November 18, 2024

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้รายได้ธุรกิจโรงแรมขยับแตะ 88% ของรายได้ศักยภาพ (Potential Income) (1) บนความเปราะบางของการเติบโตแบบไม่เท่าเทียมที่รายได้กระจุกตัวในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มสูงขึ้น และรายได้ไม่ได้กระจายไปยังเมืองรองอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แนะรัฐยกระดับนโยบายกระตุ้นเที่ยวเมืองรองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยลดข้อจำกัดและเพดานการใช้มาตรการพร้อมแนวทางช่วยเหลือยกระดับผู้ประกอบ SMEs

ธุรกิจโรงแรมในปี 2567 นับเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สูงที่สุด ส่งผลให้ขนาดธุรกิจหดตัวลงจากจุดสูงสุดเดิมกว่า 65% ในปี 2564 (2.87 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 1.01 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของธุรกิจมีสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยในปี 2565 อุตสาหกรรมโรงแรมฟื้นตัวได้เกินกว่า 70% และด้วยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวในปี 2566 ทำให้ตัวเลขจากภาคท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหนุนแรงส่งอุปสงค์ภาคโรงแรมบนข้อจำกัดด้านอุปทานที่ไม่สามารถเพิ่มได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองอุปสงค์ ส่งผลให้ราคาห้องพักในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของภาคโรงแรมสามารถก้าวผ่านจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 3.28 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2567 ด้วยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่ามากกว่า 35 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่สร้างประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจำนวน 320 ล้านคน-ครั้งแล้ว พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงบนโครงสร้างประชากรที่กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน เฉพาะแค่ในกลุ่ม Gen X และ Gen Y ครอบคลุมแล้วกว่า 70.5% ของกลุ่มประชากรที่เป็นอุปสงค์การท่องเที่ยว ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมด้านการเงินเพียงพอในการตอบโจทย์ด้านการหาความสะดวกสบายในการท่องเที่ยว ทำให้ความเต็มใจจ่ายต่อทริปเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อการเลือกโรงแรมสามารถตอบโจทย์และได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้แรงส่งดังกล่าวขยับรายได้ของธุรกิจโรงแรมเพิ่มเป็น 3.70 แสนล้าน (รายได้ธุรกิจโรงแรมประเมินจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และประเมินผ่าน Potential Income(1) ของจำนวนโรงแรมที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) อย่างไรก็ตาม การเติบโตในเชิงของรายได้ในธุรกิจโรงแรมยังแฝงไว้ด้วยความเปราะบางสำคัญซึ่งประกอบด้วย

1) การกระจายรายได้ที่ไม่สมมาตรระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ โดยในปี 2562 สัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงแรมระหว่างผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และ รายใหญ่มีขนาดใกล้เคียงกันในอัตราส่วน 45 : 55 แต่หลังจากการฟื้นตัวในปี 2566 อัตราส่วนกลับเปลี่ยนไปอยู่ที่ 37 : 63 บนความเป็นไปได้ที่สัดส่วนรายได้ของผู้ประกอบการ SMEs จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น 1) ความได้เปรียบด้านต้นทุนในการบริการ (Economy

of Scale) ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีอัตราส่วนต้นทุนห้องพักต่อลูกค้าหนึ่งรายมีราคาขายต่ำกว่า 2) ความได้เปรียบจากบริการที่หลากหลาย (Economy of Scope) เนื่องจากในโรงแรมขนาดใหญ่มีการบริการที่ครบวงจร (Full Services) ตอบสนองกลยุทธ์ในรูปแบบ On Demand ที่มีความยืดหยุ่นและผู้เข้าพักแรมสามารถปรับเพิ่มลดบริการเสริมให้ตอบโจทย์กับความต้องการได้เพิ่มมากขึ้น และ 3) ความได้เปรียบจากธุรกิจอื่นที่มีความสัมพันธ์กัน (Conglomeration Economy) โดยปกติกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มักมีธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น เช่น สปา ร้านอาหาร ธุรกิจแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ห้างสรรพสินค้า ที่อาจใช้ประโยชน์จากธุรกิจอื่นผ่านรูปแบบสิทธิประโยชน์ เช่น บัตรกำนัลในการใช้บริการธุรกิจในเครือเดียวกัน เป็นต้น

