ระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ เสน่ห์แรง หลังนักลงทุนโยกเงินกลับไปลงทุน โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี ทั้งกลุ่มหุ้นบิ๊กแคป และกลุ่มหุ้นเติบโต ขานรับแรงหนุนตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องติดต่อกันสามเดือน

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากลับมาได้รับความสนใจ และมีเม็ดเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับไปลงทุนอีกครั้ง โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีในตลาด NASDAQ ทั้งกลุ่มหุ้นบิ๊กแคป FAANGMAN และกลุ่มหุ้นเติบโต TESLA โดยปัจจุบันสามารถสร้างผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีได้แล้วกว่า 13.80% ขณะที่ดัชนี S&P500 สร้างผลตอบแทนได้แล้วกว่า 7.25% สาเหตุมาจากตลาดมองทิศทางนโยบายการเงินที่เคร่งครัดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาตลอดทั้งปี 2565 เริ่มผ่อนคลายลงในปีนี้ และอาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีก่อน เพราะแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากตัวเลขปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องกว่าสามเดือนติดต่อกันแล้ว

ถึงแม้ว่าประธาน FED จะยังคงยืนยันในที่ประชุม FOMC ครั้งล่าสุด และการไปพูดที่สมาคมเศรษฐกิจวอชิงตันเมื่อไม่กี่วันมานี้ ว่าปีนี้จะยังไม่มีการลดดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นเงินเฟ้อลงมาในระดับ 2% ตามเป้าหมายเสียก่อน แต่การที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงมาต่อเนื่องสามเดือนติดต่อกัน ทำให้ตลาดมองล่วงหน้าว่าสุดท้ายแล้วในปีนี้ FED ต้องปรับนโยบายดอกเบี้ยมาเป็นขาลงเร็วกว่าที่คาดไว้”

นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีมุมมองบวกต่อกระแสการปรับลดพนักงานของบริษัทเทคโนโลยี เพราะเป็นผลดีต่อผลประกอบการในอนาคตมากกว่าผลเสีย เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลง ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มตัดสินใจเข้าไปเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น  สำหรับดัชนี S&P500 นอกจากได้ประโยชน์จากหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่แล้ว ยังได้ประโยชน์จากหุ้นแวลูขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจดั้งเดิม เช่น กลุ่มธนาคารที่ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาดีกว่าคาดเกือบทั้งหมด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังออกมาดูดี ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร หรือ Non-Farm Payroll ที่ออกมาดีกว่าคาดค่อนข้างมาก ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่เทคโนโลยีด้วย

นายณพวีร์ กล่าวว่า ในภาพรวมทางเทคนิคทั้งดัชนี NASDAQ และ S&P500 ต่างขึ้นมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันได้สำเร็จ และมีการทะลุผ่านเส้นเทรนด์ไลน์ในภาพใหญ่ออกมาแล้วทั้งคู่ ถือได้ว่าสามารถกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้นได้สำเร็จ ทำให้ทั้งสองดัชนีมีความน่าสนใจทั้งในเชิงพื้นฐานและกราฟเทคนิค อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมที่จะประกาศในกลางเดือนนี้ (14 ก.พ. 66) ถ้าหากยังปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตลาดว่าในที่สุด FED ต้องลดดอกเบี้ยในปีนี้อย่างแน่นอน แต่หากตัวเลขที่ออกมาคงที่ หรือ เพิ่มขึ้น อาจสร้างความผิดหวังให้กับตลาดจนนำไปสู่ความเชื่อเดิมว่า FED จะลดดอกเบี้ยในปีหน้า และมีผลทำให้เทขายในสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้

นอกจากนั้นยังต้องติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องว่ามีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ตามที่ดัชนีชี้วัด Yield Curve บ่งบอกล่วงหน้าหรือไม่

ด้านมุมมองภาพรวมตลาดหุ้นอื่น ๆ อาทิ ตลาดหุ้นจีน ในช่วงสั้นอยู่ในระหว่างการพักฐานจากการที่ดัชนีบวกขึ้นแรงมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่ในเชิงพื้นฐานยังถือว่ามีแนวโน้มบวกต่อเนื่องจากนโยบายเปิดเมือง เช่นเดียวกับ ตลาดหุ้นเวียดนาม ที่มีการพักฐานเช่นกัน แต่มุมมองในระยะยาวทั้งสองตลาดยังถือว่าสามารถเติบโตได้ตลอดทั้งปีนี้

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นเติบโต สามารถมองหาหุ้นเทคโนโลยีกลุ่ม Disruptive ในการถือลงทุนระยะยาวได้ เพราะจากกราฟเทคนิคตอนนี้เกือบทั้งหมดไม่มีการสร้างจุดต่ำสุดใหม่แล้วจึงมีโอกาสฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะถ้าหากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กลับตัวเป็นขาลงจะยิ่งทำให้ฟันด์โฟลว์เข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ส่วนหุ้นแวลู หรือ หุ้นบิ๊กแคป ในตลาดสหรัฐฯ ก็ยังสามารถเติบโตได้เช่นกัน”

