×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 809

ถ้าทรัมป์กีดกันสินค้าไทย

July 24, 2017 6722

ต้นเดือนเมษายน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี 2 ฉบับโดยพุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหามาตรการเพื่อจัดการกับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกากำลังเสียดุลการค้าอยู่ 16 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยกำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

ในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับแรก กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ตรวจสอบเพื่อจำแนกว่า การขาดดุลการค้าเกิดจากสาเหตุที่ผิดปกติและละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้าหรือไม่ อีกคำสั่งหนึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่อการคุ้มครองพรมแดนและศุลกากรสหรัฐอเมริกา ในการประเมิน ดำเนินมาตรการลงโทษทางการเงินต่อสินค้าที่ส่งเข้ามาด้วยพฤติกรรมทางการค้าผิดปกติและไม่เป็นธรรม หรือการเรียกเก็บภาษีขาเข้าเพื่อตอบโต้การกระทำที่เข้าข่ายการทุ่มตลาดดังกล่าวและจัดเก็บเงินดังกล่าวนี้
หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมาสำนักงานสถิติและสำมะโนแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกาอยู่ 18,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 15,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2558 และ 14,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2557 สินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้คือ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และยางรถยนต์ โดย 35 เปอร์เซ็นต์ของยางรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นยางที่นำเข้าจากประเทศไทย
ทางด้าน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่าหากสหรัฐฯ ดำเนินการตอบโต้โดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับไทย ซึ่งอาจมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ การขึ้นภาษีนำเข้า การกำหนดโควตานำเข้า มาตรการดังกล่าวน่าจะจำกัดอยู่ในสินค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลกับไทยมากและมีการนำเข้าจากไทยเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าชนิดนั้นทั้งหมด ซึ่งได้แก่ สินค้าประเภท อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สัตว์น้ำ ยางและล้อรถยนต์ เครื่องประดับและอัญมณี ผลไม้กระป๋อง อุปกรณ์ถ่ายภาพ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน และยางธรรมชาติ โดยกลุ่มสินค้าดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าส่งออกของไทยประมาณ 14,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.8% ของส่งออกไทยทั้งหมด
และเมื่อพิจารณาสินค้าที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบ สามารถจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ผู้ผลิตเป็นบริษัทข้ามชาติในไทย และบริษัทสัญชาติไทย โดยในกลุ่มแรก ได้แก่ สินค้าประเภทอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางและล้อรถยนต์ เครื่องประดับ อุปกรณ์ถ่ายภาพ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน และผลไม้กระป๋อง รวมมูลค่าที่สหรัฐฯ ขาดดุลกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ หากสหรัฐฯใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับไทย อาจส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ดังนั้น ในระยะสั้นไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ในระยะยาวหากมีการย้ายฐานการผลิต แรงงานและ supplier ไทยจะได้รับผลกระทบ ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่ผู้ผลิตเป็นบริษัทไทยและเข้าข่าย
ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อัญมณี อาหารทะเลแปรรูป และยางธรรมชาติ คิดเป็นการขาดดุลของสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ แม้จะมีมูลค่าการขาดดุล
ไม่มากแต่ก็เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นกลุ่มสินค้าที่ควรจับตาดู อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตได้เองและต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก ดังนั้น โอกาสที่จะถูกตอบโต้โดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงอาจยังมีจำกัด

 

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่อาจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้ากับไทยได้ เช่น 1. การถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นผู้บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Manipulator) โดยเกณฑ์ที่สหรัฐฯ ระบุไว้มี 3 ข้อ ได้แก่ สัดส่วนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของจีดีพี และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐฯมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิในรอบ 12 เดือนมากกว่า 2% ของจีดีพี ซึ่งข้อนี้ไทยเข้าข่ายทุกเงื่อนไขยกเว้นดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไทยเกินดุลกับสหรัฐฯ อยู่ 1.98 หมื่นล้านดอลลาร์ น้อยกว่าเกณฑ์ 2 หมื่นล้านดอลลาร์เพียงเล็กน้อย 2. การใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยจากรายงาน Trafficking in Person Report (TIP) ไทยยังอยู่ใน Tier 2 Watch List คือเป็นประเทศที่มีจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์สูง และยังไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำของ TVPA (Trafficking Victims Protection Act of 2000) แต่แสดงถึงความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา และ 3. ประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจาก 2016 Special 301 Report ที่จัดทำโดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative: USTR) ประเทศไทยยังอยู่ใน Priority Watch List คือเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาก โดยหากมีการละเมิดมากขึ้นจะถูกจัดอยู่ใน Priority Foreign Country ซึ่งสหรัฐฯ สามารถใช้มาตรการตอบโต้ได้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าเรื้อรังของสหรัฐฯ ว่า การลดการนำเข้าผ่านการกีดกันทางการค้าอย่างสุดโต่ง
ไม่น่าจะเป็นทางเลือกเชิงนโยบายลำดับแรกๆ สำหรับสหรัฐฯ ที่ครัวเรือนพึ่งพาสินค้านำเข้าในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษี Border Adjustment Tax (BAT) ซึ่งกว่าจะได้บทสรุปของนโยบาย BAT ต้องอาศัยเวลาและไม่น่าจะเกิดได้ใน 3 เดือนนี้ เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทั้งภาคการผลิตและภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ทำให้อาจจะต้องเผชิญแรงต้านทานภายในสภาคองเกรสและจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

