November 18, 2024

‘ทรัพย์สินกงสี’ ทรัพย์สินที่ได้รับการจัดสรรให้มาอยู่ในกองกลางของครอบครัวที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคนและต้องการส่งต่อให้ลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไป อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน การรักษาความมั่งคั่งของทรัพย์สินกงสีให้ยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับกฎหมายและภาษีที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเตรียมพร้อมและวางแผนภาษีสำหรับทรัพย์สินกงสีจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ทรัพย์สินกงสีเติบโตได้อย่างมั่นคงและส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้อย่างราบรื่น

ทำความรู้จัก ‘ทรัพย์สินกงสี’

ทรัพย์สินมีหลายรูปแบบ แตกต่างกันตามที่มาและแหล่งรายได้ ซึ่งทรัพย์สินของครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ทรัพย์สินกงสี นั้น หมายถึงทรัพย์สินส่วนกลางของครอบครัว ที่อาจถือครองโดยสมาชิกในตระกูลร่วมกัน หรือมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งที่ครอบครัวไว้ใจถือครอง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกครอบครัวได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ทรัพย์สินกงสีมักประกอบด้วยทรัพย์สินหลายประเภท เช่น บัญชีเงินฝาก พอร์ตการลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ (ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ในธุรกิจครอบครัว) เป็นต้น ลักษณะการถือครองที่พบบ่อยคือ การถือครองทรัพย์สินร่วมกันของสมาชิกครอบครัว เช่น การใส่ชื่อร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือพี่น้อง โดยมองว่าเป็นการเสริมความมั่นคงให้แก่ทรัพย์สินกงสี และทำให้สมาชิกครอบครัวมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกงสีอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยรักษาความเป็นเจ้าของให้อยู่ภายในครอบครัว รวมถึงเป็นเครื่องมือส่งเสริมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างรุ่นสู่รุ่นผ่านการตัดสินใจร่วมกัน โดยเฉพาะในกรณีที่มีการขายหรือโอนย้ายทรัพย์สินในอนาคต

แนวทางการจัดการภาษีของทรัพย์สินกงสี

ทรัพย์สินกงสี มักถูกถือครองในชื่อร่วม ซึ่งหมายถึงการถือครองโดยบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ทำให้การจัดการภาษีของทรัพย์สินกงสีมีความซับซ้อน เนื่องจากมีประเด็นทางภาษีที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนภาษีอย่างเป็นระบบและเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ตามกฎหมายภาษี การถือทรัพย์สินร่วมกันถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่ไม่ใช่นิติบุคคล (หสม.) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยภาษีที่ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ในอดีต ส่วนแบ่งกำไรที่เจ้าของร่วม (หุ้นส่วน) แต่ละคนได้รับไม่ต้องนำไปรวมเสียภาษีระดับบุคคลอีก ทำให้การถือครองทรัพย์สินร่วมกันหรือการตั้งคณะบุคคลเป็นที่นิยมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2558 กฎหมายภาษีได้มีการแก้ไขและยกเลิกการยกเว้นภาษีระดับบุคคลดังกล่าว ส่งผลให้ในปัจจุบัน เงินได้จากทรัพย์สินที่มีชื่อร่วมกัน นอกจากจะต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้าในระดับหสม. แล้ว ยังต้องเสียภาษีในระดับบุคคลอีกครั้งเมื่อมีการแบ่งกำไร โดยถือเป็นเงินได้ประเภทอื่น (ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)) ยกเว้น การถือครองทรัพย์สินร่วมกันของสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสที่ไม่ถือเป็นหสม. และในกรณีที่ทรัพย์สินกงสีถูกถือครองโดยบุคคลเดียว ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีก็คือบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นนั่นเอง

จากที่กล่าวมา แต่ละครอบครัวสามารถวางแผนภาษีการถือครองทรัพย์สินกงสีแต่ละประเภทให้ถูกต้องได้ โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันตามประเภทของทรัพย์สิน ดังนี้

· ทรัพย์สินกงสีประเภทเงินลงทุน: การเสียภาษีของเงินลงทุนที่ถือร่วมกันจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่เกิดขึ้น สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากนั้นไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากกฎหมายได้ยกเว้นไว้ว่าหากหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของหสม. แล้ว การแบ่งส่วนแบ่งดอกเบี้ยไม่ต้องเสียภาษีในระดับบุคคลอีก ซึ่งแตกต่างจากเงินปันผลหรือกำไรจากการขาย ที่จะต้องเสียภาษีในระดับหสม. โดยมีอัตราและข้อยกเว้นเหมือนบุคคลธรรมดา กล่าวคือ เงินปันผลสามารถเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้รับยกเว้นภาษีในระดับหสม. แต่เมื่อมีการแบ่งเงินปันผลหรือกำไรระหว่างกัน ต้องนำมารวมกับเงินได้อื่นของตนและเสียภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้า

