November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

Food Packaging Trend

August 07, 2017 13795

เห็นได้น้อยลงเรื่อยๆ แล้ว ที่ใครไปซื้อเนื้อหมู แล้วคนขายห่อเนื้อหมูด้วยใบตองยื่นให้

เดี๋ยวนี้คนทั่วโลกนิยมเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตกันทั้งนั้น โดยหยิบเนื้อหมูจากเชลฟ์ พิจารณาเนื้อหมู ดูบรรจุภัณฑ์ วันหมดอายุ ก่อนเดินไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ 

นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพราะคำว่า เชย แต่เป็นเพราะสังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน 

ไลฟ์สไตล์จึงเปลี่ยนตาม 

แล้ววันหนึ่งหนึ่ง เราซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มอะไรบ้าง บรรจุในกล่อง ถุง กระป๋อง ขวด หรือบรรจุภัณฑ์ใดๆ เคยสังเกตไหมว่า มันสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรามากขนาดไหน 

 

มีชั้น มีเชิง

เป็นไปไม่ได้เลยที่อุตสาหกรรมอาหาร จะไม่เกิดมาคู่กับอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร (Food Packaging) เพราะไม่ว่าผู้ผลิตจะผลิตอาหารใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในการห่อหุ้มอาหาร ไม่ให้ปนเปื้อน และเพื่อบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ คืออะไร แบรนด์อะไร ควรบริโภคก่อนวันเดือนปีใด ทั้งยังช่วยรักษาคุณภาพ กลิ่น รสของอาหาร ก่อนเดินทางจากโรงงานผลิต ผ่านระบบขนส่ง ไปยังร้านค้า แล้วจึงถึงมือผู้บริโภค

บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารมีความหลากหลาย เช่น

- กระป๋อง (can)

- แก้ว (glass)

- ขวดพลาสติก (plastic bottle)

- ฟิล์มพลาสติก (plastic film)

- รีทอร์ทเพาส์ (retort pouch)

- ถุงในกล่อง (bag in box)

- กล่องปลอดเชื้อ (aseptic carton)

- การบรรจุแบบดัดแปรบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging) 

ซึ่งถ้าจะแบ่งประเภทของบรรจุภัณฑ์ ขึ้นอยู่กับว่าใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ จึงแบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิตบรรจุ-ภัณฑ์, แบ่งตามรูปทรง เช่น รูปทรงแข็งตัว (Rigid Forms) อย่างแก้ว เซรามิก รูปทรงอ่อนตัว (Flexible Forms) อย่างพลาสติก ถุง หรือแบ่งตามการขาย เช่น ขายปลีก หรือขายส่ง โดยในด้านการแบ่งตามวัสดุที่นิยมใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ มี 4 อย่าง ได้แก่ 

 

ไม้และเยื่อ : ในรูปของกระดาษ, ลังกระดาษ, กล่องกระดาษแข็ง (เช่น กล่องพับ กล่องหิ้วบรรจุขวด กล่องกระดาษลูกฟูก)

แก้ว : เป็นบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยต่อสินค้าที่บรรจุใส่มากที่สุด โดยใช้คู่กับฝาปิด เช่น ปากฝาจีบ ปากเกลียวธรรมดา ปากเกลียวล็อค 

โลหะ : ในรูปของกระป๋อง ถัง หลอด ฯลฯ ช่วยให้เก็บอาหารไว้ได้นาน และไม่แตก

พลาสติก : แบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ เทอร์โมเซ็ตติง พลาสติกที่มีรูปทรงถาวร นำกลับไปหลอมละลายอีกไม่ได้ กับ เทอร์โมพลาสติก พลาสติกที่นำมาหลอมใช้ใหม่ได้อีก โดยพลาสติกที่ใช้บรรจุหีบห่อส่วนใหญ่เป็น เทอร์โมพลาสติก ซึ่งมีใช้อยู่ 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ ฟิล์มและแผ่นพลาสติก (Plastic Film and Sheet) กับภาชนะพลาสติก (Plastics Container)

 

 

