สสว. จับมือ สภาอุตฯ ผลักดันโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วย Soft Power เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ที่ต้องการเป็นเอสเอ็มอีรายใหม่กลุ่มอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มออกแบบแฟชั่น กลุ่มภาพยนตร์ จากจำนวน 740 ราย คัดเหลือ 79 ราย คาดสร้างมูลค่าได้กว่า 180 ล้านบาท
นาวสาวณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดงานพิธีปิดและแถลงความสำเร็จ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วย Soft Power ว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งได้เห็นถึงความสำเร็จในก้าวแรก โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้วางแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ได้ดี ตรงกับภารกิจของหน่วยงานและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล มีสินค้าและบริการหลายๆ อย่างที่สามารถต่อยอดและผลักดันไปสู่เวทีโลกได้ โดยเฉพาะเรื่องอาหารไทยและการท่องเที่ยวที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยรัฐบาลคาดหวังว่า ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมกันพัฒนา ส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเข้มแข็ง เติบโต และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในช่วงการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง 3 ปีแรก เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจและอยู่รอดได้ ดังนั้นการสร้างกลไกต่าง ๆ ในการต่อยอดธุรกิจ การหาช่องทางตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฯลฯ ล้วนมีความสำคัญสำหรับผู้ประกอบการใหม่ และเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน สำหรับผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ ด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ในวันนี้ จากผู้ประกอบการ 740 ราย และได้เลือกเฟ้นผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่น ที่สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ของท้องถิ่นผ่านสินค้าและบริการได้อย่างน่าสนใจ วันนี้ และต้องขอแสดงความยินดีกับทั้ง 79 ราย หลังจากนี้ สสว. ยังมีกิจกรรมและโครงการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกราย รวมถึง สสว.ยังมีศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจรหรือศูนย์ OSS ที่ประจำอยู่แต่ละจังหวัดซึ่งสามารถไปรับบริการและขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา
นายอภิชิต ประสพรัตน์ ประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปข้อมูลการดำเนินงานว่า โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ครั้งนี้ สามารถอบรมให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการและผู้ประกอบการายใหม่ จำนวน 740 ราย สามารถต่อยอด/เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการเงินได้ 148 ราย และที่สำคัญสามารถจดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐได้จำนวน 126 ราย ภายใต้โครงการยังได้ผลการศึกษารูปแบบการพัฒนาธุรกิจ ซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 1 ฉบับที่จะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ในอนาคตต่อไปได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ ได้ถูกต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยทางโครงการได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณและใบประกาศนียบัตรจำนวน 79 ราย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการมากกว่า 180 ล้านบาทในระยะเวลา 1 ปี นับจากนี้
สสว. ประกาศความสำเร็จ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 เพื่อช่วยยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจ พร้อมเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ มีเอสเอ็มอีรับการพัฒนายกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจผ่านกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2567 กว่า 150 ราย สร้างมูลค่าทางธุรกิจ 126 ล้านบาท
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้จัดให้มี กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี เป็นการส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อยกระดับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดการลงทุนหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ พร้อมช่วยเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ โดยมีการจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 โดยมุ่งเน้นผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนแล้วไม่เกิน 3 ปี มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ข้างต้น ที่มีการดำเนินกิจการ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่ต่อยอดอัตลักษณ์เชิงพื้นที่สร้าง Value creation 2. อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี/แปรรูปอาหาร และ 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างได้รับประโยชน์หลายมิติ ทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเปิดประตูสู่ธุรกิจและนวัตกรรม ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงลึกเพิ่มคุณค่าผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศ มีโอกาสนำสินค้าเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากสถาบันการเงินของภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ” รักษาการ ผอ.สสว. ระบุ
สำหรับกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการตลอดโครงการ ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม 2567 ประกอบไปด้วย
กิจกรรมที่ 1 : ฝึกอบรมหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ Entrepreneurship เปิดประตูสู่ความ เป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม (เดือนกันยายน 2567)
กิจกรรมที่ 2 : กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจเชิงลึกโดยรับการพัฒนารายละ 6 ครั้ง (เดือนกันยายน – ตุลาคม 2567)
กิจกรรมที่ 3 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในประเทศและต่างประเทศ
กิจกรรมที่ 3.1 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดต่างประเทศ 24 ราย (เดือนพฤศจิกายน 2567)
กิจกรรมที่ 3.2 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในประเทศ 20 ราย (เดือนธันวาคม 2567)
และกิจกรรมที่ 4 : เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน SME D Bank และสถาบันการเงินอื่นๆ 31 ราย (เดือนพฤศจิกายน 2567)
รักษาการ ผอ.สสว. เผยอีกว่า สสว. ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งบรรลุตัวชี้วัดผลผลิต คือ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ รับสมัคร และคัดเลือกผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ หรือเอสเอ็มอีรายใหม่ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รับการพัฒนายกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ หรือนวัตกรรมใหม่ หรืองานวิจัยต่างๆ รวมทั้งสิ้น 150 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 27 ราย ชลบุรี 48 ราย ระยอง 42 ราย และจันทบุรี 33 ราย โดยภายหลังจากรับการพัฒนาคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้/การลดต้นทุน/การขยายการลงทุน/การจ้างงาน/มูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ มากกว่า 28 ล้านบาท นอกจากจะได้รับการยกศักยภาพทางธุรกิจแล้ว โครงการฯ ยังได้ดำเนินการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมต่อยอดการลงทุนในธุรกิจจำนวน 31 ราย ซึ่งมีแผนการลงทุนกว่า 64 ล้านบาท
“เรายังสนับสนุนและส่งเสริมด้านตลาดเชิงรุกในต่างประเทศให้ผู้ประกอบการ จำนวน 20 ราย เข้าร่วมการนำเสนอสินค้าในงาน Taiwan Int’l Food Industry ณ ประเทศไต้หวัน เมื่อวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งสามารถสร้างยอดขายและการเจรจาธุรกิจ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท และยังได้ส่งเสริมการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย ผ่านการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวของไต้หวัน โดยสามารถสร้างยอดขายจากการจับคู่ค้าทางธุรกิจได้ กว่า 3 ล้านบาท และกิจกรรมสุดท้ายภายใต้โครงการเป็นการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมด้านตลาดเชิงรุกในประเทศ ในงาน “SME SOFT POWER Marketplace” ณ ลาน Avenue A ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค. 2567 โดยได้คัดเลือกผู้ประกอบการ จำนวน 20 ราย เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายรวมได้กว่า 1 ล้านบาท” นางสาวปณิตา กล่าว ทิ้งท้าย
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation: TAF) และ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand: JFCCT) ร่วมกันจัดงานภายใต้ชื่อ “สัมมนาพัฒนาธุรกิจ SME สู่ความยั่งยืนในตลาดโลกด้วย ESG และการเปิดตัว ESG Toolkit สำหรับ SMEs” โดยงานสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SMEs Go Global – Go Green ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย (Department of Foreign Affairs and Trade: DFAT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG (Environmental, Social, and Governance) พร้อมให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและบริการของภาครัฐที่สนับสนุนการปฏิบัติตาม ESG รวมถึงการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ SMEs ที่ยั่งยืน ตั้งเป้าเสริมแกร่งให้กับ SMEs ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกและสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยงานดังกล่าว มี ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนจาก สสว. DFAT และ TAF ร่วมในพิธีเปิด ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอมารี ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยผลสำรวจโอกาสและความท้าทายของธุรกิจเอสเอ็มอีสู่เทรนด์ธุรกิจ ESG (Environment, Social และ Governance) หรือแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ซึ่ง สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 2,675 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21 – 31 ตุลาคม 2567 พบว่า เอสเอ็มอีไทย ร้อยละ 65.3 มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ESG โดยพิจารณาสัดส่วนการรับรู้เอสเอ็มอี ร้อยละ 96.2 มีความรู้อยู่ในระดับพื้นฐาน เช่น รูปแบบการดำเนินธุรกิจแนว ESG จะช่วยลดการสร้างมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีความเข้าใจเชิงลึกและผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้ ขณะที่ร้อยละ 3.8 มีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานและมีการเชื่อมโยงนำไปสู่ผลลัพธ์ได้
