ล่าสุดงาน Global Sustainable Development Congress ยิ่งใหญ่ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการผนึกกำลังในการจัดงานระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Times Higher Education (THE) เพื่อผลักดันและส่งเสริมผ่านการอภิปรายและความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืนระดับโลก
งานครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และได้จบไปอย่างยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งได้มีการประกาศผลอันดับ THE Impact Rankings ของปี 2567 ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ทั้ง 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ โดยได้มีมหาวิทยาลัยจากไทยถึงสองแห่งที่ได้ติดท็อป 50 ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล (ลำดับที่ 19) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ลำดับที่ 43)
THE เป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจากทั่วโลกและหน่วยงานอุดมศึกษาเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางที่สำคัญในการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัยในการช่วยบรรลุเป้าหมาย SDGs ซึ่งการประชุมยังได้มีการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกจากที่ปรึกษาข้อมูลของ THE เกี่ยวกับโครงการสำคัญที่กำลังจะริเริ่มร่วมกันกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อผนวกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยต่อวาระการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีการกำหนดเป้าหมายการสนับสนุนสำหรับมหาวิทยาลัย และตรวจสอบทักษะด้านความยั่งยืนของนิสิตและนักศึกษาผ่านการจัดทำสำรวจแบบเฉพาะ
คุณ Phil Baty, Chief Global Affairs Officer ของ THE กล่าวเกี่ยวกับงานประชุมครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยไทยยังคงพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านลำดับการจัดอันดับ Impact Rankings ของ THE ด้วยจำนวนมหาวิทยาลัยไทยที่เข้าร่วมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เรียกได้ว่าสถาบันอุดมศึกษาแสดงผลงานได้ดีกว่าที่ผ่านมา ไต่อันดับเข้าไปอยู่ในท็อป 20 ของหมวดหมู่โดยรวม ซึ่งเป็นน่าประทับใจอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการแข่งขันที่เข้มข้นอย่างมาก” พร้อมเสริมว่า “พันธกิจที่สำคัญของ Times Higher Education คือการเชื่อมโยงผู้คน และข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ระดับโลก เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ และเชื่อว่าเราจะร่วมสร้างอนาคตที่ดีกว่าและยั่งยืนมากขึ้นด้วยกัน”
ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยไทยมีรากฐานที่แข็งแกร่งในการทำงานด้านความยั่งยืนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนและการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น” พร้อมปิดท้ายว่า “มหาวิทยาลัยไทยพร้อมก้าวสู่เวทีระดับโลก โดยเฉพาะงานวิจัยระดับชุมชนซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา แต่อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องพัฒนาคุณภาพงานวิจัยและการนำเสนออย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทัดเทียมกับงานของระดับนานาชาติ”
งานครั้งนี้ได้มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน ประกอบด้วยวิทยากรมากถึง 360 ท่าน จากมหาวิทยาลัย บริษัท รัฐบาล และองค์การนอกภาครัฐกว่า 1,000 แห่งจาก 85 ประเทศ โดยมีการประชุม เวิร์คช็อป เน็ตเวิร์คกิ้งต่าง ๆ รวมถึงการแชร์ข้อมูลเชิงลึกมากมาย ที่ขับเคลื่อนความพยายามร่วมกันในอนาคตสู่ความยั่งยืนระดับโลก
ท้ายนี้ที่งานยังได้มีการเปิดตัว The International Green Learning and Skills Accelerator (IGLSA) ที่ริเริ่มโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และ Times Higher Education ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษาไปสู่อนาคตแบบ Net Zero และเอื้อต่อธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ด้วยการเสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะสีเขียว สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ ที่นี่ จากความสำเร็จในปีนี้ THE ได้ประกาศว่าอิสตันบูลเป็นเมืองถัดไปที่จะจัดงาน GSDC 2025 โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อจองบัตรเข้าร่วมงานปีหน้าได้