December 22, 2024

University Ranking …สำคัญไฉน?

October 25, 2019 2995

ทุกปีจะมีวาระตื่นเต้นสำหรับวงการศึกษาอยู่ช่วงหนึ่ง เปรียบไปแล้วก็ราวๆ กับการประกาศผลออสการ์ของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด แต่สำหรับแวดวงการศึกษามหาวิทยาลัยนั่นก็ย่อมหนีไม่พ้นเรื่อง ”การประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย” (University Ranking)

หลังจากนั้นสิ่งที่ตามมาก็จะเป็นข่าวสารหรือการตีฆ้องโฆษณามากน้อยว่ากันไปตามแต่การตลาดของแต่ละสถาบัน ในส่วนของผู้ปกครองและนักเรียนอาจจะมีความสงสัยกับการจัดอันดับเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น รายการจัดอันดับไหนที่ควรนำมาพิจารณา? ของระดับโลก ระดับเอเชีย หรือระดับประเทศ เวทีไหนที่น่าเชื่อหรือเป็นที่ยอมรับได้มากกว่ากัน หรือใช้เกณฑ์อะไรจัดกันบ้าง ชื่อเสียง ผลงาน ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาล้วนให้ผลที่แตกต่างกันจนผู้ปกครองกับนักเรียน (บางครั้งรวมถึงผู้บริหารสถาบัน) สับสนมึนงงยิ่งนักเพราะผู้ปกครองย่อมอยากได้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อที่จะผลักดันลูกให้ถูกทาง ในขณะที่สถาบันก็ย่อมจะอยากได้ข้อมูลเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาสถาบันรวมไปถึงการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของสถาบัน ส่วนผู้เรียนเองอยากได้ข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการเลือกสิ่งที่เข้ากับตัวเองมากที่สุดในการตัดสินใจเรียนต่อ

คราวนี้ลองมาดูปัจจัยสำคัญที่สถาบันจัดอันดับ ไม่ว่าเจ้าไหนก็ตามจะนำมาใช้ ได้แก่ ปัจจัยที่สะท้อนประสิทธิผลของงาน ที่สอดคล้องกับภารกิจหลักที่มหาวิทยาลัยทำ โดยเจ้าภารกิจหลักของทุกมหาวิทยาลัยในไทยนั้นมีสี่ด้านคือ งานสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการแก่สังคม และท้ายสุดคือทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่

  1. คะแนนการสอน วัดด้วยค่าตัวเลขที่สะท้อนสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัย เช่น มีผู้สอนเพียงพอไหม มีอุปกรณ์หรือสิ่งสนับสนุนมากพอไหม
  2. คะแนนการวิจัย วัดที่จำนวนงานวิจัย รายได้ ชื่อเสียงจากการสำรวจคนในวงการที่เกี่ยวข้อง
  3. คะแนนการอ้างอิงผลงานวิจัยนั้นไปใช้ สะท้อนว่าเรื่องที่ทำวิจัยมีผู้เอางานไปใช้วิจัยต่อมากน้อยเพียงใด
  4. รายได้จากอุตสาหกรรม สะท้อนความสามารถในการนำงานวิจัยไปบริการสร้างนวัตกรรมให้อุตสาหกรรมได้มากน้อยแค่ไหน
  5. คะแนนชื่อเสียงจากสายตาภายนอก จากคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตนักศึกษาว่าไปสร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติมากน้อยแค่ไหน

ทั้งห้าด้านนี้จะแตกย่อยออกเป็นตัวชี้วัดจากข้อมูลดิบที่ทางสถาบันผู้จัดอันดับส่งไปให้ และจากแบบสอบถามที่ทางสถาบันจัดอันดับส่งกระจายไปให้คนในวงการเช่นมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือบริษัทชั้นนำได้ช่วยกันตอบแบบสอบถามแล้วนำมารวบรวมจัดอันดับ

การจัดอันดับแต่ละยี่ห้อจะให้น้ำหนักหรือจำนวนปัจจัยย่อยหรือวิธีวัดที่ต่างกันไป เช่นของ timeshighereducation.co.uk ซึ่งเป็นของฝั่งอังกฤษนั้นจะให้คะแนนในข้อ 1-3 เท่ากันคือ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเห็นว่าคะแนนที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากว่านักเรียน ม.ปลายหรือผู้ปกครองพิจารณาก็อาจจะควรมองด้านนี้เป็นหลัก ส่วนอีก 60 เปอร์เซ็นต์นั้นดูจะไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยตรงนัก ยิ่งสำหรับนักเรียนที่ต้องการการสนับสนุนเฉพาะทางเช่น อัจฉริยภาพทางกีฬา หรือ ต้องการการเรียนการสอนแบบเข้มข้นคืออัตรานักเรียนต่อผู้สอนน้อยๆ ก็คงต้องพิจารณาสามสิบเปอร์เซ็นต์นี้อย่างถี่ถ้วนหรือมองเข้าไปในตัวเลขย่อยๆ ภายใต้การจัดอันดับรวม

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ต้องการการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเช่นต้องการบริการวิจัย หรือที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาของบริษัท ก็คงต้องเน้นมองที่ปัจจัยในข้อ 2-5 เป็นหลักโดยดูแยกย่อยไปตามสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของตนเอง ประกอบการตัดสินใจว่าจ้างจัดหาที่ปรึกษาหรือนักวิจัย รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในการสร้างนวัตกรรมเฉพาะด้าน