เมื่อพิจารณาสัดส่วนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ พบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 74.9 รับทราบเกี่ยวกับแนวคิด ESG แต่ยังไม่มีการนำไปใช้ และมีเอสเอ็มอีเพียงร้อยละ 25.1 เริ่มมีความตระหนักรู้ เนื่องจากเอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการนำมาปรับใช้กับธุรกิจในขั้นพื้นฐาน และบางขั้นตอนสามารถเริ่มทำได้ง่าย เช่น การลดการใช้พลาสติกและการแยกขยะ
ในการสำรวจยังพบว่า เอสเอ็มอีมีการประเมินถึงผลที่จะเกิดขึ้นหากนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ในธุรกิจ พบว่า เอสเอ็มอีร้อยละ 29.4 มองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจโดยจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า/บริการเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ ขั้นตอนการทำงาน การจดรับรองมาตรฐาน ต้นทุนในการจ้างผู้ตรวจสอบตามมาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ ที่ปรึกษามูลนิธิเอเชีย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยกำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ในตลาดโลก และ ธุรกิจ SMEs ของไทยหลายแห่งประสบปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ เนื่องจากขาดความรู้และทรัพยากร ทำให้จำกัดโอกาสในการเข้าถึงตลาดโลก เหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “การเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG สำหรับ SMEs ไทย”
งานสัมมนาดังกล่าว มุ่งเน้นที่จะลดช่องว่างระหว่างมาตรฐาน ESG ระดับสากลและความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยนอกจากจะเปิดตัวคู่มือปฏิบัติ ESG พร้อมให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและบริการของภาครัฐที่สนับสนุนการปฏิบัติตาม ESG แล้ว ยังดำเนินการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ SMEs รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยกันทั้งหมด 3 ช่วง โดย ช่วงที่หนึ่ง เป็นการแนะนำคู่มือปฏิบัติ ESG ซึ่งออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับ SMEs ไทย โดยเน้นการใช้งานที่เป็นรูปธรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง การนำเสนอจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่คู่มือปฏิบัติ ESG ช่วยแก้ไขความท้าทายเฉพาะที่ SMEs ต้องเผชิญในการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG พร้อมแนะแนวทางทีละขั้นตอนสำหรับการผสานหลักการ ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่การผลิตโลก ซึ่งช่วงที่หนึ่งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจถึงประโยชน์ที่แท้จริงของการนำ ESG มาประยุกต์ใช้ในองค์กร นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคการผลิต ได้แก่ บริษัทเดอะ คลาสสิก แชร์ส จำกัด บริษัทจุลไหมไทย จำกัด และบริษัทเอชแอลเอ็ม คอร์ปอเรท จำกัด มาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่คู่มือปฏิบัติ ESG จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ SMEs ไทยต้องเผชิญในเรื่อง ESG พร้อมแนะแนวทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับการนำไปใช้จริง
ช่วงที่สอง นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับบริการและโครงการปัจจุบันของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่สนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG โดยวิทยากรจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะอธิบายถึงวิธีการที่บริการและการรับรองจากภาครัฐเหล่านี้สอดคล้องกับคู่มือปฏิบัติ ESG และช่วยในการนำไปใช้ในธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