2) การกระจุกตัวรายได้เกิดในเมืองหลักในรูปแบบ Gateway City ที่สะท้อนถึงความสัมฤทธิ์ผลที่ไม่สมบูรณ์ของโครงการท่องเที่ยวเมืองรองที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประสิทธิผลของการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่เมืองรองยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากเมืองรองยังไม่สามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อดึงดูดให้เกิดการพักแรม ส่งผลให้เม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงหมุนเวียนในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวหลัก ตัวอย่างเช่น พื้นที่ภาคตะวันออกในปี 2566 เทียบกับปี 2565 ที่มีนักท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีเพิ่มขึ้นเกิน 200% แต่รายได้โรงแรมเติบโต 27% ในขณะที่ชลบุรีที่มีผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้น 50% แต่รายได้โรงแรมเติบโตถึง 70%

ดังนั้น แม้ธุรกิจโรงแรมยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดรับกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังแฝงด้วยความเปราะบาง ด้วยเหตุดังกล่าว หากธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวไทยจะสามารถพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืน และเต็มรูปแบบ ทางttb analytics แนะภาครัฐควรเร่งพัฒนาศักยภาพ ผ่านนโยบายที่มีความต่อเนื่องและขยายผล เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้กับธุรกิจโรงแรมในเมืองรองและกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้

1. การสนับสนุนท่องเที่ยวเมืองรองให้เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ได้เต็มที่ เช่น สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีในโครงการ”เที่ยวเมืองรอง 2567” ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15,000 บาท โดยถ้าพิจารณาถึงเงินจำนวนดังกล่าวอาจเกิดจากการเดินทางแค่ 1 ทริป การท่องเที่ยวเมืองรองในทริปถัดไปอาจไม่จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเมืองรอง รวมถึงเมื่อพิจารณา การนำรายจ่ายท่องเที่ยวเมืองรองมาหักภาษีได้เต็มจำนวนโดยไม่กำหนดเพดานอาจส่งผลดีกับรายรับของภาครัฐ เนื่องจากตามฐานข้อมูลผู้เสียภาษีพบกว่า 90% เสียภาษีในฐานภาษีไม่เกิน 10% และเม็ดเงินที่สามารถทำมาลดหย่อน ต้องเป็นเม็ดเงินที่อยู่ในระบบภาษีที่ส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% รวมถึงผลทางอ้อมที่จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ผ่านตัวทวีรายจ่ายเอกชน (Multiplier Effect) ที่จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนและส่งผลต่อทั้ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

2. การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างแต้มต่อจากความเสียเปรียบตามธรรมชาติที่มีอยู่เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ออกนโยบายลดหย่อนภาษีพิเศษสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่เมืองรอง พร้อมออกนโยบายกระตุ้นฝั่งอุปสงค์ทั้งภาคประชาชนและธุรกิจที่จะมาพักแรมหรือทำกิจกรรมบนพื้นที่เมืองรองแบบมีเงื่อนไขและข้อจำกัดให้น้อยที่สุด หรืออาจออกวงเงินพิเศษ (Transformation Loan) เพื่อเป็นเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาห้องพักและบริการให้สอดคล้องกับกำลังใช้จ่ายของกลุ่มอุปสงค์เป้าหมาย

กล่าวโดยสรุป ttb analytics คาดธุรกิจโรงแรมยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง หากแต่ความเติบโตดังกล่าวมีลักษณะการเติบโตแบบไม่เท่าเทียม โดยธุรกิจรายใหญ่มีแนวโน้มเติบโตดีกว่ารายเล็ก เมืองท่องเที่ยวหลักยกระดับเป็นเมืองศูนย์กลางท่องเที่ยวภูมิภาค (Reginal Tourism Capital) ที่ดึงดูดการพักแรมของนักท่องเที่ยวจากเมืองรองในพื้นที่มาพักแรมในจังหวัดหลัก ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลัก ดังนั้น เพื่อลดความเปราะบางดังกล่าวภาครัฐควรสนับสนุนออกนโยบายแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของนโยบายเที่ยวเมืองรอง รวมถึงเน้นย้ำ “ความยั่งยืนต่อเนื่องของนโยบาย และสร้างความเชื่อมั่นนโยบาย” โดยสนับสนุนให้เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถวางแผนธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตไปพร้อม ๆ กับแรงหนุนจากภาครัฐที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเพิ่มศักยภาพการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เลือกพักแรมในเมืองรองเพิ่มขึ้น ทำให้ขนาดเศรษฐกิจโตขึ้นและส่งผลต่อการขยายตัวของเมืองรอง ซึ่งจะทำให้เกิดกิจกรรมมากพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะพักและใช้เวลาในจังหวัดเมืองรองมากกว่าเพียงแค่เดินทางไปเช้า เย็นกลับ หรือใช้เป็นแค่ทางผ่านเหมือนอย่างปัจจุบัน

