September 19, 2024

11 กันยายน 2567 – จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในจังหวัดเชียงราย ทรู คอร์ปอเรชั่น ยกระดับการดำเนินการตามแผนรับมือภัยพิบัติฉุกเฉิน พร้อมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในการติดต่อสื่อสารแม้ในยามวิกฤต

นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในภาวะวิกฤตจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่อื่นๆ การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือขอความช่วยเหลือ ทรู คอร์ปอเรชั่นจึงมุ่งมั่นดูแลระบบสื่อสารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารได้แม้ในยามวิกฤต"

ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้จัดตั้งทีมปฏิบัติการพิเศษประจำ BNIC ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะพร้อมด้วย AI ในภารกิจฉุกเฉินหรือ War Room เพื่อดูแลเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง ทีมงานได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งทีมทรูได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรณ์สำรอง และทีมเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลเสาสัญญาณตลอดเวลา

ทั้งนี้ เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.เชียงราย ได้แจ้งตัดกระแสไฟฟ้าบางพื้นที่น้ำท่วมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทำให้เสาสัญญาณบางแห่งต้องปรับโหมดทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่สำรองชั่วคราว ทีมเน็ตเวิร์กของทรูได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรถขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือ เรือท้องแบน สำหรับนำเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินเข้าพื้นที่เสาสัญญาณทันทีที่สถานการณ์อำนวยจากมวลน้ำป่าไหลแรงในพื้นที่

การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทรู คอร์ปอเรชั่น

· จัดเตรียมรถโมบายล์ชุมสายเคลื่อนที่เร็ว (COW)

· เตรียมยานพาหนะทั้งรถและเรือท้องแบนสำหรับเข้าพื้นที่น้ำท่วม

· จัดเตรียมแบตเตอรี่ เครื่องปั่นไฟฉุกเฉิน พร้อมทั้งอุปกรณ์สำรองเพื่อซ่อมแซมกรณีฉุกเฉิน

· ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

มาตรการช่วยเหลือลูกค้าจากทรู คอร์ปอเรชั่น

ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดเชียงราย (รอรับ SMS ยืนยัน) ดังนี้

· ขยายวันใช้งานให้ลูกค้าเติมเงินเพิ่มอีก 7 วัน และระงับการตัดสัญญาณ

· ขยายเวลาชำระค่าบริการแก่ลูกค้ารายเดือน ทรูมูฟ เอช ดีแทค ทรูออนไลน์ และทรูวิชั่นส์ เพิ่มอีก 7 วัน

ทรู คอร์ปอเรชั่น ยืนยันความมุ่งมั่นในการดูแลระบบสื่อสารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารได้แม้ในยามวิกฤต และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนลูกค้าและชุมชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มที่

บรรยายภาพ: สถานีฐานทรู คอร์ปอเรชั่น บางแห่งที่แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ในที่สูงปลอดภัยจากอุทกภัย ได้เปิดรองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมเข้ามาพักพิงเมื่อกลางดึก 02:00 น. วันที่ 11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

เปิดลิสต์ 444 สุดยอดร้านเด็ดให้ตามรอยได้ทั่วไทย  ชวนลูกค้าทรู ดีแทคเที่ยวเต็มพิกัด สัญญาณแรงทั่วไทย อร่อยทั่วทิศ รับเน็ตฟรี 5GB ทันที  

ทรูบิสิเนส ผู้ให้บริการสื่อสารและดิจิทัลโซลูชันครบวงจรสำหรับลูกค้าธุรกิจชั้นนำ ร่วมกับ อินเทล ผู้นำด้านเทคโนโลยี  ทรานสฟอร์มอุตสาหกรรมสาธารณสุขไทยสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ดึงพลังเครือข่ายทรู 5G ผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำของอินเทล เปิดตัว 7 โซลูชันด้านการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Healthcare) ครอบคลุมทั้งการวินิจฉัยและรักษา ฟื้นฟูดูแล และการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลในประเทศไทย พลิกโฉมบริการสาธารณสุขไทยยุคใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ทั้งยังส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก้าวสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย

ความร่วมมือในครั้งนี้ นำไปสู่การพัฒนาโซลูชันด้านสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการประมวลผลบนอุปกรณ์ปลายทางผ่านโซลูชันซอฟต์แวร์ของอินเทล เช่น OpenVino ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาทั้งในการวินิจฉัยและการรักษา อาทิ โซลูชันสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยและความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์ไร้การสัมผัส (Digital Patient Twin - Patient-Management-as-a-Service) ที่เพิ่มขีดความสามารถให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลและเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยี 5G และการประมวลผลบนอุปกรณ์ปลายทางอันทรงพลังด้วย Intel Edge AI บน Intel Core Ultra ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในการผลักดันของ Intel เพื่อการนำ AI ไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านหลากหลายผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มของอินเทลที่ออกแบบมาเพื่อการนำ AI ไปใช้ด้วยความปลอดภัยและยั่งยืน ตลอดจนสามารถขยายขอบเขตและทำงานร่วมกันได้ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน

โซลูชันด้านการดูแลสุขภาพอัจฉริยะเหล่านี้ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพบนเครือข่ายทรู 5G ที่รองรับการรับ-ส่งข้อมูล ควบคุมและสั่งการได้แบบเรียลไทม์ จึงเอื้อต่อการพัฒนาระบบอัตโนมัติต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วย ช่วยลดต้นทุนทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์และขั้นตอนการรักษา รวมถึงแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้น โซลูชัน Smart Healthcare ยังมีการบันทึกข้อมูลการรักษาในระบบดิจิทัล เพื่อให้ AI นำไปวิเคราะห์เชิงลึก และทำงานร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงการรักษาอาการที่ซับซ้อนและเฉียบพลันมีประสิทธิภาพมากขึ้นและได้ผลลัพธ์ดีขึ้น

นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรูบิสิเนส เร่งพัฒนานวัตกรรมบริการ ควบคู่กับการนำ AI มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร โดยการร่วมมือกับผู้นำระดับโลกอย่าง อินเทล ในครั้งนี้ เรามุ่งพัฒนาโซลูชันที่จับต้องได้และใช้งานได้จริง เพื่อสนับสนุนองค์กรธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เติมเต็มวิสัยทัศน์ของทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ที่จะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการเครือข่าย”

ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการผสมผสานและขับเคลื่อนการทำงานของโซลูชันอัจฉริยะด้านการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งการวินิจฉัยรักษา การฟื้นฟูดูแล และการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ให้สามารถส่งมอบบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ แม่นยำ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผู้ป่วยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนได้รับประสบการณ์และผลลัพธ์ในการรักษาที่ดียิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนของคนไทย นอกจากนี้ ทรูบิสิเนส และ อินเทล ยังมุ่งส่งเสริมการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และเพิ่มประสิทธิผลของบริการด้านการดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม ปลอดภัย และโปร่งใส

โซลูชันอัจฉริยะด้านการวินิจฉัยและรักษา

· Telemedicine and Tele ICU บริการการแพทย์ทางไกลผ่านเครือข่ายทรู 5G ที่เชื่อมโยงชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ติดตั้งในท้องถิ่นต่างๆ กับระบบหลักของโรงพยาบาล โดยมีแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลและประวัติของผู้ป่วย บันทึกทุกการดำเนินการทางการแพทย์ เช่น การวินิจฉัยและรักษา การนัดพบแพทย์ การผ่าตัด พร้อมแสดงข้อมูลผ่านแดชบอร์ดเพื่อให้แพทย์สามารถให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์จากระยะไกล ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง ลดความจำเป็นในการเดินทางไปโรงพยาบาล

