บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมประกันสุขภาพ เปิดตัวบริการล่าสุด เพิ่มช่องทาง "พบแพทย์ออนไลน์" ผ่านแอปพลิเคชัน "MorDee” (หมอดี) เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพของลูกค้าให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไร้กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยให้บริการครอบคลุม ดังนี้
- พบแพทย์ออนไลน์ ปรึกษาสุขภาพกายได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสมาร์ทโฟน
- ลูกค้าประกันกลุ่มที่มีความคุ้มครอง OPD เคลมประกันได้ทันที ไม่ต้องสำรองจ่าย ทั้งค่าแพทย์ ค่ายา ตามวงเงินผลประโยชน์
- บริการส่งยาถึงบ้านหรือสถานที่ที่ลูกค้าต้องการทั่วประเทศ (พิเศษ! ฟรีค่าจัดส่งยา ตามเงื่อนไขและระยะเวลาตามที่แอปฯ "MorDee” (หมอดี) กำหนด)
นายทาคาชิ ไซโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ภารกิจของเราคือการคุ้มครอง ดูแลลูกค้าในทุกช่วงเวลาของชีวิต ความร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในการเพิ่มช่องทางดูแลสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน 'MorDee' (หมอดี) ครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนให้ลูกค้าของเราใช้ชีวิตได้อย่างยืดหยุ่นและมั่นใจมากขึ้นในยุคดิจิทัล"
ด้วยบริการใหม่นี้ ลูกค้าประกันกลุ่มของโตเกียวมารีนประกันชีวิตสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศไทย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่ต้องการความคล่องตัวและการดูแลสุขภาพที่ทันสมัย
นายชาง ฟู หัวหน้าสายงานด้านดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป พัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ “MorDee” (หมอดี) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ (Telemedicine) และดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง พร้อมขยายความร่วมมือกับบริษัทประกันชั้นนำ เพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ให้ปรึกษาปัญหาสุขภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา บนทุกสมาร์ทดีไวซ์ รักษา รับยา เคลมประกันได้ในแอปฯเดียว ผ่านฟังก์ชัน “เทเลเมดิเคลม” (TeleMediClaim+) โดยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ “MorDee” (หมอดี) นำทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากสถาบันการแพทย์ชั้นนำกว่า 500 คน ช่วยดูแลสุขภาพของลูกค้าประกันกลุ่มของโตเกียวมารีนประกันชีวิต ครอบคลุมกว่า 20 สาขา พบแพทย์ออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพกายได้แบบส่วนตัว ไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่าย พร้อมบริการส่งยาถึงบ้าน ช่วยประหยัดเวลาและลดความแออัดในโรงพยาบาล ทั้งยังสามารถดูประวัติการรักษาผ่านแอปฯ และมั่นใจได้ในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล”
ลูกค้าประกันกลุ่มของโตเกียวมารีนประกันชีวิต สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์-รักษา-รับยา-เคลมประกัน ผ่านแอปฯ “MorDee” (หมอดี) ได้แล้ววันนี้ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ในการดาวน์โหลดและเริ่มต้นใช้งานแอปฯ MorDee (หมอดี) ดังนี้
1. ดาวน์โหลดแอปฯ MorDee ทาง Apps Store/Play Store หรือคลิก https://mordee.app.link/7me4in9appb แล้วลงทะเบียน เพื่อเริ่มต้นใช้งาน
2. เชื่อมสิทธิ์ประกัน โดยเลือกเมนู เชื่อมสิทธิพิเศษ แล้วกด เพิ่มสิทธิพิเศษ จากนั้นเลือก โตเกียวมารีนประกันชีวิต แล้วกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย
3. ยืนยันตัวตน โดยถ่ายภาพหน้าตรง และภาพบัตรประชาชน/พาสสปอร์ต
ขั้นตอนการใช้บริการพบแพทย์ออนไลน์ผ่านแอปฯ MorDee (หมอดี) ดังนี้
