September 19, 2024

จีนพร้อมรับมือสงครามการค้าแนะCore port จับจังหวะลงทุนหุ้นสหรัฐ-จีน Ashare

ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงานสัมมนา “Digital Marketing Trends 2024 เจาะลึก AI ช่วยการตลาดธุรกิจ SME” ณ ศูนย์ฝึกอบรมตะวันรอน จ.ชลบุรี เพื่อสานต่อภารกิจเสริมแกร่งเอสเอ็มอีด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาดให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า กลุ่ม ลูกค้า Supply chain ให้เริ่มเตรียมพร้อมปรับตัวใช้นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยธุรกิจ SME พร้อมกับแนะเคล็ดลับการเลือกใช้ AI อย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ ตอบสนองความสนใจของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ขยายโอกาสในการเพิ่มยอดขายให้ปัง และสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน โดยมี นางกนกวรรณ ใจศรี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน SME Upcountry 1 ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้การต้อนรับ

ภายในงานสัมมนา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร่วมรับฟังการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญที่มาวิเคราะห์เจาะลึกภาพรวมธุรกิจในปีนี้ จาก นางสาวชญานิศ สมสุข และ นางสาววรรณโกมล สุภาชาติ นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ในหัวข้อ “เจาะลึก Trends ธุรกิจในปี 2024” พร้อมทั้งเรียนรู้การตลาดดิจิทัลและการใช้ AI ช่วยในเรื่องการตลาดเพื่อให้ธุรกิจไปได้ในยุคปัจจุบัน จาก ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และการใช้เครื่องมือ AI ด้าน Digital Marketing เพิ่มยอดขายอย่างไรให้ปัง จาก นายชนกานต์ ชินชัชวาล CEO และ Founder บริษัท โรโบลิงโก้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ AI Chatbot และ Automation Platform สำหรับการตลาดใน Social Media นายอดิศักดิ์ จิระกิตติดุลย์ Business Development Manager บริษัท ช็อคโก้ คาร์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้าน CRM และการตลาดดิจิทัล นอกจากนี้ยังได้รับฟังประสบการณ์ตรงจาก ดร.พงศ์ศักดิ์ ตฤณธวัช Head of Robinhood Academy บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ที่มาบอกเล่ากรณีศึกษา แบรนด์ที่ใช้ Digital Marketing จนประสบความสำเร็จ

SCB CIO วิเคราะห์หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.นี้ คาดจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าไบเดน จากการบริโภคที่ได้รับแรงหนุนนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ส่วนจีนจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าหนักขึ้น ด้านค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวันและเงินบาท อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้ พร้อมแนะนำลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน A-Share บนพอร์ตลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป แต่ต้องจับตาความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง พร้อมลงทุนตลาดหุ้นจีน H-Share บนพอร์ตระยะสั้นรับแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการจีน

น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากการติดตามผลสำรวจคะแนนความนิยมของนายโจ ไบเดน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2567 นี้ ผ่านเว็บไซต์ผลสำรวจ realclearpolitics พบว่า ล่าสุด คะแนนความนิยมของทรัมป์ อยู่ที่ 47.5 นำเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคะแนนนิยมของไบเดน ซึ่งอยู่ที่ 46.4 และในสภาคองเกรส ผลสำรวจระบุว่า พรรค Republican มีคะแนนนำเล็กน้อยในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง ส่วนวุฒิสภา หรือสภาบน คะแนนทั้งสองพรรคใกล้เคียงกันมาก

ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์ผลกระทบเปรียบเทียบระหว่างทรัมป์หรือไบเดน เป็นประธานาธิบดีสมัยหน้า โดยมองว่า หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจะมีนโยบายที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน เนื่องจากการบริโภคจะได้รับแรงหนุน จากนโยบายต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะหมดอายุลงในปี 2568 ขณะที่ไบเดนมีแผนเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง แต่การบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ อาจได้รับผลกระทบบ้างจากนโยบายของทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีนมากกว่า 60% และสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่น 10% ส่วนการส่งออกสุทธิ อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนที่แพงขึ้น และจากการตอบโต้กลับของประเทศอื่น ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ต่างจากไบเดนที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นโดยพุ่งเป้าเฉพาะสินค้ายุทธศาสตร์ของจีนเป็นหลักทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก

