January 22, 2025

สวทช. หนุนวิจัยใช้ประโยชน์ ‘ต้นคลุ้ม’ ให้คุ้มค่า เสริมจุดเด่น ‘ถาดพลาสติกชีวภาพ’

October 26, 2021 2334

ในเวทีเสวนาเรื่อง “การเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้จากความหลากหลายทางชีวภาพและผลิตภัณฑ์ชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ” จัดโดยโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งอย่างยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ทั้งนี้มีการนำเสนอ โครงการพลาสติกชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือใช้ ที่น่าสนใจ โดย รศ. ดร.แก้วตา แก้วตาทิพย์ จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ (วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช. ตอบโจทย์ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงแนวคิดลดขยะเป็นศูนย์

รศ. ดร.แก้วตา แก้วตาทิพย์ อธิบายว่า ทีมวิจัยมีความสนใจเรื่องถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากถาดโฟมจากแป้งมีราคาถูก ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว ทว่าถาดโฟมจากแป้งมีข้อจำกัดในการนำไปใช้งาน คือ สมบัติเชิงกลต่ำ ไม่ทนน้ำและมีความชื้นง่าย ดังนั้นทีมวิจัยสนใจปรับปรุงสมบัติของถาดโฟมแป้งโดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ต้นคลุ้ม เปลือกเมล็ดยางพารา ผักตบชวา และเปลือกไข่ ซึ่งนอกจากสามารถปรับปรุงสมบัติเชิงกล ลดความไวต่อน้ำและความชื้นของถาดโฟมแป้งแล้ว ยังเป็นแนวทางใช้ทดแทนถาดโฟมจากพลาสติกสังเคราะห์ที่ใช้อยู่โดยทั่วไป และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนและภาคการเกษตรด้วย

@ ‘เส้นใยคลุ้ม’ ช่วยถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังทนความร้อน

ต้นคลุ้ม พืชล้มลุกที่พบมากทางภาตใต้ ทั้งในสวนยางพาราและป่าเขาโดยเฉพาะในจังหวัดสตูล ซึ่งต้นคลุ้ม 1 ต้น ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการนำต้นคลุ้มมาลอกเปลือกด้านนอกของลำต้นออก ซึ่งมีความเหนียวและแข็งแรงเพื่อนำไปทำเครื่องจักสานทั้งฝาชี ตะกร้าต่างๆ ทว่าเส้นใยนิ่มอีกครึ่งหนึ่งที่อยู่ภายในของต้นคลุ้มต้องนำไปกำจัดทิ้งซึ่งเป็นปัญหาในการกำจัดของเสียในชุมชนมายาวนาน ทีมวิจัยจึงคิดหาวิธีใช้ประโยชน์จากเส้นใยนิ่มภายในต้นคลุ้ม ให้เกิดความคุ้มค่า ตามแนวทางขยะเหลือศูนย์

“ทีมวิจัยได้รับโจทย์จาก สวทช. ให้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งจากต้นคลุ้ม จึงนำเส้นใยคลุ้ม ที่เหลือทิ้งมาล้าง อบแห้ง และนำมาปั่นได้เป็น ‘ผงเส้นใยคลุ้ม’ โดยผงเส้นใยคลุ้มที่เตรียมได้มีจุดเด่นคือทนความร้อนได้ 302 องศาเซลเซียส และหากนำมาฟอกสีให้มีสีขาวจะทนความร้อนได้สูงขึ้นเป็น 358 องศาเซลเซียส ด้วยคุณสมบัติที่สามารถทนความร้อนได้ดี จึงสนใจประยุกต์ใช้เป็นสารตัวเติมสำหรับปรับปรุงสมบัติของถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลัง เพื่อพัฒนาเป็น บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ ถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังผสมวัสดุเหลือใช้จากเส้นใยคลุ้ม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล จ.สตูล สามารถนำมาใช้แทนถาดโฟมพอลิสไตรีนที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนานหลายร้อยปีและยังเป็นพิษกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม”