· Future of Large Language Model (LLM) แพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบประวัติผู้ป่วยและวิเคราะห์อาการเบื้องต้น โดยผู้ป่วยสามารถกรอกข้อมูลส่วนบุคคลและอาการเจ็บป่วย ระบบ AI จะช่วยวิเคราะห์อาการร่วมกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ทันสมัยล่าสุด พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางการรักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพ รวมถึงขั้นตอนถัดไปในการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากขึ้น ลดขั้นตอนและเวลาในการพบแพทย์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

· Pathology as a Service แพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีสแกนชิ้นเนื้อเพื่อแปลงภาพพยาธิวิทยาเป็นดิจิทัล ซึ่ง AI สามารถวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้กระบวนการทดสอบตัวอย่างชิ้นเนื้อและเลือดมีความรวดเร็วมากขึ้น จึงช่วยให้นักพยาธิวิทยาทำงานได้เร็วขึ้น เพิ่มทั้งประสิทธิภาพและความแม่นยำในการวินิจฉัย การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกจึงทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที เช่น การพยาธิวิทยาดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถตรวจพบมะเร็งได้ภายในไม่กี่นาที ซึ่งกระบวนการแบบดั้งเดิมอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ โดยเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์และระบบเครือข่ายที่ปลอดภัยของทรู คอร์ปอเรชั่น ช่วยให้สถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทยสามารถนำบริการพยาธิวิทยา (Pathology-as-a-Service) ในระบบดิจิทัลไปใช้ได้อย่างราบรื่น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวินิจฉัย ขณะเดียวกันยังช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อการตรวจพบโรค

· Ophthalmology as a Service แพลตฟอร์มที่ให้บริการสำหรับการวิเคราะห์และคัดกรองจักษุวิทยา เช่น จอประสาทตาเสื่อมจากอายุและเบาหวาน โดยใช้กล้องเรตินาที่ขับเคลื่อนด้วย AI และคอมพิวเตอร์วินิจฉัยแบบอัตโนมัติ ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีในกระบวนการตรวจวิเคราะห์อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องใช้ยาหยอดขยายม่านตาที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา โดยชุดผลิตภัณฑ์ที่รองรับ AI ของอินเทล ช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจพบโรค เช่น เบาหวานขึ้นตา ความหนาแน่นของกระดูกในโรคกระดูกพรุน และพยาธิวิทยาสำหรับมะเร็งเต้านมและมะเร็งไต

โซลูชันอัจฉริยะด้านการฟื้นฟูดูแล

· Digital Patient Twin (Patient Management as a Service - PMaaS) – โซลูชันสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยและความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์ไร้การสัมผัส โดยข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ คุณภาพการนอนหลับ และตำแหน่งของผู้ป่วยบนเตียง จะถูกส่งไปยังอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ถูกติดตั้งอยู่บนเพดานห้องพักระดับเหนือเตียงผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงไปยังศูนย์กลางเพื่อรวบรวมและแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติ จึงช่วยให้สามารถดูแลและเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรบกวนการพักผ่อนของผู้ป่วยในการตรวจวัดค่าต่างๆ เป็นประจำ

· Residential Care Management แพลตฟอร์มสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ด้วยอุปกรณ์ Edge IoT และเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งบนรถเข็น โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ต บันทึกข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ส่งผ่านเครือข่ายทรู 5G แบบเรียลไทม์ เพื่อรวบรวมบนแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและความเสี่ยงด้านสุขภาพ เชื่อมโยงกับระบบของโรงพยาบาล และสามารถแจ้งเตือนทันทีเมื่อพบความเสี่ยงหรือสิ่งผิดปกติ

 

โซลูชันอัจฉริยะด้านการจัดการข้อมูลทางการแพทย์

· Transforming of PACS (Picture Archiving and Communication System) โซลูชันที่จะพลิกโฉมระบบจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (Medical Images) หรือภาพถ่ายทางรังสี ผ่านแพลตฟอร์ม AI และประยุกต์ใช้ AI ได้ทุกที่ แม้ในพื้นที่ห่างไกล โดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มระบบคลาวด์ได้ทุกรูปแบบ ลดข้อจำกัดและความยุ่งยากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ซับซ้อน

พิสูจน์ผลลัพธ์ กับ 2 กรณีตัวอย่างจากการใช้งานจริง*

· การวิเคราะห์เนื้อเยื่อเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้เร็วขึ้นกว่าแบบดั้งเดิมถึง 2,000 เท่า

โดยเฉลี่ยนักพยาธิวิทยามักใช้เวลาในการวิเคราะห์เนื้อเยื่อเพื่อตรวจหาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง นานถึง 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้นหากโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค โซลูชัน Pathology as a Service นำแพลตฟอร์ม AI มาช่วยสำหรับวิเคราะห์ภาพถ่ายพยาธิวิทยา ช่วยประหยัดเวลาในการวิเคราะห์ โดยใช้เวลาเพียง 5 นาทีและเพิ่มความแม่นยำในการศึกษาวิจัย โดยนักพยาธิวิทยาสามารถแบ่งปันภาพพยาธิวิทยากับทีมงานทั่วโลกที่ทำงานจากระยะไกลในการวิเคราะห์สไลด์แบบดิจิทัล เอื้อต่อการร่วมวิเคราะห์และปรึกษาแนวทางการรักษาผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ จึงช่วยแก้ไขปัญหาความขาดแคลนของนักพยาธิวิทยาทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญ Pathology as a Service ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนายาใหม่และความก้าวหน้าด้านพยาธิวิทยาอีกด้วย

· การดูแลผู้ป่วยหรือผู้พักฟื้นด้วยอุปกรณ์ไร้การสัมผัส เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยสูงขึ้น 30%

ยกระดับประสบการณ์การพักฟื้นของผู้ป่วยจากการได้รับการดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องถูกรบกวนในช่วงเวลาการพักฟื้น และไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายๆอุปกรณ์ที่สัมผัสกับร่างกายเพื่อติดตามค่าต่างๆ จึงสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวกสบาย ขณะเดียวกัน แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยผ่าน โซลูชัน Digital Patient Twin โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดค่าต่างๆ ของร่างกาย และตรวจจับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่นอนพักฟื้นบนเตียง ด้วยการดำเนินการทางคลินิกจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ส่งสัญญาณไลฟ์สตรีมและประมวลผลด้วยระบบอัจฉริยะ AI พร้อมแจ้งเตือนเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยบนเตียง นำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที จึงช่วยแบ่งเบาภาระ ลดขั้นตอน และปริมาณการดำเนินงานในคลินิกหรือหอพักผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรการแพทย์ โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ 1 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากถึง 10 คน จากเดิมที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่พยาบาลเฉลี่ย 3 คน ในการดูแลผู้ป่วย 10 คน

อูเล่ บีโยร์น ชูลสตาด์ ถือเป็นผู้บริหารมากประสบการณ์ที่อยู่บนเส้นทางโทรคมนาคมมากว่า 25 ปีทั้งในภาคพื้นเอเชียและยุโรป ปัจจุบัน เขามีบทบาทสำคัญ โดยถือเป็นหัวเรือหลักในการกำหนดแนวทางการลงทุนในประเทศไทยจากฝั่ง “เทเลนอร์ เอเชีย” ในฐานะผู้ถือหุ้นรายสำคัญและเจ้าของร่วมของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“เทเลนอร์” บริษัทโทรคมนาคมระดับโลกสัญชาตินอร์เวย์ ดำเนินกิจการในภาคพื้นเอเชียเป็นระยะเวลารวมเกือบ 3 ทศวรรษ จากความเชื่อที่ว่า ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการสื่อสารไร้สาย ด้วยเหตุนี้ เทเลนอร์ จึงทุ่มเทขยายบริการระดับแมสผ่านกลยุทธ์การตลาด พร้อมกับสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง-เฉพาะตัวเพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาดนั้นๆ ของภาคพื้นเอเชีย

ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเป็น First Mover เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำและคว้าโอกาสแห่งการเติบโตใหม่ๆ ในช่วงปี 2565-2566 เทเลนอร์ เอเชีย ได้ประกาศความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สร้างแรงกระเพิ่มไปทั้งวงการ นั่นคือ ดีลการควบรวมกิจการของ 2 ยักษ์ใหญ่ทั้งในตลาดมาเลเซียและไทย ทำให้ปัจจุบัน การดำเนินงานของเทเลนอร์ เอเชีย ครอบคลุมผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านคน ครอบครองสถานะผู้นำทั้งในไทย มาเลเซีย และบังคลาเทศ

True Blog ได้รับโอกาสในการพูดคุยกับ อูเล่ บีโยร์น ชูลสตาด์ ถึงมุมมอง ความคาดหวัง ประสบการณ์ของเทเลนอร์ เอเชียต่อตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย

บทเรียนสำคัญจากการทำงานร่วมกันกว่า 1 ปี

เป้าหมายสำคัญของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น เทเลนอร์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ การสร้างผู้นำแห่งโทรคมนาคม โดยอาศัยจุดแข็งจากขนาด ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ส่งมอบบริการและนวัตกรรมที่น่าดึงดูดแก่ลูกค้าชาวไทย ก้าวสู่โอกาสแห่งการเติบโตใหม่ๆ

“ตั้งแต่การควบรวมกิจการสำเร็จและดำเนินการภายใต้ ทรู คอร์ปอเรชั่น โฟกัสหลักของเราคือ การสร้างความมั่นใจว่าบริษัทใหม่นี้ ได้มีการรักษาโมเมนตัมทางธุรกิจในตลาด มีการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง สร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งชัยชนะ จากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง เราประสบความสำเร็จผ่านเป้าหมายการดำเนินงานต่างๆ ทั้งกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อผนึกน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างพนักงาน และการดำเนินงานให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ยังคงมีงานอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการพิชิตเป้าหมายและความสำเร็จ แต่ผมมั่นใจว่า บริษัทกำลังก้าวไปข้างหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง” ชูลสตาด์ กล่าว

กัปตันทีมการลงทุนจากเทเลนอร์เอเชีย ยังย้ำอีกว่า เป้าหมายสำคัญของ ทรู คอร์ปอเรชั่น คือ การรับรู้ผลประโยชน์จากการซินเนอร์ยี่และสร้างผลกำไร ดังนั้น พื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความต่อเนื่องในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงข่ายสมรรถนะสูง โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนบริการที่ล้ำสมัย-ตอบสนองความต้องการที่แม่นยำจากดาต้า

“ที่ผ่านมา ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเรามั่นใจว่า ทรู คอร์อปเรชั่น จะพิชิตเป้าหมายพลิกฟื้นสู่กำไรได้ภายในงบการเงินปี 2567” ชูลสตาด์ กล่าวเสริม

 

จากผู้นำเทเลคอมเทคสู่ AI-First

“เทเลนอร์ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และความก้าวหน้ามหาศาลที่เทคโนโลยีการสื่อสารจะเข้ามาเปลี่ยนประเทศไทยเป็นรายแรกๆ และปัจจุบัน ประชากรไทยสามสารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่ และมีความสนใจในบริการใหม่ๆ ตลอดเวลา ทั้งนี้ ความต้องการในการใช้ดาต้าของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และนั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินงานของ ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว รวมถึงนำเสนอบริการด้านดาต้าที่ล้ำสมัย เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้า” ชูลสตาด์ อธิบาย

เขาเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะนำมาซึ่งผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในมิติต่างๆ ด้วยพัฒนาการที่รวดเร็วและความก้าวหน้าทางนวัตกรรมจากเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์​ IoT และคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ไม่เพียงเชื่อมคนหลายล้านคนเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์หลายพันล้านชิ้น

