-บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เป็นเวลา 3 ปี ในการวิจัยและพัฒนาโซลูชันระบบอัตโนมัติด้วยผลิตภัณฑ์เดลต้าและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพรังสีอัลตราไวโอเลต-ซี (UV-C)
ภายใต้ข้อตกลง เดลต้าจะสนับสนุนโครงการเดลต้า ออโตเมชั่น อะคาเดมี (Delta Automation Academy) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษาในด้านวิทยาการหุ่นยนต์, ระบบอัตโนมัติ, IoT, อิเล็กทรอนิกส์ และพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่ห้องแล็บระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมของเดลต้า (Delta Industrial Automation Lab) นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริษัทเดลต้า ประเทศไทย และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนาม MOU ดังกล่าว พร้อมมอบเกียรติบัตรและรางวัลแก่ทีมนักศึกษา Gaia จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน Delta Cup ประจำปี 2565 จากการนำเสนอโครงงาน Carbon Polymerizing System ระบบจุลินทรีย์อัตโนมัติที่สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายทางชีวภาพที่เรียกว่า Polyhydroxybutyrate (PHB) โดยสามารถย่อยสลายได้ถึง 90% ภายในเวลา 10 วันโดยไม่ทิ้งเศษเมื่อสิ้นสุดวงจรชีวิตของมัน โดยโครงงานทดลอง Carbon Polymerizing System Project ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติของเดลต้า ดังต่อไปนี้:
· อุปกรณ์ควบคุมระบบ AS200 PLC 1 ตัว
· ระบบ DIAView SCADA
· ซอฟต์แวร์ DIACloud
· หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะ DRV70L 1 ตัว
· AC มอเตอร์ไดรฟ์ ASDA-A3 5 ตัว
· เซอร์โวมอเตอร์ ECMA-C20401SS AC กำลังไฟ 400W 5 ตัว
· วาล์วควบคุม 3 ตัว
· ปั๊ม 1 ตัว
· มิเตอร์วัดพลังงานไฟฟ้า DPM-C530 1 ตัว
ในการร่วมมือครั้งนี้ เดลต้าจะสนับสนุนชุดฝึกอบรมระบบอัตโนมัติขั้นสูงและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อฝึกอบรมที่ Delta Industrial Automation Lab
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมของเดลต้าจะจัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับคณาจารย์เกี่ยวกับอุปกรณ์ควบคุมระบบ (PLC), หน้าจอสัมผัสรับ-ส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้กับเครื่องจักร (HMI), อุปกรณ์ควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ (VFD) รวมถึง เซอร์โวมอเตอร์/ไดรฟ์ และการรวมระบบ
โดยก่อนหน้านี้ เดลต้าและมหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือกันเพื่อเฟ้นหาและพัฒนาผู้มีความสามารถด้านวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ โดยการบันทึกข้อตกลงนี้ ถือเป็นก้าวใหม่ที่ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในรายชื่อพันธมิตรของสถาบัน Delta Automation Academy ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและธนบุรี
นอกจากนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ จะช่วยให้นักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีโอกาสพัฒนาโครงการนวัตกรรมที่สอดคล้องกับธุรกิจระบบอัตโนมัติและพลังงานสีเขียวของเดลต้าให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่งาน Delta Angel Fund สำหรับสตาร์ทอัพประจำปีอีกด้วย โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 เดลต้าและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งกองทุน Angel Fund ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในประเทศไทย และบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัปเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0
นายแจ็คกี้ จาง กล่าวในพิธีว่า “เดลต้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเริ่มต้นความร่วมมือบทใหม่กับมหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะที่เรายังคงบุกเบิกการพัฒนาการศึกษาด้านระบบอัตโนมัติซึ่งสนับสนุนแผนการพัฒนาประเทศไทย 4.0 อย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของภาคการผลิตในท้องถิ่น และยกระดับมูลค่าของประเทศไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก” โครงการ เดลต้า ออโตเมชัน อะคาเดมี ได้ให้การฝึกอบรมแก่นักศึกษาวิศวกรรมไทยกว่า 1,000 คน รวมถึงบุคลากรระดับแนวหน้าซึ่งได้รับรางวัลจากการแข่งขัน Delta Advanced Automation Competition ระดับนานาชาติหรือ Delta Cup ที่จัดขึ้นทุกปีระหว่างทีมนักศึกษาวิศวกรรมชั้นยอดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน จีน อินเดีย และ ยุโรป"