ด้านการลงทุน จะคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 21% หรืออาจปรับลดเพิ่มเติม รวมทั้งมีนโยบาย American First เพิ่มการผลิตในประเทศ ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนการคลังจะขาดดุลการคลังมากขึ้น ทำให้ต้องออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond) เพิ่มขึ้น และอาจเผชิญข้อจำกัด เนื่องจากยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) ในปี 2567 คาดว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 99% ต่างจากเมื่อปี 2559 ที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ซึ่งอยู่ที่ 77% และสหรัฐฯ จะมีปัญหาชนเพดานหนี้อีกครั้ง จากที่ได้ขยายเวลาเพดานหนี้ไปถึงช่วงต้นปี 2568

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนและประเทศคู่ค้าอื่น จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และอาจเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) นอกจากนี้ ยังเผชิญแรงกดดันจากการเพิ่มการขาดดุลการคลัง รวมทั้งการจำกัดการอพยพย้ายถิ่นฐานที่จะไปกดดันอุปทานแรงงาน ต่างจากไบเดนที่อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นน้อยกว่า เนื่องจากมีการกระตุ้นทางการคลัง และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าน้อยกว่า

ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงิน เราคาดว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยังมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Yield Curve) มีแนวโน้มชันมากขึ้น จากเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการออกบอนด์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Bond Yield ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น (Yield Curve ชันมากขึ้น) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เผชิญข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะกรณีไม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ทรัมป์อาจจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ Bond Yield ระยะสั้นปรับลดลง และทำให้ Yield Curve มีความชันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงบนความต่อเนื่องของนโยบายการเงินได้ โดยมีแนวโน้มที่จะไม่ต่ออายุนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่จะครบวาระในวันที่ 15 พ.ค. 2569 และน่าจะแต่งตั้งประธานเฟดคนใหม่ ที่มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้มีการผ่อนคลายทางการเงินมากเกินไป ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้า จากความเสี่ยงการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และสงครามการค้าโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมทั้งยังมีแรงหนุนจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การออกบอนด์เพิ่มขึ้น ที่จะทำให้ Bond Yield เพิ่มขึ้นด้วย ตรงกันข้ามกับไบเดน เป็นประธานาธิบดี ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวถึงอ่อนค่า ตามทิศทางการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ในส่วนของผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น จากสถิติในอดีต พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักผันผวนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ความผันผวนจะปรับลดลง ทั้งนี้ หากทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มากกว่าไบเดน จากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จะช่วยหนุนให้กิจการมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีนำเข้าอาจกระทบปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น โดยเฉพาะผู้ที่นำเข้าสินค้ามาเพื่อผลิตต่อ ขณะที่ผู้ส่งออก ยังมีแนวโน้มเผชิญการตอบโต้กลับด้านภาษีการค้าของประเทศอื่นๆ ส่วน Valuation มีแนวโน้มปรับลดลง จากการที่ Bond Yield ระยะยาว มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่ Valuation อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงมากกว่าในอดีต นอกจากนี้ เรามองว่า การที่ ทรัมป์ได้รับชัยชนะจะทำให้ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสื่อสารนโยบายผ่านช่องทางต่างๆ เข่น Twitter (X) และการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นต้องการผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Equity Risk Premium) สูงขึ้น กดดัน Valuation ของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้

ส่วนกรณีที่ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี จะเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ น้อยกว่า โดยแนวโน้มกำไรต่อหุ้น (EPS) มีความเสี่ยงจะได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการเก็บภาษีการซื้อหุ้นคืนด้วย ขณะที่ ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากการที่ Bond Yield มีแนวโน้มเป็นขาลง และความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ปรับลดลง

