รวมถึง สานต่อแผนพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ สู่ฐานแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ประจำภาคกลาง เปิดแสดงนิทรรศการถาวรเรื่อง "ทรัพย์ เมือง สิงห์" ภายในอาคารศาลากลางหลังเก่า (ร.ศ. ๑๓๐) เพื่อเล่าเรื่องราวเมืองสิงห์บุรี ผ่านประวัติศาสตร์สังคม ผู้คน ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และเมือง ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ก่อ ร่าง สร้าง เมือง จนถึงปัจจุบัน
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวถึง การสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมสู่การเรียนรู้และท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้ ว่า “ มิวเซียมสยามดำเนินภารกิจ ภายใต้แนวคิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ Discovery Museum ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ทำต้นแบบของการเรียนรู้และส่งต่อองค์ความรู้ให้กับประชาชนในหลากหลายวิธีการร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้มิวเซียมเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาองค์ความรู้ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในการสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาเผยแพร่ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ สำหรับนิทรรศการ “ทรัพย์เมืองสิงห์” ภายในมิวเซียมสิงห์บุรี แห่งนี้ มีการเชื่อมโยงข้อมูลให้ผู้ชมเกิดความสนใจไปเรียนรู้เชิงลึกในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัด อาทิ เมืองโบราณบ้านคูเมือง โบราณสถานเตาเผาแม่น้ำน้อย อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน พื้นที่ทางศาสนาและพิพิธภัณฑ์ รวมถึงสถานที่สำคัญอีกมากมาย
การสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมสู่การเรียนรู้และท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องศึกษาความเป็นตัวตนให้ชัดเจนและพัฒนาสร้างการจดจำให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลายด้าน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาหาร ผู้คน สถาปัตยกรรม ผมเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ได้นำเสนอผ่านมิวเซียมสิงห์บุรีในครั้งนี้ จะช่วยให้ชาวสิงห์บุรีและนักท่องเที่ยวเข้าใจความเป็นตัวตนของสิงห์บุรีในวันนี้ได้เป็นอย่างดี และพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองและให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่โดยรอบได้อย่างยั่งยืน ” นายราเมศ กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของนิทรรศการ “ทรัพย์ เมือง สิงห์” ที่จัดแสดงในมิวเซียมสิงห์บุรี (อาคารศาลากลางหลังเก่า ร.ศ. ๑๓๐) มีการจัดแสดงทั้งหมด 8 ห้อง โดยเริ่มตั้งแต่
- ทรัพย์ดึกดำบรรพ์ "หลักฐาน" ทรัพย์เมืองสิงห์ จำนวนมากมาย ยืนยันความสำคัญของสิงห์บุรี ตั้งแต่หลายพันปีก่อนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องถึงทวารวดี สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนเป็นสิงห์บุรีวันนี้
- ทรัพย์เมืองเก่า "ชาวสิงห์บุรี" ในยุคดึกดำบรรพ์รวมกลุ่มตั้งหมู่บ้านกระจัดกระจายกันตามที่ต่าง ๆ แล้วพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีมีการติดต่อค้าขายกับเมืองอื่นๆต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นหัวเมืองสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ในยุคสิงห์- อินทร์- พรหม ปัจจุบันยังมีทรัพย์ที่ยืนยันความรุ่งเรืองของยุคนี้อยู่มากมายในสิงห์บุรี
- ทรัพย์ในดิน "เมืองเตาเผา" สิงห์บุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตภาชนะดินเผาขนาดยักษ์ใหญ่ มีเตาเผาจำนวนนับร้อยเตา ผลิตภาชนะดินเผาส่งขายในอยุธยา และ ส่งออกไปทั่วโลกไกลถึงทวีปแอฟริกา มี "ซิกเนเชอร์" สำคัญยืนยันความเป็นทรัพย์ในดินของสิงห์บุรีคือ "ไหสี่หู" ภาชนะที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากสิงห์บุรี
