เชื่อกันว่าความก้าวหน้าของบล็อกเชน ในปีค.ศ.2019 จะเผยโฉมถึงปรากฏการณ์ของความเปลี่ยนแปลงและ Technology Disruption อย่างประจักษ์ชัดอีกหลายประการ เพราะวันนี้บล็อกเชนได้ก้าวข้ามความเป็นเทคโนโลยีที่รองรับ Bitcoin หรือคริปโตเคอเรนซี่ เข้าสู่มิติของการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง หรือ Real Sector จากกรณีตัวอย่างของการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมภาคต่างๆ อย่างหลากหลาย คือมุมเปิดความคิดเห็นของนักพัฒนาและโปรแกรมเมอร์รุ่นเก๋ากว่า 20 ปีในวงการไอที โดม เจริญยศ ซีอีโอ บริษัท โดมคลาวด์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สยามไอซีโอ จำกัด และอีกหลายองค์กรที่ โดม เจริญยศมีส่วนร่วมก่อตั้งเพื่อหวังพัฒนาระบบนิเวศน์ของเทคโนโลยีรอบใหม่
“สถานการณ์บล็อกเชนในวันนี้ เป็นเรื่องที่รับรู้และเข้าใจกันอยู่ในคนสายเทคและกลุ่มฮาร์ดคอร์ ในส่วนภาคอุตสาหกรรมหรือองค์กร ธนาคารและกลุ่มสถาบันการเงินเริ่มมีการใช้บล็อกเชนมาสักระยะหนึ่งแล้ว เช่น นำมาใช้ในการออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน (Bank Guarantee) ที่เป็นลักษณะออนไลน์อยู่บนบล็อกเชน ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เริ่มศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้บล็อกเชน สำหรับในบ้านเราก็เรียกว่าอยู่ในขั้นของการเรียนรู้ ส่วนในกลุ่ม End User และการรับรู้บล็อกเชนในวงกว้าง คนทั่วไปส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยรับรู้ว่า ระบบการทำธุรกรรมการเงินที่ใช้อยู่บางธุรกรรมเป็นบล็อกเชนแล้ว เช่น กฎหมายด้านดิจิทัลและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มประกาศใช้สำหรับการดำเนินธุรกรรมกับธนาคารและสถาบันการเงิน ที่อยู่ในขั้นตอน KYC (Know Your Customer) ที่มีการส่งข้อมูลส่วนตัวเพื่อยืนยันตัวตนที่เรียกว่า Digital ID ตรงนี้ เป็นการใช้บล็อกเชน ซึ่งคนทั่วไปยังไม่รู้ตัวว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนได้เริ่มแทรกเข้ามาอยู่ในธุรกิจและชีวิตประจำวันแล้ว การส่งเสริมความเข้าใจและการรับรู้เรื่องของบล็อกเชนเพื่อเอาประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เป็นอนาคตใหม่จึงเป็นสิ่งพึงควรและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง” คือความคิดเห็นของ โดม
อัปเดตการระดมทุน บนถนนเทคโนโลยี
โดม บอกเล่าถึงช่วงที่ผ่านมามีกระแสการระดมทุนที่เรียกว่า IEO หรือ Initial Exchange Offering ซึ่งมีโมเดลที่น่าตกใจ ชื่อ IEO ฟังคล้ายกับ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งได้รับความสนใจและมีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในหลายประเทศทั่วโลก เกิด Token หรือ Coin ที่ออกมาระดมทุนเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันเหรียญในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ดี โมเดล ICO ยังมีข้อจำกัด และยังรอการผ่านกระบวนการกำหนดกฎเกณฑ์และพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย การเงินและการลงทุนอย่างถูกต้องและปลอดภัย แต่สำหรับ IEO ไม่ต้องผูกพันกัน ไม่ต้องการ Smart Contract เป็นการออกเหรียญมาแล้วเทรดใน Exchange เลย ราคาขึ้น-ลง ขึ้นอยู่กับ Market Maker และไม่สามารถย้ายไปเหรียญที่ Exchange อื่น แต่ก็ปรากฏว่ามีคนแห่แหนเข้ามาระดมทุนและลงทุนกันอยู่ไม่น้อย
ลักษณะนี้คือ อวตาร เพราะเจ๊งแน่ๆ ไม่มีทางที่จะขึ้นมาได้อย่างแน่นอน เมื่อลงมีคนเสีย เมื่อขึ้นมีคนได้ มีอยู่เท่านั้นเอง แต่แน่นอนว่าไม่ส่งผลกระทบถึงคนข้างนอก เพราะเมื่อซื้อก็เทรดที่ Exchange นั้น และในเมืองไทยไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีทางผ่านหลักเกณฑ์ก.ล.ต.ไปได้
