ในฐานะผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Finema ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และโฟกัสความสนใจไปที่เรื่อง Digital Identity หรือการยืนยันตัวตนในโลกดิจิทัล ผ่านเทคโนโลยียอดฮิตนั่นคือ Blockchain และยังมีอีกบทบาทของการเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคม DIF (Decentralize Identity Foundation) ที่เป็นเหมือนหัวหอกในการเคลื่อนไหวเรื่อง Digital Identity ในโลก ซึ่งเขาเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็น Gateway สำคัญในการเชื่อมสู่โลกดิจิทัลเต็มอย่างรูปแบบ ปกรณ์ ลี้สกุล เปิดโอกาสให้ MBA ได้พูดคุยและสัมภาษณ์ ในแนวคิด และเป้าหมายของ Finema ในเรื่อง Digital identity รวมถึงการอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้ หลังงานแถลงข่าวเปิดหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation ที่จัดขึ้นที่คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
MBA: ความเป็นมาถึงความสนใจเรื่อง Digital Identity
ปกรณ์: จริงๆ มันเริ่มมาจากที่ผมได้เข้าไปทำเหรียญ Hardware Token ให้กับธนาคาร แล้วธนาคารเขาอยากจะให้มันไปอยู่บนมือถือหรือที่เรียกว่า Software Token ซึ่งเราก็สงสัยว่าไอเดียของมันคืออะไรกันแน่ จนกระทั่งได้เข้าใจว่า มันเกี่ยวกับการ Authenticator หรือการยืนยันตัวตนของเจ้าของบัญชีว่าเป็นเจ้าของมันจริงๆ ซึ่งก็คือเรื่องเดียวกันกับการใช้ Username, Password หรือ Google Two Factor Authentication ที่ใช้กันเยอะๆ พูดง่ายๆ คือ ส่วนหนึ่งของการพิสูจน์ตัวตน (Identification) ว่าคนที่จะเข้าถึงข้อมูลเป็นคนๆ นี้ จริงๆ นะ แล้วเราก็ค้นคว้าเพิ่มอีกประมาณสองปี ก่อนจะเริ่มทำโปรดักต์ครับ
MBA: ความสำคัญและปัญหาของ Digital Identity
ปกรณ์: ตอนที่เราค้นคว้า เราพยายามมองหาว่าปัญหาในเรื่อง Identity ในโลกนี้มันเป็นยังไง ก็พบว่าทุกวันนี้เรามีอินเทอร์เน็ตอยู่ทุกที่ แต่การ Identify ตัวตนหรือระบบ Identity มันกลับเป็น Physical หรือ Hard Copy หมดเลย ทั้งบัตรประชาชน ใบขับขี่ หนังสือรับรอง วุฒิปริญญาบัตร ทะเบียนบ้าน มันไม่มีอะไรที่เหมาะกับการใช้งานบนอินเทอร์เน็ตเลยครับ
ต่อมาก็พบว่าในโลกอินเทอร์เน็ตก็มีการยืนยันตัวตนที่ทุกคนใช้กัน ก็คือ อีเมล แต่หลายๆ คนอย่างผมเอง ก็มีอีเมลเป็นสิบอีเมลไว้เลือกใช้ในจุดประสงค์ที่ต่างกัน อีเมลนี่แหละที่กลายเป็น Identifier หรือเครื่องยืนยันตัวตนบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบพาสเวิร์ด แต่ปัญหาก็คือว่าถ้าเกิดมันถูกแฮกขึ้นมา เราจะเอาอีเมลไปทำธุรกรรมอื่นใดไม่ได้อีก เพราะว่ากันตามจริง เราใช้มันเป็นพื้นฐานของทุกระบบ ทั้งเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ กูเกิล ทุกอย่างที่ผูกกับอีเมลที่ใช้ฟรีนี้ ก็จะโดนไปด้วย
