ผู้บริหารสูงสุดด้านไอทีเองก็ย่อมต้องมีทักษะการเป็นผู้นำที่ดีควบคู่กับทักษะด้านเทคโนโลยีที่ต้องตามโลกให้ทัน โดยที่ลักษณะการเป็นผู้นำนั้น มองได้ง่ายๆ อีกอย่างคือหัวหน้าของเรานั้นมีสัมพันธ์ภาพกับลูกน้องอย่างไรนั่นเอง
ประเด็นแรกสุดของผู้นำด้านไอทีต้องคำนึงถึงคือ “จงเปลี่ยนโลก ไม่ใช่ทำโลกให้เดินไปอย่างอัตโนมัติ” ข้อความนี้สะท้อนถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดตลอดมาของนักเทคโนโลยี คือ พยายามสร้างระบบและออกแบบ วางแผน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขให้ระบบมันเดินไปได้เอง หรือ กลายเป็นระบบอัตโนมัติ (หรืออัตโนวัติถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและทำให้ขยายการทำงานได้ แต่จริงๆ แล้วยุคของการใช้ไอทีทำงานอัตโนมัตินั้นเริ่มจบสิ้นหรือตกยุคไปแล้ว คือไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันโลกแห่งไอทีกำลังจะพ้นยุคสองคือยุคของ การทำอุตสาหกรรมด้วยไอที คือ ทำให้งานมันมีคุณภาพมากขึ้น ทำนายได้ เชื่อถือได้ และโปร่งใสมากขึ้น จากข้อมูลสารสนเทศที่รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย และมีความถูกต้องสูง ส่วนยุคใหม่ล่าสุดของโลกไอที ที่ผู้บริหารต้องคำนึงถึงคือ ยุคแห่งความเป็นดิจิทัล ภายใต้โซเชียลเน็ตเวิร์ก
ใกล้ตัวเราก็คงเริ่มต้นจากการที่บ้านเรากำลังจะเริ่มยุคดิจิทัลทีวีในอีกไม่กี่เดือนนี้ ซึ่งมาถึงตรงนี้ ผู้บริหารไอทีไม่เพียงแต่จะคิดว่าจะนำเทคโนโลยีมาทำให้งานเร็วขึ้น ต้นทุนต่ำลง หรือ ทำได้มากขึ้นอีกต่อไป แต่ต้องคิดที่จะ เปลี่ยน ขั้นตอนทางธุรกิจ รูปแบบข้อมูล และ เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ให้เข้ากับยุคดิจิทัลได้ เช่น การซื้อขายติดต่อลูกค้าจะทำยังไงในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ข้อมูลที่ใช้อยู่จะทำให้เป็นดิจิทัลดีไหมรวมถึงข้อมูลที่จะมีมาใหม่ ไปจนถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องหามาเพื่อธุรกิจในยุคดิจิทัลนี้ ซึ่งต้องมองว่าเป็นการ “เปลี่ยน” สู่ธุรกิจแบบใหม่ และแน่นอนต้องยังสนับสนุนการทำธุรกิจแบบเดิมต่อไปด้วย
แล้วส่วนใหญ่เขาเริ่มทำอะไรกันบ้างแล้ว จากบริษัทที่มีทัศนวิสัยก้าวไกลด้านไอที ก็เริ่มมีการลงทุนปรับธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลนี้ เช่น ลงทุนการใช้งานคลาวด์หรือ อธิบายด้วยคำง่ายๆ ว่าบริการประมวลผลหรือฝากข้อมูลบนบริการอินเทอร์เน็ตครบวงจร บ้างก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่ยุคดิจิทัล เช่น ระบบไร้สาย แท็บเล็ต แอปพลิเคชันมือถือ เปเปอร์เลส หรือ ปรับระบบงานให้เข้ากับซอฟต์แวร์บริหารจัดการธุรกรรมองค์กรที่มาตรฐานขึ้น รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่เริ่มมีการทำพอร์ตหรือพอร์ตโฟลิโอการลงทุนด้านไอที โดยใช้แนวคิดที่เน้นการประสานงาน ความร่วมมือ ผลประกอบการจริงและลูกค้ามาปรับปรุงพอร์ตให้การลงทุนทางไอทีมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น ภาระหนักหน้าที่และความท้าทายของซีไอโอ นั้นยังเกี่ยวกับการมองเห็นธุรกิจแบบใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กรในยุคหน้าเลยทีเดียว การปรับบทบาทและความรับผิดของหน่วยไอทีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริหารหรือ ซีอีโอ ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยพื้นฐานของการบริหารงานระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ใครๆ ก็รู้กันว่าสำคัญที่สุดคือ “บุคลากร, กระบวนการ, และเครื่องมือ” แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าสามอย่างนี้จะสมบูรณ์แบบ คือมีคนเก่งมากทำงานตามกระบวนการที่ออกแบบไว้อย่างยอดเยี่ยมด้วยเครื่องมือที่แพงและทันสมัยก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือ ให้บริการด้านไอทีในองค์กรแล้วมีปัญหาอยู่ดีหากปราศจาก วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ที่ปรับเปลี่ยนได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ผู้บริหารไอทีจึงจำเป็นต้องเน้นสามประการ คือ นำ, จัดระบบ, และสร้างความมั่นคง ผู้นำที่โน้มน้าวผู้อื่นได้ ก็จะสร้างลูกน้อยที่มีแรงบันดาลใจ การฝึกฝนและบากบั่นทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นวิถีในการสร้างผู้นำที่ดี ทักษะการเป็นผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่น่าจดจำ เป็นเสน่ห์ดึงดูด ถึงกับว่ากันว่าลักษณะที่คนนึงเป็นจะดึงดูดคนลักษณะเดียวกันให้เข้ามาร่วมงานกัน การทำงานเป็นทีมจึงจะสำเร็จได้หากผู้นำมี ทักษะที่ดีจะทำให้ทีมดีตามไปด้วย โดยทั้งนี้ทั้งนั้น แนวคิดแบบอไจล์หรือเน้นการประสานงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตรวจสอบผลการทำงานให้บ่อยครั้งนั้นเป็นที่นิยมในการบริหารปัจจุบัน
มีข้อน่าสังเกตว่าปัจจุบันผู้บริหารด้านไอทีนั้นมี “สุภาพสตรี” เพิ่มมากขึ้นผู้ซึ่งล้วนสร้างชื่อจากการทำงานหนักในสายไอทีนับทศวรรษ เรียกได้ว่าโดยมากผู้บริหารระดับชั้นนำมักมากประสบการณ์ในงานสายนั้นเสมอ เป็นคนที่เผชิญความท้าทายเกี่ยวกับการเป็นผู้หญิงในสายงานไอทีมาก่อนและสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างดีมองเป็นโอกาส ซึ่งบางครั้งก็สามารถพลิกเป็นความได้เปรียบเหนือผู้บริหารชายได้ด้วยซ้ำ จนกระทั่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในหมู่นักบริหารผู้ชาย
ลักษณะเด่นของผู้บริหารหญิงข้อต่อมา คือ มักเป็นคนกล้ารับความเสี่ยง และมักมองความเสี่ยงเป็นแรงขับดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงของงาน มากกว่าจะมองเรื่องค่าตอบแทนหรือชื่อเสียง ซึ่งเป็นเคล็ดลับทำให้กล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลง ซึ่งมักได้ผลกับโปรเจ็กต์ด้านไอที โดยเป้าหมายคือผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แลกกับความเสี่ยงในการล้มเหลวซึ่งบางงานอาจจะทำให้เสียตำแหน่งบริหารไปเลย แต่ผู้บริหารหญิงมักจะกล้าเสี่ยงในจุดนี้ และเนื่องจากผู้หญิงมักมีความมั่นใจในตัวเองน้อยกว่าชาย จึงทำให้การรับความเสี่ยงนี้ก็มักจะทำได้สำเร็จเพราะไม่ประมาทนั่นเอง
อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องครอบครัว แม้ว่าทักษะความมุ่งมั่น การรับความเสี่ยง หรือการสร้างทีมเวิร์คจะไม่ได้ขึ้นกับเพศ แต่ด้วยความเป็นผู้หญิงนั้นมีคุณสมบัติบางอย่างที่ใช้ในการเป็นผู้นำที่ดี การทำงานที่ต้องใช้เวลายาวนาน รวมถึงการเดินทางออกข้างนอกบ้านบ่อย ซึ่งผู้บริหารด้านไอทีมักจะต้องเจอกับประเด็นเหล่านี้ เช่นการทำงานที่แม้แต่ที่บ้านก็ต้อง ตอบอีเมล เปิดเครื่องมือสื่อสาร แชท สไกป์ ออนไลน์ตลอดเวลา และเสาร์อาทิตย์ยังอาจจะต้องเดินทางไปตามไซต์งานที่ติดตั้งระบบหรือไปดูแลระบบไอทีมีปัญหาที่หน้างาน ซึ่งจุดนี้แม้จะดูไม่ต่างกันทั้งหญิงและชาย แต่จากการสำรวจพบว่าผู้บริหารหญิงสามารถได้ความช่วยเหลือที่มากกว่า ไม่ว่าจากครอบครัว พ่อแม่ หรือเพื่อนร่วมงาน ทำให้เธอสามารถบรรลุภาระเหล่านี้ไปได้แบบที่เมื่อผลลัพธ์ของการทุ่มเทงานหนักออกมาก็เรียกได้ว่าไม่เสียใจ
เรื่อง : ดร.พิษณุ คนองชัยยศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 173 January - February 2014