SCB CIO ปรับมุมมองการลงทุนตลาดหุ้นจีนเป็นบวก ให้น้ำหนักที่ตลาดหุ้น A-Share รับเปิดเมืองและเปิดประเทศเร็วกว่าคาด ผนวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุนการบริโภคฟื้นตัว คาด ธนาคารกลางจีน จะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงในช่วงครึ่งปีแรก และมีแนวโน้มออกมาตรการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเป้าหมาย จับตากลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มอินเทอร์เน็ต กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน กลุ่มบริการร้านอาหาร และ กลุ่มสุขภาพ หรือ Healthcare

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า SCB CIO ได้ปรับมุมมองการลงทุนที่มีต่อตลาดหุ้นจีนใหม่โดยมีมุมมองเป็นบวก (Positive) กับตลาดหุ้นจีน A-Shares และมีมุมมองค่อนข้างบวก (Slightly Positive) กับตลาดหุ้นจีน H-Shares ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีการปรับมุมมองการลงทุนต่อหุ้นจีน คือ การเปิดเมืองและเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาด โดยมีลดระดับการจัดการโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคติดเชื้อระดับ B ซึ่งเป็นระดับเดียวกับโรคไข้เลือดออก และอนุญาตให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจีนไม่ต้องกักตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

“เรามองว่า การเปิดประเทศครั้งนี้ มาจากแรงกดดันทั้งในประเด็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอลงอย่างมากและการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในช่วงเดือน พ.ย. 2565 โดยในช่วงแรกของการเปิดเมืองและเปิดประเทศ เราคาดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้ตลาดกังวลกับประเด็นนี้ แต่เรามองว่า เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะข้างหน้า” ดร.กำพล กล่าว

สำหรับปัจจัยบวกอื่นๆ ที่ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีความน่าสนใจลงทุนมากขึ้น ได้แก่ การที่ทางการจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งจะยังมีต่อเนื่องสำหรับระยะต่อไป คาดว่า ธนาคารกลางจีน (PBoC) จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีก ด้วยการปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก และมีแนวโน้มออกมาตรการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่รัฐบาลจีนมีแนวโน้มออกนโยบายการคลังที่เน้นกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงบ้าน สนับสนุนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลผู้สูงอายุ ในส่วนของนโยบายภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า ทางการจีนจะออกมาตรการเยียวยาภาคอสังหาฯ เพิ่มเติม และการเปิดเมืองจะช่วยหนุนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้ภาคอสังหาฯ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ค่อนข้างชัด

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรง ได้แก่ กลุ่มอินเทอร์เน็ต มีทั้งผู้ให้บริการส่งอาหารในท้องถิ่น กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ และกลุ่มที่พึ่งพารายได้โฆษณาออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน ที่เตรียมรับอานิสงส์ยอดการท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงไตรมาสที่ 2 และอาจฟื้นตัวไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ภายในสิ้นปี 2566 ส่วนการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และฟื้นตัวไปถึงระดับก่อนการระบาดได้ภายในปี 2567

กลุ่มบริการร้านอาหาร หรือ Catering ที่จะปรับตัวดีขึ้น จากการที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการร้านอาหารมากขึ้น กลุ่มชุดกีฬา หรือ Sportwear เนื่องจากกิจกรรมการกีฬาต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และกลุ่มสุขภาพ หรือ Healthcare เนื่องจากการเปิดเมืองนำไปสู่การใช้บริการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเราประเมินว่า ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ร้านขายยา ผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ผู้ผลิตชุดตรวจโควิด-19 ผู้ผลิตยาในการรักษาอาการโควิด-19 และผู้ผลิตยาที่เกี่ยวเนื่องกับไข้หวัด จะได้อานิสงส์เชิงบวก

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการเปิดเมือง ประกอบด้วย กลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับทางรถไฟ เพราะทางการจีนมีแนวโน้มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟมากขึ้น รองรับการจราจรของรถไฟโดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังเปิดเมือง กลุ่มระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเมื่อระบบโลจิสติกส์กลับมาเป็นปกติ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานเบาบางลง ความต้องการระบบอัตโนมัติไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น และสุดท้ายคือ กลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากการเปิดเมืองจะช่วยหนุนสินเชื่อขยายตัว รายได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย รายได้ค่าธรรมเนียม ทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ก็มีแนวโน้มดีขึ้น จากความเสี่ยงภาคอสังหาฯ ที่ลดลง และงบดุลภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ฟื้นตัว

ดร.กำพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ SCB CIO มีมุมมองบวกกับตลาดหุ้นจีน A-Shares มากกว่า H-Shares เพราะว่า เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าหุ้นของทั้ง 2 ตลาดนี้กับมูลค่าย้อนหลัง 5 ปี แล้วพบว่า มูลค่าตลาดหุ้น A-Shares ยังถูกกว่า H-Shares ขณะเดียวกันถึงแม้ว่าความเสี่ยงเรื่องการเพิกถอนบริษัทจีนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ADRs Delisting) จะลดลง และความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบบนกลุ่มแพลตฟอร์มลดลงแล้ว ทำให้ตลาด H-Shares มีความน่าสนใจลงทุนมากขึ้น แต่ตลาดฯ ก็ยังเผชิญปัจจัยกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนโดยเฉพาะจากประเด็นการกีดกันด้านเทคโนโลยี (Tech war)

Page 2 of 2
X

Right Click

No right click