- ทรัพย์สลาย "กรุงแตก" ทำให้สิงห์บุรีที่เจริญรุ่งเรืองมานับพันปี ต้องโรยราในชั่วข้ามคืน เตาเผาถูกทิ้งร้างกลายเป็นอดีต แม้จะมีชาวสิงห์บุรีและชาวเมืองใกล้เคียง จะร่วมมือกัน "ปกป้องถิ่น" จนคนสุดท้ายใน "ศึกบางระจัน" แต่ไม่อาจต้านทานศึกใหญ่ครั้งนั้นได้ ทรัพย์เมืองสิงห์สลายไปพร้อม ๆ กับกรุงศรีอยุธยา
- ทรัพย์ทรงจำ "เมืองแฝดสาม" สิงห์ - อินทร์ - พรหม เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ หลายครั้ง ตั้งแต่เป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างรัฐโบราณ จนถึงเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการยุบรวม สิงห์ - อินทร์ - พรหม เป็น "เมืองสิงห์บุรี" เมืองเดียว
- ทรัพย์เมืองสิงห์ "เมืองดี คนดี ของดี" เมืองสิงห์บุรี มีทรัพย์เมืองสิงห์ซุกซ่อนอยู่จำนวนมาก ทุกซอกทุกมุมของทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ล้วนมี "สตอรี่" ให้ค้นหาที่ความหลากหลายของผู้คน วัฒนธรรม ความเชื่อ อาหารการกิน และ "ของใหม่" ที่มีบทบาทสำคัญเป็นทรัพย์เมืองสิงห์ในปัจจุบัน
- ทรัพย์ปัญญา "สิงห์บุรีโมเดล" ถูกคิดค้นตั้งแต่เมื่อ ๑,๐๐๐ ปีก่อน เพื่อควบคุมน้ำในหน้าแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ด้วยคลองขุด "ใยแมงมุม" ที่บ้านคูเมือง อินทร์บุรี ซึ่งเชื่อกันว่ากรุงศรีอยุธยาก็ใช้โมเดลนี้ ขุดคูคลองเพื่อควบคุมน้ำเช่นกัน ถือเป็นทรัพย์ปัญญาและเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับการเป็นเมืองน้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของสยามประเทศ
- ทรัพย์วันหน้า "สิงห์บุรีในฝัน" คือเกมทดสอบการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืน ที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ความผันผวน ในอนาคตได้ ด้วยจินตนาการของทุก ๆ คน เพื่อสร้างบุคลิกภาพของเมือง ทั้งในทาง สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ผู้คน และวัฒนธรรมให้เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ น่าอยู่ น่าเยือน สำหรับทุกคน
นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวถึง มิวเซียมสิงห์บุรี เกิดมาจากการร่วมมือของ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี ร่วมกันปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรีหลังเดิม (ร.ศ. ๑๓๐) เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดสิงห์บุรี ผ่านการจัดนิทรรศการในยุคสมัยต่างๆ รวมทั้งเพื่อให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดแสดงนิทรรศการ ด้านการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ และด้านการบริหารจัดการ ตามมาตรฐานแหล่งเรียนรู้ระดับสากล โดยมิวเซียมสิงห์บุรี จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสิงห์บุรี” นายศุภวัฒน์ กล่าวเสริม
นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เผยว่า “อาคารแห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์จังหวัดสิงห์บุรีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ในระดับสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เฉพาะแต่นักเรียนและประชาชนที่มีความสนใจเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ ความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดสิงห์บุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งใหม่ของจังหวัดสิงห์บุรี ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรีเพิ่มมาก มิวเซียมสิงห์บุรีจะเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้แห่งใหม่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสิงห์บุรีต่อไปในอนาคต”นายสุพจน์ กล่าวโดยสรุป
สำหรับผู้สนใจเข้าชม มิวเซียมสิงห์บุรี นิทรรศการ “ทรัพย์ เมือง สิงห์” ตั้งอยู่ที่ ถนนวิไลจิตต์ ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี 16000 เปิดทำการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. (ปิดให้บริการวันจันทร์) ไม่เสียค่าเข้าชม สามารถสอบถามได้ที่ มิวเซียมสิงห์บุรี Museum Singburi โทร. 036-699-388