นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของอารยธรรมทางภาษาและการจดบันทึกในยุคอียิปต์โบราณ จนถึงภาษาดิจิทัลและเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งในปัจจุบัน “ข้อมูล” (Data) หรือ เนื้อหาที่ถูกเข้ารหัสทางภาษาในการสื่อสารถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สังคมมนุษย์และมวลมนุษยชาติก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สะท้อนได้จาก Generative AI ที่ได้สร้างความมหัศจรรย์และนานาประโยชน์ที่มนุษย์คาดไม่ถึง
อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ผ่านมา ยังคงจำกัดอยู่ในแวดวงธุรกิจเป็นหลัก พร้อมยังเป็นที่ถกเถียงถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้ ในงาน dataCon 2024 งานสัมมนาที่เชื่อมกลุ่มคนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงและคนในวงการข้อมูลให้มาพบกัน เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นด้วยดาต้า ที่จัดขึ้น ณ True Digital Park โดยการสนับสนุนของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้จัดเสวนาหัวข้อ “สร้างนโยบายแห่งอนาคต ด้วยพลังข้อมูล Shaping the Future with Insights”
Mobility Data เพื่อการส่งเสริมนโยบายท่องเที่ยวที่แม่นยำ-ตรงใจ
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงการจัดทำแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด โจทย์ใหญ่เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังโควิดที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น และการจัดเก็บข้อมูลเพื่อสำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวมีข้อจำกัด ทรู-ดีแทค สดช. คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บจึงได้ผนึกกำลังวิจัย “ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility Data” ทำให้เห็นข้อมูลที่สำคัญถึงพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย ทั้งวิธีการเดินทาง รูปแบบการเดินทาง และได้จัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งมี 3 ด้าน ดังนี้
1. การดึงดูดการท่องเที่ยวระยะใกล้ (Micro-Tourism) แบบเช้าไปเย็นกลับ ในระยะทาง 150 กิโลเมตร
2. การส่งเสริมการค้างคืน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ เพิ่มมูลค่าการใช้จ่าย และระยะเวลาพำนัก
3. การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (คลัสเตอร์) เพื่อส่งเสริมการเดินทางในกลุ่มจังหวัดใน 1 ทริป
“เราได้วิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางแบบกลุ่มจังหวัด (คลัสเตอร์) โดยใช้ Mobility Data ว่าในหนึ่งทริปของการเดินทางผ่านจังหวัดใดบ้าง สรุปออกมาได้เป็น 19 คลัสเตอร์ และมี 7 คลัสเตอร์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัดในระดับสูง ที่สามารถทำกิจกรรม โปรโมตการเดินทางร่วมกันได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ทั้งระยะเวลาในการพำนักและใช้จ่าย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างรายได้ แต่ที่ผ่านมากลับพบปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ท่องเที่ยวและการกระจายรายได้มาโดยตลอด ซึ่งผลวิเคราะห์ Mobility Data นี้เอง จะช่วยเสริมแกร่งให้จังหวัดเมืองรอง สามารถวางกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพของตนเอง เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ใช่มายังจังหวัด อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่เมืองรองได้อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Mobility Data ยังมีศักยภาพสามารถนำมาวิเคราะห์ในด้านการให้บริการสาธารณะด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
“การใช้ Mobility Data ไม่เพียงแต่ช่วยให้นโยบายของรัฐสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหาอย่างทรู-ดีแทคได้มองเห็นโอกาสจากการวิเคราะห์ดาต้าเพื่อการออกแบบนโยบายสาธารณะ ที่เปิดให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันวางนโยบายสำหรับอนาคต” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว
ความท้าทายของการใช้ข้อมูล
ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีข้อมูลหลายชุด ทั้งดาต้าของแต่ละหน่วยงาน ดิจิทัล ฟุตปรินต์ แต่การบริหารจัดการข้อมูล และนำข้อมูลมาออกแบบนโยบายในภาพใหญ่ของประเทศ ต้องเข้าใจปัญหาให้รอบด้าน และลงลึกถึงกลุ่มที่ภาครัฐต้องการเข้าไปช่วยเหลืออย่างแท้จริง ผ่านการเก็บข้อมูลให้ครบทั้ง 3 มิติ หนึ่ง ครอบคลุมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สอง ลงลึกถึงรายละเอียด และสาม ต้องเห็นความเชื่อมโยง
