บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถคู่ค้าธุรกิจ อย่างต่อเนื่อง จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Quality Day Together  ติดอาวุธเพิ่มทักษะให้คู่ค้าธุรกิจ ที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารให้บริษัทฯ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้มีแนวปฏิบัติที่ดีในการควบคุมคุณภาพและอาหารปลอดภัยขั้นสูง ตามมาตรฐานสากล และรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั่วโลก ช่วยสร้างโอกาสและ ขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ไทยเติบโตสู่เวทีโลก

วิไลลักษณ์ คลอดเพ็ง ผู้บริหารสูงสุด สายงานประกันคุณภาพอาหารกลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคู่ค้าธุรกิจรายย่อยและกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นต้นทางการผลิตอาหารของซีพีเอฟมีขีดความสามารถสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสและความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันมาตรฐานอังกฤษ (BSI) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Quality Day Together ให้ความรู้แก่คู่ค้าธุรกิจผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารในกลุ่มเครื่องปรุงและบรรจุภัณฑ์ ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจการประกันคุณภาพ หลักการวิเคราะห์ปัญหาในกระบวนการผลิต ตลอดจนสามารถกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างเป็นระบบตามหลักสากล เพื่อร่วมกันยกระดับการบริหารจัดการกระบวนการผลิตวัตถุดิบอาหารคุณภาพสูงและมีความปลอดภัยสอดคล้องมาตรฐานสากล

“การจัดกิจกรรมเพื่อมุ่งส่งเสริมให้ผู้บริหารและเจ้าของกิจการ SMEs ที่เป็นคู่ค้าธุรกิจ เห็นความสำคัญและพร้อมที่จะร่วมเดินเคียงคู่กับซีพีเอฟในการยกระดับมาตรฐานการผลิตและส่งมอบวัตถุดิบอาหารที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทั้งมิติคุณภาพสินค้า และมิติความยั่งยืน  ด้วยแนวคิด “สินค้าดี ย่อมมาจากวัตถุดิบที่ดี” เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศด้านอาหารแบะเติบโตไปด้วยกัน” นางวิไลลักษณ์กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อยกย่องความสำเร็จของคู่ค้าธุรกิจ ซีพีเอฟได้มอบรางวัล Supplier Quality Engagement Awards 2023 เพื่อยกย่องคู่ค้า 3 ราย ได้แก่ บริษัท เอ็กซ์เซลแพ็คเกจจิ้ง จำกัด  บริษัท เอ็ม พี ฟู้ด โปรดักชั่น จำกัด  และ บริษัท ซีพี เฟรช จำกัด เป็นต้นแบบคู่ค้า SMEs ที่นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบจนสามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้มอบรางวัลเพื่อแสดงความขอบคุณและสร้างแรงจูงใจให้กับคู่ค้า SMEs ที่ทุ่มเทและให้ความร่วมมือในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตอย่างจริงจัง

ชัยทวี สมัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยเจริญ เฟรช จำกัด กล่าวว่า กิจกรรม Quality Together Day เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ผลิตผักสดที่ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัย ปลอดสาร ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีแนวปฏิบัติที่ดีในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สามารถส่งมอบสินค้าที่ตรงตามความต้องการของซีพีเอฟ

ไพศาล สมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยิ่งไพศาลการเกษตร จำกัด กล่าวเสริมว่า ซีพีเอฟช่วยเหลือให้คู่ค้าที่เป็นเกษตรกรได้รับความรู้ด้านระบบมาตรฐานการผลิตระดับสากล และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการผลิตและจัดหาสินค้าทางการเกษตรที่สด สะอาด ปลอดภัย ปลอดสาร ที่สำคัญช่วยลดปริมาณการสูญเสียจากสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ

ปฐวี มาไพศาลสิน ผู้จัดการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท เอ็ม พี ฟู้ด โปรดักชั่น จำกัด กล่าวเพิ่มว่า ความรู้ที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารขนาดกลางมีหลักการในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด และสามารถปรับปรุงพัฒนาให้สินค้าตรงตามที่ลูกค้าต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน และมีรายได้เพิ่มขึ้น

