November 08, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 10974

กรุงเทพฯ/ 15 ธันวาคม 2566 – นักเทคโนโลยีไทยโชว์ผลงานนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ “งานวิจัยนวัตกรรมการรักษามะเร็ง” คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น 2566 และ “งานวิจัยเทคโนโลยีฐานในการสังเคราะห์ยา” และ “งานวิจัยวัสดุดูดซับโลหะหนักในผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม” คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2566 ในงาน Outstanding Technologist Awards and TechInno Forum 2023 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนอกจากการแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลต่าง ๆ แล้ว ยังมีส่วนของงานสัมมนา TechInno Forum 2023 ภายใต้หัวข้อ “Healthy Living” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญมากมายหลายด้านมาร่วมแบ่งปันเทรนด์และองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน Outstanding Technologist Awards and TechInno Forum 2023 ในหัวข้อ “Healthy Living” เพื่อเป็นแพลตฟอร์มแบ่งปันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญและนักเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก รวมทั้งเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย ซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายของรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2566 โดยงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และเอสซีจี

 

ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และประธานกลุ่มบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า “การจัดงานในปีนี้มุ่งเน้นต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้งานจริง เราจึงจัด TechInno Mart ให้นักวิจัยจากไทยและต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ได้มาจัดแสดงผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ เพื่อนำองค์ความรู้และผลงานวิจัยเหล่านี้ไปต่อยอดพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป”

มอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีมอบรางวัลและร่วมแสดงความยินดีแก่ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายและผู้ชนะรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีผู้ที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ ดังนี้

รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 1 รางวัล ได้แก่

1. ศาสตราจารย์ นพ. สุรเดช หงส์อิง, รองศาสตราจารย์ นพ. อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ และคณะ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงาน: การค้นพบและวิจัยการพัฒนานวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดที่ผ่านการแปลงพันธุกรรมตัวรับแอนติเจนจำเพาะ chimeric antigen receptors T-cell (CAR-T) ด้วยเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด

 

รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

1. ดร. ภก. นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ สังกัดศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงาน: การวิจัยเทคโนโลยีฐานในการสังเคราะห์ยา

2. ผศ. ดร. กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์ สังกัดสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี ผลงาน: วิจัยโครงข่ายโลหะอินทรีย์เพื่อใช้เป็นวัสดุดูดซับโลหะหนักในผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

โดยนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จะเข้ารับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 49 ในวันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

 

ในโอกาสนี้ รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบช่อดอกไม้ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีแก่ทุกท่านที่ได้รับรางวัลว่า “ในนามของมูลนิธิฯ ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน และขอขอบคุณที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานอย่างต่อเนื่องจนประสบผลสำเร็จ ผลงานของทุกท่านจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในวงการนี้ต่อไป รางวัลนี้ไม่เพียงเชิดชูเทคโนโลยีไทยที่ประสบความสำเร็จ และยังช่วยผลักดันความสามารถทางวิชาการของเยาวชนรุ่นใหม่ของไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึง TMA ที่ให้การสนับสนุน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงนักวิจัยและธุรกิจ ให้สามารถนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป”

ภายในงานยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่ประสบความสำเร็จจากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มานำเสนอผลงานและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อต่อยอดการค้นพบ จับคู่ธุรกิจและพัฒนาเพื่อประโยชน์ของคนในวงกว้างอีกด้วย อาทิ Breathology เครื่องเป่าวัดระดับน้ำตาลในเลือด, Biomede สตาร์ทอัพจากฝรั่งเศส ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำให้ดินที่ใช้ในการ

เพาะปลูกพืชที่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก กลับมาสะอาดและมีคุณภาพดี, BlueTree เป็นบริษัทระดับโลกที่ทำการผลิตน้ำตาลทดแทนรสชาติเยี่ยม เพื่อลดการใช้น้ำตาลจากธรรมชาติในเครื่องดื่ม, Genfosis ให้บริการ Preventive Healthcare Solution โดยทดสอบวิเคราะห์จาก DNA เพื่อทราบถึงความเสี่ยง โอกาสในการเกิดโรค และแนวทางในการทำ Preventive Healthcare ไม่ให้เกิดโรค เป็นต้น