บรรจุภัณฑ์ยังแบ่งได้อีก 3 ลักษณะคือ บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 (Primary Package) ชั้นที่สัมผัสกับอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยตรง เช่น ถุงขนมขบเคี้ยว หลอดยาสีฟัน บรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 2 (Secondary Package) ทำหน้าที่รวบรวมบรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 เช่น กล่องกระดาษที่บรรจุนม 12 กล่อง และสุดท้าย บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Tertiary Package of Shipping) ทำหน้าที่ป้องกันผลิตภัณฑ์ระหว่างขนส่ง ซึ่งผู้ซื้อจะไม่ได้เห็นบรรจุภัณฑ์นี้

ในด้านส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ วัสดุ และ ป้ายฉลากสินค้า ซึ่งงานออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งวัสดุและป้ายฉลากสินค้า ยึดโยงกับการสื่อสารกับผู้บริโภค การตลาด และการจำหน่าย อย่างไม่สามารถแยกจากกันได้ นักออกแบบผลิตภัณฑ์หรือนักออกแบบกราฟิกจึงต้องคำนึงถึงความงามและสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพ ทั้งภาพถ่ายหรือภาพประกอบ โลโก้ อักษร สี เพราะทุกรายละเอียดสามารถทำให้ผู้บริโภคทราบถึงตัวผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่แรกเห็น รวมถึงนักออกแบบอาจนำวัฒนธรรมนิยม (Traditional) มาใช้กับสินค้า เช่น นำการใช้สีแบบไทย เช่น สีแดง สีทอง หรือลายไทย ไปอยู่บนบรรจุภัณฑ์ขนมไทย คนไทยหรือชาวต่างชาติเห็นก็จะรู้ว่าเป็นสินค้าที่มาจากประเทศไทย 

นอกจากนี้ นักออกแบบยังต้องจัดวางข้อความบนป้ายฉลากสินค้าเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคให้ครบ ตั้งแต่ชื่อบอกชนิดหรือประเภทของอาหาร น้ำหนัก วัน เดือน ปี ที่ผลิต, หมดอายุ รายการแสดงส่วนผสม การเก็บรักษา วิธีบริโภค ชื่อ ที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้บรรจุ หรือผู้จัดจำหน่าย เพื่อให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ดีและสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

 

สังเกตบรรจุภัณฑ์ญี่ปุ่น

อีกหนึ่งภาพที่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการนำเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของไทยผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์คือ สินค้าโอท็อป (OTOP) ซึ่งไทยนำไอเดียมาจากเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น โดย อ.นเร ขอจิตต์เมตต์ เรียบเรียงข้อสังเกตจากนักออกแบบชาวไทยที่ไปเรียนปริญญาโทด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นไว้ในหนังสือ “Packaging Design เสกสรรปั้นแต่งบรรจุภัณฑ์” ว่า

“คนญี่ปุ่นมักจะออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้เก่ง เพราะเขาปลูกฝังเรื่องการพับกระดาษและมีการพัฒนาออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด รวมไปถึงความเข้าใจในเรื่องศิลปะและการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชนชาติอย่างเหนียวแน่น” 

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของคนญี่ปุ่นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ทำให้จดจำแบรนด์หรือโลโก้ได้ง่าย และผ่านการไตร่ตรองเป็นอย่างดี ใช้สีสันไม่มากนัก ซึ่งเมื่อออกแบบก็จะคิดด้วยว่า “ต้องทำลายง่าย” เพราะที่ญี่ปุ่นมีกฎที่ต้องชำระค่าขยะเพิ่มตามจำนวนที่ทิ้ง จึงดีต่อสภาพแวดล้อมของทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์จะไม่คงอยู่ในรูปแบบใดเพียงแบบเดียว หากแต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เนื่องจากบรรจุภัณฑ์มี Product Life Cycle เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี เหมาะสมกับเทรนด์ กับความต้องการแต่ในละสังคม แต่ละยุค จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมการตลาดและการขายได้ และยิ่งประเทศไทยส่งออกอาหารไทยไปยังต่างแดนนับเป็นมูลค่ามหาศาล ดังที่ แผนกวิจัยนโยบายและอุตสาหกรรม ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยใน บทสรุปอุตสาหกรรมอาหารไทย ปี 2557 และแนวโน้ม ปี 2558 ว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2557 มีมูลค่า 1,025,500 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มส่งออกอาหารไทยปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,080,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4

 

 

“ส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกของไทยในปี 2557 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสินค้าข้าว น้ำตาลทราย ไก่ และแป้งมันสำปะหลัง มีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สินค้าปลาทูน่ากระป๋อง กุ้ง และสับปะรดกระป๋อง มีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลง ส่วนเครื่องปรุงรสเป็นสินค้ารายการเดียวที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกคงที่” (ที่มา : http://fic.nfi.or.th/broadcast/Thai_Food_Industry_2014_and_Trend_2015.pdf)