ทั้งนี้ การนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์จะต้องส่องให้ครบ 5 เลนส์สำคัญ คือ
1. Macro but granular ภาพใหญ่แต่ต้องลงลึกให้เห็นรายละเอียด อย่างการทำวิจัยหนี้ครัวเรือนของสถาบันป๋วย ข้อมูลหลักที่ใช้จากเครดิตบูโร ซึ่งอาจยังไม่ครอบคลุม ต้องลงไปดูในพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของหนี้ครัวเรือน เช่น ในเมือง กลุ่มเหล่านี้เปราะบางอย่างไร
2. Near real time ใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ อย่างช่วงโควิดในสหรัฐอเมริกา ใช้ข้อมูลจากแอปพลิเคชันด้านการเงิน เพื่อวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วย
3. Lungitudinal ติดตามพัฒนาการของแต่ละเจนเนอเรชั่น อย่างการใช้ข้อมูล tax data เพื่อจะดูว่าพ่อแม่จน ส่วนใหญ่ลูกยังจนอยู่
4. Network/relationship ติดตามความเชื่อมโยง อย่างระบบพร้อมเพย์ จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน ผู้บริโภคกับผู้บริโภค และผู้บริโภคกับภาคธุรกิจ
5. Observe the unobserved ดาต้าจะช่วยให้คนทำนโยบายมองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
“ดาต้า ทำให้มีหลายเลนส์ที่เห็นกันได้ แต่การทำนโยบายที่ดีที่สุด ต้องนำทุกเลนส์เข้ามาร่วมกัน แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อออกแบบนโยบาย หนึ่ง คือข้อมูลไม่ครบ การใช้ข้อมูลต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน สอง การนำข้อมูลมาใช้ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล สาม การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และสี่ การแชร์ข้อมูล จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะได้อีกมาก” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว
ด้าน LINE MAN Wongnai ในฐานะเป็นบริษัทเอกชนที่ใช้ข้อมูลในการดำเนินธุรกิจ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีการเก็บข้อมูลจำนวนมาก และเก็บทุกรายละเอียดของธุรกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของคนไทย ข้อมูลธุรกิจร้านอาหาร และนำไปเผยแพร่บางส่วนเพื่อให้สังคมนำไปวิเคราะห์ได้ สามารถออกแบบนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก เช่น การสำรวจข้อมูลร้านอาหารในประเทศไทย ดัชนีอาหารจานเดียว (กะเพรา อินเด็กซ์) เพื่อเทียบราคาอาหารกับเงินเฟ้อ รวมถึงการใช้นโยบายคนละครึ่ง มีส่วนช่วยธุรกิจร้านอารหารได้มากน้อยเพียงใด และยังมีข้อมูลอีกมากที่ภาครัฐสามารถนำไปออกแบบนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน
“สุดท้าย อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล ทั้งข้อมูลทางการค้า ข้อมูลส่วนบุคคล อยากให้มีกลไก หรือกรอบทางกฎหมายที่จะทำให้เอกชนมั่นใจว่าการนำข้อมูลไปใช้จะไม่มีปัญหาตามมา ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแชร์ข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน” อิสริยะ กล่าวทิ้งท้าย
‘ข้อมูล’นับเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาลในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน การมีเครื่องมือเพื่อนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่ายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุญมีแล็บ ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า Mobility Data Dashboard เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาสืบค้นข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้
dtacblog ได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานเบื้องหลังถึงแนวคิดในการพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้น โดย ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะทำงาน “โครงการศึกษารูปแบบการเคลื่อนที่และการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านข้อมูลการเคลื่อนที่” กล่าวว่า Mobility Data Dashboard นี้ ประกอบด้วยข้อมูล 3 ระดับ ได้แก่