1. ค้นหาแผนก โดยเลือกเมนู หน้าแรก กดแถบค้นหา แล้วเลือกแผนกหรืออาการที่ต้องการปรึกษา
2. เลือกแพทย์ โดยเลือกจากรายชื่อแพทย์ที่มีโลโก้ โตเกียวมารีนประกันชีวิต
3. ทำนัดหมาย โดยเลือกวันและเวลา เลือกรูปแบบการปรึกษาเป็นวิดีโอคอล เพื่อให้สามารถใช้สิทธิ์ประกันได้
4. เคลมประกัน ในขั้นตอนชำระเงิน โดยให้กดเลือก การชำระเงิน/สิทธิพิเศษ แล้วเลือก โตเกียวมารีนประกันชีวิต เพื่อใช้บริการได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
5. ปรึกษา รับยา โดยให้เข้าห้องสนทนาในแอปฯ เพื่อทำการปรึกษาแพทย์เมื่อถึงเวลานัดหมาย จากนั้นรอแพทย์ส่งสรุปผลการปรึกษา พร้อมใบสั่งยา (ถ้ามี) โดยสามารถสั่งซื้อยา โดยการเคลมประกัน แล้วรอรับยาที่บ้านได้
ในโลกเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง Women in Tech เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้หญิงมีส่วนร่วมในวงการเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม บทบาทของผู้หญิงสายเทคสำหรับบางองค์กรก็ยังไม่มากเท่าที่ควร
แต่นั่นไม่ใช่ที่ “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป” (True Digital Group: TDG) หน่วยธุรกิจซึ่งรับผิดชอบพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีคนเก่งหลายคนรวมทั้ง ภรรททิยา โตธนะเกษม ร่วมนับหนึ่งตั้งแต่วันแรก และวันนี้ เธอยังคงทำหน้าที่เป็น “มันสมอง” ให้ TDG ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Digital Growth Strategy
ภรรททิยาเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบข้ามวัฒนธรรม (Cross Culture) ในช่วงวัยเด็ก เธอได้รับทุน ASEAN Scholarship ของรัฐบาลสิงคโปร์ให้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต้นที่โรงเรียนชั้นนำของสิงคโปร์ ระบบการศึกษาที่นั่นมีการแข่งขันสูงแต่เธอก็ผ่านมาได้ด้วยความพยายาม หลังจากนั้น ภรรททิยามีโอกาสไปศึกษาต่อมัธยมตอนปลายเป็นเวลาสั้นๆ ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
แต่ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของครอบครัว เพื่อที่จะได้กลับมาใช้เวลากับครอบครัวและน้องสาวที่ตอนนั้นยังเล็ก ภรรททิยาจึงตัดสินใจกลับมาศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (BBA) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้น เธอมีอายุเพียง 16 ปี การเลือกเรียนในสายบริหารธุรกิจนี้ ภรรททิยามีคุณพ่อคุณแม่ ศ.ดร.วรภัทร-กิตติยา โตธนะเกษม นักบริหารเลื่องชื่อของไทย เป็นแรงบันดาลใจ
ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากรั้วจามจุรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในวัยเพียง 20 ปี ภรรททิยาสมัครและได้รับคัดเลือกทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่นั่นเป็นเวลาประมาณ 1 ปีกว่า แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิต เพราะทำให้รู้ตัวว่าไม่ค่อยอินกับธุรกิจธนาคารเท่าใดนัก หลังจากได้คิดไตร่ตรองแล้วเธอจึงตัดสินใจสละสิทธิทุนการศึกษา เพื่อให้โอกาสตนเองได้ไปค้นพบประสบการณ์ด้านอื่น
ถึงแม้ภรรททิยายังไม่มีชั่วโมงทำงานที่มากพอ แต่ก็ได้ทดลองสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา และได้รับการคัดเลือกเข้าหลักสูตรปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ที่ Harvard Business School
ภายในคลาสที่มีผู้เรียนราว 900 คนจากทั่วทุกมุมโลก วิธีการเรียนการสอนที่เน้นการอภิปราย และถกเถียงในชั้นเรียนแบบที่ต้องแย่งกันยกมือพูด เพราะถ้าไม่พูดก็อาจจะสอบตกวิชานั้น กลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับภรรททิยา ที่มีวัยวุฒิเด็กที่สุดและประสบการณ์ทำงานน้อยที่สุดในห้อง ในช่วงแรก เธอไม่กล้าพูด แต่ก็พยายามปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ จนมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียนได้ ทำให้ได้เรียนรู้โลกธุรกิจของจริง จากทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมห้อง ที่อาจหาไม่ได้จากตำรา
