×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

บทความ CSV ตอนนี้ จะพาท่านไปรู้จัก การระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Shared Value Opportunity Identification (SVOI) โดยมีจุดมุ่งหมายในการค้นหาประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และริเริ่มกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม

 

การให้ความช่วยเหลือในบริบทของ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่ผ่านมา มักเป็นการบริจาคเพื่อการกุศลในรูปของการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ ซึ่งถือเป็นจุดนำเข้าในกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานโดยอาศัยการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของโดยลำพัง อาจเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกตลอดเวลา หรืออาจกลายเป็นความสัมพันธ์ในทางลบ หากการให้นั้นจำต้องยุติลงในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

 

ความจำเป็นในการหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเชิงกลยุทธ์ จึงเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้น สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เป็นความยั่งยืนจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการส่งมอบผลประโยชน์นั้น เพราะหากต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าประโยชน์ที่ส่งมอบ คุณค่าสุทธิที่เกิดขึ้นจะติดลบ และสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมายพลอยเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า

 

ทำให้การประยุกต์ใช้ความถนัดความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน และการใช้โครงข่ายธุรกิจสนับสนุนการทำงานของชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย ในลักษณะที่ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคม จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของ CSV ซึ่งสร้างให้เกิดเป็นความแตกต่างในการดำเนินงานเหนือองค์กรอื่น จนนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวของกิจการ

วิธีการระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม (SVOI) ประกอบด้วยกระบวนการใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ หรือ Review Existing Investments 2. พัฒนาภูมิภาพของประเด็น หรือ Develop a Landscape of Issues 3. คัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Screen Issues for Shared Value Potential และ 4. จัดลำดับความสำคัญในโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Prioritize Shared Value Opportunities

 

กิจกรรมในขั้นตอนการทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ ประกอบด้วย การสัมภาษณ์ผู้ที่ริเริ่มแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือในแต่ละความริเริ่ม (Initiatives) ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การประเมินการดำเนินความริเริ่มที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ โดยพิจารณาจากคุณค่าทางธุรกิจและทางสังคมที่ได้รับ การประมวลและหารือถึงข้อค้นพบจากการประเมิน ร่วมกับคณะทำงานขององค์กร

 

กิจกรรมในขั้นตอนการพัฒนาภูมิภาพของประเด็น ประกอบด้วย การหารือกับผู้บริหารระดับสูงในประเด็นที่เป็นความสำคัญยิ่งยวดทางธุรกิจและเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคม การวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นทางธุรกิจและประเด็นทางสังคมตามที่ได้รับข้อมูลจากการหารือกับผู้บริหารระดับสูง และการจัดทำรายการประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม

 

กิจกรรมในขั้นตอนการคัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม ประกอบด้วย การนำรายการประเด็นที่ถูกระบุว่ามีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม มาพิจารณาโดยใช้เกณฑ์คัดกรองหลัก และการใช้เกณฑ์คัดกรองเสริมในการกลั่นกรองประเด็นเพิ่มเติม (ถ้าจำเป็น)

 

กิจกรรมในขั้นตอนการจัดลำดับความสำคัญในโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม ประกอบด้วย การจัดทำเค้าโครงกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ พร้อมผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับ และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกันกำหนดโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วมใน 2-3 กิจกรรม โดยสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการระบุโอกาสดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม คือ ประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาดำเนินการสู่แนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วมธุรกิจที่ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ จะทำให้ได้มาซึ่งการตราคุณค่าร่วม (Shared Value Proposition) ที่เป็นอัตลักษณ์ของกิจการ จากการประเมินโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ ประเด็นทางสังคมที่อยู่ในความสนใจขององค์กร และสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่สามารถนำมาใช้ และจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการออกแบบความริเริ่มแห่งคุณค่าร่วม (Shared Value Initiatives) ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์การดำเนินงานทั้งในทางธุรกิจและในทางสังคมไปพร้อมกันในระยะถัดไป

 


เรื่อง : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ  ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์

 

ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้น สินค้าที่เป็นเป้าหมายการลงทุนเดิมทั้งหลาย ดูจะมีแนวโน้มราคาที่ไม่ดึงดูดใจ

จากข้อมูลการสำรวจ 2016 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ระบุว่า ปริมาณเม็ดเงินที่ถูกจัดสรรในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 18.3 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2557 มาอยู่ที่ 22.9 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 ในช่วงเวลา 2 ปี โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 26.3 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 4 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญกว่าๆ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน

 

การลงทุนที่ยั่งยืน เป็นการลงทุนที่พิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ร่วมกับการพิจารณาข้อมูลด้านการเงิน สำหรับใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกและบริหารการลงทุน

 

เพื่อเป็นการตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้จัดทำและประกาศรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ด้วยการคัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียนจำนวนกว่า 600 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) ในปี พ.ศ.2558 เป็นปีแรก และได้ดำเนินการจัดทำและประกาศรายชื่อ กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่สาม ในปี พ.ศ.2560 นี้

 

ผลการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่เข้าอยู่ใน Universe ของ ESG100 ประจำปี 2560 ปรากฏว่าบริษัทที่ติดอันดับ กระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) 11 บริษัท กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) 6 บริษัท กลุ่มธุรกิจการเงิน (FINCIAL) 12 บริษัท กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) 16 บริษัท กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) 14 บริษัท กลุ่มทรัพยากร (RESOURC) 10 บริษัท กลุ่มบริการ (SERVICE) 18 บริษัท และกลุ่มเทคโนโลยี (TECH) 13 บริษัท คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของหลักทรัพย์ ESG100 ในตลาด SET ราว 6.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.6 เมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคปของ SET ที่ 15.3 ล้านล้านบาท และเป็นหลักทรัพย์ ESG100 ในตลาด mai จำนวน 10 บริษัท มีมาร์เก็ตแคปราว 4.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคปของ mai ที่ 3.1 แสนล้านบาท

 

ตัวอย่างของหลักทรัพย์ ESG100 ในกลุ่ม AGRO ได้แก่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บมจ.น้ำมันพืชไทย บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ในกลุ่ม CONSUMP ได้แก่ บมจ.ไทยออพติคอล กรุ๊ป บมจ.กันยงอีเลคทริก บมจ.โอเชียนกลาส ในกลุ่ม FINCIAL ได้แก่ บมจ.นำสินประกันภัย บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ธนาคารกสิกรไทย ไนกลุ่ม INDUS ได้แก่ บมจ.
กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี บมจ.ศูนย์บริการเหล็กสยาม ในกลุ่ม PROPCON ได้แก่ บมจ.ศุภาลัย บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ในกลุ่ม RESOURC ได้แก่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น บมจ.ไทยออยล์ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ ในกลุ่ม SERVICE ได้แก่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ บมจ.ดุสิตธานี บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ และในกลุ่ม TECH ได้แก่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) เป็นต้น

 

ผลการทดสอบการให้ผลตอบแทนรวม (Total Return) โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า หุ้น ESG100 ปี 2560 จะให้ผลตอบแทนรวมที่ 236% ส่วนหุ้นในดัชนี SET จะให้ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 63% ขณะที่ผลการทดสอบการให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี (Year-to-date Return) หุ้น ESG100 จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 9.8% ส่วนหุ้นในดัชนี SET จะให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.9%

 

ในต่างประเทศ ได้มีผู้จัดทำข้อมูลและให้บริการดัชนีด้านความยั่งยืนเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุน โดยใช้ข้อมูล ESG เป็นฐานในการพิจารณา เป็นจำนวนหลายราย อาทิ เอสแอนด์พี ดาวโจนส์ ฟุตซี่ เอ็มเอสซีไอ และนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณเม็ดเงินที่ถูกจัดสรรในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

 

การเปิดเผยกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ถือเป็นพัฒนาการของการเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียนให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่กับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน อันจะนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน การส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัท และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน 

 

ผู้ลงทุนหรือผู้ที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com

 

เรื่อง : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ  

ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์

Page 5 of 5
X

Right Click

No right click