‘ข้อมูล’นับเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาลในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน การมีเครื่องมือเพื่อนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่ายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุญมีแล็บ ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า Mobility Data Dashboard เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาสืบค้นข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้
dtacblog ได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานเบื้องหลังถึงแนวคิดในการพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้น โดย ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะทำงาน “โครงการศึกษารูปแบบการเคลื่อนที่และการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านข้อมูลการเคลื่อนที่” กล่าวว่า Mobility Data Dashboard นี้ ประกอบด้วยข้อมูล 3 ระดับ ได้แก่
1. ระดับกลุ่มจังหวัด Dashboard นำเสนอข้อมูลคลัสเตอร์การท่องเที่ยวของจังหวัดเมืองรองที่ชี้ให้เห็นว่า จังหวัดเมืองรองแต่ละแห่งควรจับมือกับจังหวัดโดยรอบจังหวัดใดเพื่อพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มักเดินทางไปในหลายจังหวัดภายในการเดินทางหนึ่งครั้ง ช่วยให้ภาครัฐส่วนกลางสามารถออกแบบแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ระดับจังหวัด ทำให้แต่ละจังหวัดเห็นคุณลักษณะ (Profile) ของนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้า (Inbound) และขาออก (Outbound) ได้แก่ เพศ อายุ และถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้ทั้งนักพัฒนานโยบายและผู้ประกอบการท่องเที่ยวเห็นกลุ่มลูกค้าที่มาเยือนจังหวัดของตนได้ชัดเจนมากขึ้น และสามารถทำแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลนักท่องเที่ยวขาออกจะมีประโยชน์สำหรับการประชาสัมพันธ์และพัฒนาแพคเกจโปรโมชั่นการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด ส่วนข้อมูลนักท่องเที่ยวขาเข้าทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่สามารถพัฒนากิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่ของพื้นที่
3. ระดับอำเภอ ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนในท้องถิ่นทราบปริมาณและลักษณะของนักท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่ในแต่ละอำเภอในแต่ละช่วงเวลา ข้อมูลนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ข้อมูลการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลายังช่วยทำให้เห็นความเชื่อมโยงของการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ในจังหวัด สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้พัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวเฉพาะท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น จังหวัดเพชรบุรี ในอำเภอเมืองมีความโดดเด่นด้านอาหารซึ่งมักมีผู้แวะเยือนในช่วงกลางวัน ขณะที่ชะอำมีความโดดเด่นด้านร้านอาหารและโรงแรมจึงมีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางคืน และอำเภอบ้านแหลมโดดเด่นด้านการทำประมงและป่าชายเลน ซึ่งมักมีนักท่องเที่ยวแวะไปเยือนในช่วงเย็นก่อนเดินทางกลับ เมื่อนำทรัพยากรที่โดดเด่นของแต่ละอำเภอผนึกเข้ากับ Mobility data จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการเดินทางสู่การออกแบบกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำจังหวัดเฉพาะในแต่ละพื้นที่
“ข้อมูลทั้ง 3 ระดับที่กล่าวมานั้น ถือเป็นจัดเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว ที่ทำให้เห็นข้อมูลการเดินทางและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในมิติที่ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น นำมาพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว สินค้า และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์กล่าว อย่างไรก็ตาม Mobility data ยังมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในบางประเด็น ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันนำข้อมูลในมิติอื่นๆ ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เช่น ข้อมูลการซื้อขายสินค้า ข้อมูลทัศนคติและความคิดเห็น ข้อมูลด้านมลพิษและผลกระทบเชิงลบ มาช่วยบูรณาการร่วมกัน เราอาจจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผศ.ศรันยา เสี่ยงอารมณ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยส่วนใหญ่มองผ่านประสบการณ์และความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในแง่การกำหนดทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องความต้องการในท้องถิ่น แต่ก็นำมาสู่การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบซ้ำๆ และอาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคสมัยนี้ การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวที่ทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน อาจจะต้องออกแบบความสัมพันธ์ของกิจกรรม พื้นที่ และการประชาสัมพันธ์ของท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างทิศทางการพัฒนาของผู้คนภายในพื้นที่และความต้องการของผู้มาเยือนจากภายนอกพื้นที่
อาจารย์ทั้งสองท่านนำเสนอแนวคิด City Branding หรือการสร้างแบรนด์เมือง ซึ่งเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่เน้นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรและคุณค่าที่พื้นที่มีอยู่เข้ากับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคจากภายนอกพื้นที่ เพื่อดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเดินทางมาเยือน และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทรัพยากร รวมถึงสินค้าและบริการในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลกระทบเชิงบวกให้กับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน “Mobility data นับเป็นข้อมูลที่สำคัญข้อมูลหนึ่งที่ทำให้เรา
