December 22, 2024

ครู จิตอาสา สำคัญอย่างไรในประเทศไทยยุค 5G / ทักษะการโค้ช ในบทบาทของครู

March 18, 2021 2908

การย้อนชีวิตและสังคมในอดีต นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ขงจื๊อและโสกราตีสนับเป็นบุคคลแรกๆ ถูกขานนามว่าเป็นครู และนักปราชญ์

ซึ่งเราต่างยอมรับกันถึง ความคิด แนวคิด และจิตวิญญาณของการถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วยความปรารถนาดีให้บุคคลอื่นๆ เรียนรู้ ต่อยอดความคิดและพัฒนา ดังนั้นตาม พระราชพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 พระราชทานแก่คณะครู จึงเป็นสิ่งสะท้อนความหมายของคำว่า ครู ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และ ห่วงรายได้กันมากเข้าๆ แล้ว จะเอาจิตเอาใจที่ไหน มาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก ความห่วงในสิ่งเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป พระราชดำรัสแก่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันเสาร์ ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๑

 

ครู ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 คือ ผู้สั่งสอนศิษย์, ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ นับเป็นความหมายกว้างๆ ที่ผู้นำไปใช้เรียกผู้อื่น หรือเรียกตนเอง พึงตระหนักถึงบริบทด้วยตนเอง ทว่าคำว่าครู ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหา และแนวทางถ่ายทอดของครู ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากการถ่ายทอดให้ศิษย์เอก สู่ศิษยานุศิษย์ จากกลุ่มนักเรียนไม่กี่คน จนถึงนักเรียนกลุ่มใหญ่เป็นร้อยพัน และแม้แต่การเรียนกับตัวครูแบบใกล้ชิด สู่การเรียนแบบเห็นครูในจอทีวี กระทั่งปัจจุบันนักเรียนสามารถเรียนแบบต่างคนต่างเรียน ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

 

กาลเวลาที่ผ่านไป สร้างความแตกต่างของยุคสมัย สังคม วัฒนธรรม ค่านิยม เทคโนโลยี ซึ่งทำให้เนื้อหา วิชา วิธีการและสื่อในการถ่ายทอดวิชาปรับเปลี่ยน ประยุกต์ตามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวทางการเรียน การสอน ทั้งทักษะของผู้สอน เนื้อหาวิชา สื่อการสอน ต้องปรับตามพฤติกรรมของคนในสังคม ครู หรือผู้สอนจึงต้องปรับกรอบความคิด ศึกษาเรียนรู้เนื้อหาวิชาและทักษะการถ่ายทอดให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้เรียนในแต่ละยุคสมัย ให้ความสนใจ เข้าใจ ทั้งเนื้อหาและบริบทอย่างถ่องแท้ เพื่อสามารถนำข้อมูล ความรู้นั้นๆ ไปพัฒนาสู่ทักษะ หรือต่อยอดองค์ความรู้ของตนเองได้ ทั้งนี้หากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือการที่ครู หรือผู้สอนมีความตั้งใจถ่ายทอดวิชาให้ศิษย์มารุ่นแล้ว รุ่นเล่า แต่วันนี้กลับพบว่านักเรียนหลายคน ไม่ได้สนใจเรียนรู้ ไม่มีเป้าหมายในการเรียนและอนาคต และถูกดึงความสนใจไปเรื่องน่าสนุกรอบๆ ตัว เช่นแฟชั่น เกม หรือแม้แต่สิ่งยั่วยุ มัวเมาต่างๆ

 

หลายคนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักเรียนยุคนี้ ซึ่งตามหลักจิตวิทยาและหลายคนที่ใกล้ชิดเด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจได้ดีว่า สุขนิยม ตามสมัยนิยมนั่นเอง โดยธรรมชาติของมนุษย์พึงแสวงหาและทำในสิ่งที่ตนมีความสุข แต่การที่มนุษย์ยอมสละความสุขเพื่อทำตามกรอบของระเบียบสังคมนั้น คือการใช้สตินำการกระทำ เพื่อปรับพฤติกรรมตนเองสู่ค่านิยมของสังคม เมื่อใช้สติในการใช้ชีวิตประจำวันไปสักระยะหนึ่ง ตามกระบวนการทำงานของสมองก็จะเกิดความเคยชินและสร้างพฤติกรรมใหม่ได้ ซึ่งความเคยชินนั้นเองที่เราพึงพอใจ สบายใจ ดังตัวอย่างเช่นว่าชาวยุโรปหรือชาวญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย ไม่ทิ้งขยะลงพื้น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนั้นได้ถูกสร้างและสะสมมานานจนเกิดความเคยชินและเป็นความพึงพอใจของปัจเจกบุคคล ถ้าหากตนเองหรือเห็นผู้อื่นโยนขยะลงถนน ก็คงจะรู้สึกไม่พอใจไม่สบายใจ เฉกเช่นนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์การเรียน การสอนยุคนี้ คงต้องถามหาจุดเริ่มต้นว่า ความสุขของคุณครูและนักเรียนคืออะไร เป้าหมายของการสอนและการเรียนคืออะไร ต้องใช้สติในเรียน การสอน การดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเรียน การสอน..

 

อันที่จริง ครู น่าจะหมายถึง มนุษย์ ผู้มีความสำคัญต่อการเป็นมนุษย์ เพราะเมื่อมนุษย์เกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณการอยากรู้อยากเห็นและการเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงส่งลูกจากอ้อมอกให้ครูผู้เชี่ยวชาญ ด้วยความเคารพในบทบาทของผู้ให้ความรู้ แก่มนุษย์ตัวน้อย ซึ่งสมองจะค่อยๆ พัฒนาไปพร้อมกับการเรียนรู้จากครู หรือ พ่อแม่ ผู้เป็นต้นแบบของการเริ่มชีวิตของเด็กน้อย และเมื่อมนุษย์ที่เติบโตขึ้น ความสามารถวิเคราะห์ แยกแยะเลือกการรับรู้ได้เอง พัฒนาสร้างวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ จึงมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของมนุษย์และมนุษยชาติ วงจรแห่งการเปลี่ยนแปลงหมุนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับจักรวาลและการทำงานของสมองมนุษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการศึกษาในอินเดีย เมื่อการตั้งคณะทำงาน NEP- New Education Policy 2020 ปรับนโยบายการศึกษาจากฉบับเดิมที่ได้กำหนดขึ้นเกือบ20ปีที่แล้ว โดยการจัดประชุมผู้บริหารการศึกษาทั่วประเทศ มีนายกรัฐมนตรี Narendra Modi เข้าร่วมด้วย เมื่อสิงหาคม 2563 ในรูปแบบการประชุมทางOnline ในหัวข้อเกี่ยวกับ วิสัยทัศน์ของนโยบายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งจะมุ่งให้ระบบการศึกษาของอินเดียให้เป็นศูนย์กลาง ในการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างสังคมให้มีความรู้ที่เท่าเทียมกันและให้มีความตื่นตัวในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ ทั้งยังมุ่งพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพสูงให้แก่ทุกคน อย่างไรก็ตาม เมื่อวิวัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์ปรับเปลี่ยนไปตามการพัฒนาทางเทคโนโลยีและแนวโน้มของพฤติกรรมสังคม การนำเสนอนโยบายด้านการศึกษาจึงมีประเด็นต่างๆ สู่การพิจารณา อาทิ การยกเลิกการสอบของนักเรียน, นิยามของการสอบ อาจรวมถึงการกำหนดเวลา แนวทางการประเมินผู้สอน การประเมินนักเรียน การประเมินตนเอง การประเมินเพื่อนร่วมเรียน เพื่อนร่วมงานสอน หรือแม้แต่การพิจารณาออกแบบชั้นเรียนใหม่ ให้เหมาะสมกับศักยภาพของคนรุ่นใหม่และแนวทางการศึกษาระดับนานาชาติ ดังนั้น กรอบการเรียนรู้ใหม่ 2021 จึงมุ่งไปที่ วิวัฒนาการของระบบการศึกษาของอินเดียโดยให้ความสำคัญกับแนวทางการศึกษาที่ผสมผสานกันกับการใช้แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีด้านการศึกษามากขึ้น ในการปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละบุคคลและมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยและแก้ไขช่องว่างในการเรียนรู้

