December 18, 2024

สสว. จัด SME Symposium 2024 ครั้งที่ 3 สรรค์สร้างอัตลักษณ์ ฝ่าวงล้อมมังกรใหญ่ ทางรอดธุรกิจ SME ไทย

December 17, 2024 33

สสว. จัดเวทีสัมมนาประจำปี “SME Symposium 2024” ชี้ทิศทางธุรกิจ SME ปี 2568 กลุ่มดาวรุ่ง ได้แก่ การผลิตสื่อคอนเทนต์ การขายสินค้าออนไลน์ การผลิตเครื่องดื่มอัดแก๊ส บริการจัดเลี้ยง ธุรกิจฟิตเนส ยิม และการจัดการแข่งขันกีฬา ส่วนธุรกิจหอพักนักเรียนนักศึกษา ต้องเฝ้าระวัง 3 ปีซ้อน เนื่องจากมูลค่าธุรกิจลดลงต่อเนื่อง ผลจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป สสว. เชื่อมั่นทางรอดเอสเอ็มอีแข่งขันได้ คือ การค้นหาเอกลักษณ์ สร้างอัตลักษณ์ เพิ่มความแตกต่างจากคู่แข่ง และใช้ ESG ช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้ต่อไป

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการ ผอ.สสว. กล่าวว่า สสว. จัดงาน SME Symposium 2024 ให้เป็นงานสัมมนาประจำปีเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เป้าหมายสำคัญเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ของเอสเอ็มอีในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 รวมทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์เอสเอ็มอีปัจจุบัน พบว่าเอสเอ็มอีไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจเอสเอ็มอีมีจำนวนทั้งสิ้น 3.2 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดย่อมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงในอัตราร้อยละ 8.2 และ 5.4 ตามลำดับ ด้านการจ้างเอสเอ็มอีได้สร้างงานกว่า 12.93 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการบริการและภาคการค้าที่เอสเอ็มอีมีบทบาทอย่างมากทั้งในด้านจำนวนธุรกิจและการจ้างงาน

โดยเอสเอ็มอีสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยสะสมตั้งแต่ไตรมาส 1 - ไตรมาส 3 ปี 2567 มากกว่า 4.81 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของ GDP ประเทศ ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 โดยภาคการค้า การผลิต และการบริการ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การบริโภคจากนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่เติบโตขึ้นได้ช่วยเสริมแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติหลายครั้งที่กระทบภาคธุรกิจการเกษตรอย่างมาก

ด้านการค้าระหว่างประเทศ 10 เดือนแรก เอสเอ็มอีไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของรายได้จากการส่งออกรวม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 18.6

โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง ขณะที่การนำเข้าของเอสเอ็มอีไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 โดยเกือบร้อยละ 50 เป็นการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับใช้ในการผลิตทั้งเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อส่งออก เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าและช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทยได้

จากผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของ สสว. ในปี 2567 เทียบกับปี 2566 เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจใดขยายตัวหรือธุรกิจใดมียอดขายลดลง โดยใช้เกณฑ์ยอดขายมากกว่า หรือน้อยกว่า 30% จากปีก่อน พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวหรือการลดลงของยอดขายในธุรกิจ  มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังสถานการณ์โควิด-19 สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน เทรนด์หรือแนวโน้มการปรับตัวไปสู่ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจที่มีรายได้ขยายตัวมากกว่า 30% จากปีก่อน หรือที่เรียกว่ากลุ่มดาวรุ่ง

ได้แก่ กลุ่มธุรกิจห้องพักรายเดือน ขยายตัวตามพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมการซื้ออสังหาริมทรัพย์และต้องการใช้ชีวิตในเมือง กลุ่มธุรกิจการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ขยายตัวจากพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงและง่ายต่อการเข้าถึง กลุ่มธุรกิจผลิตสื่อคอนเทนต์ ขยายตัวจากการผลิตสื่อบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เติบโตสูง กลุ่มธุรกิจฟิตเนส/ยิมและการจัดแข่งกีฬา ที่ขยายตัวตามเทรนด์การดูแลสุขภาพและการเติบโตของกิจกรรมการแข่งกีฬา และธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวได้ตามความนิยมการซื้อของออนไลน์

ส่วนธุรกิจเฝ้าระวัง พบว่า อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตได้ง่าย และต้องใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม ยากต่อการปรับตัวเพื่อให้เข้าสู่ธุรกิจสีเขียวและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้ยาก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลิตเคมีภัณฑ์ การผลิตเครื่องหนัง การผลิตสิ่งทอ และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภครวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้น

ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหอพักนักเรียนหรือนักศึกษาที่มีตัวเลือกมากและหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน ธุรกิจสวนสนุก เช่น สวนน้ำที่มีการแข่งขันสูงกับธุรกิจสวนสนุกขนาดใหญ่ที่มีเครื่องเล่นหลากหลาย มีความเฉพาะในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ต้องเน้นไปยังกลุ่มวัยรุ่นและเด็ก ต้องอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหลักที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ การทำโปรโมชั่นที่แข่งขันอย่างรุนแรงในตลาด

โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้กล่าวไปนั้น ทั้งในส่วนที่เป็นกลุ่มดาวรุ่งและกลุ่มธุรกิจเฝ้าระวัง ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในปี 2568 จากความผันผวนทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อภาคประชาชน เทรนด์หรือแนวโน้มใหม่ที่จะเกิดขึ้น

รักษาการ ผอ. สสว.  เผยอีกว่า ส่วนการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์เอสเอ็มอีปี 2568 สสว. คาดว่า GDP เอสเอ็มอีไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกที่ยังคงเติบโตได้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการผลิต เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แต่ยังคงต้องกังวลกับสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีนบุกตลาดไทยและทั่วโลก เอสเอ็มอีไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวจากความท้าทายดังกล่าว โดยสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ หรือการสร้างคุณค่าผ่านอัตลักษณ์ไทย

จากการศึกษาของ สสว. ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีศักยภาพสูงในหลายด้าน ทั้งในด้านการท่องเที่ยว แหล่งผลิตอาหารคุณภาพสูงของโลก ศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า แต่ยังขาดการเชื่อมโยงไปยังสินค้าและบริการที่จะส่งผ่านคุณค่าไปยังกลุ่มเป้าหมาย หากเอสเอ็มอีไทยจะก้าวข้ามและสามารถแข่งขันได้ในระยะต่อไป จำเป็นต้องสู้ในธุรกิจมูลค่าสูง โดยการยกระดับสินค้าและบริการด้วยคุณค่าที่มากกว่าการซื้อสินค้าและบริการตามความจำเป็นในการใช้ชีวิต แต่ต้องสร้างสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการเชิงอารมณ์ ที่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ ประสบการณ์ที่แตกต่าง ประสบการณ์ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่เหนือกว่าความปกติ สามารถส่งผ่านประสบการณ์ผ่าน Social Media ได้

ทั้งนี้ การยกระดับ พัฒนาสินค้าและบริการให้ไปถึงความต้องการนั้นได้ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ แนวความคิดของผู้ประกอบการ การเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการได้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง 3 ปัจจัยหลักถูกเชื่อมโยงกันและขับเคลื่อนเป็นพลวัต ไม่สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะประสบความสำเร็จได้ โดยปัจจัยด้านแนวคิดของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ของตัวผู้ประกอบการเองที่มีความสามารถในการมองเห็นโอกาส ทิศทาง หรือแนวโน้มอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ การสร้างคอนเนคชั่นในเชิงธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงและนำไปต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนปัจจัยในด้านกลุ่มเป้าหมาย หรือ กลุ่มลูกค้า พบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญ อาทิ ความเข้าใจและจำแนกกลุ่มลูกค้าของตนได้อย่างชัดเจน  สามารถสร้างสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการได้ตรงจุด พัฒนากลยุทธ์การตลาดกับกลุ่มเป้าหมายให้สามารถเข้าถึงและเกิดความต้องการ