“เราอยู่ในธุรกิจของการสร้างบริษัทโทรคมนาคมเพื่ออนาคต การสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจเพื่อโอกาสใหม่ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยสมรรถนะและความสามารถใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือผ่านโมเดลธุรกิจต่างๆ ปัจจุบัน เทเลนอร์ทั้งในภาคพื้นยุโรปเหนือและเอเชียกำลังดำเนินโครงการทดลองต่างๆ นับร้อยโครงการ เพื่อหาหนทางและความเป็นไปได้สู่บริการใหม่ๆ รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในฟังก์ชั่นงานต่างๆ ทั้งนี้ AI ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เทเลนอร์มุ่งมั่นพัฒนา สร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้กลายเป็น AI-First Company ซึ่งหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่ผ่านมาคือ การร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้นำบริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง NVIDA และการร่างหลักจริยธรรมแห่ง AI” ชูลสตาด์ เผย

เขายังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า โครงการ AI-First ของเทเลนอร์นั้นพร้อมแล้วที่ปลดล็อกศักยภาพและคุณค่าเชิงโครงสร้างของ AI และ Gen AI ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือถือเป็นหัวใจและมีความสำคัญลำดับต้นๆ ของการสร้างองค์กรที่มีดาต้าเป็นตัวผลักดัน ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก และกำหนดแนวทางเพื่อการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ รวมไปถึงการเพิ่มพูนทักษะแก่พนักงาน โดยเทเลเนอร์เชื่อในแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงในเทคโนโลยีดิจิทัล ความยั่งยืน และความมั่นคง ตลอดจนการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

กำกับดูแลผ่านกลไกกรรมการ

จากการควบรวมกิจการระหว่างดีแทคและทรู ทำให้ความสัมพันธ์และสถานะของเทเลนอร์เปลี่ยนจากผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ในดีแทคสู่ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ร่วมและพาร์ทเนอร์รายสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น นั่นหมายถึง เทเลนอร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีสิทธิอันชอบธรรมในการดำเนินกิจการด้วยกลไกกำกับดูแลผ่าน “คณะกรรมการ” (Board of Directors) ใน ทรู คอร์ปอเรชั่น

การมีผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ที่มีขนาดเท่ากันถึง 2 รายทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับประโยชน์จากประสบการณ์และมุมมองจากยักษ์ใหญ่ทั้งสอง อันหมายรวมถึงข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำอันล้ำค่าจากประสบการณ์อันเชี่ยวกรากในแวดวงธุรกิจต่างๆ จากคณะกรรมการอิสระและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการกำกับดูแลกิจการ อันเป็นที่ประจักษ์ชัดจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีข้อมูลความรู้ความเข้าใจในบริบทท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ครอบคลุมธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย

“เทเลนอร์ ถือเป็นเจ้าอุตสาหกรรมที่มีประวัติศาสตร์และประสบการณ์ในวงการโทรคมนาคมมาอย่างยาวนาน มีฟุตปริ๊นท์ครอบคลุม 8 ประเทศในภาคพื้นเอเชียและยุโรปเหนือ ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราเข้าถึงผู้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลระดับโลก นำมาซึ่งบทเรียนความรู้จากการดำเนินงานจากที่อื่นและการจับมือเป็นพันธมิตรกับบิ๊กเทคระดับโลกมาสู่ไทย” กรรมการบริษัทจากฝั่งเทเลนอร์ กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานของเทเลนอร์ เอเชียที่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์จะทำหน้าที่ดูแล สนับสนุนการดำเนินธุรกิจในตลาดต่างๆ ตลอดจนปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทในภาคพื้นเอเชีย โดยมีทีมคณะบริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของทรูคอร์ปอย่างเต็มที่ สร้างความเข้มแข็งกับพาร์ทเนอร์ ตลอดจนการบริหารความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ

“ด้วยความรับผิดชอบจากการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ทำให้ผมต้องเดินทางมายังกรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเราทำงานกับพาร์ทเนอร์และคณะผู้บริหารอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนที่จำเป็นต่อบริษัท ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย และมีความรับผิดชอบต่อการทำธุรกิจ” เขาอธิบาย

นอกจากนี้ เขายังเชื่อ อีกว่าคณะกรรมการบริษัททุกท่านยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อทรู คอร์ปอเรชั่น ในการสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม เปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมสู่ดิจิทัล และที่สำคัญ สนับสนุนและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้า

“มีการประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ประเทศไทยจะช่วงชิงเม็ดเงินการลงทุนขนาดมหึมาเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจดได้นั้น จำเป็นต้องมีดิจิทัลอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง ซึ่งทรู คอร์ปอเรชั่น กำลังทำภารกิจดังกล่าว นับเป็นบทบาทที่สำคัญและท้าทายอย่างมาก” ชูลสตาด์ กล่าวทิ้งท้าย

จากข้อมูลขององค์การนาซา (NASA) ระบุว่าวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 เป็นวันที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นนี้กลับไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการลงทุนตามหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ขณะที่ในปี 2566 มีการเปิดตัวกองทุนเพื่อความยั่งยืน (กองทุน ESG) ถึง 993 กองทุน แต่จำนวนกองทุนทั้งหมด กลับลดลงเหลือ 566 กองทุนในปีเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในปี 2567 โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัวกองทุนเพียง 100 กองทุนเท่านั้น

เพื่อเข้าใจภาวะลำบากของการลงทุนด้านความยั่งยืน เราได้พูดคุยกับนอรีน คัยอุม หัวหน้าสายงานนักลงทุนสัมพันธ์ ของทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเคยทำงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ที่ดีแทค ประเทศไทย และ Grameenphone ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเทเลนอร์ ประเทศบังคลาเทศ โดยนอรีน ยังเคยทำงานในหลากหลายสายอาชีพอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านสื่อสารองค์กร การวางกลยุทธ์ ทรานสฟอร์เมชั่นองค์กร และการตลาด

นักลงทุน ESG รุ่นใหม่ในเอเชีย

นอรีน เห็นว่าการถดถอยของหุ้น ESG วอลล์สตรีทไม่น่าส่งผลกระทบในระดับเดียวกันกับภูมิภาคเอเชีย “พลวัต ในสหรัฐอเมริกาและในเอเชียนั้นแตกต่างกันมาก ซึ่งในมุมมองดิฉัน สาเหตุที่ ESG มีความสำคัญในภูมิภาคของเรามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะเรามีผู้นำและคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้ในหน้าที่ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งคนรุ่นใหม่นี้ไม่ได้มองแค่ยอดขายหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงผลกระทบของธุรกิจต่อโลกและสังคมด้วย” เธอกล่าว “สิ่งนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่ เริ่มรู้สึกกังวลมากขึ้น และอยากได้ทางเลือกที่จะมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนในทุกๆ วัน”

แท้จริงแล้ว การออกพันธบัตร ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 27.4% จากปีที่ผ่านมา จากการศึกษาของ AXA Investment Managers (AXA IM) พบว่า 39% ของนักลงทุนในเอเชียถือกองทุน ESG ซึ่งเมื่อเทียบกับนักลงทุนในยุโรปมีสัดส่วนไม่ถึงหนึ่งในสี่ และในภูมิภาคนี้ คนไทย แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของกองทุน ESG ที่จะครองตลาดได้ โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังว่ากองทุน ESG จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า