ช่วงที่เธอเรียนนั้น เป็นยุคที่บริษัทเทคโนโลยีกำลังเริ่มบูม บวกกับความชอบที่เธอมีต่อ gadgets อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นจุดที่ทำให้เธอเริ่มรู้ตัวว่าสนใจในวงการนี้ ระหว่างเรียนปีสองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Samsung ได้ไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเพื่อรับพนักงานใหม่ ในรุ่นนั้น Samsung รับ MBA graduates เกือบ 40 คน เป็นฝรั่งเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีผู้หญิงเพียง 6 คน ภรรททิยาเป็นผู้หญิงเอเชียเพียงคนเดียวและเด็กที่สุด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้เข้าสู่วงการเทคโนโลยีในตำแหน่ง Global Strategist (Internal Consultant) แผนก Global Strategy Group ของบริษัท Samsung Electronics
ที่ Samsung ได้ปลดล็อกให้เธอได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ ด้วยบทบาทหน้าที่ของ In-House Think Tank ประจำอยู่ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ต้องเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ทำงานร่วมกับ C-suite ของ Samsung ในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย อังกฤษ ออสเตรเลีย เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจในหลายด้าน เช่น การบริหารทรัพยากรบุคคล การตลาด การพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเธอถือว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า เปิดให้เห็นโลกกว้างของเทคโนโลยี วิธีการคิดเชิงกลยุทธ์ และฝึกให้เข้าใจและตีโจทย์ธุรกิจของลูกค้าในเวลาสั้นๆ การทำงานแบบเกาหลีเองก็มีความท้าทาย เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นผู้ชายโดยส่วนใหญ่ ทั้งในระดับผู้จัดการ และ C-suite สื่อสารด้วยภาษาเกาหลีเป็นหลัก
ในปี 2558 ภรรททิยาได้รับการติดต่อจาก Apple Inc เพื่อให้ดูแลธุรกิจ App Store ของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทีมใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นและเธอเป็นคนไทยคนแรกของทีม ในตำแหน่ง App Store Business Manager ประจำที่สิงคโปร์ ในเวลานั้น ระบบนิเวศน์ของโมบายแอปพลิเคชันในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มบูม เป็นยุคก่อตัวของแอปฯ ยูนิคอร์นต่างๆ เช่น Grab, Garena งานที่ Apple ทำให้ได้เข้าใจโมเดลธุรกิจของแอปฯ และได้พบกับ startups มากมาย ทั้งนักพัฒนาแอปฯ และเกมขนาดเล็กแบบทำคนเดียว ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ที่สำคัญได้เห็นการทำงานของบริษัทระดับโลกอย่าง Apple ซึ่งให้ความใส่ใจลูกค้าในระดับที่เรียกว่า Customer Obsession มีวิธีคิดแบบ Outside-In ทุกอย่างทุกดีไซน์ล้วนแต่ถูกคิดอย่างละเอียด ทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่านับร้อยนับพันครั้ง เพื่อประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า
ผ่านไปหลายปี ภรรททิยาตระหนักว่า เธอใช้ชีวิตในต่างแดนถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว และน่าจะถึงเวลา “กลับบ้าน” เสียทีเพื่อให้เวลากับสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมาโดยตลอด นั่นคือครอบครัวและการได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
ขณะนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่ทรู กำลังก่อร่างสร้าง TDG เพื่อต่อยอด-สร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการโทรคมนาคม ในปี 2560 เป็นยุคที่ดิจิทัลกำลังบูมสุดขีด TDG ถูกสร้างขึ้นโดยมีวิสัยทัศน์แห่งการเป็น Digital Enabler เป็น North Star เปลี่ยนจาก traditional telco สู่ digital services ดึงดูดคนเก่งที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งภรรททิยาก็เป็นหนึ่งในนั้น
จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลาราว 7 ปีที่ภรรททิยาได้มีโอกาสทำงาน ในหลายหน้าที่ใน TDG ไม่ว่าจะเป็น Strategy, Investments, Digital Transformation จนปัจจุบันได้รับความไว้วางใจทำหน้าที่ Head of Digital Growth Strategy เพื่อสร้างอิมแพคให้กับผู้บริโภค พาร์ทเนอร์ และสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
ภรรททิยา ให้มุมมองถึงประเด็น Women in Tech ว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราเห็นผู้หญิงเป็นนักพัฒนาแอปฯ มากขึ้น เป็น data scientist มากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของผู้นำหญิง (Female Leadership) อาจมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้มีโอกาสไปแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ที่ Tech Forum แห่งหนึ่ง จากวิทยากรกว่า 10 คน มีผู้หญิงที่ขึ้นพูดเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งนี่อาจสะท้อนถึงการเติบโตในหน้าที่การงานของผู้หญิงในระดับบริหาร
จากการสำรวจของ Tech Talent Charter ในปี 2566 ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ทำงานสายเทค มีแผนที่จะออกจากงาน เพราะเผชิญกับภาวะหมดไฟจากการทำหน้าที่ทั้งแม่และพนักงาน ซึ่งสาเหตุคงเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องการบริหารการทำงานไปพร้อมๆกับการมีครอบครัว
เธอยกตัวอย่างสิ่งที่เธอเห็นจากบริษัทเทคหลายแห่ง ที่มีแนวทางสนับสนุนผู้หญิงให้สามารถสร้างสมดุลชีวิตทั้งหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัว โดยไม่ต้อง “เสียสละ” ความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อความเป็นแม่ เช่น สนับสนุนเงินทุนให้ผู้หญิงฝากไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนครอบครัว หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ห้องให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือแห่งการสร้างความเท่าเทียม
จากโอกาสชีวิตที่ได้รับมา ภรรททิยา เห็นความสำคัญของการส่งต่อประสบการณ์ให้กับผู้อื่น ล่าสุด เธอกำลังทำหน้าที่ Mentor แบ่งปันความรู้ ให้คำปรึกษาแก่น้องๆ นิสิตจุฬาฯ เช่นเดียวกับที่เคยได้ทำให้น้องๆ วัยมัธยมตอนช่วงทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ ภรรททิยาเห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพที่จะไปโลดแล่นในระดับภูมิภาคหรือแม้กระทั่งระดับโลก พวกเขามีไอเดียที่ดี แต่อาจต้องการคนรับฟังและชี้แนะเพื่อช่วยให้เขาเดินทางไปสู่เป้าหมาย
นอกจากการส่งต่อ “ความรู้” แล้ว ภรรททิยา มองว่า “ความสุข” ก็ส่งต่อได้ด้วย ยามว่างเธอชอบร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การเล่นดนตรี ร้องเพลงให้กับผู้สูงอายุและผู้ต้องขังในเรือนจำ
ทีมบรรณาธิการถามคำถามสุดท้ายว่า ภรรททิยาได้รับโอกาสดีๆหลายอย่าง อยากจะฝากอะไรกับผู้ที่อาจไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้ ภรรททิยาตอบว่า มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ และควบคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้ เช่น สังคมแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่เราทุกคนจัดการได้คือ ตัวเราเอง ซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ทำในสิ่งที่เราถนัดและชอบ ก็จะทำให้เรามีโอกาสเปล่งประกายในแบบของเรา ส่วนคนที่โชคดีเกิดมาได้รับโอกาสมากกว่าผู้อื่น การแบ่งปันและเกื้อกูลกัน ก็จะช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น