขยะทะเลทั้งหมด

(รายงานสถานการณ์ทรัพยากรกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี พ.ศ. 2560)

สัดส่วนขยะทะเลในประเทศไทย

แม้การสะสมตัวของขยะทะเลในระยะเริ่มต้นอาจไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อมนุษย์มากนัก แต่เมื่อขยะทะเลเริ่มมีปริมาณมากขึ้น มนุษย์ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งจะเริ่มได้รับผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน โดยเริ่มต้นจากการลดลงของสัตว์ทะเล อันเนื่องมาจากขยะทะเลจำพวกเชือก อวน และพลาสติกที่ทำให้สัตว์ทะเลตายหรือติดเชื้อ โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมามีเต่าทะเลและปลาโลมาเกยตื้นจากการกลืนขยะทะเลและติดอวนเชือกมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นในทะเลและลอยอยู่เหนือผิวน้ำจะมีผลกระทบต่อแพลงก์ตอน ปะการังและสาหร่ายทะเลทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่และมีปริมาณลดลง ส่งผลต่อสายใยอาหารทำให้สัตว์ทะเลขนาดเล็กที่กินแพลงก์ตอนและสาหร่ายไม่มีอาหาร ไม่สามารถเพาะพันธุ์และมีปริมาณลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ ที่กินสัตว์ทะเลขนาดเล็กต่อไป และในที่สุดมนุษย์ที่กินสัตว์ทะเลเป็นอาหารจะได้รับผลกระทบเนื่องจากปริมาณสัตว์ทะเลที่ลดลงและส่งผลต่อเศรษฐกิจของมนุษย์ เพราะจะส่งผลให้มีปริมาณสัตว์ทะเลเข้าสู่ท้องตลาดลดลง นอกจากนี้ ปริมาณขยะทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากลดความสวยงามของทะเลและชายหาดเป็นอย่างมาก โดยในระยะยาวหากยังไม่มีการแก้ไขจัดการอย่างถูกวิธี อาจทำให้เราไม่มีอาหารทะเลเพื่อบริโภค หรือ อาจไม่สามารถท่องเที่ยวตามท้องทะเลและชายหาดได้อีกต่อไป

ผลกระทบของขยะทะเลต่อสัตว์ทะเลและภูมิทัศน์

ในปัจจุบันมีหลากหลายภาคส่วนที่ตื่นตัวต่อปริมาณขยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก โดยเน้นให้ผู้ผลิตขยะพลาสติกเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้จากการเริ่มรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์จากพลาสติกอื่น ๆ ที่เป็นลักษณะใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Used Plastics) จากทั้งร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ โดยรัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจำนวน 7 ชนิดภายในปี 2568 โดยในปี พ.ศ. 2562 นี้จะมีการเลิกใช้พลาสติกทั้งหมด 3 ชนิด คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกที่มีส่วนผสมของออกโซ่ และไมโครบีดส์

นอกจากการลดการใช้พลาสติกแล้ว ยังมีการรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะและเพิ่มการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ทั้งการใช้วัสดุอื่นทดแทนเม็ดพลาสติก การใช้แก้วกระดาษ การเลิกผลิตพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ การใช้วัสดุธรรมชาติ และการลดการใช้ แห อวน พลาสติกที่เป็นวัสดุประมง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำขยะพลาสติกไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยหากสามารถทำให้เป้าหมายเกี่ยวข้องกับขยะเป็นจริงได้นั้น จะสามารถทำให้ประเทศไทยลดรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะได้เป็นปริมาณมหาศาล รวมไปถึงสามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของพลังงานได้อย่างคุ้มค่า โดยความสำเร็จนี้จะสามารถเริ่มได้จากทุกคนที่แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่หากร่วมมือกันเริ่มต้นลดการใช้พลาสติก ทิ้งขยะให้ถูกวิธีและมีคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้ขยะมีปริมาณลดลงแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือระบบนิเวศน์ที่อยู่รอบตัวเราและประเทศชาติของเราให้กลับมามีความสวยงามและยั่งยืนเพื่อตัวเราเองและลูกหลานของพวกเราในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย


เรื่อง

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล 

ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Facebook : เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 22 January 2020 09:23
X

Right Click

No right click