SCB CIO พร้อมสนับสนุนมาตรการรัฐ กระตุ้นตลาดทุนไทย ปรับเกณฑ์เพิ่มวงเงินลงทุนกองทุน ThaiESG ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 300,000 บาท ลดระยะเวลาลงทุนเหลือเพียง 5ปี นับจากวันที่ลงทุน พร้อมดึง 6 กองทุน 3 รูปแบบ 2 ทางเลือก ได้แก่ SCBTM(ThaiESG) SCBTM(ThaiESGA) SCBTA(ThaiESG) SCBTA(ThaiESGA) SCBTP(ThaiESG) และ SCBTP(ThaiESGA) เป็นทางเลือกการออม

ที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดีให้กับผู้ลงทุน เพื่อตอบโจทย์ตามเป้าหมายความต้องการของลูกค้า แนะสะสมหุ้นไทยไว้ใน Core port จาก 5 ปัจจัยหลัก ที่หนุนดัชนีหุ้นไทยปีนี้ ได้แก่ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในปี 2567 ที่เร่งตัวขึ้น และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2) Valuation ของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง 3) ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 14% 4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ 5) การประกาศใช้มาตรการ Uptick Rule หรือ ให้ Short Sales หุ้นได้เฉพาะราคาที่สูงกว่าราคาตลาด

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB CIO พร้อมสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการออมการลงทุน ภายหลังจากที่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้สรุปแนวทางและพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน2 สัปดาห์นี้ ในการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund : ThaiESG) โดย SCB CIO มองว่า การขยายวงเงินลงทุนจากไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน ที่ซื้อได้ไม่เกิน 100,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น ไม่เกิน300,000 บาท และลดระยะเวลาการถือครองจาก 8 ปี เป็น 5 ปี นับจากวันที่ลงทุน จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น จากกลุ่มผู้ลงทุนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และลงทุนเพื่อการออมระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ต้องการสร้างวินัยในการออม เพื่อเป้าหมายในอนาคต โดยเลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้

นอกจากนี้ การขยายนโยบายการลงทุนให้ครอบคลุมด้านธรรมาภิบาล (Governance) ส่งเสริมความโปร่งใส จากเดิมเน้นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมจำนวนบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai เพิ่มขึ้น จาก 128 บริษัท เป็น 200 บริษัทนั้น SCB CIO มองว่า จะทำให้การลงทุนในหุ้นไทยผ่าน ThaiESG มีความครอบคลุมครบทุกมิติของ ESG และมีความหลากหลายในการเลือกลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้กับนักลงทุนเพราะเงื่อนไขการลงทุนของบริษัทต่างๆ จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ก.ล.ต. กำหนด

ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้ผู้ลงทุน พิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นไทยบนพอร์ตลงทุนหลัก (Core port) ที่เป็นพอร์ตการลงทุนระยะยาว โดยเรามองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยสนับสนุนระยะยาว 5 ประเด็นหลักที่หนุนดัชนีหุ้นไทย ได้แก่ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในปี 2567 ที่เร่งตัวขึ้นประมาณ 39% ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2567 และยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 2) Valuation ของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง ใกล้เคียงกับช่วงโควิด-19 3) ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะช่วยสนับสนุนเงินทุนไหลกลับเข้าไทยมากขึ้น และ 5) การประกาศเริ่มใช้มาตรการ Uptick Rule หรือ ให้ Short Sales หุ้นได้เฉพาะราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ล่าสุด (uptick) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ จากการที่ทำธุรกรรม Short Sales ได้ยากขึ้นในช่วงตลาดขาลง