เท่ากับว่าอีเมลก็ยังไม่เหมาะกับโลกอินเทอร์เน็ต เราเลยคิดว่าการแก้ปัญหาคือการทำ Identity ที่เหมาะสมกับโลกอินเทอร์เน็ต หรือ Digital Identity ซึ่งไม่ใช่แค่เอา Identity ไปวิ่งบนระบบดิจิทัลนะครับ ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนบัตรประชาชนไปใช้ในอินเทอร์เน็ต แต่คือการสร้าง Identity ที่เหมาะกับอินเทอร์เน็ต ที่สามารถ Verify ได้ทันที ร้อยเปอร์เซ็นต์
MBA: Finema ตอบโจทย์ตรงนี้อย่างไร
ปกรณ์: โจทย์ของ Finema คือพอเราพบว่า Identity มันจะมีปัญหามากเมื่อมันถูกรวมศูนย์หรือ Centralize ลองนึกภาพง่ายๆ ว่า เฟสบุ๊คมีผู้ใช้ประมาณสองพันล้านคน เขาต้องเก็บ Identity ทุกคนด้วยพาสเวิร์ดแล้วก็ Encrypt ไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ก็ดันมีข่าวไม่นานมานี้ว่า เฟสบุ๊คไม่ได้ Encrypt พาสเวิร์ดของผู้ใช้ประมาณห้าร้อยล้านคน ซึ่งเป็นความผิดพลาดของวิศวกรเฟสบุ๊ค พนักงานเฟสบุ๊คก็รับรู้พาสเวิร์ดของคนเหล่านั้นที่อาจจะเป็นคุณหรือผมก็ได้ โชคดีที่มันไม่ได้หลุดไปไหน
ความยากอีกระดับคือคนมักจะใช้พาสเวิร์ดเดียวกับทุกๆ แพลตฟอร์ม ฉะนั้น ถ้าโดนอันนึงก็คือโดนหมด เราก็เลยคิดว่าการกระจายศูนย์หรือ Decentralize น่าจะเป็นทางออก ยิ่งถ้าประกอบกับเทคโนโลยี Distributed Ledger หรือ Blockchain ก็จะสามารถช่วยให้การเก็บ Digital Identity ของเราดีขึ้นได้
ผมกับทีมที่ศึกษาเรื่อง Blockchain ที่รับรู้ว่าประโยชน์ของมันคือ Transparency ที่ปลอดภัย ฉะนั้นเราน่าจะเอามาทำระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนได้ ซึ่งก็คือสิ่งที่เราทำอยู่ครับ มันมีหลายชื่อเรียกมาก ทั้ง Digital Identity หรือ Internet Identity หรือ Decentralize Identity หรือชื่อที่สามารถอธิบายความหมายของมันได้ชัดมากที่สุดคือ "Self-Sovereign Identity" (คนไทยอาจจะไม่คุ้นหูคำนี้ซักเท่าไร) ก็คือการที่เราเอาสิทธิในการใช้ Identity คืนให้กับผู้ใช้ กล่าวคือ เราบอกว่าจะทำทุกอย่างผ่านมือถือ ถ้าคุณเป็นผู้ครอบครองมือถือเครื่องนี้ ก็จะมีเพียงคุณเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในระบบของมันได้ คุณจะทำธุรกรรมอะไร ก็จะมีลายเซ็นอยู่บนมือถือเครื่องนั้นเลย สามารถพิสูจน์ ยืนยันตัวตนได้เลย โดยผ่าน Identifier ที่เหมาะกับโลกอินเทอร์เน็ต ที่ใช้ชื่อย่อว่า DID (Decentralized Identifier)