@เปลือกเมล็ดยางเสริมแกร่ง ผักตบชวาเพิ่มสมบัติทนน้ำ

รศ. ดร.แก้วตา อธิบายต่อว่า นอกจากนี้ทีมวิจัยยังใช้ประโยชน์ของเปลือกลูกยาง (เปลือกเมล็ดยางพารา) ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งในสวนยาง โดยนักศึกษาในทีมวิจัยพบว่าเปลือกเมล็ดยางพารามีความแข็งแรง จึงนำมาตัด ปั่น แยกให้มีขนาดเล็กเท่าๆ กัน และนำมาบดให้เป็นผงแห้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นสารตัวเติมสำหรับถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง พบว่าเมื่อผสมผงเปลือกเมล็ดยางพารา ส่งผลให้ถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังมีค่าความแข็งแรงสูงขึ้น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับถาดโฟมจากแป้งที่ไม่ผสมสารตัวเติม และไม่มีความเป็นพิษสามารถนำไปเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารได้ ทีมวิจัยยังประสบความสำเร็จโดยเลือกใช้เปลือกไข่และเปลือกกุ้ง ที่เป็นแหล่งแคลเซียมที่ได้จากธรรมชาติ (bio-calcium) มาแปรรูปเป็นผง และหน้าที่เป็นสารตัวเติมผสมกับถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง เพื่อปรับปรุงค่าความต้านทานต่อแรงกระแทกของถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง

นอกจากนั้นแล้วอีกโจทย์ที่ท้าทายทีมวิจัยมาตลอด คือ ถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังมักจะถูกถามเรื่องการทนน้ำ จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าพัฒนาหาวัสดุเหลือทิ้งมาเสริมจุดเด่นนวัตกรรมให้ตอบโจทย์นี้มากขึ้น โดยทีมวิจัยนำสารตัวเติมจากผงผักตบชวา มาช่วยเสริมจุดเด่นด้านการทนน้ำ ทำให้ถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังสามารถรักษารูปทรงได้ดีเมื่อสัมผัสกับน้ำ สามารถนำมาบรรจุผลไม้ตัดแต่งที่มีน้ำเยอะทั้ง แตงโม ส้มโอ และสับปะรดได้เป็นอย่างดี โดยผลงานวิจัยนี้เป็นต้นแบบในห้องปฏิบัติการ ก่อนต่อยอดใช้ประโยชน์ในอนาคต

@เพิ่มรายได้ชุมชน ลดของเสียเป็นศูนย์

ด้าน นางสาวอรุณี เกาะกลาง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวว่า กลุ่มฯ ได้ดำเนินการผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคลุ้มเป็นเครื่องจักสานทั้งฝาชี ตะกร้า โคมไฟ สร้างรายได้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ส่วนไส้ต้นคลุ้มที่เหลือทิ้งใช้ประโยชน์เพียงนำไปทิ้งใต้ต้นไม้ผล เช่น มะม่วงเพื่อให้เป็นปุ๋ยบำรุงไม้ผลเท่านั้น กระทั่งปีที่ผ่านมาทีมวิจัยได้เข้ามาศึกษาทดลองนำไส้ของต้นคลุ้มไปแปรรูปผ่านกระบวนการวิจัยเป็น ‘ผงเส้นใยคลุ้ม’ เพื่อเป็นส่วนผสมของต้นแบบถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง ทำให้สมาชิกเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีในการต่อยอดใช้ประโยชน์จากต้นคลุ้ม เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือทิ้งในอนาคต ขณะเดียวกันกลุ่มฯ ยังมีแนวคิดนำองค์ความรู้จากทีมวิจัยมาใช้ประโยชน์ทำเป็นกล่องกระดาษทิชชู และกรอบรูปจากวัสดุต้นคลุ้ม ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมในการใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า พลาสติกชีวภาพที่ได้จากการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์นั้น ช่วยลดปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้ง นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ลดภาระให้กับภาครัฐและและอุตสาหกรรมในการกำจัดขยะได้อีกด้วย  

X

Right Click

No right click