สำหรับ ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนระยะยาว พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผ่านกองทุนรวม ThaiESG นั้น ปัจจุบัน SCB มีกองทุน ThaiESG ให้เลือก 3 รูปแบบที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี และตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า โดยในแต่ละรูปแบบมี 2 ทางเลือก คือ แบบปันผล และสะสมมูลค่า ได้แก่ กองทุน SCBTM(ThaiESG) และ SCBTM(ThaiESGA) ที่ลงทุนแบบผสมหุ้นไทยและตราสารหนี้ ESG กองทุน SCBTA(ThaiESG) และ SCBTA(ThaiESGA) ที่ลงทุนหุ้นไทย ESG ด้วยกลยุทธ์บริหารเชิงรุก และกองทุน SCBTP(ThaiESG) และ SCBTP(ThaiESGA) ลงทุนหุ้นไทย ESG ที่ผลตอบแทนอิงตามดัชนี SET ESG รวมทางเลือกมากที่สุดในตลาดทั้งหมด 6 กองทุน โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกตามความเหมาะสม และเป้าหมายของแต่ละท่านที่ตั้งไว้ รวมทั้งความเสี่ยงที่สามารถรับได้

เปิดประตูสู่อนาคตที่ยั่งยืน สร้างขุมกำลังคนสายดิจิทัลตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานทุกภาคส่วน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และธนาคาร เอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของทั้งสององค์กร ผ่านการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนในไทยอย่างครบวงจร โดยอาศัยความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจของธนาคารเอชเอสบีซีใน 62 ประเทศและเขตการปกครอง ความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนองค์กรข้ามชาติในการขยายธุรกิจระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแพลตฟอร์มด้านการเงินดิจิทัลของธนาคารเอชเอสบีซี เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงโอกาสในการลงทุนและขยายธุรกิจในประเทศไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพและความพร้อมหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะขั้นสูง รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเชิงรุกจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมารัฐบาลและบีโอไอได้เดินหน้าออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ รวมถึงกิจกรรมชักจูงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงการสำคัญของบริษัทรายใหญ่จากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขการลงทุนทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ด้วยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 8.48 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กว่า 6.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 72 ทั้งนี้ บีโอไอเชื่อว่ากระแสการลงทุนจากต่างประเทศจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรก ปี 2567 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่าการลงนามเป็นพันธมิตรกับธนาคารเอชเอสบีซีในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจ และความสามารถในการประสานงานกับนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเร่งการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

”ความร่วมมือครั้งนี้ธนาคารเอชเอสบีซีจะใช้เครือข่ายลูกค้าธุรกิจระดับโลก และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจมาสู่ประเทศไทย ทั้งในรูปแบบของโซลูชันทางการเงินและการให้คำปรึกษา นอกจากนี้ ธนาคารเอชเอสบีซีจะจัดกิจกรรมโรดโชว์ในตลาดสำคัญ เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย อาเซียน ยุโรป และสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค 

ความร่วมมือระหว่างบีโอไอและธนาคารเอชเอสบีซีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่บริษัทรายใหญ่ระดับโลกมีความต้องการที่จะขยายธุรกิจและมองหาโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งวันนี้อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่น และไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีความเหมาะสมจะเป็นฐานลงทุนแห่งใหม่ของตลาดโลก บีโอไอมั่นใจว่าเครือข่ายระดับโลกของธนาคารเอชเอสบีซี จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและเร่งการลงทุนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ของบีโอไอ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานสะอาด และสนับสนุนการตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขยายการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนกว้างขึ้น โดยบีโอไอและธนาคารเอชเอสบีซีจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการลงทุนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน” นายนฤตม์ กล่าว

 

นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย

นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ธุรกิจระหว่างประเทศต้องการลงทุน โดยบทวิจัย HSBC Global Connections ระบุว่า ร้อยละ 37 ของบริษัทที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้วในปัจจุบัน ซึ่งแรงงานที่มีทักษะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ ตามมาด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตและจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคมาอย่างยาวนาน และยังคงเป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนของโลก ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยถือเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน โดยมียอดการผลิตคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของประเทศทั้งหมดในภูมิภาค ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่จากประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)”