 “กองทุน ESG เริ่มได้รับความสนใจอย่างจริงจังในปี 2561 จึงถือเป็นกรอบการทำงานที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งยังไม่ได้ปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของบริษัท ดิฉันขอเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการที่ต่อยอดมาจากสิ่งที่เราเคยรู้จัก นั่นก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR ซึ่งในขณะที่ CSR เป็นเพียงเช็คลิสต์ ว่าองค์กรนั้นมีพฤติกรรมที่ดี แต่ไม่อาจน่าเชื่อถือได้อย่างแท้จริง ESG เป็นกรอบการทำงานที่เข้มงวดกว่าเพื่อให้องค์กรนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง อันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจให้น่านับถือ ได้รับความไว้วางใจ”

ต้องชัดเจน

หนึ่งในกรอบการทำงานดังกล่าว คือการประเมินด้านความยั่งยืนองค์กรของ S&P Global ซึ่งประเมินองค์กรโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์และข้อมูลกว่า 1,000 หัวข้อในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล อนึ่ง ทรู คอร์ปอเรชั่น ติดอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืนระดับโลกดาวน์โจนส์ (DJSI) ด้วยคะแนนสูงสุด ในกลุ่มโทรคมนาคมของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แต่นักลงทุนยังเกิดความสับสนกับการติดอันดับดัชนีความยั่งยืนและใบรับรองต่างๆ ด้าน ESG จากหลากหลายสถาบัน

“แม้ว่าความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ESG จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น นักลงทุนต้องการความชัดเจนและมาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เรายังไม่สามารถอ้างได้ว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งมีความสมบูรณ์แบบ และเราทุกคนยังมีหนทางอีกยาวไกล” นอรีนอธิบาย “ยิ่งไปกว่านั้น ข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ESG สำหรับทุกอุตสาหกรรมและทุกประเทศ จะแตกต่างกันไปตามปัญหาและประเด็นที่เร่งด่วน และจำเป็นต้องปรับเกณฑ์การประเมินให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย”

 สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย นอรีนเห็นว่าการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG มุ่งเน้นในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก "โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายและเสาสัญญาณทั่วประเทศของบริษัทโทรคมนาคมกระตุ้นให้นักลงทุนสนใจว่าแผนดำเนินงานด้านพลังงานสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนของบริษัทเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีความตระหนักเรื่องการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเหตุผลให้เรากำหนดเป้าหมายชัดเจนสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ขณะเดียวกันเรายังมีการสื่อสารความคืบหน้าในการดำเนินงานของเราอย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอ"

ความท้าทายอีกประการหนึ่งของการสร้าง ESG ให้มั่นคง คือการสร้างความมั่นคงให้แก่ทุกอุตสาหกรรม อาทิเช่น ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีการซื้อขายอย่างรวดเร็ว จะเผชิญกับแรงกดดันในการลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวมากกว่าธุรกิจโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโทรคมนาคมต้องยึดมาตรฐานที่สูงกว่าในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เป็นต้น

“โอกาสที่ฉันมองเห็นมากขึ้นในการสร้างเกณฑ์มาตรฐานสากล คือมิติด้านการกำกับดูแล บริษัทที่มีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการกับประเด็นสำคัญๆ เช่น แรงงานเด็ก และการต่อต้านการทุจริต จะได้รับการสนับสนุน บริษัทที่ทำงานร่วมกับคู่ค้าพันธมิตรโดยปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นกัน ในเรื่องความเป็นผู้นำ สัดส่วนของผู้แทนที่สมดุลในคณะกรรมการก็มีความสำคัญต่อนักลงทุน และช่วยสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา” เธอกล่าว

ราคาหุ้นของทรู คอร์ปอเรชั่นที่พุ่งขึ้นกว่า 100% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม แสดงให้เห็นว่านอรีนดูเหมือนจะสามารถสร้างความมั่นใจในกลุ่มนักลงทุนได้อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา และเมื่อนักลงทุนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น กรอบการทำงาน ESG ที่แข็งแกร่งของทรู คอร์ปอเรชั่น จะมีส่วนช่วยดึงดูดและรักษาการลงทุนของนักลงทุนต่อไป เพื่อส่งเสริมองค์กรให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

X

Right Click

No right click