-บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เป็นเวลา 3 ปี ในการวิจัยและพัฒนาโซลูชันระบบอัตโนมัติด้วยผลิตภัณฑ์เดลต้าและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพรังสีอัลตราไวโอเลต-ซี (UV-C)
ภายใต้ข้อตกลง เดลต้าจะสนับสนุนโครงการเดลต้า ออโตเมชั่น อะคาเดมี (Delta Automation Academy) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษาในด้านวิทยาการหุ่นยนต์, ระบบอัตโนมัติ, IoT, อิเล็กทรอนิกส์ และพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่ห้องแล็บระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมของเดลต้า (Delta Industrial Automation Lab) นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริษัทเดลต้า ประเทศไทย และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนาม MOU ดังกล่าว พร้อมมอบเกียรติบัตรและรางวัลแก่ทีมนักศึกษา Gaia จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน Delta Cup ประจำปี 2565 จากการนำเสนอโครงงาน Carbon Polymerizing System ระบบจุลินทรีย์อัตโนมัติที่สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายทางชีวภาพที่เรียกว่า Polyhydroxybutyrate (PHB) โดยสามารถย่อยสลายได้ถึง 90% ภายในเวลา 10 วันโดยไม่ทิ้งเศษเมื่อสิ้นสุดวงจรชีวิตของมัน โดยโครงงานทดลอง Carbon Polymerizing System Project ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติของเดลต้า ดังต่อไปนี้:
· อุปกรณ์ควบคุมระบบ AS200 PLC 1 ตัว
· ระบบ DIAView SCADA
· ซอฟต์แวร์ DIACloud
· หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะ DRV70L 1 ตัว
· AC มอเตอร์ไดรฟ์ ASDA-A3 5 ตัว
· เซอร์โวมอเตอร์ ECMA-C20401SS AC กำลังไฟ 400W 5 ตัว
· วาล์วควบคุม 3 ตัว
· ปั๊ม 1 ตัว
· มิเตอร์วัดพลังงานไฟฟ้า DPM-C530 1 ตัว
ในการร่วมมือครั้งนี้ เดลต้าจะสนับสนุนชุดฝึกอบรมระบบอัตโนมัติขั้นสูงและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อฝึกอบรมที่ Delta Industrial Automation Lab
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมของเดลต้าจะจัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับคณาจารย์เกี่ยวกับอุปกรณ์ควบคุมระบบ (PLC), หน้าจอสัมผัสรับ-ส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้กับเครื่องจักร (HMI), อุปกรณ์ควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ (VFD) รวมถึง เซอร์โวมอเตอร์/ไดรฟ์ และการรวมระบบ
โดยก่อนหน้านี้ เดลต้าและมหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือกันเพื่อเฟ้นหาและพัฒนาผู้มีความสามารถด้านวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ โดยการบันทึกข้อตกลงนี้ ถือเป็นก้าวใหม่ที่ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในรายชื่อพันธมิตรของสถาบัน Delta Automation Academy ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและธนบุรี
นอกจากนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ จะช่วยให้นักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีโอกาสพัฒนาโครงการนวัตกรรมที่สอดคล้องกับธุรกิจระบบอัตโนมัติและพลังงานสีเขียวของเดลต้าให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่งาน Delta Angel Fund สำหรับสตาร์ทอัพประจำปีอีกด้วย โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 เดลต้าและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งกองทุน Angel Fund ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในประเทศไทย และบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัปเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0
นายแจ็คกี้ จาง กล่าวในพิธีว่า “เดลต้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเริ่มต้นความร่วมมือบทใหม่กับมหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะที่เรายังคงบุกเบิกการพัฒนาการศึกษาด้านระบบอัตโนมัติซึ่งสนับสนุนแผนการพัฒนาประเทศไทย 4.0 อย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของภาคการผลิตในท้องถิ่น และยกระดับมูลค่าของประเทศไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก” โครงการ เดลต้า ออโตเมชัน อะคาเดมี ได้ให้การฝึกอบรมแก่นักศึกษาวิศวกรรมไทยกว่า 1,000 คน รวมถึงบุคลากรระดับแนวหน้าซึ่งได้รับรางวัลจากการแข่งขัน Delta Advanced Automation Competition ระดับนานาชาติหรือ Delta Cup ที่จัดขึ้นทุกปีระหว่างทีมนักศึกษาวิศวกรรมชั้นยอดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน จีน อินเดีย และ ยุโรป"
เมืองอัจฉริยะ(Smart City) เป็นหนึ่งในหัวข้อที่สังคมยุคใหม่พูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่สังคมดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงต่างๆ แต่เมืองอัจฉริยะที่เกิดขึ้นแล้วบนโลกและกำลังจะเกิดขึ้นแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกันไป
ในงานสัมมนา Delta Future Industry Summit ที่จัดโดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เชิญวิทยากรที่น่าสนใจมาพูดเกี่ยวกับเรื่องเมืองอัจฉริยะของไทย