1. ระดับกลุ่มจังหวัด Dashboard นำเสนอข้อมูลคลัสเตอร์การท่องเที่ยวของจังหวัดเมืองรองที่ชี้ให้เห็นว่า จังหวัดเมืองรองแต่ละแห่งควรจับมือกับจังหวัดโดยรอบจังหวัดใดเพื่อพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มักเดินทางไปในหลายจังหวัดภายในการเดินทางหนึ่งครั้ง ช่วยให้ภาครัฐส่วนกลางสามารถออกแบบแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ระดับจังหวัด ทำให้แต่ละจังหวัดเห็นคุณลักษณะ (Profile) ของนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้า (Inbound) และขาออก (Outbound) ได้แก่ เพศ อายุ และถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้ทั้งนักพัฒนานโยบายและผู้ประกอบการท่องเที่ยวเห็นกลุ่มลูกค้าที่มาเยือนจังหวัดของตนได้ชัดเจนมากขึ้น และสามารถทำแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลนักท่องเที่ยวขาออกจะมีประโยชน์สำหรับการประชาสัมพันธ์และพัฒนาแพคเกจโปรโมชั่นการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด ส่วนข้อมูลนักท่องเที่ยวขาเข้าทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่สามารถพัฒนากิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่ของพื้นที่
3. ระดับอำเภอ ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนในท้องถิ่นทราบปริมาณและลักษณะของนักท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่ในแต่ละอำเภอในแต่ละช่วงเวลา ข้อมูลนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ข้อมูลการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลายังช่วยทำให้เห็นความเชื่อมโยงของการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ในจังหวัด สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้พัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวเฉพาะท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น จังหวัดเพชรบุรี ในอำเภอเมืองมีความโดดเด่นด้านอาหารซึ่งมักมีผู้แวะเยือนในช่วงกลางวัน ขณะที่ชะอำมีความโดดเด่นด้านร้านอาหารและโรงแรมจึงมีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางคืน และอำเภอบ้านแหลมโดดเด่นด้านการทำประมงและป่าชายเลน ซึ่งมักมีนักท่องเที่ยวแวะไปเยือนในช่วงเย็นก่อนเดินทางกลับ เมื่อนำทรัพยากรที่โดดเด่นของแต่ละอำเภอผนึกเข้ากับ Mobility data จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการเดินทางสู่การออกแบบกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำจังหวัดเฉพาะในแต่ละพื้นที่
“ข้อมูลทั้ง 3 ระดับที่กล่าวมานั้น ถือเป็นจัดเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว ที่ทำให้เห็นข้อมูลการเดินทางและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในมิติที่ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น นำมาพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว สินค้า และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์กล่าว อย่างไรก็ตาม Mobility data ยังมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในบางประเด็น ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันนำข้อมูลในมิติอื่นๆ ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เช่น ข้อมูลการซื้อขายสินค้า ข้อมูลทัศนคติและความคิดเห็น ข้อมูลด้านมลพิษและผลกระทบเชิงลบ มาช่วยบูรณาการร่วมกัน เราอาจจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผศ.ศรันยา เสี่ยงอารมณ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยส่วนใหญ่มองผ่านประสบการณ์และความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในแง่การกำหนดทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องความต้องการในท้องถิ่น แต่ก็นำมาสู่การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบซ้ำๆ และอาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคสมัยนี้ การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวที่ทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน อาจจะต้องออกแบบความสัมพันธ์ของกิจกรรม พื้นที่ และการประชาสัมพันธ์ของท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างทิศทางการพัฒนาของผู้คนภายในพื้นที่และความต้องการของผู้มาเยือนจากภายนอกพื้นที่
อาจารย์ทั้งสองท่านนำเสนอแนวคิด City Branding หรือการสร้างแบรนด์เมือง ซึ่งเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่เน้นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรและคุณค่าที่พื้นที่มีอยู่เข้ากับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคจากภายนอกพื้นที่ เพื่อดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเดินทางมาเยือน และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทรัพยากร รวมถึงสินค้าและบริการในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลกระทบเชิงบวกให้กับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน “Mobility data นับเป็นข้อมูลที่สำคัญข้อมูลหนึ่งที่ทำให้เรา
เข้าใจถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ และทำให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องสามารถพัฒนาแบรนด์เมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผศ.ศรันยากล่าว