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มุ่งมั่นเดินหน้าเปลี่ยน...ชุมชนเพื่อความยั่งยืน เชิญชวนผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม fai-fah for Communities ที่ดำเนินการโดย มูลนิธิทีทีบี ภายใต้แคมเปญ “ขอ 1 วัน ใน 1 ปี มาทำอะไรดี ๆ ด้วยกัน” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม เพื่อจุดประกายและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นางประภาศิริ โฆษิตธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของอาสาสมัครทีทีบี (ttb volunteer) เพราะเชื่อว่า นอกเหนือจากการมาทำงานที่ธนาคารแห่งนี้ พวกเราชาวทีทีบีไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้ชุมชนด้วยเช่นกัน จึงเกิดโครงการที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะช่วยจุดประกายโอกาสให้กับสังคมแล้ว ยังเป็นโอกาสดี ๆ ที่อาสาสมัครจะได้ทำความรู้จัก พบปะเพื่อนใหม่ต่างแผนก พัฒนาโครงการเพื่อสังคมที่ตนเองสนใจ วางแผนงานร่วมกับชุมชน และสุดท้าย ส่งต่อให้ชุมชนสามารถดำเนินงานต่อได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญา Make REAL Change ที่พนักงานทุกคนยึดถือมาโดยตลอด

โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อาสาสมัครทีทีบีกว่า 20,000 คน ได้นำความรู้ความสามารถ เข้าช่วยเหลือชุมชนแล้วกว่า 260 ชุมชน เป็นจำนวน 262 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ มีช่องทางในการประกอบอาชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน การทำบัญชี เพื่อให้วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรเหล่านั้นเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ในปี 2567 นี้ เหล่าอาสาสมัครทีทีบี ยังคงมุ่งมั่นค้นหาชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาสังคมต่อไป และเพื่อต่อยอดพร้อมทั้งส่งต่อความรู้สึกแห่งการให้แก่ผู้มีจิตอาสาภายนอกองค์กร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่มากขึ้น จึงขอเชิญชวนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปัน ในกิจกรรม fai-fah for Communities ภายใต้แคมเปญ “ขอ 1 วัน ใน 1 ปี มาทำอะไรดี ๆ ด้วยกัน” กับ “ฝาขวด...รักษ์โลก” โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยน...ขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อลดขยะพลาสติก ลดมลพิษ และสร้างคุณค่าให้แก่ฝาขวดพลาสติกสามารถนำไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยฝาขวดน้ำพลาสติกที่ได้รับจะนำไปรีไซเคิลเปลี่ยนเป็นโต๊ะ เก้าอี้เพื่ออุปกรณ์การเรียน เครื่องดนตรี บล็อกปูพื้นถนน ฯลฯ โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาศาสตร์ และโครงการกรีนโรด จังหวัดลำพูน ก่อนนำไปมอบให้น้องนักเรียนที่ขาดแคลนต่อไป” นางประภาศิริ กล่าว

ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอาสาสมัครทีทีบี สามารถส่งฝาขวดมาได้ที่ โครงการอาสาช่วยกันทำ ที่อยู่ 1/31 ซ.เพิ่มสิน 39 แขวงออเงิน เขตสายไหม กทม. 10220

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้แนวโน้มเงินบาทในช่วงต่อไปจะมีความผันผวนมากขึ้น จากความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต หลังเห็นพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในทองคำมากขึ้น ความผันผวนของตลาดการเงินโลกในช่วงหลังซึ่งส่งผลบวกต่อการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ตลอดจนความเปราะบางของปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ทองคำมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากขึ้น แนะภาคธุรกิจเตรียมพร้อมเครื่องมือทางการเงินรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