น.ส.เกษรี กล่าวว่า สำหรับผลที่มีต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน จากนโยบายของ ทรัมป์ และ ไบเดนนั้น ถือว่าเป็นลบกับจีนทั้งคู่ แต่นโยบายของทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อจีนมากกว่า เพราะนอกจากเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดแล้ว ยังมีแนวโน้มลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ยกเลิกการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากจีน ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ไปจนถึงยา ภายใน 4 ปี ทั้งยังขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนที่ผลิตในเม็กซิโกในอัตรา 100% กำหนด

ข้อจำกัดการถือครอง (ownership) ของจีน ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่น พลังงาน เทคโนโลยี การแพทย์ และการสื่อสาร และยังออกกฎใหม่เพื่อหยุดการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีนมีการเตรียมการรับมือเอาไว้แล้ว ด้วยการปรับห่วงโซ่อุปทานและปรับช่องทางการค้า โดยกระจายความเสี่ยงส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยจำกัดผลลบต่อเศรษฐกิจจีนได้ ประกอบกับธนาคารกลางจีน (PBoC) อาจยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในระดับที่ไม่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเงินทุนไหลออก ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาผลลบจากกำแพงภาษีได้อีกทาง

ในส่วนของผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียนั้น เรามองว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนของตลาดที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะสกุลเงินที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง และเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เช่น วอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวัน และเงินบาท ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลออกได้ ขณะที่ค่าเงินรูปีอินเดีย รูเปียห์อินโดนีเซีย และเปโซฟิลิปปินส์ อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนค่อนข้างต่ำ

สำหรับคำแนะนำการลงทุนของ SCB CIO ในปัจจุบัน เราแนะนำให้ลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ บน Core Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนหลัก สำหรับการลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป โดยเรามองว่า จะเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนไปยังหุ้นอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาด 7 ตัว (Magnificent 7) มากขึ้น รวมทั้งเห็นการกระจายตัวของกำไรในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจบริการสำหรับผู้บริโภค และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะช่วยประคอง Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้อยู่ในระดับสูงได้

ส่วนตลาดหุ้นจีน A-Share เราแนะนำลงทุนบน Core Portfolio เช่นกัน เนื่องจากมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ตามความคาดหวังของนักลงทุนบนการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ในการประชุม 3rd Plenum และการประชุม Politburo ช่วงเดือนก.ค. นี้ แม้เมื่อเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นจีน A-Share อาจมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนเพิ่มมากขึ้น จากท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของทางสหรัฐฯ ก็ตาม

ในส่วนของตลาดหุ้นจีน H-Share เราแนะนำให้ลงทุนบน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตเสริมโอกาสระยะสั้น เฉพาะนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง เนื่องจาก มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1) การออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการจีน โดยเฉพาะบนมาตรการเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์ 2) เงินลงทุนไหลเข้า (Inflows) ผ่านช่องทาง Southbound stock connect ที่มีแนวโน้มมากขึ้น ตามการผ่อนคลายที่สนับสนุนตลาดทุน 3) การซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้น และการเพิ่มเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น H-Share (offshore) โดยเฉพาะกลุ่มอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ซึ่งอาจช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และ valuation และ 4) การคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาด H-Share ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงถูกปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับคู่ค้าต่างๆ และประเด็นข้อพิพาทช่องแคบไต้หวัน โดยล่าสุด จีนซ้อมรบใหญ่รอบไต้หวัน อ้างว่าเป็นการลงโทษท่าทีแบ่งแยกดินแดนของประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ อาจเพิ่มความผันผวนแก่ตลาดได้