สมุทรสงคราม เมือง 3 น้ำ
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ ยกตัวอย่างการใช้งาน Mobility Data Dashboard กับการพัฒนาการท่องเที่ยวของสมุทรสงครามว่า สมุทรสงครามมีลักษณะเป็นเมือง 3 น้ำ ประกอบด้วยน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ด้านผลผลิตทางการเกษตรและความหลากหลายของวิถีชีวิต ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับกรุงเทพมหานครจึงทำให้สมุทรสงครามนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวในระดับสูง แต่ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดสมุทรสงครามโดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมักจะแวะมาเยี่ยมชมตลาดน้ำเป็นหลักแล้วเดินทางกลับ ทำให้ผลลัพธ์จากการท่องเที่ยวไม่กระจายตัวไปสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นเท่าที่ควร ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา เมื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้ จังหวัดสมุทรสงครามจึงเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดในประเทศไทย
ข้อมูล Mobility data พบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังสมุทรสงครามส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพมหานคร โดยมีอายุอยู่ในช่วงวัยทำงานเป็นหลัก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางมาเยือนจังหวัดสมุทรสงครามในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และมีสัดส่วนการท่องเที่ยวแบบไปกลับค่อนข้างสูง นอกจากนั้น
ด้วยโครงข่ายถนนในจังหวัดทำให้นักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่ต้องเดินทางผ่านเมืองแม่กลองก่อนจะเดินทางไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวหลักในอำเภออื่นๆ เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มีผนวกกับพฤติกรรมและทัศนคติของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่นิยม “การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์” โดยเฉพาะคนวัยทำงานในเมืองที่นิยมพาครอบครัวหรือเพื่อนๆ ไปตั้งแคมป์ (Camping) เพื่อใช้ชีวิตลุยๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของสมุทรสงครามที่สามารถเชื่อมโยงจากทรัพยากรและอัตลักษณ์เดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการป่าชายเลน นาเกลือ วิถีชีวิตริมน้ำ พื้นที่สวนผลไม้ และการทำเกษตรกรรม มาพัฒนาสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้วิถีชีวิต การรับประทานอาหารพื้นถิ่น การฟังดนตรีในบรรยากาศริมแม่น้ำ การทำหัตถกรรม และการทดลองทำเกษตรกรรม โดยอาจพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) ที่เริ่มต้นจากการปั่นจักรยานหรือล่องเรือชมนาเกลือและไสกระดานที่ดอนหอยหลอด แวะทานอาหารที่แม่กลอง นอนค้างแบบแคมปิ้งที่อัมพวา แวะกินผลไม้ในสวนที่บางคนที เป็นต้น
พัทลุง เมืองเขา-ป่า-นา-เล
พัทลุงเป็นอีกเมืองรองที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางภูมิศาสตร์ โดยมีลักษณะเป็น Landlocked ไม่มีชายฝั่งทะเล ต่างจากจังหวัดอื่นในภาคใต้ ทางทิศตะวันออกติดทะเลสาบสงขลา พื้นที่ฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่เป็นภูเขา ด้วยเหตุนี้ วิถีชีวิตของชาวพัทลุงจึงมีพื้นฐานอยู่บนวิถีชีวิตเกษตรกรรมน้ำจืด ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมชาวใต้ในจังหวัดอื่น และกลายเป็น “อัตลักษณ์” ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังพัทลุงเป็นจำนวนมากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจาก Mobility data พบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังพัทลุงส่วนใหญ่มาจากจังหวัดโดยรอบ โดยมีช่วงอายุอยู่ในวัยทำงานและ
ผู้สูงอายุเป็นหลัก มีการเดินทางมาท่องเที่ยวแบบไปกลับในสัดส่วนสูง ในช่วงเช้านักท่องเที่ยวมีการกระจุกตัวอยู่บริเวณริมทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา ในขณะที่เวลากลางวันมีการกระจุกตัวในบางอำเภอที่มีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อและตลาดนัดชุมชน
