ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. จับมือพัฒนานวัตกรรม ชุด KKU-PAPR Suit ป้องกัน COVID-19

June 14, 2022 2586

เพื่อส่งมอบบุคลากรทางการแพทย์ ตอกย้ำบทบาท หน่วยงานอุทิศตน เพื่อสังคมและประเทศ ด้านการผลิตนวัตกรรมตอบโจทย์สังคม

รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงเรื่องชุด KKU-PAPR Suit ป้องกัน COVID-19  ว่า เมื่อต้นปี 2563 ประเทศไทยและทั่วโลก ได้เผชิญโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับมือในสถานการณ์รักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด มาเป็นปีที่ 3 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่ เปรียบเสมือนเป็นนักรบด่านหน้า เพื่อปกป้องและดูแลรักษาพี่น้องประชาชนชาวไทยให้ปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19 

ด้วยเหตุนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการวิจัยและสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศ ได้ร่วมกันระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในระหว่างการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยทั้งสองหน่วยงาน จึงได้คิดประดิษฐ์นวัตกรรมชื่อ PAPR Suit (Powered Air Purifying Respirator) หรือชุดอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งพัฒนาโดย ดร.นวภัค เอื้ออนันต์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์  ดร.ธนวุฒิ  ตันติโสภารักษ์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และดร.ทินกร คำแสน สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี   ซึ่งชุดอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ  เป็นอุปกรณ์ที่ขาดแคลนและราคาสูง ณ ขณะนั้น โดยทีมนักวิจัยได้เริ่มพัฒนา KKU-PAPR Suit เริ่มจาก Gen.1.0 Gen.1.2  

  

จนมาถึงรุ่นล่าสุด Gen.2.0 ที่มีคุณสมบัติเป็น PAPR99-PAPR100 โดยชุดดังกล่าว  เป็นอุปกรณ์ป้องการทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ใหักับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งรับการสนับสนุนงบบริจาคกว่าแปดแสนบาทในการค้นคว้า ทดลองสร้างชุดต้นแบบและผลิต จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สมาคมปึงเถ่ากงม่า-ขอนแก่น และผู้มีจิตศรัทธาในการร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์  เพื่อให้สามารถผลิตชุด PAPR Suit ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้ส่งมอบไปแล้ว จำนวน  54 ชุด มีต้นทุนต่อชุดราคา 5,000 บาท

สำหรับโรงพยาบาลที่ได้รับชุด PAPR Suit ประกอบ โรงพยาบาลภูเวียง จำนวน  4 ชุด โรงพยาบาลน้ำพอง จำนวน 2 ชุด อบต.ท่าเรือ อยุธยา จำนวน 3 ชุด โรงพยาบาลพล จำนวน  2 ชุด โรงพยาบาลแวงใหญ่ จำนวน 1 ชุด โรงพยาบาลบ้านไผ่ จำนวน 2 ชุด โรงพยาบาลกรุงเทพ-ขอนแก่น จำนวน 5 ชุด สมาคมปึงเถ่ากงม่า-ขอนแก่น จำนวน  5 ชุด  โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวน 7 ชุด โรงพยาบาลหนองบัวแดง จำนวน  2  ชุด โรงพยาบาลหนองสองห้อง จำนวน  2 ชุด โรงพยาบาลกระนวน จำนวน 2 ชุด  โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จำนวน 2 ชุด โรงพยาบาลบ้านฝาง จำนวน  2 ชุด โรงพยาบาลชุมแพ จำนวน  4 ชุด  โรงพยาบาลในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน  9 ชุด

รศ.ดร.จีรนุช  กล่าวต่อไปว่า กว่า 1 ปีที่ผ่านมาในการส่งมอบชุด KKU-PAPR Suit ไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้งานจริง ทีมนักวิจัยได้รับเสียงสะท้อนที่ดีจากบุคลากรทางการแพทย์ว่า ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำหัตถการต่างๆ  ให้กับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และเป็นสิ่งที่สร้างแรงผลักดันให้คณะวิศวกรรมศาสตร์เดินหน้าต่อไป ในการอุทิศตนเพื่อสังคม เพื่อให้ความสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัย คือ “การอุทิศตนเพื่อสังคม ผลิตผลงานวิจัยและสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตภาคอีสาน ดั่งพระราชดำรัสความตอนหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานไว้เมื่อครั้งที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ  เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2510  การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้นเป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนายกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง

“คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นและมีความพร้อมด้านคนและองค์ความรู้ในการร่วมขับเคลื่อนในพัฒนางานวิจัย การคิดค้นและประดิษฐ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมระดับประเทศและระดับนานาชาติ  ประโยชน์ต่อสังคมและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล”  รศ.ดร.จีรนุช กล่าว

X

Right Click

No right click