จริงๆ เราพบปัญหาเยอะมาก ในการพิสูจน์ตัวตนของคน เช่นว่า จะทำธุรกรรมอะไร แบงก์ชาติก็จะมากำกับ ประกันก็ต้องคอยประสาน ขอบัตรเครดิต ขอสินเชื่อ ทุกอย่างมันคือปัญหาของการยืนยันตัวตนหมดเลย ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้ เราจะไม่ต้องมีสำเนาบัตรต่างๆ ไม่ต้องมีแมสเซนเจอร์วิ่งมอเตอร์ไซต์เต็มถนน ถ้าแก้ได้ มันจะสร้าง Transactions บนดิจิทัลอีกมหาศาล ลดกระดาษลงเป็นจำนวนมาก ลดพื้นที่ในการเก็บเอกสาร ลดค่าน้ำมันในการขนส่งเอกสารสำคัญ ลดไปได้หลายเรื่อง และที่สำคัญคือจะทำให้ Transactions เกิดขึ้นได้เร็วได้จริง ไม่ต้องรอ Approve กันอีก
MBA: ปลายทางของเป้าหมายหรือ Dream Goal ของ Finema คืออะไร
ปกรณ์: ปัจจุบัน Finema คือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เป็นของเราเองชื่อว่า IDIN (https://idin.network) ซึ่ง Provide ให้กับลูกค้าองค์กรทั้งรูปแบบ Private Solution หรือ Private Blockchain แล้วก็ Public Permission Blockchain ก็คือใครจะเข้ามาก็ต้องขออนุญาตก่อนแล้วก็จ่าย Subscription ให้เรา ตอนนี้โจทย์ของเราก็คือทำให้ซอฟต์แวร์เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย ลูกค้าจะใช้ Private ก็ได้ หรือ Public Solution เรา Support ได้ทั้งหมด เราต้องการ Subscriber เพิ่ม นี่คือ Business ที่ทำอยู่
ในส่วนของ Finema ตอนนี้เราอยู่ใน Consortium ที่มีชื่อว่า Decentralize Identity Foundation (DIF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ Microsoft ตั้งขึ้น แล้วมียักษ์ใหญ่อย่าง IBM, Hyperledger, RSA, Accenture มาเข้าร่วม รวมแล้วมีสมาชิกประมาณหกถึงเจ็ดสิบรายที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน แต่ไม่มี South East Asia (SEA) เลย Finema เป็น SEA เพียงรายเดียว ซึ่งเราก็พยายามจะ Sync กับยุโรปและอเมริกา เพราะเขากำลังขยับเรื่องนี้ เราก็ดูว่าเขาขยับยังไง ซึ่งจริงๆ ก็มี WeBank ของจีนมาจอยด้วยแม้ว่าประเทศเขาจะปิดและ Centralize สุดๆ แต่ก็แสดงว่าเขามีความสนใจอยู่ไม่น้อย
ในส่วนของเป้าหมาย ผมอยากจะให้เรามีซอฟต์แวร์ที่ ‘ผู้ก่อตั้ง’ เป็นคนไทย เพราะสุดท้ายก็คงทำให้แบรนด์เป็น Global Brand ที่เป็นเทคโนโลยีที่ส่งออกและแข่งขันได้ในเรื่องนี้ ก็เลยกระโดดมาทำ อยากให้ซอฟต์แวร์ที่เราผลิตกระจายไปอย่างน้อยก็ทั่ว APAC (Asia Pacific)
อีกจุดแข็งสำคัญของซอฟต์แวร์เราก็คือ เราเป็น Blockchain Layer 2 เพราะใน Consortium นี้ Blockchain ของทุกคนจะ Interoperable กันได้ อันนี้คือการก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญของ Blockchain ฺBlockchain Layer 1 ที่มันเป็น Walled-Garden ซึ่งหมายถึงทุกคนต้องเข้ามาอยู่ใน Network ของเราเท่านั้น ถึงจะใช้งานกับเราได้ เช่น อยากใช้ Blockchain จอยกับบริษัทนี้ แต่เขาใช้ Ethereum เราก็ไม่สามารถเลือกซอฟต์แวร์อีกยี่ห้อแล้ว Interoperable กับเขาได้ แต่ Blockchain ของ Finema เป็น Blockchain Layer 2 คือ Interoperable กับคนที่ในสแตนดาร์ดเดียวกันได้เลย
MBA: คุณปกรณ์จะเป็นหนึ่งในผู้บรรยาย ของหลักสูตร ‘Blockchain for Enterprise Transformation’ ที่ทางนิด้า ร่วมจัดกับ SIAM ICO อยากทราบถึงเรื่องที่จะบรรยาย และจุดเด่นของหลักสูตร รวมทั้งสิ่งที่ผู้อบรมจะได้รับ
ปกรณ์: ตอนนี้คำว่า Blockchain ในตลาดคือโคตร Hype เลย ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจแค่เรื่องราคา ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งแหละ แต่คุณค่าของ Blockchain จริงๆ สำหรับผมคือมันสามารถตอบโจทย์บางอย่างของระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้ ทุกวันนี้โลกมันรวมศูนย์มากขึ้นทุกวัน ก็คือมีหน่วยงานที่มีอำนาจคอยกำกับดูแลหน่วยงานย่อยๆ ตัวอย่างเช่นธนาคาร ซึ่งผมเชื่อว่าอะไรที่มันใหญ่เกินไป มันจะถูกทำให้เล็กลง ประวัติศาสตร์เป็นแบบนั้นเสมอครับ อาณาจักรใหญ่ๆ ทั้งเปอร์เซีย หรือจักรวรรดิของอเล็กซานเดอร์ สุดท้ายมันจะถูกตีให้เล็กลง มันเป็นวัฏจักรของโลกที่ถ้า Centralization มากเกินไป มันจะถูก Decentralize โดยธรรมชาติ
สำหรับหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation ผมเชื่อว่าผู้บรรยายทุกท่านได้กลั่นกรองเอาประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้จริงมาคุยกัน โอเค เรื่อง Pricing หรือ Valuation ของมันเราเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แม้ Bitcoin จะยังเป็นเพียงตลาดเฉพาะ แต่ Libra ก็กำลังมา เราคงไปขวางโลกไม่ได้ เพียงแต่เราจะเจาะลงไป เช่น ทำไมมันถึงต้องมี Libra ที่มาที่ไปของมัน ทำไมต้องมีแนวร่วม 27 องค์กร ซึ่งพูดถึง Libra แล้ว ถ้ากลับไปดูงบการเงินเฟสบุ๊คจะรู้ทันทีว่า ทำไมเขาถึงทำ Libra ก็เพราะว่า ปกติเงินมันไหลผ่านเฟสบุ๊คตลอดเวลาด้วยค่าโฆษณา ซึ่งนับเป็นรายได้ 98% ของรายได้ทั้งหมด อีก 1.5% มาจากค่าธรรมเนียมจาก VISA, Master Card ที่นี่ถ้าเขามีสกุลเงินของตัวเอง เขาก็จะสามารถขยายท่อ 1.5% นี้ให้ใหญ่ขึ้นได้ เพราะเขาจะเป็นคนควบคุมค่าธรรมเนียมทั้งหมด
แต่ถ้าพูดถึง Libra ในเชิงคุณค่าทางเทคนิค ผมว่ามันไม่ได้ยิ่งใหญ่มาก มันไม่ใช่สิ่งใหม่ มันเป็นภาษาที่คนเขาใช้อยู่แล้ว มาตกแต่งใหม่ แล้วก็สร้าง Governance Model ดีๆ คือหลักการของ Blockchain Decentralize System จริงๆ คือเรื่องของ Governance Model ที่จัดแจงว่า ใครจะมีสิทธิทำนั่นนู่นนี่ได้ แล้วทำไมเขาถึงจะไม่โกง พูดง่ายๆ คือ เทคโนโลยีมันจะดีจริงๆ มันอยู่ที่ Consensus (มติร่วม) อย่างเฟสบุ๊คเขาจะใช้ระบบ BFT ก็จะเป็น Libra BFT ซึ่ง BFT ย่อมาจาก Byzantine Fault Tolerance หมายถึงอาณาจักรไบเซนไทน์ในอดีต ที่เวลาหน่วยข่าวกรองหาข่าวกลับมา มันจะต้องมีวิธีหรืออัลกอริทึมในการบอกว่าข้อความไหนจริงไม่จริง หรือคนสมัยก่อนแค่จะเดินเข้าประตูเมือง เขาก็จะต้องมีรหัสผ่าน มันคือเรื่อง Information เหมือนกัน ฉะนั้น จริงๆ BFT ก็คือวิธีการโหวต Consensus หรือวิธีการลงมติแบบออริจินัลของมนุษย์ เฟสบุ๊คก็เอามาปรับแต่งนิดหน่อย ให้กลายเป็น Libra BFT
