พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับโลกที่หมุนไปในทุก ๆ ทำให้เหล่าธุรกิจต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทุก ๆ อย่างผันเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน และเกิดพฤติกรรมการใช้วิถีชีวิตแบบ Now Normal ที่พวกเราทุกคนต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ของคนในสังคม หลังจากที่ได้ปรับตัวกับสถานการณ์โควิด-19
ฮาคูโฮโด เปิดผลสำรวจใหม่ล่าสุด พบว่าค่าความสุขของคนไทยลดลง เนื่องจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างรุนแรงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ฝืดเคือง
· ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มกลับสู่สภาวะการใช้จ่ายปกติ รายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นเหตุเพราะ “ช้อปปิ้งลดความเครียด”
· กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงมีแนวโน้มจับจ่าย หรืออยากซื้อสินค้าเพื่อความสุขมากขึ้น
ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อทุกคน ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้นเป็นระลอกที่ 4 เราพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่วนใหญ่ยังคงเฝ้าระวังต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับรายได้ที่ไม่มั่นคงในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายหลังวิกฤติโควิด-19 ทำให้สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมมือกับบริษัท สไปซี่ เอช จำกัด ลงพื้นที่สำรวจและการคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยประจำเดือนตุลาคม 2564 พบว่า ถึงแม้ความสุขคนไทยต่ำสุดในรอบปี อยู่ที่ร้อยละ 59 โดยลดลงร้อยละ 4 จากเดือนสิงหาคม แต่ความต้องการใช้จ่ายกลับดีดสูงสุดที่ร้อยละ 58 โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เพื่อลดความเครียดจากการทำงานในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน และหาสินค้าเพื่อการปรับตัวและดำเนินชีวิตให้มีความสุขในยุคโควิด อาทิ โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เครื่องนอน
นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยรอบนี้พบว่า ประเด็นที่คนไทยติดตามมากที่สุด ยังหนีไม่พ้นปัญหาและสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่สำคัญและส่งผลต่อความสุขของคนไทยในระยะยาว รวมไปถึงประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจไม่แพ้กันคือ มาตรการเยียวยาของทางภาครัฐก็ดี แนวโน้มของสถานการณ์ล็อคดาวน์ที่ดูจะคลี่คลายไปบ้างก็ดี รวมถึงประเด็นร้อนแรงอย่างเรื่องวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ ที่จะนำเข้ามายังประเทศไทย อีกทั้งเรื่องความต้องการของชุดตรวจ ATK ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของคนไทยที่ยังต้องเฝ้าระวังตัวจากโควิด-19 โดยผลสำรวจพบว่ามีข้อบ่งชี้สำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ 2 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1. นักการตลาดเตรียมสร้างโอกาสทองจากการ “ช้อปเอาคืน” / Be ready for upcoming ‘Revenge shopping’ จากความสะดวกสบายในการช้อปปิ้งออนไลน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทย เป็นแรงผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ Online Shopping ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดลูกค้าด้วย โปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ทั้งรูปแบบฟรีค่าจัดส่ง หรือโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 เพื่อเพิ่มยอดขายในออนไลน์ แต่ก็มีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังต้องการอยากจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและคลายความตึงเครียด เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคได้ออกมา “ช้อปเอาคืน” เพื่อชดเชยความรู้สึกที่อึดอัด และคลายความตึงเครียดผ่านการซื้อสินค้านอกบ้านร่วมกับคนในครอบครัว
2. ผู้หญิงอย่าหยุดสวย “คืนความสุขให้ผู้หญิง” ด้วยการช้อปปิ้ง / Refresh the happiness of women จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงต้องแบกภาระที่หนักหน่วง ทั้งการทำงาน การเลี้ยงลูกน้อย หรือแม้แต่การดูแลงานบ้าน แต่ยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อหาความสุขให้ตัวเองเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงมีแนวโน้มความต้องการซื้อสินค้าประเภทสกินแคร์และเครื่องสำอางที่เพิ่มสูงขึ้นติดอันดับ 1 ใน 5 สินค้าที่ต้องการมากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกจากบ้าน แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังอยากให้ตัวเองดูสวยอยู่ตลอดเวลา และมีอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่น่าจับตา คือความต้องการใช้จ่ายในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และเครื่องเสียง เพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะสินค้าเหล่านี้สามารถกระตุ้นรายจ่ายและเติมเต็มความสุขให้ผู้หญิงได้เป็นอย่างดี