ในอีกมิติหนึ่ง การเพิ่มการส่งออกทั้งสินค้าและบริการของสหรัฐฯ ไปยังประเทศคู่ค้า นอกจากจะช่วยลดขนาดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว ยังเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ (Win-Win Situation) ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้คาดว่า การเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าน่าจะเป็นแนวทางที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เพื่อหาทางเปิดตลาดให้แก่สินค้าและบริการส่งออกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองในระดับที่สูง ทว่า ในส่วนของประเทศคู่ค้าขนาดเล็ก มีโอกาสที่จะเผชิญ Unilateral Trade Arrangement จากสหรัฐฯ มากกว่า ดังนั้น เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลา 90 วัน หรือในช่วงครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยกสิกร-ไทย คาดว่า สหรัฐฯ จะเพิ่มแรงกดดันให้แก่ประเทศคู่ค้า ผ่านการออกมาตรการทางการค้าในลักษณะเฉพาะเจาะจงเป็นรายประเทศและรายสินค้า ผ่าน AD และ CVD หรือแม้แต่การตัดสิทธิ GSP ก็อยู่ในวิสัยที่กระทำได้ภายใต้ขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหาร และไม่ผิดกติกาของ WTO และ/หรืออาจรวมไปถึงการใช้มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีอากรต่างๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการทางการค้า เพื่อลดการนำเข้าและกดดันประเทศคู่ค้าในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ จะส่งผ่านแรงกดดันจากเครื่องมือทางการค้าที่มีอยู่ อาทิ AD/CVD และ GSP ซึ่งผลต่อไทยโดยตรงนั้นจะกระทบผ่านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่การผลิตสินค้าของไทยที่มีความเหนี่ยวแน่นกับจีนและญี่ปุ่น ซึ่งถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งเช่นเดียวกับไทย เพราะเป็นประเทศอันดับ 1 และอันดับ 2 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วย ตามลำดับ

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดสหรัฐฯ ในปีนี้ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายประเทศอันดับ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.4 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และยังเป็นตลาดที่สะท้อนภาพบวกต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้ง กว่าที่นโยบายของสหรัฐฯ จะระบุขอบข่ายการบังคับใช้อย่างชัดเจนก็น่าจะเกิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นต้นไป จึงไม่น่าจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 แต่ผลที่เกิดขึ้นหากสหรัฐฯ นำมาตรการทางการค้ามาใช้น่าจะกระทบการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2561

นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ จะเพิ่มแรงกดดันให้แก่ประเทศคู่ค้า โดยการออกมาตรการทางการค้าในลักษณะเฉพาะเจาะจงเป็นรายประเทศและรายสินค้า น่าจะเริ่มจากการใช้มาตรการ AD/CVD หรือการตัดสิทธิ GSP อย่างไรก็ดี ระหว่างรอการเจรจาของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ คงมีผลต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนให้อยู่ในภาวะชะงักงันเพื่อรอดูบทสรุป ดังนั้น ผู้ส่งออกของไทยควรเตรียมแผนรับมือจากความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบของสหรัฐฯ โดยขยายตลาดอื่นเพิ่มเติม หรือในกรณีที่ตลาดสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจมาก ก็อาจเตรียมแผนขยายการลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อหาลู่ทางรับมือกับอุปสรรคของการค้าระหว่างประเทศในอนาคต

เรื่อง : บรรณาธิการ

X

Right Click

No right click