อีกสิ่งหนึ่งที่ทรงพลังก็คือการที่เขามี 27 องค์กรอยู่ในมือ แต่ข้อเสียก็คือมันเป็นเอกชนทั้งหมด แล้วทำไมถึงเป็นข้อเสีย เหล่านี้คือเรื่องที่อยากจะมาเล่าให้ทุกคนฟัง เอาจริงๆ แล้ว ตัวเทคโนโลยีเอง เทคโนโลยี Blockchain แต่ละตัว มันก็แทบจะเท่าๆ กันหมดแล้วครับ เพราะมันมาจบที่ Computing Power ที่มันตันไปแล้ว มันก็จะไม่มีอะไรเร็วไปกว่านี้ได้ ฉะนั้น ถ้าจะเกิดได้ก็ต้องสร้าง Governance Model ดีๆ แล้วประโยชน์ของมันจะเกิดจริงๆ
MBA: ถ้าบอกว่าเทคโนโลยีมาถึงทางตันที่ถูกจำกัดโดยประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ อย่างนี้แล้วเทรนด์ของเทคโนโลยีมันจะมีทิศทางยังไงต่อ
ปกรณ์: ผมมองว่าเทคโนโลยีมันมีหลายแกน Computing Power คือแกนหนึ่ง ซึ่งตันไปแล้ว ไม่งั้นก็ต้องรอ Quantum Computer ไปเลย หรือ 5G ก็อีกแกน ที่ทำให้เน็ตเวิร์คเร็วขึ้น แต่สุดท้ายแล้วพอทุกอย่างมันเร็วเท่ากันก็จะตันอีก ฉะนั้น เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเกิดขึ้น ก็ต้องเกิดจากการเอามา Combine กัน ให้เป็นท่าใหม่ เป็น Business model ใหม่ ที่มันจะต้องมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของ Framework หรือ Governance Model เปลี่ยนถ่ายช่องทางการเงิน มันจะเป็น Business Model Innovation มากกว่าครับ
เอาจริงๆ เลยในปัจจุบัน การโอนเงินข้ามประเทศมันไม่ได้มีปัญหาที่ความเร็วเลย แต่ปัญหามันอยู่ที่การคุยกันระหว่างองค์กร ที่ผมจะบอกก็คือ เทคโนโลยีไม่ได้ช้าเลยครับ แต่ช้าตรงต้องมานั่ง Approve นู่นนี่นั่น แล้วก็มีคนพยายามเอา Blockchain มาแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเฟสบุ๊คอีกทีครับ เขาบอกเขาอยากแก้สองปัญหา หนึ่งคือการโอนเงินข้ามประเทศ แต่ตอนนี้เราก็มีบัตร KTB Travel Card หรือ TMB ที่มีหกสกุลเงินในหนึ่งบัญชี ถ้าเป็นแบบนี้ทั้งหมด สมมุติยี่สิบสามสิบประเทศคุยกันได้ ปัญหาก็แก้แล้วครับ เราจะขี่ช้างจับตั๊กแตนทำไม Blockchain จะมีประโยชน์อะไร
อีกเรื่องคือ เฟสบุ๊คพยายามบอกว่าจะแก้ปัญหาคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินหรือสถาบันการเงิน ซึ่ง ณ ปัจจุบันไม่ใช่ว่าเขาเข้าไม่ถึงครับ ปัญหาคือเขาไม่มีเงินด้วยซ้ำ และไม่สามารถทำให้ตัวเองมีเงินได้ พูดง่ายๆ ว่า Libra มันจะไม่ได้ทำให้คนรวยขึ้น ซึ่งก็เป็นความย้อนแย้งในตัวเองอยู่เหมือนกันครับ
เรื่อง คุณากร วิสาลสกล || ภาพ ณัฐพงศ์ เปรุนาวิน
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมและเข้าร่วมหลักสูตร
คลิ๊ก >>> http://bit.ly/nidablockchain