Quality Together Day จัดขึ้นภายใต้ โครงการ “PARTNER TO GROW…เติบโต เคียงข้าง อย่างยั่งยืน” ที่ดำเนินขึ้นต่อเนื่องปีที่ 2 เพื่อร่วมกันพัฒนาคู่ค้าธุรกิจ ครอบคลุมทั้งธุรกิจ SMEs ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้น ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นเลิศ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ หนุนธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นำนวัตกรรมอาหารคุณภาพ จากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้ภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน แสดงในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 ชูแนวคิด "Kitchen of the world with Sustainovation" เป็นครัวของโลกด้วยนวัตกรรมความยั่งยืน 

โดยปีนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมที่หลากหลาย อาทิ  “ซีพี ชิคเก้นพอคเก็ต ไส้กรอกและชีส” คว้ารางวัลนวัตกรรมอาหาร หรือ THAIFEX - Anuga Taste Innovation Show 2024 ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์กลุ่ม COOKING HELPER by CP  ได้แก่ ซอสปรุงรสสามเกลอ, น้ำจิ้มสุกี้ชาบูหมูกระทะ, น้ำจิ้มแจ่วอีสาน, น้ำจิ้มซีฟู้ดส์ และสังขยาใบเตย ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT การันตีความอร่อยของอาหารไทยจากกระทรวงพาณิชย์ และ “ไข่สดปลอดสาร Cage Free" แบรนด์ U FARM ยังได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์แนะนำ อาหารช่วยลดโลกร้อน ได้รับฉลาก “คาร์บอนนิวทรัล” (Carbon Neutral Product) ปลอดคาร์บอนรายแรกของภูมิภาคเอเชีย

นายเอกปิยะ เอื้อวุฒิเกริก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด เน็ตเวิร์ก จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้  เพื่อตอบโจทย์ความพึงพอใจของผู้บริโภคและสังคมรอบด้าน โดยมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร  ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน พัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ควบคู่กับใส่ใจและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“แนวคิด "Kitchen of the world with Sustainovation" เป็นการแสดงถึงภารกิจหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟ ที่ต้องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคในแต่ละประเทศพึงพอใจ ทั้งรสชาติและโภชนาการที่ดี ขณะที่กระบวนการผลิตมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ตามแนวทางการพัฒนาเกษตรและโรงงานอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน จัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า และร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” นายเอกปิยะ กล่าว

ครั้งนี้ บริษัทฯ นำผลิตภัณฑ์หลากหลายมาแสดงในงาน โดยแบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ 1.) Space Safety Standard : มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของเนื้อไก่สด แบรนด์ CP  2.) Superior Taste Awards 2024 & Other World Standards : สินค้าได้มาตรฐานสากล การันตีรสชาติความอร่อยระดับโลก 3.) Innovative Products : ผลิตภัณฑ์ไก่เบญจาและหมูชีวา แบรนด์ U Farm, เนื้อจากพืช แบรนด์ Meat Zero 4.) Net-Zero : ผลิตภัณฑ์สีเขียว 5.) Export - นำโดยแบรนด์ Authentic Asia อาหารเอเชียที่มีมาตรฐานสากล มีทั้งผลิตภัณฑ์ Thai Cube แบรนด์ Kitchen Joy ที่ประสบความสำเร็จในแถบประเทศสแกนดิเนเวีย รวมถึง เกี๊ยวกุ้งที่มีการพัฒนาให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละท้องที่ อาทิ เกี๊ยวกุ้งจักรพรรดิซุปหมาล่า และ 6.) Import : ผลิตภัณฑ์ HARVEY BEEF, CP Uoriki

ในปีนี้ มีผลิตภัณฑ์ไฮไลท์ คือ 'ซีพี ชิคเก้นพอคเก็ต ไส้กรอกและชีส' สามารถคว้ารางวัลด้านนวัตกรรมบนเวที THAIFEX – Anuga Asia 2024 ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ต้องการอาหารที่ Low-carb, High Protein โดยแซนด์วิชรูปแบบใหม่ไม่มีขนมปัง ใช้เนื้อไก่ส่วนอกมาแทน ประกบด้วยชีสและไส้กรอก การันตีความปลอดภัยด้วย Space Safety Standard หรือมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสุดระดับอวกาศ ซึ่งเป็นมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การ NASA และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาล

ด้าน ผลิตภัณฑ์กลุ่ม COOKING HELPER by CP ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ได้แก่ ซอสปรุงรสสามเกลอ, น้ำจิ้มสุกี้ชาบูหมูกระทะ, น้ำจิ้มแจ่วอีสาน, น้ำจิ้มซีฟู้ดส์ และสังขยาใบเตย โดยกระทรวงพาณิชย์มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป ที่มีรสชาติไทยแท้ ใช้วัตถุดิบจากแหล่งท้องถิ่นเกิน 80% ผ่านกระบวนการผลิตและขั้นตอนของการปรุงอาหารมาตรฐานระดับสากล

อีกหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ สามารถดำเนินการได้เป็นรายแรกของภูมิภาคเอเชีย คือ 'ไข่สดปลอดสาร Cage Free' แบรนด์ U FARM' ได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์แนะนำ "อาหารช่วยลดโลกร้อน" เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลาก “คาร์บอนนิวทรัล” (Carbon Neutral Product) ปลอดคาร์บอน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้วัสดุรีไซเคิล 100%

พบกับบูธซีพีเอฟ ได้ที่หมายเลข 2-U01 อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 ศูนย์การค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเปิดให้คู่ค้าและพันธมิตรด้านอาหารจากทั่วโลกร่วมเจรจาธุรกิจตั้งแต่วันที่ 28 -31 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00-18.00 น. และเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมและเลือกซื้อสินค้าคุณภาพในราคาพิเศษ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00-20.00 น.

นายมงคล ตั้งศิริวิช ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลประเทศไทย ลาว เมียนมา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง กับ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในการยกระดับการใช้ระบบอัตโนมัติในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติให้กับบุคลากร สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ และร่วมพัฒนาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ รวมถึงระบบบริหารจัดการ/ประหยัดพลังงานต้นแบบ สำหรับกระบวนการต่างๆ ในฟาร์ม และโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เพื่อช่วยให้องค์กรของลูกค้าสามารถขับเคลื่อนธุรกิจ พร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จึงคิดค้นเทคโนโลยีดิจิทัลแบบเปิดที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบเรียลไทม์ ลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดต้นทุนด้านการซ่อมบำรุง และที่สำคัญช่วยให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายมงคล ตั้งศิริวิช ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลประเทศไทย ลาว เมียนมา เผยว่า “เรารู้สึกยินดีที่ได้รับความไว้วางใจจาก ซีพีเอฟ ในการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติด้านอุตสาหกรรมอาหาร โดยการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นในการยกระดับระบบอัตโนมัติของซีพีเอฟ ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับกระบวนการต่างๆ ทั้งในฟาร์ม และโรงงาน นอกจากนี้ เรายังมีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านผู้เชี่ยวชาญของเรา ที่มีประสบการณ์จากทั่วโลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน”

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 1,152 ล้านบาท เติบโต 142% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากราคาเนื้อสัตว์ในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับในปีที่ผ่านมา  ประกอบกับประสิทธิภาพในการผลิตที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นนี้ว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่บริษัทผ่านความท้าทายมากมายไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และภาวะสินค้าล้นตลาดของปริมาณเนื้อสัตว์ในหลายประเทศจากกำลังซื้อที่ไม่ดีขึ้นตามคาด ซึ่งทำให้บริษัทให้ความสำคัญเรื่องประสิทธิภาพและระมัดระวังในการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง มีการตัดจำหน่ายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ดีขึ้น รวมถึงการวิจัย พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงประเภทสินค้าอาหารสุขภาพที่เน้นด้านโภชนาการที่ดี พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางด้านการตลาด การขาย และช่องทางจัดจำหน่ายให้สอดคล้องกับสภาวะของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ปรับตัวดีขึ้นถึง 142%  โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในประเทศเวียดนามและกัมพูชา จากการขยายช่องทางในการขาย และระดับราคาสุกรที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น บริษัทยังมีส่วนได้ในกำไรของบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ดีขึ้นจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ CPALL และธุรกิจสุกรในประเทศจีน และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2567 ผลการดำเนินงานของซีพีเอฟจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

วันนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย หรือผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13.64 ล้านคน คิดเป็น 19.5% หรือ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่จำนวน 5.11 ล้านคน คิดเป็น 37.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด การเผชิญหน้ากับ 'สังคมผู้สูงอายุ' จึงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายเพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรครั้งสำคัญ

