ฉลองใหญ่ซีไรต์ครบ 45 ปี จัดงาน “45 ปี ซีไรต์ มาไกลมาก” ด้าน 3 องค์กรผู้จัด สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล และสยามจุลละมณฑล หวังใช้การจัดงานฯ ปลุกกระแสแวดวงวรรณกรรมไทยและอาเซียนให้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง พร้อมดึงเยาวชนและนักอ่านรุ่นใหม่ให้สร้างงานเขียนและการอ่านอย่างมีคุณค่า เพื่อพัฒนาศักยภาพพัฒนาความคิดและการเติบโตทางสังคม โดยการจัดงานฯ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการเดินทางของรางวัลซีไรต์และการจัดงาน “45 ปีซีไรต์มาไกลมาก” ว่ารางวัลซีไรต์เดินทางมา 45 ปี ทำหน้าที่คัดสรรวรรณกรรม ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ ที่ทรงคุณค่าทางความคิดและวรรณศิลป์ โดยวรรณกรรมซีไรต์มีพัฒนาการด้านแนวคิดและกลวิธีการนำเสนอแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 หลัง 6 ตุลาคม 2519 สังคมไทยอยู่ในภาวะสุญญากาศทางสังคมการเมือง บรรยากาศด้านวรรณกรรมที่เคยคึกคักเงียบหายไป โดยซีไรต์ได้มาช่วยจุดประกายวรรณกรรมแนวสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น เช่น “เพียงความเคลื่อนไหว” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “นาฏกรรมบนลานกว้าง” ของคมทวน คันธนู ซึ่งเป็นวรรณกรรมสร้างสำนึกทางสังคมการเมืองที่คลี่คลายจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุค 2519
ช่วงที่ 2 ปี 2527 “ซอยเดียวกัน” ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ เป็นหัวเลี้ยวของวรรณกรรมซีไรต์ เปลี่ยนภาพวรรณกรรมเพื่อชีวิตสู่วรรณกรรมสะท้อนสังคม เป็นการก้าวสู่ยุควรรณกรรมสร้างสำนึกในมนุษยชาติ นำเสนอเนื้อหาความสําคัญกับความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีคุณค่า ความรัก ความเอื้ออาทร เช่น “ก่อกองทราย” ไพฑูรย์ ธัญญา “ตลิ่งสูงซุงหนัก” นิคม รายยวา “อัญมณีแห่งชีวิต” อัญชัน “มือนั้นสีขาว” ศักดิ์สิริ มีสมสืบ “ม้าก้านกล้วย” ไพวรินทร์ ขาวงาม ฯลฯ
ช่วงที่ 3 ยุคสร้างสรรค์กลวิธีการเขียนแปลกใหม่ ผสมผสานงานเขียนหลายรูปแบบ เช่น “เจ้าจันท์ผมหอม” “นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ของมาลา คำจันทร์ “เวลา” ของชาติ กอบจิตติ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” ของวินทร์ เลียววาริณ “ความน่าจะเป็น” ของปราบดา หยุ่น และ “แผ่นดินอื่น” ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ปัจจุบันวรรณกรรมซีไรต์เปลี่ยนโฉมไปมาก มีสีสันใหม่ๆ ให้แก่วงการวรรณกรรม เช่น “สิงโตนอกคอก” ของจิดานัน เหลืองเพียรสมุท “พุทธศักราชอัสดงของทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” วีรพร นิติประภา “คืนปีเสือ” จเด็จ กำจรเดช และ “เดฟั่น” ศิริวร แก้วกาญจน์ ถึงวันนี้ซีไรต์เปรียบเป็นคนวัยฉกรรจ์ เดินทางสู่วัยกลางคนผ่านร้อนผ่านหนาว หยัดยืนได้อย่างสง่างาม การจัดงาน “45 ปี ซีไรต์มาไกลมาก” เพื่อยืนยันว่ารางวัลซีไรต์เป็นรางวัลที่มีความสำคัญต่อวงการวรรณกรรมไทยและอาเซียน รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ประชาชนทั่วไป หันมาสนใจการอ่านวรรณกรรมซีไรต์กันมากขึ้น พร้อมช่วยกระตุ้นให้วงการวรรณกรรมกลับมาได้รับความสนใจ มีความคึกคัก ทั้งในด้านบรรยากาศการอ่านการเขียนอีกด้วย
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ร่วมจัดงานฯ กล่าวว่า ในสถานะของสถาบันการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการเป็นแหล่งความรู้ สร้างการศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ทั้งในด้านวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างเท่าเทียม โดยมีหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญ ที่คอยสนับสนุนความเป็นปัญญาของแผ่นดินตามที่มหาวิทยาลัยตั้งปณิธานไว้ เราพิจารณาว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง ส่งเสริมพัฒนาการด้านความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย อันจะส่งผลในระยะยาวกับการพัฒนาประเทศ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนการจัดงาน “45 ปี ซีไรต์มาไกลมาก”
ส่วนนางสาวจุฑาทิพย์ สุกาญจนาเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการบริหาร บริษัท สยามจุลละมณฑล จำกัด กล่าวถึงการเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการจัดงานฯ ในครั้งนี้ว่า สยามจุลละมณฑล เป็นผู้ให้บริการด้านการผลิตและจำหน่ายสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีคุณภาพ โดยประสานเข้ากับความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อสร้างบริการที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างไร้ขีดจำกัด สอดรับไปกับบริบทสังคมและโลกปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม การได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่ายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดงาน “45 ปีซีไรต์มาไกลมาก” นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของบริษัทฯ ที่ต้องการเชื่อมโยงผู้คนให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
การจัดงาน “45 ปีซีไรต์มาไกลมาก” จะจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การอบรม Online “ซีไรต์ศึกษา” การประกวดจัดโปสเตอร์นิทรรศการ “45 ปีซีไรต์มาไกลมาก” การประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ การแข่งขัน The S.E.A. Write Quiz ประกวดคอสเพลย์ “ใครเป็นใครในวรรณกรรมซีไรต์” ฯลฯ และจะจัดแสดงผลงานโปสเตอร์นิทรรศการและพิธีมอบเกียรติบัตรและเงินรางวัลในเดือนสิงหาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยการจัดงานได้รับความร่วมมือจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, ธนาคารออมสิน และแอปพลิเคชันสอบติดจูเนียร์
เตรียมเสนอ พม. กระทรวงศึกษา กระทรวงมหาดไทยให้ความรู้กลุ่มเสี่ยง พร้อมทำ แอพพลิเคชั่น เปิดช่องทางเหยื่อให้ข้อมูลเอาผิดอาชญากร
กลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้ให้บริการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร แก่องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ภายใต้โครงการ “Code Their Dreams”