สำหรับกระแสการระดมทุน ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย คือ STO หรือ Security Token Offering เพราะเป็นการนำหลักทรัพย์มาแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัล ขณะเดียวกันการระดมทุนด้วยเหรียญ Crypto บนบล็อกเชนในรูปแบบ ICO จะลดลง เพราะว่าการระดมทุน STO มีความปลอดภัยและแน่นอน เมื่อมีความเป็นเหตุเป็นผลก็จะเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยทุกคนนำเงินไปลงทุนมีกำไรและนำมาคืนแบบ Smart Contract ซึ่งก็คือ หุ้นกู้แบบไร้ใบเท่านั้นเอง ทุกคนต้องเจอกันและตลาดมีอยู่ทั่วโลก
สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับบล็อกเชน
โดมย้ำว่า สิ่งสำคัญของการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ Database ของบล็อกเชนเป็นสิ่งที่แก้ยาก เพราะในกระบวนการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนทั้งหมดนั้นทำนอกเชน เช่น เมื่อมีการทำธุรกรรมโอนเงิน จะมีการเข้ารหัส หลังจากนั้นจึงจะโยนเข้าไปในเชน ดังนั้นเชนไม่รู้จักรหัสผ่าน ไม่มีการเก็บรหัสใดๆ ไว้
นี่คือความยิ่งใหญ่ของบล็อกเชน มีความเก่ง คือ Secure แต่มีข้อเสียคือ ช้า และจะไม่เร็วขึ้น จะเร็วแค่ถึงจุดหนึ่งเท่าที่จะรับได้เท่านั้น เพราะจะทำให้สูญเสียความ Secure ไป ยกตัวอย่าง Crypto Wallet นั้น จะมีคีย์ 2 ตัว คือ User และ Password ดังนั้นเหตุการณ์ลักลอบทำธุรกรรมการโอนเงินของเรานั้น ไม่มีทางทำได้เลย เพราะคีย์ทั้ง User และ Password อยู่กับเรา ไม่มีในเชน และหากว่าเราลืมก็คือหาย ซึ่งมีวิธีเก็บหลายแบบ เช่น เก็บเป็นตัวหนังสือจึงต้องแลกกัน นี่คือสิ่งที่เป็นข้อดีของบล็อกเชนที่ท้าทายและเราต้องแลก แต่ถ้าเป็นในระบบเดิม เช่น ธนาคาร Email ที่ไม่ใช่บล็อกเชน ระบบเป็นผู้ที่เก็บ User และ Password ไว้ เพราะฉะนั้นระบบจึงสามารถเปลี่ยนให้เราได้
โดมยังอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก จากการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาแอปพลายในการทำธุรกรรมในหลายธุรกิจ เรียกได้ว่า ไม่ต้องมีการล็อกอินในระบบเลย ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนระบบการโอนเงินของธนาคาร จากเดิมที่อยู่ในรูปแบบ Centralize ทั้ง User และ Password เก็บรักษาไว้กับธนาคาร และพนักงานสามารถโอนเงินได้ อนาคตต่อไปจะปรับเปลี่ยนเข้ามาสู่รูปแบบบล็อกเชน ที่เจ้าของบัญชีเป็นผู้เก็บ User และ Passwordไว้เอง ต่อให้ซีอีโอหรือพนักงาน ก็ไม่สามารถโอนเงินให้เราได้ จนกว่าเราจะให้คีย์ไปรับที่เคาน์เตอร์หรือออนไลน์
สำหรับประโยชน์ที่คนจะได้เมื่อบล็อกเชนเข้ามานั้น โดม อธิบายว่า การนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ประโยชน์มี 2 มุม เริ่มจาก Private Blockchain ถือเป็นการทำดาต้าเบส ที่มีความโปร่งใสและ Private ภายในองค์กร เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านลิสซิ่งหรือเกี่ยวกับการเงิน หรือนำมาใช้ในระบบจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท ซึ่งที่ผ่านมาใช้การทำงานระบบเดิม จะไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่อยู่ในดาต้าเบสจริงหรือไม่
ส่วนอีกรูปแบบที่น่าสนใจมาก คือ Public Blockchain คือบล็อกเชนที่มีลักษณะเปิดกว้าง สร้างเหรียญขึ้นมา แล้วนำเหรียญมาเทรดแทนเงิน ตัวอย่างเหรียญยอดนิยม อย่างบิทคอยน์และอีเธอเรียมเป็นบล็อกเชนที่ใครอยากเป็นเจ้าของ หาซื้อแล้วเปิด Wallet ได้เลย
มูลนิธิ ‘ไทยเชน’ และการพัฒนาความพร้อมของไทย