SCB CIO จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจกระทบการลงทุนหากเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งสงครามจริง และสงครามทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานของโลก และความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดย ณ ปัจจุบันความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน คาดว่าความรุนแรงจะอยู่ในวงจำกัด แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้น อยู่ในช่วง 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประเทศต่างๆ ยังพอจะรับมือกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อได้ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้นเท่านั้น จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ จับจังหวะช่วงราคาปรับตัวลง แนะนำมีในพอร์ต 5-10% ตามความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน หากเกิดภาวะไม่ปกติขึ้นอีกในอนาคต

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความถี่ของเหตุการณ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ -จีน และ สงครามที่เกิดความรุนแรง ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ,อิสราเอล-ฮามาส (ปาเลสไตน์) และล่าสุดอิสราเอล-อิหร่าน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยลบ ที่ทำให้นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้ผู้ลงทุนจับตาว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk ) จะมีผลกระทบต่อการลงทุนมากน้อยเพียงใด ผ่านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 ด้าน ได้แก่ 1) ผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซหลักของโลก 2) ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ และ 3) ผลกระทบต่อ Sentiment การลงทุนในตลาด โดยอาจพิจารณาได้จาก ความขัดแย้งจะรุนแรงและขยายวงหรือไม่ เนื่องจากสงครามทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ หากมีความรุนแรง และยืดเยื้อ ก็จะสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจประเทศต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจโลกได้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ 3 ด้านนี้ ผลกระทบต่อตลาดการลงทุนก็อาจจะมีไม่มาก

ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาในอดีตจาก สงครามคูเวต ที่อิรักมีการบุกเข้ายึดครองคูเวตที่มีน้ำมันมหาศาล และมีการต่อสู้กับกองกำลังประเทศพันธมิตรตะวันตก ซึ่งอิรักตอบโต้กลับด้วยการระเบิดบ่อน้ำมันในคูเวต พร้อมเทน้ำมันจำนวนมหาศาลลงในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นไปถึง 50%

ส่งผลต่อ Sentiment ของตลาด จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า โดยดัชนี MSCI World ตัวแทนดัชนีตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดพัฒนาแล้ว ปรับลดลง 9.69% ส่วนดัชนี MSCI EM ตัวแทนดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ ปรับลดลง 26.27% หรือกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบราคาอาหาร เมล็ดพันธุ์พืช และพลังงานอย่างมาก เนื่องจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ รัสเซียตอบโต้กลับโดยการปิดท่อส่งก๊าซ นอร์ต สตรีม 1 ไปยังสหภาพยุโรป โดยราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 15% ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกค่อนข้างสูง โดยพบว่า ดัชนี MSCI World ปรับลดลง 7.08% ส่วนดัชนี MSCI EM ปรับลดลง 11.71%

ขณะที่ สงครามรัสเซีย-ไครเมีย ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ตลาดหุ้นก็ยังทำผลงานได้ตามปกติ หรือช่วงอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์ในเขตกาซา และไม่ขยายวงไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากนัก ตลาดหุ้นยังสามารถเป็นบวกได้

สำหรับ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ที่เกิดขึ้นล่าสุด ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เรามองว่า ความขัดแย้ง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานับตั้งแต่ปี 2522 แล้ว เพียงแต่ในอดีตเป็นการทำสงครามตัวแทน (Proxy war) ผ่านกลุ่มต่างๆ ที่อิหร่านสนับสนุน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (เลบานอน) กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ฮามาส (ฉนวนกาซา) และกลุ่มฮูตี (เยเมน) แต่ขณะนี้เริ่มกลายเป็นสงครามระหว่างกันโดยตรง (Direct war) ที่ความรุนแรงเริ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า ความเสียหายยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้เล็งเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก เพราะทราบดีว่า หากลุกลามบานปลายจะทำให้เกิดผลเสียทั้งคู่ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็ไม่ได้สนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับอิหร่าน