ทางด้าน นางสาวชุลิกา สายศิลา ผู้จัดการด้านงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สไปซี่ เอช จำกัด กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในรอบนี้ หากจำแนกเป็นช่วงอายุระหว่าง 20-29 ปี ผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะเน้นการหาความสุขให้กับตัวเอง ด้วยการใช้จ่ายสินค้าเพื่อดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสกินแคร์และเครื่องสำอางยังคงเป็นสินค้ายอดนิยมและมาแรงอย่างมาก ในส่วนสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งของจำเป็น ซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมกับงานที่ตัวเองทำและสร้างความสุขให้กับตัวเองได้อีกด้วย ส่วนผู้บริโภคในช่วงอายุระหว่าง 40-49 ปี ยังคงมีการใช้จ่ายเพื่อดูแลครอบครัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเทอมบุตร-หลาน การซื้อนมให้ลูก การดูแลพ่อแม่สูงวัย เป็นต้น แต่ยังคงใช้จ่ายแบบไม่ประมาท รัดเข็มขัดรายจ่ายมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงและการออมเงินรองรับกับความไม่แน่นอนทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน หากแบ่งสัดส่วนตามภูมิภาคพบว่า ภาคอีสานยังมีความต้องการใช้จ่ายสูงสุด หลังจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนต่างกลับภูมิลำเนาและวางแผนอยู่แบบระยะยาว เกิดการซื้อสินค้าที่จำเป็นในการใช้ชีวิต หลังจากเจอพิษโควิดและต้องกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ในภาคกลางนั้นส่วนใหญ่หมดไปกลับสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น เครื่องนอน และอุปกรณ์
คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการทำงานและสร้างความสุขส่วนตัว ส่วนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่าสถานะทางการเงินมีแนวโน้มดีขึ้น และมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งออนไลน์เพื่อลดความตึงเครียด โดยข้อมูลจากผลสำรวจช่วงตุลาคม 2564 พบว่า 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ เป็นกลุ่มสินค้าที่จำเป็นในใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่
· อาหาร 31%
· สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน 14%
· สมาร์ทโฟนและโทรศัพท์มือถือ 10%
· อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 7%
· เครื่องสำอางและสกินแคร์ 5%
นางสาวณัฐชมนต์ นพอนันต์โภคิน ผู้จัดการด้านงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สไปซี่ เอช จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนตุลาคม 2564” ความยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด-19 หรือที่เรียกว่า Long Covid ส่งผลให้พฤติกรรมของคนไทยให้ความสนใจกับข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 48 โดยเฉพาะข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาตรการเยียวยาของภาครัฐ หรือแม้แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในแต่ละวัน รองลงมาหนีไม่พ้นในเรื่องการเมือง การเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบ และการชุมนุมต่าง ๆ ถึงร้อยละ 24 โดยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นถึง 16% มาเป็นอันดับ 2 และยังติดตามประเด็นร้อนรอบโลก และความเป็นไปในต่างประเทศอย่างตาลีบันบุกยึดประเทศอัฟกานิสถาน ร้อยละ 3 ตามมาด้วยข่าวคดีผู้กำกับโจ้ เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ เป็นที่น่าสนใจว่าในสถานการณ์โควิด-19 อันตึงเครียดและไม่แน่นอนนั้น ยังมีหัวข้อใหม่ ๆ ในผลวิจัยนี้คือเรื่อง Popcat เกมส์ และกีฬา ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงต้องการด้านความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายและหาความสุขตามสภาพแวดล้อมของตนเอง
ผลสำรวจครั้งล่าสุดในเดือนตุลาคมนี้ ทางสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้ทำการสำรวจทางออนไลน์ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 17-26 สิงหาคม 2564 โดยจัดทำทุกๆ 2 เดือนร่วมกับบริษัทในเครือ เพื่อมุ่งเน้นการคาดการณ์แนวโน้มของผู้บริโภคชาวไทยในอนาคต โดยผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบไปด้วยเพศชายและเพศหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถติดตามข้อมูล เพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/hakuhodohillasean