Inspiring the Future of Healthy Living

ในส่วนของงานสัมมนา TechInno Forum 2023 ภายใต้หัวข้อ “Healthy Living” เริ่มต้นด้วยการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “เมกะเทรนด์” โดยคุณอนุชา มาจำปา Country Head ประจำประเทศไทย บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด ที่กล่าวถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมไปถึงภาวะวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Permacrisis) ทำให้เกิดผลกระทบ 4 ประการ คือ 1) คนคิดมากขึ้นเมื่อจะใช้จ่ายเงินแต่ละครั้ง 2) ให้ความสำคัญกับสินค้าที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน 3) ให้การสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นมากขึ้น และ 4) ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ทำให้เกิดเมกะเทรนด์ ดังต่อไปนี้ เมกะเทรนด์ที่ 1 Traditional to Future Family พบว่าขนาดของครอบครัวลดลง เมกะเทรนด์ที่ 2 Pensioner Boom พบว่ามีแนวโน้มสัดส่วนผู้เกษียณอายุมากยิ่งขึ้น เมกะเทรนด์ที่ 3 Sustainable Living พบว่าคนพยายามสรรหาแนวทางในการลดผลกระทบเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เมกะเทรนด์ที่ 4 Preventative Health Models คือปรับก่อนป่วย การกินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เมกะเทรนด์ที่ 5 Personalized Nutrition มีการตรวจว่าขาดสารอาหารอะไร มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอะไร เพื่อจัดเตรียมยาสำหรับแต่ละคนโดยเฉพาะ และเมกะเทรนด์ที่ 6 Mental Health เรื่องของสุขภาพจิตมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

ทางด้านคุณอริยะ พนมยงค์ Co-CEO บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) และ CEO & Founder บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่นนอล จำกัด ได้บรรยายถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี และเน้นย้ำว่าไลฟ์สไตล์เป็นสิ่งสำคัญ และกล่าวอธิบายถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพว่า ความท้าทายในเรื่องนวัตกรรมและการทรานส์ฟอร์เมชั่น จำเป็นต้องให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ 1) Users First, Not you first ให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นลำดับแรก 2) Being a Platform ต้องเป็นแพลตฟอร์ม Universal เหมือน Google, Line, Facebook ไม่ยึดติดกับชื่อของโรงพยาบาล 3) Fixing the Obvious ต้องแก้ไขสิ่งที่จำเป็นและเห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหา

ในการบรรยายหัวข้อ Food for Life: Innovation for Health and Environment ดร. อัลลัน ลิม (Dr. Allan Lim) Head of Open Innovation บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนา เนสท์เล่ จำกัด สิงคโปร์ ได้กล่าวถึงความท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นด้านอาหารคือ จะทำอย่างไรให้มีอาหารเพียงพอกับการบริโภคของประชากร 10 พันล้านคนทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2050 โดยเนสท์เล่พยายามสร้าง Sustainable foods ให้เกิดขึ้นตาม Net Zero Roadmap ของเนสท์เล่ ที่ครอบคุลมตั้งแต่ต้นน้ำ (Sourcing) ไปจนถึงกลางน้ำ การผลิตและบรรจุ (Manufacturing และ Packaging) ถึงขั้นสุดท้ายคือผู้บริโภค

ทั้งนี้ การวิจัยพัฒนา (R&D) ของเนสท์เล่ ให้ความสำคัญใน 5 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ 1) แนวโน้มอาหารใหม่ (New Food Trends) 2) อาหารว่างเพื่อสุขภาพ (Healthy Snacking) 3) การมีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี (Healthy Aging) 4) สารอาหารที่สามารถจ่ายได้ (Affordable Nutrition) และ 5) บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Packaging) โดยการสำรวจผู้บริโภคของเนสท์เล่ เน้นการค้นพบ เช่น การทำ Social Listening เพื่อการ Track Sentiment และ Perception ของผู้บริโภคต่อ Ingredients รวมถึงมีการทำ Open Innovation ทำ R&D Accelerator ที่สามารถเร่งกระบวนการวิจัยและการผลิตภายใน 6 เดือน โดยเชื่อว่า “Test and Learn” คือแนวทางที่ควรปฏิบัติ รวมถึงร่วมมือกับบริษัทในท้องถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับเส้นทางแห่งนวัตกรรมนี้ร่วมกันได้

นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการนำเสนอเรื่อง TechInno for Healthy Living โดยคุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องมาตรฐานอากาศ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการใช้ชีวิตของคนไทย ทำให้เอสซีจีได้พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ด้านคุณภาพอากาศออกมาช่วยลดปัญหา เช่น เทคโนโลยี Air Filter ซึ่งเป็นอุปกรณ์กรองอากาศคุณภาพสูงที่ใช้ในอาคาร, ระบบไอออนกำจัด

เชื้อโรค (Ion Technology) ที่มีขึ้นมาในช่วงโควิด 19, เทคโนโลยีการหมุนเวียนอากาศ กรองฝุ่น PM 2.5 ลดกลิ่น และป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น