ทั้งนี้ เราประเมินผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-อิหร่าน เป็น 3 กรณี คือ 1) Baseline กรณีสงครามอยู่ในวงจำกัด ซึ่งปัจจุบันเรามองว่ายังอยู่ในกรณีนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่อาจยืนอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ประเทศต่างๆ ยังรับมือกับเงินเฟ้อได้และทำให้ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบเชิง Sentiment ระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อตลาดเริ่มคลายกังวล ปรับตัวได้ ก็จะกลับมาพิจารณาปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี

2) Challenging กรณีสงครามยืดเยื้อ การสู้รบเป็นแบบเอาจริงเอาจังมากขึ้น มีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตพลังงานของแต่ละประเทศ โจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอื่นๆ อาจจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่สามารถยืนอยู่ในระดับปัจจุบันได้ อาจปรับฐานมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังรับรู้ผลกระทบเป็นเพียงแค่กรณี Baseline จึงแนะนำให้หยุดลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ แต่เรามองว่า โอกาสเกิดกรณีนี้ยังมีไม่มากนัก

3) Extreme กรณีสงครามเกิดขึ้นจริง และ ขยายวงเป็นสงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก เนื่องจากในภูมิภาคตะวันออกกลางมีผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกรวมตัวกันอยู่ หากห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักมากยิ่งขึ้นก็จะยิ่งน่ากังวล โดยเฉพาะ หากอิหร่านปิดช่องแคบเฮอร์มุซ ซึ่งมีปริมาณน้ำมันไหลเวียนถึง 20% ของตลาดน้ำมันโลก ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันที่อยู่รอบช่องแคบนี้ ส่งออกน้ำมันไม่ได้ หรือการผลิตทำได้น้อยลง ราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปไกลมากกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมธนาคารกลางหลักๆ ของโลกอาจจะมีนโยบายลดดอกเบี้ย ก็อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากเกิดผลกระทบต้นทุนราคาน้ำมันที่ส่งผลผ่านไปยังเงินเฟ้อนานกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบการลงทุนมาก หากนักลงทุนมีกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้น แนะนำให้ขายเพื่อทำกำไร แล้วซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และทองคำ เนื่องจาก เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินที่อยู่ในทุนสำรองทั่วโลก ดังนั้นค่าเงินก็อาจจะแข็งค่าขึ้นได้

ขณะที่ ทองคำ มีความน่าสนใจ เนื่องจาก เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนมองว่าปลอดภัย (Safe Haven) เพราะสู้เงินเฟ้อได้ และสู้กับความเสี่ยงภาวะสงครามได้ ในช่วงที่สงครามรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับ คนเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรอง แล้วหันไปถือทองคำมากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาทองคำจึงยังมีโอกาสปรับตัวได้อีกมาก ในระยะกลาง 1-2 ปีขึ้นไป เพียงแต่ในระยะสั้นราคาอาจปรับฐานได้ เพราะปรับขึ้นมารวดเร็ว จากความกังวลของสงคราม

นายศรชัย กล่าวว่า นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น มากกว่าการเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะลงทุนผ่านกองทุนรวมผสม ที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลปรับพอร์ตลงทุนตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หากยังมีสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ ในพอร์ตลงทุนอยู่น้อย อาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ ในช่วงที่ราคาทองคำปรับลดลง โดยควรมีประมาณ 5-10% ของพอร์ตโดยรวม ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคนที่ยอมรับได้ การมีทองคำในพอร์ตลงทุน จะช่วยผ่อนคลายความผันผวนของพอร์ตลงทุนในช่วงที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติได้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) สำหรับเป้าหมายการลงทุนระยะยาว มากกว่าการถือเงินสดเพื่อรอจับจังหวะเวลาเข้าลงทุนในตลาด (Market Timing) ซึ่งมีโอกาสพลาดได้มาก และการถือเงินสด ไม่สามารถสู้เงินเฟ้อได้

บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์  จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ จูเลียส แบร์ (Julius Baer) ประกาศแต่งตั้ง นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด คนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567

“บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์  จูเลียส แบร์ จำกัด” (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกของประเทศ และ “จูเลียส แบร์” (Julius Baer) ผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และหนึ่งในสี่ผู้ให้บริการธุรกิจไพรเวทแบงก์กิ้งรายใหญ่ของเอเชีย ประกาศแต่งตั้งนายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด คนใหม่ เพื่อนำทัพไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูงในประเทศไทย

นายพีรพงศ์มีประสบการณ์การทำงานด้านการเงินการลงทุนมากว่า 27 ปี ในสถาบันการเงินชั้นนำ ครอบคลุมด้านการบริหารความมั่งคั่งในผลิตภัณฑ์การลงทุนและทรัพย์สินหลากหลายประเภท การสร้างกลยุทธ์การลงทุนให้กับลูกค้า รวมถึงการวางแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจให้กับองค์กร

นอกจากนี้ นางสาวลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบัน จะดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ด้านนโยบายภาพกว้าง เพื่อความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแนวทางการทำงานและดำเนินธุรกิจขององค์กรต่อไป

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ พร้อมนำความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การวางแผนและบริหารความมั่งคั่ง ตลอดจนประสบการณ์ในการดูแลลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงทั่วโลกกว่า 130 ปี ของจูเลียส แบร์ มาผสานเข้ากับจุดแข็งของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ที่มีความเข้าใจกลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง มาใช้ในการดูแลเพื่อเพิ่มคุณค่าและขยายโอกาสในการลงทุนทั่วโลกแบบไร้พรมแดน ให้แก่ลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงชาวไทยที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการประกาศแต่งตั้งนายพีรพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ โดยนายพีรพงศ์ เป็นผู้บริหารที่คร่ำหวอดในแวดวงการเงินการลงทุนเป็นอย่างดี และมีประสบการณ์ในตลาดเงินตลาดทุนมานานกว่า 27 ปี ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในอุตสาหกรรมกองทุนรวมระดับประเทศ ครอบคลุมทุกมิติของการบริหารจัดการความมั่งคั่ง เราเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำทัพของนายพีรพงศ์จะสามารถขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูง (UHNWIs/ HNWIs) ของไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังคงจุดยืนของการเป็นผู้นำบริหารความมั่งคั่งแบบครบวงจรที่แรกและที่เดียวในประเทศไทยที่สามารถดูแลและให้บริการแก่ลูกค้าแบบมืออาชีพที่ได้มาตรฐานระดับเวิลด์คลาส ตอกย้ำความมุ่งมั่นYour Legacy. Our Promise.” ของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ผ่านการรักษาคุณค่าและช่วยให้ลูกค้าคนสำคัญสามารถวางแผนส่งต่อความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน”

มร.จิมมี่ ลี (Jimmy Lee) ประธานประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ธนาคารจูเลียส แบร์ และกรรมการบริหาร จูเลียส แบร์ กรุ๊ป และกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด เปิดเผยว่า “เราเชื่อมั่นว่าความเชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนของนายพีรพงศ์ ผนวกกับประสบการณ์ด้านการบริหารความมั่งคั่งระดับสูงของนางสาวลลิตภัทร แสดงให้ถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ในการยกระดับบริการเวลธ์แมเนจเม้นท์ของเรา จากประสบการณ์ในการดูแลลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงระดับสากลอันยาวนานผสานกับความก้าวหน้าทางนวัตกรรมที่ช่วยเสริมแกร่งศักยภาพของเราให้โดดเด่นเสมอมา นับเป็นข้อพิสูจน์ถึงคำมั่นสัญญาของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ในการเสนอบริการและคำแนะนำที่เหนือระดับแก่ลูกค้า พร้อมช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าเราจะยังคงยืนหยัดเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือที่ลูกค้าสามารถเชื่อมั่นในศักยภาพท่ามกลางอุตสาหกรรมเวลธ์แมเนจเม้นท์ของเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอกย้ำบทบาทผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูงอย่างแท้จริง” 

X

Right Click

No right click