โดยหากเทียบกับระดับแอนติบอดี้ก่อนการได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 พบว่า วัคซีนไฟเซอร์ขนาด 30 ไมโครกรัม สามารถเพิ่มระดับแอนติบอดี้ได้ 12.19 เท่า ส่วนวัคซีนโมเดอร์น่าเข็มกระตุ้นขนาด 50 ไมโครกรัม เพิ่มระดับแอนติบอดี้ได้ 15.90 เท่า และหากทำการเปรียบเทียบกับระดับแอนติบอดี้ที่ระดับสูงสุดที่ตรวจวัดได้ภายหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า วัคซีนไฟเซอร์ขนาด 30 ไมโครกรัม มีการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดี้ 1.59 เท่า ส่วนวัคซีนโมเดอร์น่าเข็มกระตุ้นขนาด 50 ไมโครกรัม พบการเพิ่มสูงขึ้น 2.19 เท่า
สำหรับอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ในการศึกษาครั้งนี้พบว่า ส่วนใหญ่มีระดับน้อย-ปานกลาง โดยอาการเจ็บบริเวณที่ฉีดและอ่อนเพลีย เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย โดยรวมแล้วอาสาสมัครมีการยอมรับวัคซีนเข็มที่ 4 นี้ได้ดี
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยข้อมูลความปลอดภัยจากการใช้วัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนโมเดอร์น่าที่ขนาด 50 ไมโครกรัม เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นจากการเฝ้าระวังและติดตามของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา จากรายงาน แสดงให้เห็นว่า อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นพบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภายหลังจากการฉีดวัคซีนชุดหลักเข็มที่ 2 นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดน้อย แต่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรเพศชายอายุระหว่าง 18-24 ปีนั้น พบว่าอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นั้น พบการเกิดได้น้อยกว่ามาก โดยวัคซีนโมเดอร์น่าเข็มกระตุ้นขนาด 50 ไมโครกรัมนั้น พบอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 8.7 รายต่อ 1 ล้านโดส น้อยกว่าที่พบหลังการฉีดวัคซีนชุดหลักเข็มที่ 2 ซึ่งเป็นขนาด 100 ไมโครกรัม (56.3 รายต่อ 1 ล้านโดส) จากการเก็บข้อมูลก่อนหน้านี้