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดเหล่านี้ก็มีประเด็นให้สังคมถกเถียงกันต่อไปในเรื่องความถูกต้องของตัววัด เช่น มหาวิทยาลัยในเมืองหลวงก็มักมีคะแนนสูงกว่า ในส่วนคะแนนด้านอัตราการแข่งขันในการเข้าศึกษาต่อ ที่มักจะได้คะแนนสูงจากการที่ตั้งอยู่ในเมืองที่มีนักเรียนมากกว่า ก็ย่อมมีความต้องการในการสมัครสูงกว่าสถาบันที่อยู่ในพื้นที่ที่ประชากรไม่ได้หนาแน่น หรือการที่คะแนนที่วัดหลายตัวเป็นการเฉลี่ยทั้งสถาบันทำให้ไม่ได้สะท้อนในระดับหลักสูตรที่แท้จริง ทำให้การนำอันดับเหล่านี้ไปพิจารณาควรดูรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเลือกปัจจัยที่เกี่ยวข้องไปใช้ตัดสินใจจัดอันดับหลักสูตร คณะ และสถาบันของแต่คนเอาเอง เช่น นักเรียนอาจจะสนใจ เงินเดือนเฉลี่ย, ความพึงพอใจของผู้เรียน, อัตราการได้งานทำ, ความร่วมมือกับอุตสาหกรรม, อุปกรณ์การเรียนการสอน อันนี้ก็สุดแท้แต่จะพิจารณากันเอง

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ ภารกิจด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนั้นจะไม่สะท้อนโดยตรงกับตัวชี้วัดในการจัดอันดับนี้เท่าไหร่นัก อาจจะมองได้ว่าเป็นการเผยแพร่ให้คนรู้จักซึ่งอาจจะมีผลกับหลักสูตร หรือคณะด้านศิลปะ วัฒนธรรมอยู่บ้างหรืออาจจะเกี่ยวกับรายได้จากอุตสาหกรรมก็ตาม แต่การที่มหาวิทยาลัยบรรจุเรื่องเหล่านี้ไว้ก็เป็นสิ่งดีงามที่น่ายกย่องและหาทางให้เป็นดัชนีสะท้อนการทำเพื่อสังคมอย่างหนึ่ง อีกประเด็นคือการสื่อสารเรื่องการจัดอันดับที่ปล่อยให้สื่อนำไปตีความผิดพลาด เช่นการประเมินของ สกว. เน้นว่าเป็นการประเมินระดับการวิจัยการเรียนการสอนไม่นำไปจัดอันดับ ใช้เพื่อปรับปรุงตนเองก็มีการเผยแพร่ในลักษณะการจัดอันดับแข่งขัน ทำให้ผิดเจตนารมณ์ของการประเมิน หรือแม้แต่การเผยแพร่อันดับของระดับโลกเองหากพิจารณาถี่ถ้วนแต่ละค่ายก็มีนัยยะแฝง ที่ทำให้ค่ายฝั่งอเมริกาได้เปรียบ ในขณะที่ถ้าเป็นอีกค่ายมหาวิทยาลัยฝั่งยุโรปจะได้เปรียบ มองกันดีๆ ก็อาจจะมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกับการตลาดอยู่บ้างบางส่วน

เหนือสิ่งอื่นใด การจะกำหนดตัวถ่วงน้ำหนักของปัจจัยให้สะท้อนผลลัพธ์ในมิติไหนก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดเราอาจไม่จำเป็นต้องอิงที่ผลของการตัดสิน แต่อิงที่ผลสะท้อนของความจริงที่ค้นพบว่า ประสิทธิภาพของแต่ละปัจจัยที่วัดกันออกมาเป็นเช่นไร เพื่อสะท้อนและพัฒนาต่อ ส่วนในเชิงผู้เรียน สิ่งที่สำคัญคือการนำค่าปัจจัยต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจเลือกหรือ มุ่งเป้าไปสู่หลักสูตร คณะหรือสถาบันที่ตรงใจหรือตรงเป้าหมายของชีวิตอย่างสอดคล้องให้มากที่สุด และโดยไม่ลืมคำนึงปัจจัยประกอบในเรื่องความเหมาะสมหรือข้อจำกัดอื่นๆ ของตนเอง แม้กระทั่งหน่วยองค์กรธุรกิจเองก็อาจพึงพิจารณาเจาะจงลงไปยังรายละเอียดของปัจจัยเหนือกว่าการพิจารณาที่ผลลัพธ์ของการจัดอันดับเป็นสำคัญ

หากเราลองคิดกันเล่นๆ ว่าถ้าจะมีจัดอันดับแบบไหนที่มหาวิทยาลัยเมืองไทยจะได้แชมป์โลกกับเขาบ้าง มีไอเดียสนุกๆ จากวงกาแฟของผู้เขียนเสนอแนะมามากมาย เช่นว่า ความยาวของกระโปรงนักศึกษา (แสดงถึงความเรียบร้อยน่ารัก), ค่าเทอมที่เสียไป, ราคาอาหารในโรงอาหาร, เสียงหัวเราะใบหน้าที่ยิ้มแย้ม, รวมถึงจำนวนกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่นิสิตนักศึกษาไทยจัดกันตลอดทั้งปี งานกีฬา เชียร์ลีดเดอร์ ฯลฯ ซึ่งมองในด้านบวกอาจจะสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยไทยมีความอบอุ่นและเป็นสถานที่หล่อหลอมประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกก็เป็นได้นะครับ


เรื่อง : ดร.พิษณุ คนองชัยยศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 168 August 2013

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 25 October 2019 09:14
X

Right Click

No right click