ในส่วนของดร. สืบสกุล โทนแจ้ง ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรม บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้บรรยายถึงแนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลด้านเฮลธ์แคร์ว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อแนวโน้มเทคโนโลยีด้านเฮลธ์แคร์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ ทั้งผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและการอพยพข้ามถิ่นฐาน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ต้องมีการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ มาใช้ทำ Preventive care ให้แก่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทางไกล การเชื่อมต่ออุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ของโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน การนำ AI and Machine Learning มาใช้เพื่อประเมินอาการ AR/VR/MR การนำเทคโนโลยีภาพเสมือนมาใช้ในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทำให้วางแนวทางการรักษาได้รวดเร็วมากขึ้น Blockchain เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคล และการทำ Big Data & Predictive Analytics ให้สามารถคาดการณ์อาการของคนไข้ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เพื่อใช้ทำ Preventive cares ได้

ศูนย์ AMSAR ร่วมกับปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด ม.หอการค้าไทย เผยผลวิจัย “คาเฟ่ฮอปเปอร์” "ถ่ายรูปสวยอย่างเดียวไม่พอ" แนะ 4 แนวทางมัดใจให้กลับมาใช้บริการซ้ำ

ศูนย์ AMSAR นิเทศ ม.หอการค้าไทย เผยผลวิจัย 19 คอนเทนท์แทนใจคนทำงานออฟฟิศช่วงโควิดแนะสร้าง-นำเสนอเนื้อหาบนเพจอย่างไรโดนใจคนทำงานออฟฟิศ

นักวิจัย สวพส. เผยผลงานวิจัย “โลกร้อน...กับเกษตรบนดอย” หวังเป็นแนวทางในการสร้างกลยุทธการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NSTDA Annual Conference: NAC2019) ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Moving Towards Thailand’s Future Economy with Science, Technology and Innovation)” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 ระหว่างวันที่ 25 - 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี  โดยภายในงานมีการแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบ กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน และการสัมมนาที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิและอบรมเชิงปฏิบัติการ มุ่งเน้นนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน วทน. การวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ นำมาพัฒนาขีดความสามารถด้าน วทน. ของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพ และสร้างความมั่นคง ยั่งยืนต่อไป

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลรายงานตอนหนึ่งว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้าน วทน. และพัฒนากลไกการส่งมอบ เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์  ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา สวทช. ดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรภาครัฐ การศึกษา และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ส่งมอบผลงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคมใน 5 ประเด็นมุ่งเน้น ได้แก่ 1. สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่และนวัตกรรมอาหาร   2. ระบบขนส่งสมัยใหม่ 3. การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย 4. เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 5. นวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้สร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นเงินมากกว่า 45,000 ล้านบาท หรือประมาณ 7 เท่าของค่าใช้จ่ายของ สวทช. ได้ผลงานที่เป็นองค์ความรู้ ได้แก่ สิ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 546 เรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญาที่ขอจด 383 คำขอ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคการผลิตและบริการ  261 รายการ หน่วยงานรับมอบ 335 หน่วยงาน นอกจากนั้น สวทช. ได้สร้างเสริมขีดความสามารถเกษตรชุมชน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกร 6,700 คน จาก 264 ชุมชน ใน 35  จังหวัด ครอบคลุมเทคโนโลยีหลัก 36 เรื่อง เช่น การแปรรูปมันสำปะหลัง ข้าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ และการใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อลดการใช้สารเคมี เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อาชีพวิจัย ในรูปแบบการให้ทุนการศึกษาและการพัฒนาระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง โดยมีนักวิจัย สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ในการทำโครงงานวิจัยตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงบัณฑิตศึกษาในประเทศ จำนวน 790 ทุน นอกจากนี้ สวทช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการบริหารจัดการโครงการที่มีความสำคัญและการลงทุนสูงมากของประเทศ เช่น การจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ซึ่งมีความก้าวหน้าในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในเขต EECi ตามลำดับ

สำหรับการประชุมวิชาการประจำปีครั้งนี้ สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ผ่านการทำงานของ 4 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ และสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ เกษตรกร และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถด้าน วทน. ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในปีนี้เน้นการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จากยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเทศโดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของประเทศไปสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจแนวใหม่ 6 ด้าน ได้แก่ 1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน 2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน 4.  เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligent Economy) เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ โดยใช้เวลาน้อยลง 5. เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy)เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานแนวคิดความร่วมมือและแบ่งปัน ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ สร้างรายได้แบบพึ่งพากัน และ 6. เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เป็นระบบที่นำความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้