เข้าใจถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ และทำให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องสามารถพัฒนาแบรนด์เมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผศ.ศรันยากล่าว
สมุทรสงคราม เมือง 3 น้ำ
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ ยกตัวอย่างการใช้งาน Mobility Data Dashboard กับการพัฒนาการท่องเที่ยวของสมุทรสงครามว่า สมุทรสงครามมีลักษณะเป็นเมือง 3 น้ำ ประกอบด้วยน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ด้านผลผลิตทางการเกษตรและความหลากหลายของวิถีชีวิต ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับกรุงเทพมหานครจึงทำให้สมุทรสงครามนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวในระดับสูง แต่ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดสมุทรสงครามโดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมักจะแวะมาเยี่ยมชมตลาดน้ำเป็นหลักแล้วเดินทางกลับ ทำให้ผลลัพธ์จากการท่องเที่ยวไม่กระจายตัวไปสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นเท่าที่ควร ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา เมื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้ จังหวัดสมุทรสงครามจึงเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุดในประเทศไทย
ข้อมูล Mobility data พบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังสมุทรสงครามส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพมหานคร โดยมีอายุอยู่ในช่วงวัยทำงานเป็นหลัก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางมาเยือนจังหวัดสมุทรสงครามในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และมีสัดส่วนการท่องเที่ยวแบบไปกลับค่อนข้างสูง นอกจากนั้น
ด้วยโครงข่ายถนนในจังหวัดทำให้นักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่ต้องเดินทางผ่านเมืองแม่กลองก่อนจะเดินทางไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวหลักในอำเภออื่นๆ เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มีผนวกกับพฤติกรรมและทัศนคติของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่นิยม “การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์” โดยเฉพาะคนวัยทำงานในเมืองที่นิยมพาครอบครัวหรือเพื่อนๆ ไปตั้งแคมป์ (Camping) เพื่อใช้ชีวิตลุยๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของสมุทรสงครามที่สามารถเชื่อมโยงจากทรัพยากรและอัตลักษณ์เดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการป่าชายเลน นาเกลือ วิถีชีวิตริมน้ำ พื้นที่สวนผลไม้ และการทำเกษตรกรรม มาพัฒนาสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้วิถีชีวิต การรับประทานอาหารพื้นถิ่น การฟังดนตรีในบรรยากาศริมแม่น้ำ การทำหัตถกรรม และการทดลองทำเกษตรกรรม โดยอาจพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) ที่เริ่มต้นจากการปั่นจักรยานหรือล่องเรือชมนาเกลือและไสกระดานที่ดอนหอยหลอด แวะทานอาหารที่แม่กลอง นอนค้างแบบแคมปิ้งที่อัมพวา แวะกินผลไม้ในสวนที่บางคนที เป็นต้น
พัทลุง เมืองเขา-ป่า-นา-เล
พัทลุงเป็นอีกเมืองรองที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางภูมิศาสตร์ โดยมีลักษณะเป็น Landlocked ไม่มีชายฝั่งทะเล ต่างจากจังหวัดอื่นในภาคใต้ ทางทิศตะวันออกติดทะเลสาบสงขลา พื้นที่ฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่เป็นภูเขา ด้วยเหตุนี้ วิถีชีวิตของชาวพัทลุงจึงมีพื้นฐานอยู่บนวิถีชีวิตเกษตรกรรมน้ำจืด ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมชาวใต้ในจังหวัดอื่น และกลายเป็น “อัตลักษณ์” ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังพัทลุงเป็นจำนวนมากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจาก Mobility data พบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังพัทลุงส่วนใหญ่มาจากจังหวัดโดยรอบ โดยมีช่วงอายุอยู่ในวัยทำงานและ
ผู้สูงอายุเป็นหลัก มีการเดินทางมาท่องเที่ยวแบบไปกลับในสัดส่วนสูง ในช่วงเช้านักท่องเที่ยวมีการกระจุกตัวอยู่บริเวณริมทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา ในขณะที่เวลากลางวันมีการกระจุกตัวในบางอำเภอที่มีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อและตลาดนัดชุมชน
ผศ.ศรันยากล่าวว่า ผลการสำรวจโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่เดินทางมากับครอบครัวและต้องการมาเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของจังหวัดพัทลุง จังหวัดพัทลุงจึงควรใช้ประโยชน์ภูมิประเทศและวิถีชีวิตที่แตกต่างกับจังหวัดโดยรอบ เช่น การมีป่าเขา การทำประมงน้ำจืด การปลูกข้าวพันธุ์สังข์หยด วัฒนธรรมหนังตะลุง ความเชื่อเกี่ยวกับมโนราห์ มาใช้ในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่ช่วยกระจายผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่พื้นที่ในจังหวัดอย่างทั่วถึง เช่น การพัฒนาเส้นทางวิ่งเทรลในพื้นที่ภูเขา การจัดกิจกรรมทำอาหารพัทลุงจากวัตถุดิบท้องถิ่น การทำประมงน้ำจืด เป็นต้น การกระจายนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดยังมีส่วนลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในพื้นที่เดียวมากเกินไปอีกด้วย
“ผู้คนในท้องถิ่นมักรู้จักของดีและคุณค่าของพื้นที่เป็นอย่างดี การรู้ข้อมูลผั่งดีมานด์ของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการต่อยอดฐานภูมิปัญญาไปสู่ธุรกิจบนฐานอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งท้ายที่สุด หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง สิ่งนี้จะนำมาสู่ทั้งการจ้างงาน การรักษามรดกทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างยั่งยืน เราเชื่อว่าการใช้ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการร่วมมือในท้องถิ่นกันมากขึ้น” ผศ.ศรันยา กล่าว
ทั้งนี้ หน่วยงานหรือองค์กรใดที่สนใจต่อยอดข้อมูลเชิงลึกจาก Mobility Data Dashboard เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว สามารถติดต่อเพิ่มเติมได้ที่อาจารย์ณัฐพงศ์และอาจารย์ศรันยา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทดีแทค