November 22, 2024

ส่องทิศทางยานยนต์พลังงานสะอาดในภูมิภาค S/E Asia ผ่านนิทรรศการฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 

April 19, 2022 1553

 

ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) หรือ เอฟเอ็มเอ 2022 (FMA 2022) เป็นงานนิทรรศการและงานประชุมระดับโลกที่จัดแสดงแนวคิดและโซลูชันต่างๆ ที่ครอบคลุมเรื่องยานยนต์พลังงานสะอาดในทุกด้าน ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ถึง 22 กรกฎาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) โดยในเบื้องต้นได้มีการจัดงานรอบพรีวิวที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวในวันที่ 30 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ที่ผ่านมา

การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับภูมิภาคเอเชียในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งได้เปิดกว้างให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มารวมตัวกันในงานรอบพรีวิว (Event Preview) ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความมุ่งมั่นเรื่องยานยนต์พลังงานสะอาดและการจัดการกับความท้าทายทางธุรกิจในภาคยานยนต์ รวมถึงเพื่อกำหนดและปรับเปลี่ยนโปรแกรมการประชุมของงานเอฟเอ็มเอ 2022 (FMA 2022) ให้ดียิ่งกว่าเดิม สำหรับการจัดงานรอบพรีวิวในครั้งนี้เป็นการบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชนในรูปแบบผสมผสานที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนในประเทศไทยได้เข้าร่วมภายในงานจริงและมีระบบเสมือนจริงสำหรับการเข้าร่วมของสื่อต่างประเทศ 

"การเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์พลังงานสะอาดมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมให้ภูมิภาคแห่งนี้ก้าวไปไกลเกินกว่าเพียงแค่ได้รับประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม การปฏิวัติยานยนต์พลังงานสะอาดกำลังสร้างโอกาสให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างก้าวกระโดด ทั้งยังขับเคลื่อนให้เกิดความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การสร้างงานเพิ่มมากขึ้นด้วย ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญภายหลังการเกิดโรคระบาดใหญ่ แรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งถือเป็นสิ่งจำเป็นและจะช่วยสนับสนุนให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พลิกฟื้นขึ้นมาเพื่อตอบรับโอกาสดังกล่าว" คุณเมล แลนเวอร์ส-ชาห์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ กล่าว 

การบรรยายสรุปสำหรับสื่อในรูปแบบผสมผสาน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 สื่อมวลชนในประเทศไทยได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปแบบตัวต่อตัว ณ เวลา 14.00 น. (GMT+7) ซึ่งได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับความท้าทายทางธุรกิจในประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านยานยนต์พลังงานสะอาดแบบไร้คนขับ โดยมีสื่อต่างประเทศเข้าร่วมงานนี้ด้วยเช่นกันผ่านระบบเสมือนจริง 

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานประเทศไทย และเป็นประธานร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนยานยนต์แห่งอนาคตในเอเชีย (Future Mobility Asia Steering Committee); คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน; คุณจุง เหงียน ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เอสอีเอ อิเล็กทริค; คุณโจเซฟิน อ๋อง กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ บริษัท แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ และคุณนิโคล หวู่ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริษัท อีวีโลโม (EVLOMO) ได้เข้าร่วมการบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชนเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับมุมมองด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับระบบชาร์จพลังงานของประเทศไทย รวมถึงแผนของประเทศไทยในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง 

"แน่นอนว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่แนวทางของยานยนต์พลังงานสะอาด โดยมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกิดสถานีชาร์จภายในครัวเรือนและสถานีชาร์จสาธารณะที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นที่โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยรัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนยานยนต์พลังงานสะอาดอย่างแน่นอน และเราคาดการณ์ว่าในเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัวแผนและนโยบายเชิงรุกเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบชาร์จพลังงานในประเทศไทย" ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานประเทศไทย และเป็นประธานร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนยานยนต์แห่งอนาคตในเอเชีย (Future Mobility Asia Steering Committee) กล่าว 

การจัดงานรอบพรีวิว

ในงานเอฟเอ็มเอ 2022 รอบพรีวิว (FMA 2022 Event Preview) ซึ่งจัดขึ้นเวลา 16.00 น. (GMT+7) บรรดาผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมได้รับเชิญให้นำเสนอกรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรมของยานยนต์พลังงานสะอาดและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างประสบความสำเร็จ โดยภายในงานรอบพรีวิวได้แบ่งการเสวนาออกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งจะมีตัวแทนระดับอาวุโสของรัฐบาลไทยและบรรดาผู้นำในอุตสาหกรรมมาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความคาดหวังและความต้องการด้านยานยนต์พลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงนโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3030 (Thailand 3030 EV Production Policy) ของประเทศไทยด้วย 