ซีดีโอของโดมคลาวน์ เล่าว่า มี Public Blockchain มากมายในโลก อย่างโซนใกล้ๆ เช่นที่ประเทศเวียดนามก็มีซึ่งเราใช้ Resource ไม่ได้มาก ทำให้มีความคิดว่าน่าจะพัฒนาและตั้งของเราขึ้นมาเองจะดีกว่า ต้นปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา โดมและ พันธมิตรได้รวมตัวกันก่อตั้ง “มูลนิธิไทยเชน” ด้วยเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ไม่หวังกำไรแต่ต้องการให้เกิด Public Blockchainแห่งแรกของประเทศขึ้น และหลังจากนั้นพัฒนาการของเราก็เริ่มจะเริ่ม Kick off
หลังจากเปิดตัวที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้นักศึกษาคิดโปรเจ็กต์แอปสำหรับการประมูลรถยนต์ หรือแอปขายของบนบล็อกเชน โดยที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์รองรับเลยนั้น พบว่าสามารถดำเนินการได้เลย แต่ต้องหาเหรียญที่จะมาเป็นต้นทุน ซึ่งมูลนิธิสามารถซัพพอร์ตได้ โดยเปิดขายเหรียญให้คนทั่วไปเข้ามาสปอนเซอร์ให้โปรเจ็กต์สามารถดำเนินการไปได้ เหรียญ 50% เราโอนให้นักศึกษา เพราะจัดคอนเทสต์แต่ละครั้ง สามารถแจกเหรียญได้ จะมีการโอนให้นักศึกษาเจ้าของโปรเจ็กต์ได้เลยแต่ละครั้งสามารถให้นักศึกษามีเหรียญอยู่ในมือ โดยการปรับให้เป็นแอปพลิเคชันในรูปแบบต่างๆ ตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากจัดกิจกรรม 3 เดือน จะมีแอปเกิดขึ้นประมาณ 20 - 30 แอป
“ความคิดของเด็กมหาวิทยาลัย เมื่อรู้เรื่องบล็อกเชน ก็สามารถคิดทิศทางของแอปได้โดยที่เราคาดไม่ถึง” โดมเล่าอย่างตื่นเต้น
สำหรับเป้าหมายไทยเชนนั้น อยากให้เป็น Public Blockchain ของประเทศไทย ที่ดำเนินการภายใต้มูลนิธิ เพื่อที่จะให้ทุกคนสามารถเข้ามาดูแลได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยระยะแรกเน้นการเปิดโหนดเป็นหลัก ซึ่งเรียกว่า ไทยเชน ไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะมี 6 โหนดที่มาร่วมทำระบบกับเรา และต่อไปจะมีประมาณ 21 โหนดภายในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งข้อดีของการมีโหนดจำนวนมากขึ้นนั้น คือ ช่วยกันจำ ทำให้มีความรวดเร็วมากขึ้น และทำให้ปลอดภัยขึ้น ไม่มีใครโกงใครได้
มุมมองของโอกาสและความท้าทายสำหรับมนุษย์สายเทคฯ
โดม บอกว่า คนในสายเทคโนโลยีมีความคุ้นเคยกับบล็อกเชน แต่ก็มีอีกหลายคนโดน Disrupt ล้มหายตายจากไป เช่นเดียวกัน ในฐานะที่อยู่ในวงการมานานกว่า 20 ปี จะปรับตัวให้ทันได้อย่างไรนั้น
ผมว่ามันเป็นเรื่องที่สนุก สนุกกับการตามมัน ผมทำชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ตอนนี้ 2562 ยังทำเหมือนเดิม ทั้งการตามเทคโนโลยีและการโค้ช ผมยังสนุกกับมัน มองเหมือนนักดนตรี เล่นดนตรี บังเอิญเครื่องดนตรีหายไป แต่ผมโชคดีที่ผมอยู่กับเทคโนโลยีแล้วมันได้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ และแพงขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่าวันหนึ่งมันตอบชีวิตผมได้ คือ ได้เงินเยอะ และข้อที่ 2 ยังสนุกกับมัน ผมว่าวิธีคิดแบบนี้สำคัญที่สุด
อนาคตของบล็อกเชนแพลตฟอร์ม
เชื่อว่า แพลตฟอร์มเดิมไม่หายไปไหน ขณะเดียวกัน บล็อกเชนจะเข้ามาช่วยในเรื่องความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ เช่น บริษัทที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์ อาจใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาเก็บข้อมูลในระบบเรื่องการเงิน แต่การเพย์เมนต์ทุกอย่างเหมือนเดิม
“บล็อกเชน จะเข้าช่วยแก้ปัญหาด้านต้นทุนที่ถูกและปลอดภัยกว่า ยูสเซอร์อาจไม่รู้ตัว หรือแม้กระทั่งระบบประกาศขายบ้านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อนำมาบล็อกเชนเข้ามา ยูสเซอร์จะสามารถกดไปดูโฉนดได้ รูปแบบนี้จะค่อยๆ เข้ามา เหมือนอินเตอร์เน็ทที่อยู่ในชีวิตประจำวันทุกที่ เราจึงคิดว่าบล็อกเชน คือ อินเทอร์เน็ตยุคใหม่ ที่ใครจะเขียนอะไรออกมาก็ได้ บนอินฟราสตรัคเจอร์” โดมกล่าว
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์