“ธนาคารเอชเอสบีซีเป็นหนึ่งในธนาคารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ใน 62 ประเทศและเขตการปกครอง และเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยซึ่งมีประสบการณ์ในการธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 135 ปี เราจึงเชื่อมั่นในศักยภาพขององค์กรในการเชื่อมโยงประเทศไทยกับนักลงทุนทั่วโลก ผ่านการนำเสนอ โซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจรและแพลตฟอร์มนวัตกรรมด้านการเงินดิจิทัล โดยธนาคารฯ พร้อมให้การสนับสนุนบีโอไอในกิจกรรมโรดโชว์ต่าง ๆ และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเศรษฐกิจดิจิทัล”

รายงานของธนาคารเอชเอสบีซียังชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจระหว่างประเทศร้อยละ 18 ที่ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจในไทยมีแผนจะขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยภายใน 2 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจและมองว่ามีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค เราเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้และโซลูชันด้านการเงินระหว่างประเทศชั้นนำของเอชเอสบีซีจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายในการร่วมปลดล็อคโอกาสการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมั่นคง” นายกัมบา กล่าวปิดท้าย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) (ที่ 2 จากขวา),

นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย (ที่ 3 จากขวา), นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ บีโอไอ (ที่ 1 จากขวา) และนายกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย (ที่ 4 จากขวา)

 

ภายหลังพิธีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ปลดล็อคโอกาสการลงทุนในไทย” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ได้แก่ นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ บีโอไอ, นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย, นายแฟรงค์ คอนสแตนต์ ผู้ร่วมก่อตั้ง คอนสแตนท์ เอนเจอร์จี ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานหมุนเวียน และนายยี่ เสี่ยวผิง รองประธาน ไฮเซ่นส์ อาเซียน โดยผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเจาะตลาดไทยควบคู่ไปกับการตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ในอาเซียน โดยการสนับสนุน อาทิ ฟรีวีซ่าและความตกลงการค้าเสรี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย นอกเหนือไปจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ภายในงานยังมีบุคคลสำคัญและผู้แทนจากสถานทูตและหอการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมงาน เช่น สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม องค์กรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย หอการค้าเกาหลี – ไทย และหอการค้าอังกฤษ-ไทย

SCB WEALTH เดินหน้าจัดงานสัมมนา Exclusive Investment Talk ในหัวข้อ “รู้ทันเศรษฐกิจโลก จัดสรรความมั่งคั่งแบบมีเป้าหมาย” ให้แก่กลุ่มลูกค้า High Net Worth Individuals (HNWIs) โดยมองว่า มี5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการจัดพอร์ตลงทุนในครึ่งหลังปี 2567 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อชะลอลง เศรษฐกิจยุโรป หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)  ด้านเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามเป้าที่ 5% ส่วนไทย ถูกปรับลดประมาณการ GDP ในปีนี้ลงอย่างต่อเนื่อง ตามการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐฯ ที่ชะลอตัว  คาดเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ช่วงเดือน ก.ย. และ ธ.ค.รวม 50 bps. ด้านสินทรัพย์ลงทุน นับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 31 พ.ค. 2567 ทองคำ ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 12.8%   หุ้นสหรัฐฯ 10.6% น้ำมัน WTI และ ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (ไม่รวมหุ้นสหรัฐฯ)  7.5% และหุ้นตลาดเกิดใหม่ 3.5%  การจัดพอร์ตหากรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง แนะแบ่งเงิน 75-85% ไว้ในพอร์ตหลัก กระจายลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ตลาดหุ้นที่มีพื้นฐานดี ทั้งในตลาดพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งสินทรัพย์ทางเลือก เช่น REITs และทองคำ ส่วนอีก 15-25% แบ่งลงทุนในตลาดหุ้นที่เห็นโอกาสในการสร้างผลแทบแทนในช่วงเวลานั้น ได้แก่ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เวียดนาม จีน H-Share  ยุโรป และไทย  จากValuation ค่อนข้างถูก และคาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นจะขยายตัวดีขึ้น 

นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยในงานสัมมนา  Exclusive Investment  Talk   ภายใต้หัวข้อ “รู้ทันเศรษฐกิจโลก จัดสรรความมั่งคั่ง แบบมีเป้าหมาย ” ที่จัดขึ้นให้แก่กลุ่มลูกค้า High Net Worth Individuals (HNWIs) ว่า  ปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งหลังของปี 2567  มี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อพอร์ตลงทุน ได้แก่ 1)  ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด  2) ความไม่แน่นอนจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 3) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ – จีน 4) ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และ 5) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์  โดย  SCB CIO  มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เกือบทุกประเทศถูกปรับประมาณการดีขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าอดีต ขณะที่ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มปรับลดลง จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะหากทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วนำไปสู่การขึ้นภาษีทุกสินค้านำเข้าจากจีนอย่างน้อย 60% และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกที่ 10% จะส่งผลกดดันโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ผ่านการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกที่จะแย่ลง

ทั้งนี้ มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี 2567 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอลง แต่ยังปรับลดลงค่อนข้างช้า ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ  ยังคงแข็งแกร่ง ส่วนเศรษฐกิจยุโรป  ได้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ด้านเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามเป้าที่ 5% โดยในระยะสั้นได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ แต่ในระยะกลาง ยังถูกกดดันจากการชะลอตัวเชิงโครงสร้างของภาคอสังหาฯ และการกีดกันทางด้านการค้าที่รุนแรงมากขึ้น สำหรับเศรษฐกิจไทย ถูกนักเศรษฐศาสตร์ปรับลดประมาณการ GDP ในปีนี้ลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปี ตามการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐฯ ที่ชะลอตัว แม้ว่าจะมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวก็ตาม  

ส่วนความไม่แน่นอนนโยบายการเงินของเฟด มีผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐฯ 10 ปี โดยก่อนหน้านี้ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น แตะระดับสูงสุดนับจากต้นปี (YTD) ที่ 4.71% แต่หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่า ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และความกังวลข้อพิพาททางการค้ากับจีน ทำให้ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลง มาอยู่ที่ 4.34% แต่เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น PMI และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออกมาดี ขณะที่ สมาชิกเฟด ยังคงท่าทีระมัดระวังต่อการลดดอกเบี้ยนโยบาย และรายงานการประชุมฯ รอบล่าสุดที่ค่อนข้างมีมุมมองการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว  ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า เฟดจะเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปหรือไม่ ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ 10 ปี ปรับขึ้นอีกครั้ง โดย ณ วันที่ 31 พ.ค. 2567 อยู่ที่ 4.50% อย่างไรก็ดี มองว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 50 bps. ในปีนี้ ในช่วงเดือน ก.ย. และ ธ.ค. ขณะที่ตลาดคาดเฟดปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งเช่นกัน ทำให้หากเฟดลดอัตราดอกเบี้ยน้อยหรือช้ากว่าที่ตลาดคาด จะส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด เนื่องจาก ต้นทุนการระดมทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะยังอยู่ในระดับสูงต่อ และกระทบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ คาดว่า ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. (ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ธนาคารกลางยุโรป ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปีตามคาดการณ์) เร็วกว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกออกไปเป็นไตรมาสที่ 3-4/2567  ในส่วนของไทย คาดว่า การลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงไตรมาส 4/2567 ขณะที่ ประเทศที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ ญี่ปุ่น ซึ่งได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ช่วงไตรมาส 3/2567 จากเงินเฟ้อที่เริ่มกลับมา และอินโดนีเซีย  ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อเดือน เม.ย.จากเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่ามาก

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ - จีน ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าบางรายกับจีน มูลค่าประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พุ่งเป้าที่สินค้าสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า เหล็ก และ อลูมิเนียม   โดย SCB CIO คาดว่าผลลบโดยตรงที่เกิดกับจีนยังมีค่อนข้างจำกัด  เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ คิดเป็น 0.1% ของ GDP จีน อีกทั้ง บริษัทจีนทยอยรับมือลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ผ่านการปรับห่วงโซ่อุปทาน ปรับช่องทางการค้า และมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงทางการค้าอย่างต่อเนื่อง   