คุณแมทธิว โรวี ผู้อำนวยการฝ่ายโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท ดีเอ็นวี แปซิฟิก ได้เปิดการเสวนากลุ่มแรกด้วยการแบ่งปันข้อมูลสถิติเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน โดยบริษัท ดีเอ็นวี คาดการณ์ว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์บนท้องถนนทั่วโลกภายในปี 2593 อย่างไรก็ตามด้วยสัดส่วนการเติบโตของรถยนต์และรถกึ่งอัตโนมัติในปัจจุบัน ก็เป็นที่คาดกันว่าจำนวนยานยนต์ทั่วโลกอาจขยายตัวได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนำเสนอข้อมูลสถิติของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว บรรดาผู้ให้บริการโซลูชันสำคัญๆ ก็ได้รับเชิญให้มาพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของแต่ละเมือง รวมถึงแนวทางที่ภูมิภาคอาเซียนสามารถเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาดได้อย่างก้าวกระโดด 

"ที่บริษัท เอสอีเอ อิเล็กทริค เราเข้าใจดีว่ายานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เม็ดเงินลงทุนราคาถูก ดังนั้นเราจึงต้องทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ในการเสริมสร้างอนาคตของยานยนต์พลังงานสะอาดด้วยการออกนโยบายแรงจูงใจต่างๆ แม้ว่าเราต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างมากมายจากผู้บริโภค แต่รัฐบาลก็พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างมากในการจัดการกับข้อกังวลดังกล่าว และการเข้าร่วมงานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) ของเราในเดือนกรกฎาคมถือเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้แบ่งปันประสบการณ์กับบรรดาผู้นำในอุตสาหกรรมระดับโลก" คุณจุง เหงียน ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เอสอีเอ อิเล็กทริค กล่าว 

"ความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองแต่ละเมืองอย่างถ่องแท้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมในระดับท้องถิ่นล้วนมีความแตกต่างกันไปในแต่ละเมืองและแต่ละประเทศ โดยเราจะต้องมีความเข้าใจในหัวข้อหลักสามประการ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และความสมดุลระหว่างแรงจูงใจและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประเทศสิงคโปร์ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากสิงคโปร์ทราบดีว่า 15% ของผืนดินในประเทศถูกใช้เพื่อการขนส่งทางรถยนต์ ดังนั้นจึงได้เปิดตัวโครงการ Car-Lite โดยมีเป้าหมายเพื่อเดินหน้าสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเมืองต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดเศรษฐกิจและดำเนินมาตรการที่ดีที่สุดภายใต้การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" คุณกิลโลม เจอรองโด รองประธานและผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายอุตสาหกรรมการขนส่งและยานยนต์ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ กล่าว 

ในฐานะผู้นำของภูมิภาคที่มาพร้อมโครงการคิดริเริ่ม เช่น นโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3030 (3030 EV Production Policy) ทำให้ประเทศไทยมีเป้าหมายชัดเจนที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตรถยนต์ในสัดส่วน 30% จากทั้งหมดให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 ให้ได้ สำหรับการเสวนากลุ่มที่สองเป็นเวทีของตัวแทนจากรัฐบาลไทยและผู้เชี่ยวชาญของไทย ซึ่งได้มาพูดคุยเกี่ยวกับแผนของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตสำหรับยานยนต์พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

"ภายในปี 2573 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 725,000 คัน โดยมีแผนที่จะเจาะตลาดโลกด้วย เราคาดว่าจะสามารถจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 400,000 คันสำหรับตลาดภายในประเทศ ในขณะที่ส่วนที่เหลือจะดำเนินการส่งออก" คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าว การเสวนากลุ่มนี้ยังเน้นย้ำถึงความคาดหวังและความต้องการของประเทศไทยในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปริมาณมาก โดยที่จะต้องมั่นใจได้ว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่มีอยู่เดิมจะยังคงได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกันในขณะที่ประเทศกำลังเดินไปข้างหน้า ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานเสวนาได้แบ่งปันข้อกังวลและความท้าทายต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยได้นำแนวทางของยานยนต์พลังงานสะอาดมาใช้ 

"หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ก็คือความต้องการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จพลังงาน โดยระบบชาร์จแบบสาธารณะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคจะสามารถเดินทางได้อย่างอิสระโดยไม่มีข้อจำกัดเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ระบบ ICE กล่าวคือผู้คนอาจต้องพึ่งพาระบบชาร์จสาธารณะเนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ชาร์จพล้งงานภายในครัวเรือน ด้วยเหตุนี้ การสนับสนุนและการลงทุนของรัฐบาลในการดำเนินการจัดตั้งสถานีชาร์จพลังงานทั่วกรุงเทพมหานครจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง" ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเป็นประธานกิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าว 

 

 

X

Right Click

No right click