January 22, 2025

Sustainability

January 28, 2022 2630

แนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นแนวคิดใน “การที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ไม่ทำให้ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังลดน้อยลง” (Bruntland Report, 1987) ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ ให้ยังคงสามารถดำรงสภาพอยู่ได้ต่อไปถึงอนาคต ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดตามวงจรการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก

ซึ่งหากจะอธิบายลักษณะสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้สามประเด็นหลัก คือ (1) ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม และความยุติธรรม (2) มีมุมมองระยะยาวภายใต้หลักความรอบคอบที่คนปัจจุบันคิดถึงคนรุ่นหลังอย่างน้อยอีก 50 ปี ซึ่งหมายความว่าคนทุกรุ่นจะได้รับการดูแล (3) คิดแบบเป็นระบบ เข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

ในปัจจุบันความยั่งยืน เป็นกระแสหลักของสังคม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการมุ่งพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยผ่านการจัดทำดัชนีความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น ดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), FTSE4Good Index, MSCI ESG Index ในต่างประเทศ เป็นต้น หรือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งเกณฑ์และรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ (Thailand Sustainability Investment: THSI) และดัชนี SETTHSI โดยบริษัทจำกัดที่ได้รับคะแนนผ่านการประเมินทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) ในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงในด้านความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม ในด้านสังคม (Social) เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสาร กับ ลูกจ้าง คู่ค้า (Suppliers) ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อย่างไร และด้านการกำกับดูแล (Governance) หมายถึงหลักการในการประเมินว่าบริษัทมีการจัดการบริหารความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลอย่างไร ในการจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย

ทั้งนี้แนวคิดความยั่งยืนด้วยมิติ ESG ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนการนำเสนอผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยในปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 124 แห่ง ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มากถึง 51 บริษัท การเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทที่อยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน ย่อมแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจมีความสนใจมากขึ้นในเรื่องการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเรื่องความยั่งยืน

การทำธุรกิจตามปกติไม่ใช่ทางเลือก (Business as usual is not an options)

ในด้านการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Breakthrough) เพื่อไปสู่ความยั่งยืน องค์กรจะต้องมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า พนักงาน คู่ค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เพียงผลกำไรแต่เป็นการสร้างผลประโยชน์ระยะยาวร่วมกันตลอดโซ่อุปทาน เริ่มตั้งแต่การรับรู้ความต้องการของลูกค้าเพื่อออกแบบสินค้าและบริการเพื่อความยั่งยืน การผลิต ขนส่งและจัดจำหน่ายด้วยความยั่งยืนไปถึงมือลูกค้า จนกระทั่งการนำสินค้าที่หมดอายุแล้วกลับมาใช้ในกระบวนการรีไซเคิล เช่น น้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ใช้เทคโนโลยีเพื่อผลิตขวดให้ใช้พลาสติกผลิตใหม่น้อยลง แต่ยังคงความแข็งแรงเหมือนเดิม จับขวดแล้วก็ไม่ยวบมือ ขวดน้ำดื่มเนสท์เล่ที่ใช้พลาสติกน้อยลง มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิตขวดน้ำดื่มในปี 2563 สามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ไปได้ทั้งหมด 370 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายที่จะลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2568 (https://www.nestle.co.th/th/stories/recyclable-packaging)

ในแง่ของการดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรมสร้างความเข้มแข็งให้สังคม องค์กรมุ่งให้ความช่วยเหลือในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับสมาชิกในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตราสินค้า ส่งผลให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจมีความเชื่อใจว่าธุรกิจที่กำลังทำเพื่อสังคมส่วนรวม ตัวอย่างเช่น โครงการเพื่อสังคมโดยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้ทำโครงการ ‘คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย’ ที่ช่วยในการพัฒนา SMEs ให้เข้มแข็ง ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความสำเร็จจากการพัฒนาและยกระดับสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนเท่านั้น ยังมีรางวัลระดับนานาชาติเป็นเครื่องการันตี โดยคว้ารางวัลด้าน Social Empowerment หรือการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมจากงานประกาศรางวัล “Asia Responsible Enterprise Awards” หรือ AREA ถึง 2 ปีติดต่อกัน คือ ปี 2019-2020 ซึ่งรางวัลนี้ Enterprise Asia องค์กรอิสระที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมแบบองค์รวมในเอเชีย และมุ่งส่งเสริมการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาคเป็นผู้จัดขึ้น โดยแต่ละปีมีโครงการส่งเข้าร่วมกว่า 200 โครงการ จาก 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย และรางวัลจากเวที ดีเอฟเอ็นไอ-ฟรอนเทียร์ เอเชีย แปซิฟิก อวอร์ด (DFNI-Frontier Asia Pacific Awards) สาขาผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน (CSR or Sustainability Initiative of the Year)

ความยั่งยืนในด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอีกเรื่องที่องค์กรให้ความสำคัญและกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจที่อยู่ในโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจพลังงานทางเลือก หรือธุรกิจเดิมที่สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystems) ในรูปแบบใหม่ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกันอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ต่อลูกค้า เช่น Alexa ของ Amazon เป็นระบบซอฟต์แวร์ควบคุมด้วยเสียง ใช้ร่วมกับ Hardware ของ Amazon โดยพัฒนาทักษะ ให้ Alexa สามารถหาข้อมูลและจองแพ็กเกจท่องเที่ยวกับ Expedia ลูกค้าที่มีอุปกรณ์ที่ติดตั้ง Alexa เอาไว้ก็สามารถติดตั้งความสามารถนี้เพิ่มเติมได้ Amazon เปิดให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาทักษะความสามารถในการโต้ตอบเรื่องอะไรก็ได้ลงไปในตัว Alexa ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 5,000 ทักษะ และยังขยายพันธมิตรกับผู้ผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้านหลาย ๆ ราย เช่น GE Appliances ทำให้ทุก ๆ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านเชื่อมเข้ากับ Alexa ผ่านระบบ Wi-Fi อุปกรณ์ทุกอย่างล้วนแต่เป็นอุปกรณ์ที่หมดอายุแล้วสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด

การศึกษาการจัดการความยั่งยืนในธุรกิจ (Business Sustainability Management)

ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดการเรียนการสอนในด้านการจัดการความยั่งยืนในธุรกิจในหลากหลายมุมมอง เป็นกลุ่มวิชาด้านความยั่งยืนของคณะฯ อาทิเช่น วิชา   กผ.321 ทักษะการเป็นผู้ประกอบการและผู้ประกอบการเพื่อสังคม กต.411 การตลาดเพื่อความยั่งยืน      บช.331 การบัญชีเพื่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และ ธร.433 ประเด็นทางจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้นักศึกษาสามารถศึกษาวิชาที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ที่จัดการเรียนการสอนในคณะอื่น ๆ ได้อีก อาทิเช่น คณะนิติศาสตร์ วิชา น.305 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค น.443 กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า คณะเศรษฐศาสตร์ วิชา ศ.375 เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชา วล.266 สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้แนวความคิดในด้านการจัดการความยั่งยืน และเรียนรู้การนำแนวคิดความยั่งยืนไปปฏิบัติในการทำงานในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ ที่มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข เพื่อเสริมแนวคิด “ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และองค์การสหประชาชาติคาดว่าจะทำสำเร็จได้ภายในปี ค.ศ. 2030 อีกด้วย

บทความ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมน์ พันธรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

X

Right Click

No right click