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ตระหนักถึงสถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยมาโดยตลอด จึงได้ขับเคลื่อน "โครงการบ้านชื่นสุข" ต.หัวง้ม อ.พาน จ.เชียงราย เพื่อสนับสนุนเสริมสร้างพลังกายและพลังใจให้กับผู้สูงวัย ควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุ ให้ก้าวข้ามผ่านความกลัว ความเศร้า และความทุกข์ใจ เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

ธิดา สำราญใจ ผู้บริหารด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า ผู้สูงอายุถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ เพราะเป็นผู้ที่พร้อมไปด้วยความรู้ ประสบการณ์ คุณวุฒิ และภูมิปัญญา การทำให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีความสุขในบั้นปลาย โดยต้องมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ได้รับเกียรติ ได้รับการยอมรับ การเห็นคุณค่า ทั้งจากครอบครัวและสังคม ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ขณะเดียวกัน "ผู้สูงอายุ" ก็ถือเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมโทรมถดถอยในด้านต่างๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ อาจมีโรคภัยที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

“โครงการบ้านชื่นสุข เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพัง และมีภาวะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า แต่ยังสามารถ ช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยบุคลากรอาสา เพื่อให้ท่านรับรู้ได้ว่าตนเองยังมีความสำคัญ มีคนห่วงใย พร้อมช่วยดูแล สร้างความอบอุ่นใจให้พวกท่าน เพื่อที่จะต่อสู้กับชีวิตในวัยสูงอายุได้ดีขึ้น และยังถือเป็นการตอกย้ำในเรื่อง “ความกตัญญู” รวมถึงการตอบแทนบุญคุณ รู้จักให้ ที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานพึงกระทำ” ธิดา กล่าว

ทางด้าน อาจารย์ อัญชลี ไก่งาม อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียนป่าแดงวิทยา ต.หัวง้ม อ.พาน จ.เชียงราย ที่ปัจจุบันได้เข้ามาเป็นบุคลากรอาสา ดูแลโครงการบ้านชื่นสุขร่วมกับมูลนิธิฯ กล่าวว่า โครงการบ้านชื่นสุข เป็นโครงการฯ ที่สร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ทำให้ผู้สูงวัยเข้าใจถึงคำว่า “แก่อย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ"  เพราะสามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่เป็นภาระของสังคม อย่างน้อยโครงการฯ ก็ได้ช่วยแบ่งเบาภาระทั้งภาครัฐ และลูกหลานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในการดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว

“ถึงแม้ผู้สูงอายุบางคนจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่ก็ยังต้องการความรัก การเอาใจใส่จากครอบครัวและลูกหลาน จึงอยากเชิญชวนให้ลูกหลานกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้านกันบ้าง ไม่ต้องมีเงินทองมากมายมาให้ เพียงแต่มาเยี่ยม มาพูดคุย ให้กำลังใจ อยู่เป็นเพื่อนท่านบ้าง ก็ถือเป็นการสร้างความสุขในบั้นปลายให้แก่ท่านแล้ว” อาจารย์อัญชลี กล่าว

บุญยนุช จันทร์บุญธรรม หรือ คุณยายญา ตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการฯ บอกนิยามของโครงการฯนี้ว่า “กินอิ่ม นอนอุ่น” เป็นคำพูดที่เข้าใจได้ง่าย และสะท้อนผลสำเร็จ ของโครงการฯ จากสุขภาพร่างกายที่อ่อนแรง และจิตใจที่อ่อนแอ การได้เข้าร่วมโครงการบ้านชื่นสุข ทำให้ได้ศึกษาธรรมะ ฝึกสมาธิ และทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆร่วมกับคนในวัยเดียวกัน คุณยายรู้สึกสนุกและมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาเจอเพื่อน ๆ โครงการฯ นี้พลิกฟื้นชีวิตให้กลับมาเป็นปกติ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง กลับมาทำกับข้าว กวาดบ้านถูบ้านได้ สรุปง่ายๆว่า “ช่วยคืนชีวิต คืนความสุขให้กับผู้สูงอายุได้ 100%”

โครงการบ้านชื่นสุข ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ตอกย้ำความเชื่อของเครือซีพี ในคุณค่า ‘ความกตัญญู’ ที่สามารถบ่มเพาะให้เติบโตในจิตใจของทุกคน ที่จะกลายเป็นการหยั่งรากสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและยั่งยืนในสังคม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมที่ดีงามของสังคมไทย

X

Right Click

No right click