ผศ.ศรันยากล่าวว่า ผลการสำรวจโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่เดินทางมากับครอบครัวและต้องการมาเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของจังหวัดพัทลุง จังหวัดพัทลุงจึงควรใช้ประโยชน์ภูมิประเทศและวิถีชีวิตที่แตกต่างกับจังหวัดโดยรอบ เช่น การมีป่าเขา การทำประมงน้ำจืด การปลูกข้าวพันธุ์สังข์หยด วัฒนธรรมหนังตะลุง ความเชื่อเกี่ยวกับมโนราห์ มาใช้ในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่ช่วยกระจายผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่พื้นที่ในจังหวัดอย่างทั่วถึง เช่น การพัฒนาเส้นทางวิ่งเทรลในพื้นที่ภูเขา การจัดกิจกรรมทำอาหารพัทลุงจากวัตถุดิบท้องถิ่น การทำประมงน้ำจืด เป็นต้น การกระจายนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดยังมีส่วนลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในพื้นที่เดียวมากเกินไปอีกด้วย
“ผู้คนในท้องถิ่นมักรู้จักของดีและคุณค่าของพื้นที่เป็นอย่างดี การรู้ข้อมูลผั่งดีมานด์ของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการต่อยอดฐานภูมิปัญญาไปสู่ธุรกิจบนฐานอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งท้ายที่สุด หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง สิ่งนี้จะนำมาสู่ทั้งการจ้างงาน การรักษามรดกทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างยั่งยืน เราเชื่อว่าการใช้ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการร่วมมือในท้องถิ่นกันมากขึ้น” ผศ.ศรันยา กล่าว
ทั้งนี้ หน่วยงานหรือองค์กรใดที่สนใจต่อยอดข้อมูลเชิงลึกจาก Mobility Data Dashboard เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว สามารถติดต่อเพิ่มเติมได้ที่อาจารย์ณัฐพงศ์และอาจารย์ศรันยา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทดีแทค
ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมโดยรวมเริ่มขยับเข้าสู่โลกดิจิทัล บริบทของวิถีชีวิตตลอดจนธุรกรรมทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากรูปแบบอะนะล็อคมาสู่รูปแบบดิจิทัล และด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและสามารถบรรจุข้อมูลหรือ ดาต้า ของกิจกรรมต่างๆ ไว้อย่างมากมายในหลายปีที่ผ่านมา และนั่นหมายถึง โอกาส ต่อการแก้ไขและพัฒนา เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น
ในส่วนของภาคเอกชนได้มีการนำข้อมูลที่เรียกว่า บิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย โดยในขณะที่ภาครัฐในหลายประเทศก็ได้มีการอภิปรายถึงแนวทางการนำ “บิ๊กดาต้า” มาใช้ประโยชน์เพื่อต่อการออกแบบนโยบายสาธารณะ
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยถึงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า " ในต่างประเทศเริ่มมีข้อถกเถียงและการอภิปรายถึงประเด็นการใช้ mobility data มาเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบาย ตัวอย่างเช่นในนอร์เวย์ สวีเดน ฝรั่งเศส สโลวาเกีย ที่มีการนำ mobility data มาวิเคราะห์รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวเพื่อการออกแบบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการดำเนินการวิเคราะห์ mobility data ร่วมกันระหว่างดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บในครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอานุภาพของข้อมูล Mobility data ต่อการออกแบบนโยบายสาธารณะที่มีข้อได้เปรียบด้านขนาดข้อมูล ความรวดเร็วในการรวบรวมข้อมูล ต้นทุนที่น้อยกว่าการได้มาซึ่งข้อมูลแบบสำรวจ หากเราสามารถนำ mobility data มาใช้ในการออกแบบนโยบายได้มากขึ้น จะสร้างพลังขับเคลื่อนอันมหาศาลในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม"
“mobility data ไม่เพียงแต่จะทำให้ภาครัฐและนักวิจัยเข้าใจสถานการณ์ในสังคมได้ดีละเอียด ชัดเจน และฉับไวมากขึ้น หากภาคประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมมีทางออกใหม่ให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว
เวลา: ตัวแปรสำคัญของการพัฒนา
ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ซีอีโอของ Boonmee Lab เผยว่า บริษัทมีเป้าหมายในการนำความรู้ด้านการออกแบบ ดาต้า และเทคโนโลยีมาทำให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสังคม และโปรเจ็คนี้ก็เป็นหนึ่งในโปรเจ็คที่ตื่นเต้นที่สุดด้วยลักษณะของ mobility data ที่มีลักษณะเฉพาะ ประกอบกับการมองเห็นถึงศักยภาพในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ
“โปรเจ็คนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการนำ mobility data มาวิเคราะห์และนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครั้งแรกของไทย และสามารถต่อยอดไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะเพิ่มเติม นำมาพลิกแพลงได้หลายอย่างจนนำไปสู่ข้อสรุปใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” ฐิติพงษ์กล่าว