 เข้าสู่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ค่าเงินบาทกลับมาผันผวนสูงขึ้นจากปกติราว 6-7% เป็น 9-10% ซึ่งผันผวนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของสกุลเงินภูมิภาค ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วจากช่วงต้นไตรมาส 3 ที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 34.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ แข็งค่าขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 (MTD) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าลงเพียง 0.3% (YTD)

ทั้งนี้ แม้การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามการปรับเพิ่มมุมมองการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ แต่อีกปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ผันผวนและกำลังเป็นขาขึ้นจนพุ่งสูงถึง 21% จากต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 2,492 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ณ วันที่ 3 กันยายน 2567) ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ โดยหากเทียบความผันผวนของราคาทองคำในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2558-2562) พบว่าราคาทองคำมีความผันผวนที่ต่ำกว่าปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาทองคำส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,000 – 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ประกอบกับค่าเงินบาทในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่า จึงเป็นสาเหตุให้ผลตอบแทนของค่าเงินบาทถูกอธิบายด้วยผลตอบแทนราคาทองคำเพิ่มมากขึ้น โดย ttb analytics มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) พฤติกรรมการลงทุนและเก็งกำไรทองคำของคนไทย

ไทยมีปริมาณการค้าทองคำเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก และมีสัดส่วนเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังอยู่ที่ 2.5% ของปริมาณการค้าโลก ซึ่งหากเทียบปริมาณการส่งออกทองคำกลุ่มดังกล่าวกับมูลค่า GDP ของไทยในช่วง 2 ปีหลัง จะพบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 1.3% สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกทองคำที่ไม่รวมเงินทุนสำรอง (Non-Monetary Gold) ของไทยที่ค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าทองคำเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับแปรรูปในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทั้งนี้ พฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในสินทรัพย์ทองคำมายาวนาน โดยตลาดในประเทศที่ยังนิยมการซื้อขายทองคำในรูปสกุลเงินบาททั้งจากร้านค้าทองคำ (ขายฝาก) และระบบซื้อขายออนไลน์ ขณะที่บางส่วนเป็นธุรกรรมซื้อขายทองคำออนไลน์ในรูปของสกุลดอลลาร์สหรัฐผ่านตลาดการเงินโดยตรง จึงทำให้ในช่วงที่ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูง และการซื้อขายทองคำโลกส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือ หากราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นสูง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มที่จะขายทองคำเพื่อทำกำไร ส่งผลให้มีธุรกรรมขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท ในทางกลับกัน หากราคาทองคำปรับลดลง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มจะซื้อทองคำ และทำให้เกิดธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายทองคำโลกในช่วงเวลากลางวันของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเวลากลางคืนของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่จะมีปริมาณธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนน้อย ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงเวลากลางคืนของประเทศไทยยิ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างมีนัย

2) มุมมองต่อการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ในช่วงที่ตลาดการเงินโลกผันผวนมากขึ้นในช่วงหลังช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสินทรัพย์ทองคำมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทมากขึ้น โดยราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับความผันผวน จากการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุน และจากคุณสมบัติการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ รวมไปถึงความต้องการทองคำเพื่อรักษามูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

3) ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเปราะบางมากขึ้น

นับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของไทยก็กลับมาแข็งแกร่งมาโดยตลอด สะท้อนจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูงติดต่อกันมายาวนานเฉลี่ย 4-10% ต่อ GDP อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังสูงเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยหลังพ้นสถานการณ์โควิด-19 กลับยังคงไม่สามารถกลับมาแข็งแกร่งเช่นในอดีต เมื่อประกอบกับภาพแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนสูงต่อไป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาทองคำจะยังคงส่งผลเพิ่มเติมต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค

กล่าวโดยสรุป จากพฤติกรรมการลงทุนทองคำของไทย ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กอปรกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท และทำให้ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนอยู่ในช่วงต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาต่อไป