แม้ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงระดับต้นๆ ในหลายปีที่ผ่านมา แม้มีประชากรเพียง 9 ล้านกว่าคน และเป็นชาวต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ เกือบ 90% แต่รัฐบาลUAEได้กำหนดนโยบาย ให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายด้านการศึกษาอย่างมากและชัดเจน การศึกษาเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศและการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในเยาวชน ด้วยเหตุนี้วาระแห่งชาติของ UAE วิสัยทัศน์2021 จึงมุ่งเน้นความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษาเป็นที่หนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและวิธีการสอนในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง วาระแห่งชาตินี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย และนักเรียนทุกแห่ง ติดตั้งระบบและอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับโครงการสอนและการวิจัยทั้งหมด อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากเพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างการเรียนในโรงเรียนอนุบาลเพราะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดบุคลิกภาพและอนาคตของเด็ก นอกจากนี้วาระแห่งชาติยังได้กำหนดเป้าหมายให้นักเรียนUAEอยู่อันดับที่ดีที่สุดในโลก ในการสอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และให้มีความรู้ภาษาอาหรับเป็นอย่างดี และยังมุ่งสู่การยกระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาสู่มาตรฐานสากล เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีความเป็นผู้นำที่โดดเด่นและมีบุคลากรด้านการสอนที่ได้รับการรับรองในระดับสากล

 

เมื่อกล่าวถึงผู้นำด้านการศึกษาระดับสากล ประเทศอังกฤษ หนึ่งในประเทศขั้นนำที่มีระบบการศึกษาสำหรับนักเรียนจากนานาชาติ แต่ก็ให้บทบาทสำคัญของการศึกษา เพื่อการทำงานและการดำรงชีวิตจริง และเมื่อมกราคม 2564 นี้ รัฐบาลประกาศการปฏิรูปการเรียนรู้และออกเอกสาร Skills for Job White Paper มุ่งเน้นทักษะเพื่อการทำงาน สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อโอกาสและการเติบโต โดยเสนอโปรแกรมการเสริมสร้างพัฒนาทักษะองค์ความรู้ ให้กับผู้จบการศึกษาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือการบัญชี นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการพัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชัน เพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของมนุษย์ตัวน้อยตั้งแต่เกิดถึง5ขวบ ด้วยโปรแกรม “Hungry Little Minds” โดยพ่อ แม่ ครู พี่เลี้ยง สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้ตามวัยของเด็กได้

ด้วยชัยชนะของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ผ่านมา ในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เขาได้สื่อสารแนวทางการให้ความสำคัญด้านการศึกษาอย่างชัดเจน อาทิเช่น ยุทธศาสตร์การลงทุนในต้นทุนมนุษย์ การพัฒนาเตรียมอนุบาล (Pre-K programs), การพัฒนาคุณภาพและการเรียนรู้ทักษะในกลุ่มนักศึกษา, การลงทุนในการศึกษาSTEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์, คณิตศาสตร์) ,การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาโปรแกรมการศึกษาของครูให้มีมาตรฐานคุณภาพสูงตอบสนองความต้องการที่หลากหลายที่มากขึ้นของประชากร และการให้ความสำคัญด้าน วิจัยและการพัฒนา (Research and Development) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยกลยุทธ์และการสอนเพื่อการพัฒนาคุณภาพของครู นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับการช่วยด้านการเงินในการศึกษาของนักศึกษา การจัดโครงการการศึกษาพิเศษ การมุ่งเน้นการศึกษาปฐมวัย และ การศึกษาของโรงเรียนในกำกับของรัฐบาล

ทว่าท่ามกลางยุคสมัยที่หลายสิ่งหลายอย่างไม่จำเป็นต้องจับต้องได้ แม้แต่การกอดห่วงใยยังส่งกันได้ด้วยตัวอิโมจิ ความสำคัญของนามธรรมและบริบท กำลังจะมีบทบาทสำคัญมากกว่ารูปธรรม กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคม และกระทรวงศึกษาธิการของสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังร่วมกันพัฒนาแนวทางการปฏิรูปเชิงลึก ในด้านการส่งเสริมคุณธรรมในการกระบวนการคัดสรรและการยกระดับครู อาจารย์ให้มีคุณภาพสูง ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาระบบการศึกษา โดยกำหนดแนวทางชัดเจนของผู้สอนแต่ละประเภท แบบเน้นการสอน หรือแบบการสอนและการวิจัย นอกจากนี้ยังมุ่งให้ความสำคัญกับครูด้วยการประเมินด้านคุณธรรม จริยธรรม และการบรรลุผลสำเร็จของานมากกว่า การที่สร้างผลงานด้านเอกสาร รางวัล หรืองานวิจัย อีกทั้งครูควรได้รับการประเมินจากบุคคลรอบด้านและผู้เกี่ยวข้อง และที่สำคัญ นโยบายยังเน้นให้สถาบันการศึกษาสามารถจัดกระบวนการประเมินการพัฒนาการสอนและผลงานของผู้สอนได้เองในลักษณะของการกระจายอำนาจ (Decentralized) ซึ่งเป็นหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญ ในการพัฒนาครูในประเทศจีนเพื่อร่วมยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของวิวัฒนาการของสังคมโลก

 

การย้อนกลับมาที่สังคมไทย เราอาจลิสต์ปัญหาสังคมได้ยาวมากกว่าแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไทย ซึ่งท่ามกลางความผันผวนทางสังคม เศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อม ทำให้ทั่วโลกมีแนวโน้มของการตระหนักถึงการพัฒนามนุษย์ในหลากหลายมิติ รวมถึงการศึกษาทักษะต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิต การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาสู่อนาคต และการเรียนรู้ชีวิตและจิตใจเพื่อเติมเต็มการมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริงได้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเช่น ในขณะที่รูปแบบการเรียนการสอนมีการปรับเปลี่ยนตามการพัฒนาของมนุษย์ และสังคม พบการเปลี่ยนแปลงชัดเจนยิ่งขึ้นในยุคโควิด19 การเรียนในห้องเรียน Teaching, Training In Class เพื่อใช้เวลาในการนั่งเรียนตลอดเวลา อาจไม่ใช่แนวทางเดียวในการเรียนรู้เช่นเคย เพราะความรู้หาได้มากมายอย่างไม่มีการสิ้นสุดในยุคสมัย5G ทว่าความสำคัญของการตระหนักรู้ของผู้เรียนในความต้องการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะช่วยให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีความหมายและส่งผลที่ได้จากการเรียนรู้ ดังนั้นทักษะการโค้ช จึงสำคัญสำหรับการสอนของครูในโรงเรียน และแม้แต่พ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะการสอนปัจจุบันนี้ อาจไม่ใช่การเน้นเพียงเนื้อหา วิชา แต่อาจต้องคำนึงถึงความต้องการการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ของนักเรียนหรือผู้เรียน (Student Centric) และที่สำคัญความคิดเชิงบวกและทักษะการโค้ชของครู (รวมถึงวิธีการ แนวปฏิบัติและจริยธรรมที่กำหนดไว้ตามหลักการโค้ชสากล) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสนใจ ใฝ่รู้ด้วยตนเองนั้นจะทำให้นักเรียนสามารถค้นคว้า ข้อมูล ต่อยอดความคิดซึ่งนำไปสู่แนวทางการพัฒนาความคิด ความรู้ และการปฏิบัติได้อย่างแท้จริงด้วยความมั่นใจ

 

การเข้าสู่ยุค5G ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับแนวทางการบริหาร ตั้งแต่เรื่องสถานที่ทำงาน อุปกรณ์การใช้งานต่างๆ Hardware to Software รวมถึง การบริหารจัดการแผนโครงสร้างองค์กร ตำแหน่งหน้าที่งาน ผลตอบแทน และแม้แต่เวลาการทำงาน จนถึงจิตวิทยาการบริหารจัดการในยุคที่พนักงานพบปะกันน้อยลง แต่ต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานชัดเจนขึ้น กระทั่งทุกวันนี้เราต่างยอมรับว่าการดำเนินชีวิตและการทำงานของมนุษย์จะอยู่บนโลกออนไลน์ (Digital) ไม่น้อยไปกว่าวิถีชีวิตที่จับต้องได้ (Physical) ดังนั้นสิ่งทีอยู่ในความคิดของมนุษย์ (มโนธรรม) ความเป็นครูจิตอาสา (จิตที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่น) จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียน การสอน การพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างรูปธรรมของมนุษย์ในสังคมและเยาวชนไทยในรุ่นต่อไป


นักเขียน :  สิริษา แสงไชย
โค้ชและที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ, SCH Coaching Program "GLOBAL LEARNER"

X

Right Click

No right click