เช่น การสร้างเรื่องราวที่สัมพันธ์กับสินค้าหรือบริการ การดึงจุดเด่นที่สามารถเชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถใช้กลยุทธ์และเครื่องมือการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กำหนดไว้

ส่วนปัจจัยด้านคุณค่าของสินค้าและบริการ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งต่อคุณค่าไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ โดยมีพื้นฐานจากการใช้วัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพ การมีทักษะการผลิตหรือการให้บริการขั้นสูง มีมาตรฐานหรือผ่านการประกวด ได้รับรางวัลจากเวทีต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและบริการ 

ในส่วนการสร้างธุรกิจมูลค่าสูงนั้น  ผู้ประกอบการต้องมีแนวคิดและเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย สามารถส่งผ่านคุณค่าของสินค้าและบริการนั้น ไปยังเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้เกิดความต้องการเชิงอารมณ์ มากกว่าแค่ความจำเป็นในการดำรงชีวิต

โดยสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นไทย ศิลปะท้องถิ่น ทรัพยากรเฉพาะถิ่น นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมทั้งการใช้เครื่องมือการตลาดที่เหมาะสม เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้อง คุณค่าดังกล่าวสามารถทำให้ผู้บริโภคมองข้ามปัจจัยด้านราคา และยอมจ่ายในราคาที่เหมาะสมกับคุณค่าที่ได้รับ และเป็นการสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้

อย่างไรก็ดี ภายในงาน SME Symposium 2024” ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “สรรค์สร้างอัตลักษณ์
ฝ่าวงล้อมมังกรใหญ่ ทางรอดธุรกิจ
SME ไทย” โดยวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาร่วมให้ข้อมูลรวมถึงมุมมองแนวคิดที่เป็นประโยชน์ ได้แก่

1) นายตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย (TDTA) มาให้ข้อมูลแนวทางการรับมือกับการเข้ามาของสินค้าจีนและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดจีน

2) นายดุลยพล ศรีจันทร์ Co-Founder ของ PDM Brand ผู้จำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ เสื่อตกแต่งบ้านที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว มีการจัดจำหน่ายสินค้าโดยไม่ต้องมีโรงงานผลิต ไม่มีสินค้าในคลังสินค้าให้เป็นต้นทุนหลัก

3) นางสาวณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารซาว ร้านอาหารอีสานพรีเมี่ยมที่มี Style เฉพาะตัวด้วยเมนูอีสานแท้หาทานยากและมีความหลากหลาย เน้นวัตถุดิบคุณภาพ สะอาด รสชาติที่มีความเป็นอีสานอย่างมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

และ 4) นายจิรายุทธ ภูวพูนผล Co-Founder ร้าน โอ้กะจู๋ กิจการฟาร์มผักออแกนิคสู่ร้านสลัดพันล้าน ผู้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่ถือเป็นต้นทางของวัตถุดิบคุณภาพและการพัฒนาเครือข่ายสังคมให้ท้องถิ่นเติบโตไปพร้อมกัน การสร้างธุรกิจที่อยู่ในกระแสสุขภาพ รวมถึงการขยายธุรกิจโดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมทุนด้วยทำให้สามารถเสริมศักยภาพกิจการให้เติบโตได้เร็วขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มตลาดทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่มีการผลิต หรือมีส่วนของการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคิดเพื่อสังคม รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่เชื่อถือได้ ตามแนวทาง ESG  (Environment, Social, และ Governance) เพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ในการดำเนินธุรกิจด้วย

ดังนั้น เอสเอ็มอีที่เริ่มลงทุนใหม่หรือวางแผนลงทุนเพิ่มเติม ควรคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า แม้กระทั่งการเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ สสว. ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งด้านการให้ความรู้เตรียมความพร้อมให้ การเพิ่มศักยภาพ การให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน การจัดทำมาตรฐาน การจัดทำข้อมูลการใช้คาร์บอน ผ่านงานส่งเสริมต่าง ๆ ของ สสว. และหน่วยร่วมดำเนินการ โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SME Connext และยังสามารถสอบถามรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจรซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ สสว. Call Center โทร. 1301

Related items

X

Right Click

No right click