ช่วงที่สาม เน้นมุมมองและข้อมูลจากภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายและวางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั้งยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่แนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับ ESG โดยเป็นการอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางที่ SMEs ไทยสามารถนำ ESG มาใช้และประสบความสำเร็จได้ตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นให้ข้อมูลผู้ประกอบการเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนโครงการมาตรการสนับสนุนที่ภาครัฐให้แก่ผู้ประกอบการ มีการถอดบทเรียนให้ผู้ประกอบการจากมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ และเน้นการสร้างความเข้าใจในประโยชน์จากการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG เช่น เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการ ภายใต้ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 โดยมีการพัฒนาในเชิงลึก ร่วมให้คำแนะนำปรับปรุงกระบวนการผลิต/บริการ การบริหารจัดการ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของชุมชน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ให้น่าสนใจ เพื่อยกระดับด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนงานวิจัยต่างๆ ที่เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูงได้ หวังช่วยยกระดับธุรกิจ รองรับการการขยายการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และระดับประเทศต่อไป
โดยกิจกรรมดังกล่าว ได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุน ขยายกิจการหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจในผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม เมื่อเร็วๆ นี้ คณะ สสว. ได้ติดตามความคืบหน้า ของการพัฒนาธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และการบริการในเชิงท่องเที่ยว ณ สถานประกอบการ ที่มีการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าและโอกาสการเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูงได้ ดังนี้
จังหวัดชลบุรี ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยมุ่งเน้นที่อาหารที่มีโภชนาการสูง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดเวลาการดำเนินงานในระบบควบคุมวาล์วจ่ายน้ำ-จ่ายปุ๋ยอัตโนมัติ
จังหวัดระยอง ได้พัฒนา Application สำหรับจัดการการดำเนินงานในองค์กร-การวางแผนและติดตาม การผลิต การซ่อมบำรุง วัตถุดิบ คลังสินค้าการขาย การขนส่ง เป็นต้น และ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ของที่เหลือจากกวัสดุเหลือใช้
จังหวัดจันทบุรี ให้คำแนะนำและอบรมการสร้างเรื่องราวและการนำเสนอ (Storytelling) เพื่อยกระดับอัตลักษณ์ชุมชนท่องเที่ยว Blue zone การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหารสมุนไพร แพทย์แผนไทย สปา เป็นต้น
และจังหวัดฉะเชิงเทรา พัฒนาการจัดการในองค์กร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในตรวจสอบและติดตามความชื้นในดินและ ธาตุอาหารพืชในดิน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกร
ซึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพถือเป็นสัดส่วนที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจมากที่สุด และได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่หลากหลาย ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ นวัตกรรมการปรับปรุงกระบวนการผลิต การยืดอายุผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหาร ลำดับต่อมาคือ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ และการเพิ่มผลผลิต อาทิ เทคโนโลยี AR Application สำหรับการบริหารจัดการในองค์กร และ IoT สำหรับการเกษตร เป็นต้น
เป็นอีกหนึ่งกิจกรรรม อันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ที่ยังคงเดินหน้าส่งเสริม พัฒนาสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อยกระดับธุรกิจชุมชน รองรับขยายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป
สสว. เตรียมจัดงาน THAI SME-GP DAY 2024 งานมหกรรมยิ่งใหญ่ประจำปี ที่รวมสินค้า/บริการของ SME ถึง 160 บูธ เพื่อขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐ/เอกชน พร้อมติดอาวุธความรู้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจยุคใหม่ให้เป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจต่อยอดธุรกิจ ภายในงานยังรวมบริการต่างๆ เพื่อ SME แบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ตั้งแต่การตรวจสุขภาพธุรกิจ การขึ้นทะเบียนรับสิทธ์ประโยชน์ บริการปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ เงินอุดหนุนจากมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน รวมถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำ ด้วยเป้าหมายให้งานนี้สร้างโอกาสให้ SME เพื่อการเติบโตที่เข้มแข็ง ยั่งยืน