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งมีการขยายตัวด้านการส่งออกอาหารมากขึ้นเท่าใด อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารก็ยิ่งมีความต้องการมากขึ้นเท่านั้น 

 

Food Packaging Trend

เทรนด์ของบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารซึ่งเป็นที่ต้องการในขณะนี้ นอกจากตอบโจทย์การใช้งาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีรูปลักษณ์สวยงาม ทันสมัย โดดเด่น ก็ยังมีความต้องการที่ต่างกันออกไป เช่น มีน้ำหนักเบา หยิบ จับ หรือบริโภคสะดวก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายเดินทัพเข้ามาเกี่ยวข้อง

จากเดิมที่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ใช้เพียงวัสดุธรรมชาติ หรือเศษวัสดุ เช่น ใบตอง กะลา หนังสือพิมพ์​ ยุคนี้เป็นยุคของงานดีไซน์ ใบตอง กะลา จึงถูกนำมาประยุกต์ต่อและเพิ่มมูลค่า และมีการใช้วัสดุอื่นที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่ ผลิตขึ้นใหม่ ใช้นวัตกรรมใหม่ เช่น ฟิล์มพลาสติกแอคทีฟ บรรจุภัณฑ์นาโน ที่ช่วยรักษาความสดและคุณภาพของอาหารประเภทผักและผลไม้ ดังนั้น การผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารจึงต้องใช้ศาสตร์และศิลป์มาก และใช้เงินลงทุนมากน้อยต่างกันไปด้วยหลายปัจจัย แต่บางครั้งผู้ทำธุรกิจก็ลงทุนกับค่าบรรจุภัณฑ์มากกว่าตัวสินค้าด้วยซ้ำ

โดยในด้านนาโนเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็น Nano Packagingจะเข้ามามีบทบาทกับบรรจุภัณฑ์อาหารมากขึ้น ในลักษณะของการช่วยควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในหีบห่อ โดย www.safenano.org แบ่งบรรจุภัณฑ์นาโนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

กลุ่มแรก บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าเดิม (Improved Packaging) ซึ่งช่วยป้องกันการซึมผ่าน (Gas Barrier) ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้น ที่จะมีผลต่ออาหารภายในห่อ

กลุ่มที่ 2 บรรจุภัณฑ์ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับอาหารหรือสภาพแวดล้อมโดยตรง (Active Packaging) เช่น บรรจุภัณฑ์นาโนซิลเวอร์ ช่วยป้องกันเชื้อโรคที่อาจส่งผลต่ออาหารได้ 

กลุ่มที่ 3 บรรจุภัณฑ์อันชาญฉลาด (Smart Packaging) บรรจุภัณฑ์ที่รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของอาหารที่อยู่ภายใน ช่วยป้องกันการเติบโตของเชื้อโรค ตลอดจนตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารได้

 

 

นิตยสาร Packaging Strategies นำรายงานฉบับใหม่ของ Persistence Market Research ชื่อ ‘Global Market Study on Nano-Enabled Packaging For Food and Beverages: Intelligent Packaging to Witness Highest Growth by 2020’ มาเปิดเผยว่า มีการคาดการณ์ตลาดบรรจุภัณฑ์นาโนสำหรับอาหารและเครื่องดื่มในตลาดโลกไว้ว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020

“…predicts that the nano-enabled packaging market will enjoy a healthy CAGR of 12.7% during the report’s forecast period of 2014-2020, and will expand from its 2013 market value of US$6.5 billion to US$15 billion in 2020.”

ไม่นานมานี้ นิตยสารดังกล่าวยังทำแบบสำรวจจากผู้อ่านบนเว็บไซต์ และเผยแพร่บทความ Single-serve packaging becomes a lifestyle เกี่ยวกับเทรนด์ต่อไปของบรรจุภัณฑ์ว่า ด้วยชีวิตที่รีบเร่ง คนต้องการความสะดวก บรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ครั้งเดียว จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และเข้ามาอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น

“…One major convenience trend is single-serve packaging. These busy, on-the-go consumers want portioned, portable, packaged food for one. And they want that food to follow all the other major trends such as sustainable packaging, upscale look and ingredients, and creative solutions and flavors. In a poll on PackagingStrategies.com, readers voted “Single-serve snacking is growing in popularity” as the top food packaging trend here to stay, and it seems they are quite right.”