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ - จีน มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากนี้ จากประเด็นความไม่แน่นอนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ   หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2567 อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ทำให้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายระหว่างสหรัฐฯ – จีน ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ทรัมป์ มีแผนจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการ อย่างน้อย 60% ซึ่งจะกระทบต่อจีน คิดเป็น 0.8% ของ GDP จีน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทางการจีนจะยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าอย่างมีนัย เพื่อลดผลกระทบกำแพงภาษี

นอกจากนี้  ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ล่าสุด คือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ที่ก่อนหน้านี้อิหร่านตอบโต้อิสราเอลโดยตรงเป็นครั้งแรก ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งใหม่ แต่สุดท้าย สถานการณ์ก็ไม่ได้รุนแรงอย่างที่กังวล เพียงแต่สงครามยังไม่จบ ขณะที่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ  ทั้งนี้ จากสถิติในอดีต ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง จะกระทบต่อตลาดหุ้นโลกให้ปรับลดลงอย่างมากในกรณีที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นมาก จนส่งผลกระทบไปยังอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย โดยหากพิจารณาจาก ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2533 – 2567 พบว่า ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเล็กน้อยในช่วง 1 สัปดาห์หลังสงคราม และเมื่อสงครามผ่านพ้นไปแล้ว หากสงครามอยู่ในวงจำกัด ตลาดหุ้นจะกลับมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกได้ ในช่วงตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ขณะที่ สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ  พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ  และราคาน้ำมัน จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก โดยเฉพาะในช่วงสั้นที่มีความกังวลบนความขัดแย้ง

น.ส.เกษรี กล่าวว่า เมื่อพิจารณา ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 31 พ.ค. 2567 ทองคำ ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด  อยู่ที่ 12.8%  ตามด้วย หุ้นสหรัฐฯ อยู่ที่ 10.6% น้ำมัน WTI และ ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (ไม่รวมหุ้นสหรัฐฯ) อยู่ที่ 7.5% และหุ้นตลาดเกิดใหม่ อยู่ที่ 3.5%  อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาควบคู่กับสถิติในอดีต ไม่มีสินทรัพย์ประเภทใดให้ผลตอบแทนโดดเด่นติดต่อกันทุกปี โดยสามารถให้ผลตอบแทนติดลบหรือเป็นบวกได้ในบางปี ดังนั้น หากต้องการรับมือความเสี่ยงที่มีผลต่อการลงทุน เราแนะนำให้ผู้ลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation) ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสรับผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอในระยะยาว  

สำหรับ การจัดพอร์ตโดยการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย( Asset Allocation )ในกรณีรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง ผู้ลงทุนสามารถจัดแบ่งเงินส่วนใหญ่ 75-85% ไว้ในพอร์ตหลักสำหรับการลงทุนระยะยาว (Core Portfolio) โดยควรมีการสำรองสภาพคล่อง พร้อมกระจายเงินลงทุนทั้งในตราสารหนี้ เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้พอร์ตลงทุน เพราะจากสถิติในอดีตบ่งชี้ว่า ในช่วง 6 เดือน และ 12 เดือน หลังเฟด หยุดขึ้นดอกเบี้ย และหลังเฟด ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนรวมเป็นบวก รวมถึงลงทุนในตลาดหุ้นที่มีพื้นฐานดี มี Valuation ที่เหมาะสม ทั้งในตลาดพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) รวมถึง สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ เพื่อกระจายความเสี่ยง ให้พอร์ตมีความมั่งคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น

ขณะที่ เงินอีกส่วน 15-25% สามารถแบ่งไปลงทุนผ่าน พอร์ตเสริมโอกาส (Opportunistic Portfolio) ในตลาดหุ้นที่เห็นโอกาสในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งในปัจจุบัน SCB CIO มองเห็นโอกาสอยู่ใน 5 ตลาด ได้แก่ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม ตลาดหุ้นจีน H-Share ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นไทย ที่ Valuation ค่อนข้างถูก ขณะที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์ คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS growth) ของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในปี 2567 จะขยายตัวดีขึ้น  


คำเตือน

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777

จีนพร้อมรับมือสงครามการค้าแนะCore port จับจังหวะลงทุนหุ้นสหรัฐ-จีน Ashare

Page 1 of 29
X

Right Click

No right click