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า จากการที่ สสว. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 นับตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อสร้างโอกาสให้ SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.3-1.5 ล้านล้านบาทต่อปี ด้วยการให้สิทธิประโยชน์กับ SME ที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP ไว้กับ สสว. ในรูปแบบของแต้มต่อในการแข่งขันไม่เกินร้อยละ 10 และหากผู้ประกอบการ THAI SME-GP ขายสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 15 ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการ SME เป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งสิทธิประโยชน์ดังกล่าวช่วยสร้างโอกาสให้กับ SME มาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน (ตัวเลข ณ วันที่ 13 ก.ย.) มีผู้ประกอบการ SME ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP ทั่วประเทศจำนวนรวม 164,327 ราย มีจำนวนสินค้าและบริการรวม 1,217,146 รายการ โดยผลการสร้างโอกาสให้กับ SME ภายใต้มาตรการฯ พบว่า หน่วยงานภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจาก SME ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 558,064 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.86 ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างรวม ขณะเดียวกันในการเตรียมความพร้อมและพัฒนา SME ให้มีศักยภาพที่จะเข้าสู่ตลาด สสว. ได้ดำเนินโครงการสนับสนุน MSME ด้วย SME-GP นับตั้งแต่ปี 2564 มาจนถึงปัจจุบัน
“สำหรับปี 2567 สสว. ได้พัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างความพร้อมให้ SME ทั่วประเทศ ทั้งในกลุ่มธุรกิจทั่วไป และกลุ่มธุรกิจมุ่งเน้น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ โดยมีการพัฒนา SME รวมกว่า 1,300 ราย และเพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้ SME ที่ได้รับการพัฒนา และผู้ที่มีสินค้า/บริการที่มีศักยภาพ สสว. จึงจัดกิจกรรมเชื่อมโยงคู่ค้าเพื่อสร้างโอกาส SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐ/ภาคเอกชน หรือ งาน THAI SME-GP DAY 2024 ขึ้น ซึ่งกำหนดให้เป็นงานมหกรรมยิ่งใหญ่ประจำปี เพื่อ SME ไทย กำหนดจะจัดระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน นี้ ที่ ฮอลล์ 5 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี” รักษาการ ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับงาน THAI SME-GP DAY 2024 มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้า/บริการ ได้พบกับผู้ซื้อทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาด ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางที่จะช่วยสร้างองค์ความรู้และแนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้อง ให้กับบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากการถูกตรวจสอบ โดยภายในงานจะมีกิจกรรมสำคัญๆ อาทิ
1) THAI SME-GP พื้นที่แสดงผลงานของมาตรการฯ ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การขึ้นทะเบียน THAI SME-GP รวมถึงการแสดงผลงานของหน่วยงานที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณในการเป็นผู้สนับสนุนสินค้า/บริการของ SME ในระดับสูง
2) OSMEP Pavilion พื้นที่รวบรวมบริการของ สสว. เพื่อ SME อาทิ การขึ้นทะเบียน SME One ID การตรวจสุขภาพธุรกิจ และตรวจระดับการเป็นผู้ประกอบการ GREEN ที่ปรึกษาธุรกิจ มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน และ platform บริการต่างๆ ของ สสว.
3) พื้นที่แสดงสินค้า/บริการของ SME รวม 160 บูธ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ได้รับความสนใจจากตลาดภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงพื้นที่ Show Case นำเสนอสินค้า/บริการที่โดดเด่นของ SME
4) พื้นที่เครือข่ายส่งเสริม SME ที่แสดงผลงานของหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุน SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐ รวมทั้งสถาบันการเงินทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่มาร่วมให้บริการสินเชื่อสำหรับ SME
5) Total Solution พื้นที่นำเสนอสินค้ากลุ่ม IT ทั้ง Hardware Software และบริการที่เกี่ยวข้อง
6) เวทีกลาง เป็นพื้นที่นำเสนอกิจกรรมสัมมนา/บรรยายพิเศษ ในหัวข้อเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ความต้องการของผู้ซื้อรายใหญ่ การทำธุรกิจยุคใหม่ รวมทั้งกิจกรรมบันเทิง เช่น มินิคอนเสิร์ตจาก ปาล์มมี่ เจ เจตริน ก้อง ห้วยไร่ และกิจกรรมร่วมสนุกรับของรางวัลมากมาย
นอกจากนี้ภายในงานจะมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เพื่อเชิดชูหน่วยงานภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของ SME ในระดับสูง และสถาบันการเงินที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อเข้าสู่ตลาดดังกล่าว
“สสว. เชื่อว่างาน THAI SME-GP 2024 นี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น SME จะได้มีความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดภาครัฐ ภาคเอกชน และมีโอกาสโชว์ศักยภาพให้กลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสในการค้า ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จะได้มีทางเลือกใหม่ๆ หรือมีโอกาสเลือกคู่ค้าที่ตรงตามความต้องการ ส่วนผู้ที่สนใจจะได้เห็นแนวคิดการทำธุรกิจจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อจุดประกายความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งเสริม SME ของ สสว. บรรลุเป้าหมายในการสร้างโอกาสทางการตลาดและพัฒนาศักยภาพให้ SME เข้มแข็ง เติบโต และเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจประเทศต่อไป” รักษาการ ผอ.สสว. กล่าว