 

PDG : Capacity and Innovation 

นอกจากเรื่องบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ย้อนกลับไปดูยุคแรกของน้ำดื่มที่มีการบรรจุขวดในไทย โพลาริส (Polaris) เป็นแบรนด์แรกที่ทำขึ้นและจดทะเบียนธุรกิจในปี 2499 เวลาผ่านไปมากกว่า 50 ปี ปัจจุบันมีน้ำดื่มหลากประเภทบรรจุในขวดจำนวนมากและมีสารพัดแบรนด์ วางจำหน่ายเต็มตู้แช่ ไม่ว่าจะเป็นในร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ศูนย์การค้าระดับไฮคลาส

 

 

นิตยสารเอ็มบีเอได้พูดคุยกับ ธงชัย ตันสุทัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอดดิจิ จำกัด (มหาชน) (PDG)เจ้าของธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยเป็นขวดพลาสติก PET ที่ทำจากเม็ดพลาสติกของคนไทย บรรจุได้ทั้งน้ำมันพืช น้ำดื่ม  น้ำผลไม้ น้ำปลา น้ำส้มสายชู ซอสปรุงรส 

ธงชัยบอกว่า ธุรกิจขวด PET ของเขามีกลุ่มน้ำมันพืชเป็นตลาดหลัก แต่รวมแล้วมีกำลังผลิตเดือนละ 60 ล้านขวด ทำรายได้กว่า 700 ล้านบาท 

“ก่อนจะเป็นขวด PET ในอดีตเป็นบรรจุภัณฑ์ขวด PVC PE หรือขวดขุ่น แล้วจึงพัฒนาจนเป็นขวด PET ซึ่งพรอดดิจิเริ่มต้นกิจการจากการผลิตขวด PET เมื่อปี 2535 เรามองว่าขวด PET มีจุดเด่นคือมีความใสเหมือนแก้ว น้ำหนักเบา คงทน และยังทนต่อกรดด่าง เช่น น้ำส้มสายชูที่มีความเป็นกรดก็บรรจุได้ และด้วยขวด PET ไม่มีสารพิษ (toxic) จึงไม่เป็นพิษภัยต่อร่างกาย”

สำหรับบรรจุภัณฑ์ของพรอดดิจิ ในด้านการดีไซน์รูปแบบใหม่ๆ บ้างก็เป็นการออกแบบร่วมกันกับลูกค้า บ้างก็ออกแบบตามความต้องการของลูกค้า ส่วนในด้านการคิดค้นนวัตกรรม ธงชัยบอกว่า

“เราพัฒนาสินค้าของพรอดดิจิอย่างต่อเนื่อง เช่น การเป่ายืด 2 ทิศทาง (Stretch Blow) ในภาพใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในภาพย่อย Stretch Blow มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น มี output ที่สูงขึ้น มีการใช้ material น้อยลง ส่วนนวัตกรรมในช่วงไม่กี่ปี การจะมีพลาสติกใหม่ๆ มาใช้แทน PET ยังไม่มี เพราะขวด PET ยังเหมาะสมสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม และใช้กันทั่วโลก แต่นวัตกรรมต่อไปที่เรามองคือ Bio Plastic เป็นขวด PET ที่ผลิตจาก Renewable Plastic หรือพลาสติกจากพืชที่ย่อยสลายได้ง่าย จึงช่วยลดจำนวนขยะ ลดโลกร้อนได้ นี่เป็นไอเดียของต่างประเทศ แต่ตอนนี้ยังติดปัญหาตรงที่มีราคาแพง ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคต”

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

• หนังสือ Packaging Design เสกสรรปั้นแต่งบรรจุภัณฑ์ อ.นเร ขอจิตต์เมตต์

• หนังสือ Packaging Design ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผศ.สุมาลี ทองรุ่งโรจน์

• www.mew6.com/composer/package/package_0.php

• http://fic.nfi.or.th/broadcast/Thai_Food_Industry_2014_and_Trend_2015.pdf

• www.foodpackthailand.com

• www.foodnetworksolution.com

• www.foodpackconference.com

• www.packagingstrategies.com

• www.packworld.com

• www.packagingoftheworld.com 

• www.safenano.org

X

Right Click

No right click