· ทรัพย์สินกงสีประเภทอสังหาริมทรัพย์: สำหรับเงินได้จากการขายหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ถือร่วมกันก็ถือเป็นหสม. เช่นกัน หากเป็นการซื้อมาร่วมกัน เงินได้จากการขาย/ให้เช่าต้องเสียภาษีในระดับหสม. ในลักษณะเดียวกับบุคคลธรรมดา และเสียภาษีในระดับบุคคลอีกครั้งเมื่อมีการแบ่งส่วนแบ่งจากการขาย/ค่าเช่า แตกต่างกับเงินได้จากอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการรับให้หรือรับมรดกร่วมกัน กฎหมายได้ยกเว้นในกรณีนี้ไว้ให้เสียภาษีเพียงระดับเดียว คือ กรณีค่าเช่าเสียภาษีระดับหสม. เท่านั้น และในกรณีขาย ให้เจ้าของแยกคำนวณภาษีตามส่วนของแต่ละคน

การถือครองทรัพย์สินกงสีร่วมกันอาจถูกมองว่าเป็นหนึ่งวิธีในการเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะทำให้ทุกคนมีสิทธิ์อย่างเท่าเทียม แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าหลายครั้งผลลัพธ์อาจตรงกันข้าม เช่น ครอบครัวที่มีทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เจ้าของร่วมบางคนต้องการขายเพราะ

มีภาระภาษีและค่าใช้จ่ายระยะยาวสูง แต่เจ้าของร่วมที่เหลือไม่ต้องการขายเพราะมองว่าเป็นทรัพย์สินสำคัญของครอบครัว ทำให้ไม่สามารถขายได้ เนื่องจากการขายทรัพย์สินในชื่อร่วมต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของทุกราย (และอาจรวมถึงคู่สมรสด้วย) ยิ่งปล่อยเวลานานไปโดยไม่จัดการ เมื่อถึงเวลาส่งต่อให้ทายาท จำนวนเจ้าของร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ การตัดสินใจร่วมกันยิ่งยากและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในครอบครัว อีกตัวอย่างที่พบบ่อยคือการใส่ชื่อบุคคลอื่นให้ถือทรัพย์สินแทน โดยทุกคนในครอบครัวไม่ได้รับทราบโดยทั่วกัน เมื่อผู้ถือแทนเสียชีวิต ทรัพย์สินนั้นก็จะส่งต่อไปยังทายาทของผู้ถือแทนตามกฎหมาย ทรัพย์สินจึงไม่ตกไปยังเจ้าของที่แท้จริง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการถือทรัพย์สินแทนกันถ้าไม่จำเป็นหรือไม่มีข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร KBank Private Banking แนะนำ 3 ขั้นตอน เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินกงสีเป็นไปอย่างราบรื่น ได้แก่

1. พูดคุยตกลงกันภายในครอบครัว เพื่อแบ่งประเภททรัพย์สินเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มทรัพย์สินที่มีคุณค่าทางจิตใจ กลุ่มทรัพย์สินที่อาจขายในอนาคต และกลุ่มทรัพย์สินที่จะส่งต่อให้สมาชิกรายคน เป็นต้น

2. ปรับวิธีการถือครองทรัพย์สินกงสีที่มีอยู่ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการตามที่ตกลงกันไว้และป้องกันไม่ให้มีภาระภาษีซ้ำซ้อน

3. วางแผนการถือครองทรัพย์สินกงสีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เพราะการวางแผนบริหารจัดการภาษีทรัพย์สินกงสีอย่างเหมาะสม มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ตามหลักเกณฑ์กฎหมายถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจกงสีดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง KBank Private Banking ส่งเสริมให้เตรียมความพร้อมในการส่งต่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปในอนาคต จึงมอบบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว(Family Wealth Planning Services) ที่ครอบคลุมทั้งบริการด้านการวางแผนที่หลากหลาย ทั้งการวางแผนความต่อเนื่อง และกติกาของครอบครัว, การบริหารความเสี่ยงของครอบครัว, โครงสร้างการถือครองทรัพย์สิน, การสืบทอดกิจการและทรัพย์สิน, การทำสาธารณกุศล และการจัดตั้งสำนักงานครอบครัว

นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานร่วมเปิด มิวเซียมสิงห์บุรี พร้อมด้วย นาย ศุภวัฒน์ เทียนถาวร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี  และ นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)

ตั้งแต่มีข่าวภาษีมรดกเกิดขึ้น ขนาดว่าตามข่าวล่าสุดจะเก็บจากกองมรดกที่มีขนาด 50 ล้านบาทขึ้นไปในอัตราภาษี 10% อัตราเดียว โดยจะจัดเก็บจากทรัพย์สินที่มีการลงทะเบียนเอาไว้อย่างชัดเจน

X

Right Click

No right click