January 22, 2025

‘วิถี 8’ กุญแจสำคัญสร้าง ‘ผู้นำที่ใช่’ พิชิตความท้าทายในโลกธุรกิจยุคใหม่

April 25, 2024 752

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัลส่งผลกระทบต่อโลกธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต อาจเผชิญความท้าทายในการรักษาการเติบโตท่ามกลางการดิสรัป ที่ถาโถม ทั้งจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด และปัจจัยภายในองค์กร เช่น ช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ซึ่งเป็นความแตกต่างทั้งความคิด ความเชื่อ และทักษะของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกัน ผู้นำยุคใหม่ จึงต้องเผชิญ เรียนรู้ และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์เหล่านี้ แนวทางการบริหารธุรกิจของ “ผู้นำที่ใช่” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรให้รอดพ้นจากความท้าทาย และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโพชฌงค์ (Inner – Self Development Institute) ที่ปรึกษาด้านบริหารและยุทธศาสตร์ให้กับองค์กรชั้นนำระดับแถวหน้า และนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่สร้างอิมแพ็คให้กับใจคนมากมาย ซึ่งมีความเข้าใจในบริบทของการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ได้แนะแนวทางสู่ความสำเร็จของ "ผู้นำที่ใช่" ผ่านโครงการ และหนังสือ "The Right Leader" เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้บริหารธุรกิจและองค์กรได้อย่างลงตัว รองรับทุกความเปลี่ยนแปลงและก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผสมผสาน “การบริหาร” และ "การพัฒนาใจ" เข้าด้วยกัน โดยใช้หลัก "มรรคมีองค์ 8" เกิดเป็น "วิถี 8 สู่ผู้นำที่ไม่มีวันตกยุค" ซึ่งเป็นวิถีที่เปรียบเสมือนวงล้อที่หมุนนำไปสู่การพัฒนาความเป็นผู้นำ ส่งเสริมองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย

 

  1. The Right Mindset กรอบความคิดที่ใช่ (สัมมาทิฏฐิ)

ผู้นำที่ดีต้องมี "กรอบความคิดที่ใช่" หรือ เรียกได้ว่าเป็นชุดความคิดที่เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรก เป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำและผู้ตามควรมี Mindset ที่ตรงกัน เช่น กรอบความคิดเชิงพัฒนา (Growth Mindset) ความเชื่อ และความคาดหวังที่สอดคล้อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

  1. The Right Purpose เป้าหมายที่ใช่ (สัมมาสังกัปปะ)

ผู้นำที่ใช่ต้องมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ช่วยเหลือสังคม และไม่เบียดเบียนผู้อื่น “เป้าหมายที่ใช่” นี้ จะสอดคล้องกับ “กรอบความคิดที่ใช่” (The Right Mindset) ของทั้งผู้นำและผู้ตาม

  1. The Right Communication การสื่อสารที่ใช่ (สัมมาวาจา)

"การสื่อสารที่ใช่" คือ กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กร ผู้นำที่ใช่ควรสื่อสารอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นจากการสื่อสารภายในกับตนเอง แล้วค่อยสื่อสารกับผู้อื่นต่อไป ซึ่งควรชัดเจน ตรงประเด็น เข้าใจง่าย โดยมุ่งเน้นไปที่การบรรลุเป้าหมาย และสามารถถ่ายทอดไปยังพนักงานในทุกระดับ

  1. The Right Action การกระทำที่ใช่ (สัมมากัมมันตะ)

การกระทำของผู้นำมีอิทธิพลต่อพนักงานและองค์กรโดยรวม ทุกกิจกรรมที่ทำล้วนเป็นการกระทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย และเป็นการสะท้อนให้เห็นกรอบความคิดของผู้นำที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย “การกระทำที่ใช่” ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งต่อผู้คน สังคม และโลก (PSP: People – Social - Planet)

  1. The Right Livelihood การเลี้ยงชีพที่ใช่ (สัมมาอาชีวะ)

“การเลี้ยงชีพที่ใช่” คือ การบวชอยู่กับงาน หมายถึง การทำงานควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรม หรือการพัฒนาใจตนเองนั่นเอง ผู้นำควรบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่เห็นแก่ตัว แม้จะมุ่งที่การทำธุรกิจอย่างมีกำไร แต่ก็ให้ความสำคัญกับพนักงาน และคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน (Profit - People – Sustainability)

  1. The Right Deliberate Practice ความเพียรที่ใช่ (สัมมาวายามะ)

การทุ่มเทแรงกายแรงใจในสิ่งที่ถูกต้องเป็น "ความเพียรที่ใช่" ผู้นำที่ใช่ควรทุ่มเทในสิ่งที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ควบคู่กับการพัฒนาตนเอง สร้างกุศล และขจัดกิเลสออกจากใจ ผู้นำที่เปี่ยมด้วยความเพียรที่ใช่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ  

  1. The Right Mindfulness การระลึกรู้ที่ใช่ (สัมมาสติ)

การมีสติเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ผู้นำทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการฝึกสติ ประเทศไทยนั้นถือเป็นต้นแบบของการฝึกทักษะนี้ ผู้นำควรฝึกสติเป็นประจำ เปรียบเสมือนการตรวจสอบ "กาย ใจ และความคิด" ของตนเองอยู่เสมอ เมื่อสติมาปัญญาจะเกิด “การระลึกรู้ที่ใช่” เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้นำ ช่วยให้มองเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (Seeing The Unseen) ซึ่งตรงกับหลักการบริหารที่ว่าด้วยการวางแผน ลงมือทำ ตรวจสอบ แก้ไข (Plan Do Check Action) ผู้นำที่ใช่ จะสามารถครองสติและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน

  1. The Right Concentration ใจตั้งมั่นที่ใช่ (สัมมาสมาธิ)

ผู้นำจะแพ้หรือชนะมักจะวัดกันด้วยเรื่องการตัดสินใจ หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจผิดพลาดมาจากใจที่ไม่สงบ ผู้นำที่ใจไม่สงบ มักตัดสินใจผิดพลาด ส่งผลเสียต่อองค์กร “ใจตั้งมั่นที่ใช่” คือ การฝึกจิตให้สงบ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำ ซึ่งต้องใช้เวลาและควรฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดี พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) นำไปสู่การพัฒนาองค์กรในด้านต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

“การนำมรรคมีองค์ 8 มาประยุกต์ใช้ จะช่วยสร้างสมดุลและปลดล็อกความท้าทาย ผ่านการพัฒนาจิตใจผู้นำให้มีความสงบ เกิดปัญญา คิดอย่างมีวิจารณญาณ ตั้งเป้าหมายที่ถูกต้องชัดเจน นำไปสู่การปฏิบัติที่ดีต่อสังคมและโลกภายนอก ส่งผลดีต่อองค์กรทั้งด้านผลประกอบการ พนักงานมีความสุข และนำไปสู่ความยั่งยืน” ดร.วรภัทร์ กล่าวสรุป

ผู้นำมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ ท่ามกลางความท้าทายที่ผันแปรอยู่ตลอดเวลา ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และไม่หยุดพัฒนาทักษะการเป็นผู้ที่นำที่ใช่ให้กับทั้งผู้บริหารและพนักงาน จะสามารถนำพาองค์กรให้ผ่านพ้นอุปสรรคและคว้าโอกาสใหม่ ๆ ได้ทันท่วงที ช่วยให้องค์กรอยู่รอดและเติบโตในโลกธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน

X

Right Click

No right click