เริ่มจากฝั่งผู้กำหนดนโยบาย พันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาให้มุมมองเรื่องเมืองอัจฉริยะว่า เป็นการต่อยอดแนวคิดจากแผนงานดิจิทัลไทยแลนด์ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเติบโตโดยใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด โดยรัฐบาลได้เตรียมพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะรองรับเช่น การวางสายเคเบิลใยแก้วให้ไปถึงทุกหมู่บ้านของประเทศภายในปีหน้า เพื่อให้คนทุกพื้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถใช้ประโยชน์สร้างรายได้จากอีคอมเมิร์ช เรียนรู้ความรู้จากโลกออนไลน์ รวมถึงสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มสนับสนุนโครงการพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะไปแล้ว 7 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพมหานคร และอีก 3 จังหวัดในอีอีซี คือชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราเป็นการทดลองพัฒนาเมืองในด้านต่างตามที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่มีความต้องการ โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนนำโดยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน
ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอี บอกว่าปัจจุบันอัตราประชากรที่เข้ามาอยู่ในเมืองทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 จึงเป็นเหตุให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ เพื่อจะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สามารถจัดการมลภาวะต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้นิยามของเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยโดยพันศักดิ์คือ เมืองที่น่าอยู่ มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย
โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นมาได้อย่างแท้จริงนั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอีบอกว่า คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ที่จะมาช่วยกันระดมความคิดเห็นว่าจะเลือกทำเมืองอัจฉริยะในแง่มุมใดก่อนตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ที่มีแตกต่างกัน
อีกปัจจัยหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ มาเป็นเครื่องมือเพื่อหากลไกเชื่อมโยง แบ่งปันข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปใช้งานได้จริงโดยจะต้องมีผู้ดูแลอาจจะเป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อให้โครงการต่างๆ มีความยั่งยืน
โดยภาครัฐจะทำหน้าที่ส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อช่วยให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปได้ โดยรัฐบาลอยากเห็นภาคเอกชนบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสตาร์ทอัพเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
อีกมุมมองจากฝั่งของนักวิชาการ ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะว่ามีองค์ประกอบสำคัญการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและประชาชนผ่านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ที่มาช่วยแก้ปัญหา
โดยปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดเมืองอัจฉริยะประกอบด้วยการที่ประชากรย้ายเข้าสู่เมืองเพิ่มขึ้น การมองหาความโปร่งใสในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น การที่มีเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงและจัดการข้อมูลจำนวนมาก ทิศทางของสังคมและปัญหาเรื่องสภาวะแวดล้อม
ทั้งนี้เมืองอัจฉริยะจะมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่นลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาการจราจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนในเมือง ผ่านกริดในด้านต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการควบคุมพลังงาน การจราจร การจัดการคุณภาพอากาศและน้ำ จัดการที่จอดรถ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจัดการเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจจะมีภาคเอกชนเข้าไปร่วมด้วยในบางกิจกรรม
ผศ.ดร.นพพรมองว่า สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงกันระหว่างของข้อมูลระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กับประชาชน โดยการจะเปลี่ยนเมืองสู่เมืองอัจฉริยะในด้านใดขึ้นกับการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละชุมชนที่จะเลือกประเด็นที่ต้องการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ จากนั้นจึงมองหาพาร์ตเนอร์ที่เข้ากับเป้าหมายที่วางเอาไว้ โดยต้องคำนึงถึง ความคุ้มค่าและยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น ด้วยการบริหารจัดการข้อมูลที่เชื่อมโยงสังคม สภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดแผน
โดยสรุปแล้วไม่ว่าจะเลือกพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะในด้านใดทั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีและนักวิชาการมองไปในทิศทางเดียวกันว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือ การมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและประชาชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยหนุนให้โครงการต่างๆ เดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เป็นตัวช่วย
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา Delta Future Industry Summit ประจำปี 2561 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) บอกว่าต้องการจะให้เป็นงานที่แลกเปลี่ยนความรู้แนวคิดใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมพูดคุย และเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการต่างๆ โดยจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ต่อเนื่องในทุกปี