บทความการสร้างคุณค่าร่วมในตอนนี้ จึงขอนำเสนอทางเลือกสำหรับการลงทุนในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า การลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มขาขึ้นในแวดวงของตลาดทุนตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
การลงทุนที่ยั่งยืน เป็นวิถีการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในการคัดเลือกและบริหารพอร์ตการลงทุน
รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืนในปัจจุบัน สามารถจำแนกตามนโยบายหรือกลยุทธ์การลงทุน ออกได้เป็น 5 จำพวก ได้แก่ Negative/Exclusionary, Positive/Best-in-class, Norms-based Screening; Integration of ESG Factors; Sustainability-themed Investing; Impact/Community Investing; Philanthropic Investing
การลงทุนที่ยั่งยืนในจำพวกแรก คือ Negative/Exclusionary Screening เป็นการไม่เข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ตัวสินค้าและบริการก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมหรือขัดกับหลักศีลธรรมจรรยา เช่น กิจการที่เป็นอบายมุขต่างๆ การค้าอาวุธ ยาพิษ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์เพื่อฆ่า ฯลฯ
Positive/Best-in-class Screening เป็นการใช้เกณฑ์คัดเลือกลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ตัวสินค้าและบริการสร้างให้เกิดผลดีต่อสังคม ส่งเสริมหลักศีลธรรมจรรยา หรือมีความโดดเด่นในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ท่ามกลางหลักทรัพย์หรือตราสารในกลุ่มหรือประเภทของกิจการนั้น เช่น กิจการที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการพลังงานทดแทน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ
Norms-based Screening เป็นการเลือกลงทุนโดยพิจารณาหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ เช่น OECD, ILO, UN, UNICEF ฯลฯ โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่ลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานหรือมาตรฐานเหล่านั้น หรือใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการพิจารณาให้น้ำหนักการลงทุน
การลงทุนที่ยั่งยืนในจำพวกที่สอง คือ Integration of ESG Factors เป็นการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้ากับการวิเคราะห์ทางการเงินอย่างชัดแจ้งและเป็นระบบ ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยผู้จัดการลงทุน เช่น การพิจารณาปัจจัย ESG ที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีนัยสำคัญในรายอุตสาหกรรมและในรายกิจการ รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับการเติบโตและผลประกอบการของกิจการนั้นๆ โดยตรง
อนึ่ง การใช้เกณฑ์ ESG ที่เป็นของผู้จัดทำหรือผู้ให้บริการดัชนีภายนอก เช่น DJSI หรือ FTSE4Good ซึ่งมีการพัฒนาเกณฑ์ที่ใช้แตกต่างกัน จะไม่สามารถใช้วัดหรือเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างกิจการแต่ละแห่งซึ่งมีสารัตถภาพ (Materiality) ของปัจจัยด้าน ESG ที่แตกต่างกันได้
การลงทุนที่ยั่งยืนในจำพวกที่สาม ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ Sustainability-themed Investing เป็นการเข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับประเด็นหรือแบบแผนด้านความยั่งยืน ที่ผู้ลงทุนต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเป็นการเฉพาะ เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสีเขียว หรือเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ฯลฯ การลงทุนที่ยั่งยืนในจำพวกที่สี่ คือ Impact/Community Investing เป็นการเข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูงทางสังคม (หรือสิ่งแวดล้อม) รวมถึงการลงทุนในระดับชุมชน โดยมากจะเป็นการลงทุนนอกตลาดกับกิจการที่มีความยากลำบากต่อการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งหมายรวมถึงการให้สินเชื่อหรือหลักประกันแก่กิจการที่ประกอบการโดยมีความมุ่งประสงค์ (Purpose) ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เช่น กิจการประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise โดยการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวนี้ ผู้ลงทุนมีความคาดหวังหรือยอมรับในผลตอบแทน ที่อาจมีอัตราต่ำกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับเมื่อเทียบกับการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ
สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนในจำพวกที่ห้า เรียกว่า การลงทุนสุนทาน (Philanthropic Investing) เป็นการลงทุนระยะยาวในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG เพื่อนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุน มาจัดสรรให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ เป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน สามารถวางแผนการจัดสรรทุนหรือทรัพยากรสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางสังคม (หรือทาง
สิ่งแวดล้อม) ได้อย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลสัมฤทธิ์หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
มีทางเลือกถึง 7 รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืน หวังว่าคงจะช่วยดันพอร์ตการลงทุนของท่านให้เพิ่มมูลค่าได้ไม่มากก็น้อย แถมยังดีกับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นการลงทุนที่สร้างคุณค่าร่วมไปในตัว
เรื่อง : ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์