ทั้งนี้ การประชุม NAC2019 เริ่มขึ้นในวันที่ 25 - 28 มีนาคม 2562 โดยมีกิจกรรมหลัก คือ การสัมมนาวิชาการเป็นเวทีนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวม  49  หัวข้อ การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช.และพันธมิตร ได้จัดโซนนิทรรศการเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนเทิด พระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และโครงการตามพระราชดำริ  โซนพัฒนาเด็กและเยาวชน  โซนสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร โซนงานวิจัยและพัฒนา โซนความร่วมมือภาคเอกชนและต่างประเทศ แและโซนผลิตภัณฑ์จากชุมชนเครือข่ายสวทช. การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. และบริษัทผู้เช่า รวม 24 ห้องปฏิบัติการ และกิจกรรมสำหรับครูและเยาวชนในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาความเป็นนวัตกรสู่เด็กและเยาวชนไทย และโครงการ Coding at School Powered by KidBright รวม 11 กิจกรรม

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานและเบิกผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลตามประเภทต่างๆ ในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่ สวทช. ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ที่จะนำทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ตลอดจนอาศัยการเชื่อมโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปกับระบบการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป ผ่านในหลากหลายกิจกรรมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนัก รวมไปถึงสร้างให้เกิดนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระจายความรู้ออกสู่สังคมไทยให้ทั่วถึงและเท่าเทียม 

สำหรับในปี 2561 สวทช. ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่สำคัญ 3  โครงการ ได้แก่ โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2561 จำนวน 2 รางวัล โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 21 (National Software Contest: NSC2019) จำนวน 6 รางวัล และโครงการการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (The 11th Thailand Robot Design Contest: RDC 2018) จำนวน 1 รางวัล

จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(Moving Towards Thailand’s Future Economy with Science, Technology and Innovation) และเสด็จพระราชดำเนินทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ และทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย และนิทรรศการผลงานวิจัย อาทิ การแสดงผลงานวิจัยทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสําคัญต่อประเทศ มีมูลค่าการลงทุนสูง มีการใช้แรงงานจํานวนมาก และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ของประเทศ โดยจัดแสดงในรูปแบบของ BCG Café & restaurant เทคโนโลยีและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสัตว์น้ำไทยอย่างยั่งยืน โครงความร่วมมืองานวิจัยทางด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อความยั่งยืน ระหว่าง สถาบัน Forschungszentrum Jülich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ สวทช. ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ นาโนวัคซีนเทคโนโลยีดูดซึมทางเหงือกต้านโรคในปลา TPMAP : ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน ต้นแบบอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบค่าความถูกต้องและแม่นยำของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สานพลังเทคโนโลยียางพารา สานชุมชน สานอุตสาหกรรม น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่ ParaFIT สำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราโดยเฉพาะ ความร่วมมือและสื่อการเรียนรู้ Fabrication Lab โดยมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง สนุกกับเครื่องมือ/อุปกรณ์ Fabrication Lab โครงงานวิทยาศาสตร์ Smart Farm, Smart Energy, Smart Industry เพื่อส่งเสริมความเป็นนวัตกร โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร และสมาคมระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะไทย เป็นต้น

พร้อมทั้งได้เสด็จเยี่ยมชมโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ภายใต้โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ หรือ BIG ROCK ของรัฐบาล ซึ่งโรงงานผลิตพืชเป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิด ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ช่วงคลื่นแสง ความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้แสงจากหลอดไฟ LED สีต่างๆ เช่น สีแดงใช้เร่งดอก สีน้ำเงินบำรุงใบพืช ทดแทนแสงอาทิตย์จากธรรมชาติ อีกทั้งยังมีระบบกรองอากาศทำให้ปราศจากเชื้อโรคและแมลง ไม่ต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช และนักปรับปรุงพันธุ์พืชยังใช้องค์ความรู้ในการคำนวณและออกแบบการให้ความเข้มข้นของสารอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัยของพืชด้วย ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตเร็วช่วยร่นระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ผลผลิตที่ได้มีความสะอาดปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง คุณภาพดีและมีราคาสูงกว่าตลาดทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า ซึ่งขณะนี้โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) สวทช. สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นแห่งแรกของประเทศไทยบนพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ในอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และได้เริ่มทดลองปลูกพืชสมุนไพร เช่น ใบบัวบก ฟ้าทะลายโจร รวมถึงพืชชนิดอื่นๆ เพื่อนำมาสกัดเป็นสารสำคัญมูลค่าสูงและนำไปพัฒนาเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในอาหารเสริม เวชสำอางเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่พืชสมุนไพรในประเทศ

นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมพิเศษเปิดบ้าน สวทช. (NSTDA Open house) การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของ สวทช. ซึ่งจะผู้เยี่ยมชมจะได้พบกับอุปกรณ์และเครื่องมือในการวิจัยที่ทันสมัยระดับโลก โดย สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมเปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่สนใจ ได้เยี่ยมชมเทคโนโลยีจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการ สวทช. ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ พร้อมคำแนะนำบริการและมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้โดยง่าย

ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NAC2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ผู้สนใจสามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-564-8000 หรือ www.nstda.or.th/nac

X

Right Click

No right click