ในโลกสมัยใหม่ที่ดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และองคาพยพของสังคมอย่างสิ้นเชิง การออกแบบนโยบายสาธารณะก็ควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นของสังคม ควรนำแนวคิดการทำงานแบบ agile มาใช้ เพราะหากรัฐยังมีมุมมองต่อนโยบายสาธารณะแบบเดิม ในห้วงระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะตามหลังนานาอารยะประเทศอย่างมาก
“ในยุคที่เวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่า ภาครัฐจำเป็นต้องนำเครื่องมือและรูปแบบการทำงานสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างเช่นโปรเจ็คนี้ที่คาดหวังว่าจะเป็น use case ของการนำ mobility data มาเป็นฐานเพื่อหนดนโยบายอื่นๆ ต่อไป” ฐิติพงษ์กล่าวเน้นย้ำพร้อมยกตัวอย่างกรณีการกำหนดเส้นทางเดินสายรถเมล์ที่อาจใช้ mobility data ร่วมกับข้อมูล CCTV ทำให้ระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พันธกิจแรกเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบายว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของรัฐบาลสะท้อนให้แห็นถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อการพัฒนาสู่ Digital Nation โดยให้ความสำคัญที่ “ข้อมูล” มากกว่า “ระบบไอที”
ปัจจุบัน สดช. ได้กำหนดทิศทางด้านข้อมูลโดยผลักดันให้ฐานข้อมูลที่เป็นบิ๊กดาต้าเป็นแหล่งเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเองยังเผชิญกับความท้าทายโดยเฉพาะระบบการได้มาและการจัดเก็บข้อมูลนั้นมีความแตกต่าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีการจัดเก็บข้อมูลของตัวเอง โดยทั้งหมดต้องคำนึงถึงนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การออกแบบนโยบายจำต้องให้ทันสถานการณ์ ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้มาซึ่งข้อมูลที่ทันการณ์จึงความสำคัญมาก
“ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสถิติแห่งชาติ ผมตระหนักดีถึงบทบาทและความสำคัญของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลมีการบูรณาการจากหลายแหล่ง วิเคราะห์ได้ถูกจุด ก็จะทำให้ข้อมูลนั้นๆ มีพลังอย่างมาก” เลขาธิการ สดช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐยังเผชิญกับความล่าช้าอันเนื่องมาจากการปรับปรุงกฎหมาย แต่ขณะเดียวกัน รัฐเองก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปข้อมูล ทั้งการจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลบนระบบคลาวด์ที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพ หรือการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเต็มไปด้วยบุคลากรด้าน data scientist เพื่ออำนวยความสะดวกวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์ที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องการ
“ข้อมูลที่เรียลไทม์จะทำให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญในระยะอันใกล้นี้คือการเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้เป็นแหล่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่มีความสำคัญอย่างมาก” ภุชพงค์ กล่าว
ก้าวสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า จุดยืนของดีแทคต่อการใช้ mobility data คือ การขยายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อยู่บนสมดุลระหว่างนโยบายความเป็นส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสังคมเละเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปแบบอย่างแท้จริง แม้โครงการฯ นี้จะใช้เวลายาวนานถึง 2 ปี แต่ทีมงานทั้ง 3 ฝ่ายก็ทำมันสำเร็จ แต่นั่นเป็นก้าวแรกเท่านั้น โดยก้าวต่อไปคือ การได้รับความเห็นชอบโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบและนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยไปปรับใช้ ส่วนปลายทางความสำเร็จคือ การเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงวิธีการใช้ข้อมูลและวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคม เช่นเดียวกับกรณีนี้ ที่มีความคาดหวังให้ mobility data สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการท่องเที่ยว ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่น
“หลายคนอาจถามว่าเอกชนจะก้าวขามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายสาธารณะทำไม แต่ดีแทคเราเชื่อว่า สิ่งนี้คือหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้วยการใช้ศักยภาพของ mobility data ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาสร้างประโยชน์ต่อประเทศตามแนวคิด Civil society” อรอุมา เผย