January 22, 2025

ผลการวิจัยใหม่เผยเทคโนโลยีการศึกษาก่อให้เกิดทั้งความคาดหวังและความกังวล

December 10, 2021 1527

ผลการวิจัยใหม่ซึ่งเผยแพร่โดย Economist Impact และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกาตาร์ (Qatar Foundation)

เปิดเผยว่า ผู้นำทางการศึกษาส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนที่ปรับให้เข้ากับแต่ละบุคคล ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เร่งให้สิ่งนี้เกิดเร็วขึ้น อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนแบบเฉพาะบุคคลจะให้ผลลัพธ์เต็มศักยภาพได้ก็ต่อเมื่อมีการยกระดับเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาเกณฑ์วัดผลแบบใหม่ ๆ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชั้นเรียนกับบริษัทเทคโนโลยีการศึกษา และคว้าใจนักเรียนและผู้ปกครอง

รายงานดังกล่าวได้เปิดตัวที่การประชุม 2021 WISE Summit ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ประกอบด้วยรายงานและผลสำรวจความคิดเห็นนักการศึกษาและผู้บริหารสายเทคโนโลยีการศึกษารวมกว่าหลายร้อยคนทั่วโลก โดยได้สำรวจผลกระทบที่การระบาดของโรคโควิด-19 มีต่อทัศนคติเกี่ยวกับการเรียนแบบเฉพาะบุคคลในสหราชอาณาจักรและสหรัฐ รายงานฉบับนี้สำรวจแนวทางการนำเทคโนโลยีไปใช้สนับสนุนการเรียนการสอนแบบเฉพาะบุคคล ผลลัพธ์ที่ครูผู้สอนจะได้รับเมื่อนำไปใช้ และประเมินว่าสิ่งนี้ช่วยให้นักเรียนมีผลลัพธ์ในการเรียนรู้ที่ดีขึ้นหรือไม่

การวิจัยดังกล่าวยังพบด้วยว่า แม้นักการศึกษายอมรับว่าเทคโนโลยีการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้มากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การให้ทุนสนับสนุนก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของโซลูชันที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำมาใช้ได้ ขณะเดียวกันก็ปรากฏให้เห็นความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวของนักเรียนนักศึกษา การใช้ข้อมูล และการคำนึงถึงศีลธรรม

Abeer Al-Khalifa ประธานฝ่ายเตรียมอุดมศึกษาของมูลนิธิกาตาร์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโรงเรียนสายหลักและสายพิเศษ 13 แห่ง กล่าวว่า "มาตรการล็อกดาวน์อันเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีการศึกษาเป็นที่พึ่งพามากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

"งานวิจัยใหม่ที่มูลนิธิกาตาร์เป็นผู้สนับสนุนนั้น ได้เข้ามายืนยันความคาดหวังที่เกือบทั้งโลกแทบจะมีเหมือนกัน นั่นคือการใช้เทคโนโลยีในระบบการศึกษาจะมีมากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องการจัดหาเงินทุนปรากฏให้เห็นอยู่ ทั้งยังแสดงให้เห็นความจำเป็นในการทำให้แน่ใจว่า เทคโนโลยีได้รับการออกแบบโดยยึดการเรียนการสอนเป็นหลัก ไม่ใช่ในทางกลับกัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้เครื่องมือที่มีต้นทุนต่ำแต่ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายใหญ่ นั่นคือการยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียนนักศึกษา"

"เราหวังว่ารายงานฉบับนี้จะจุดประเด็นให้เกิดการพูดคุยในการทำให้แน่ใจว่า เทคโนโลยีการศึกษาที่มีผู้นำไปใช้อย่างกว้างขวางที่สุดนั้นได้รับการออกแบบเพื่อทำให้การเรียนการสอนมีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น แทนที่จะใช้ซอฟต์แวร์เป็นวิธีเพิ่มผลิตภาพ"

รายงานดังกล่าวพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 92% ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล โดยแทบจะทุกคนต่างรู้สึกได้ว่าโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีการศึกษามีการนำไปใช้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เชื่อว่างบประมาณที่โรงเรียนจัดสรรให้กับการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลนั้นจะเพิ่มขึ้น

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยังเห็นว่า การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนที่ไม่ค่อยเก่งมากกว่านักเรียนกลุ่มที่เก่งกว่า และเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการมากกว่า ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 95% มั่นใจว่า เทคโนโลยีการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลจะทำให้แน่ใจว่า เทคนิคการสอนจะได้รับการปรับให้เข้ากับความต้องการของนักเรียนชายขอบด้วย

อย่างไรก็ดี นักเรียนและผู้ปกครองสนับสนุนการเรียนการสอนแบบเฉพาะบุคคลน้อยกว่าครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 1 ใน 4 เปิดเผยว่า การไม่ให้ความร่วมมือของนักเรียนเป็นอุปสรรคหลัก ๆ ในการนำเทคโนโลยีการศึกษามาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจ 98% รู้สึกว่า การเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์อย่างฉับพลันในช่วงโรคระบาดนั้น ทำให้ผู้คนเพ่งความสนใจกับมิติทางด้านเทคโนโลยีในการเรียนการสอนแบบเฉพาะบุคคลมากเกินไป โดยนักการศึกษาเกือบครึ่งหนึ่งกังวลว่า นักเรียนจะติดเทคโนโลยีมากเกินไป ส่วน 61% กังวลว่า การหันมาเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลมากขึ้นนั้นอาจทำให้นักเรียนและผู้สอนมีปฏิสัมพันธ์ลดลง และทำให้การพัฒนาทางสังคมหยุดยั้งไปด้วย

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ฟรี ที่ https://www.qf.org.qa/the-economist-intelligence-unit-report/pre-university-education

มูลนิธิกาตาร์เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 เพื่อส่งเสริมการพัฒนากาตาร์อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการและความริเริ่มทางการศึกษา การวิจัย คิดค้นนวัตกรรม และพัฒนาชุมชน

X

Right Click

No right click