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.6% แม้ตัวเลขในไตรมาส 2/2567 ออกมาสูงกว่าที่คาดไว้อยู่ที่ 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือ 0.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าปรับฤดูกาล (QoQsa) ตามการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายภาครัฐ ตลอดจนการส่งออกสินค้าและบริการ (ท่องเที่ยว) ส่งผลให้จีดีพีครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัว 1.9% โดย ttb analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การบริโภคภาคเอกชนตามแรงส่งของการท่องเที่ยวและภาคบริการ โดยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน หรือขยายตัวจากปีก่อนถึง 24.6% หลังนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนและยุโรปที่เข้ามาเพิ่มขึ้นจนกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาใกล้เคียงกับปกติมากขึ้น และ (2) การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ในช่วงท้ายของปีงบประมาณ (กรกฎาคม-กันยายน) รวมถึงผลของฐานต่ำจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 แต่คาดว่าอัตราการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม ณ สิ้นปีงบประมาณปี 2567 จะยังต่ำกว่าสิ้นปีงบประมาณปี 2566

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจำกัด ตามยอดจดทะเบียนรถบรรทุกเชิงพาณิชย์และยอดขายเครื่องจักรที่ชะลอตัวลงในหลายภาคส่วน สอดคล้องกับการลดลงอย่างมากของอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ในภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.7% ลดลงจากประมาณการเดิม 2.0% (ฐานศุลกากรในรูปของดอลลาร์สหรัฐ) แม้การฟื้นตัวของวัฎจักรการผลิตในหลายกลุ่มสินค้าจะมีทิศทางดีขึ้นตามปริมาณสินค้าคงคลัง (Inventory) ที่ทยอยปรับลดลง แต่ด้วย อุปสงค์จากต่างประเทศที่ส่งสัญญาณชะลอตัว รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตไทยค่อนข้างจำกัด จากปัญหาเชิงโครงสร้างเรื้อรัง สถานการณ์สินค้านำเข้าจากจีนที่รุนแรงขึ้น ตลอดจนประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย

สำหรับเสถียรภาพด้านนโยบายทางการเงินของไทย ttb analytics ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปีจะอยู่ที่ 0.8% และ 0.5% ตามลำดับ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและมาตรการพยุงเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่มุมมองต่อเศรษฐกิจที่จะขยายตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) แต่มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ย 0.25% หากมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัย ส่วนการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประเมินว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% สู่ระดับ 4.50-4.75% ณ สิ้นปี 2567 สะท้อนช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และ

ไทยจะแคบลงที่ประมาณ 2.25% (ขอบบน) เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ที่ระดับ 3% ซึ่งมีส่วนให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงในระยะสั้น ก่อนจะทยอยแข็งค่าขึ้นในกรอบ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2567

 

จากปัจจัยข้างต้น ttb analytics มองว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับตลอดทั้งปี 2567 แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนตามตัวเลขการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังโควิด-19 และความล่าช้าในการเบิกจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2567 แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางสูง จากโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาสที่เห็นสัญญาณแผ่วลงต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังรั้งท้ายประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค ขณะเดียวกันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเผชิญ “4 ข้อจำกัด” ที่รุนแรงและชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

1) การบริโภคมีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนสูง โดยตัวเลขการบริโภคในประเทศในระยะต่อไปจะกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้นตามทิศทางของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนระดับฐานรากยังค่อนข้างต่ำ และมีอุปสรรคในการก่อหนี้ใหม่จากหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังและคุณภาพหนี้โดยรวมย่ำแย่ลง ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันที่สูงเกินระดับเหมาะสมที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จะยิ่งส่งผลกระทบย้อนกลับมากดดันกำลังซื้อของครัวเรือนชัดเจนขึ้น

2) ท่องเที่ยวมีข้อจำกัดจากด้านอุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปัจจุบันกำลังเข้าใกล้เพดานสูงสุดที่ไทยเคยรับได้เกือบ 40 ล้านคน สามารถสร้างรายได้สูงถึง 2 ล้านล้านบาท ทำให้ภาคท่องเที่ยวจะมีข้อจำกัดในการเติบโตมากขึ้นในระยะต่อไป จากการเพิ่มขึ้นของ “จำนวน” นักท่องเที่ยว

ต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศของแต่ละสายการบิน ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นในมิติของ “คุณภาพ” ซึ่งสะท้อนผ่านรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยไทยยังขาดการสร้างแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ทำให้ระดับการฟื้นตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปี 2566 ยังต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์

3) ส่งออกมีข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต จากส่วนแบ่งมูลค่าส่งออกไทยในตลาดโลกที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 1% ในปี 2536 เป็น 1.3% ในปี 2566 สวนทางกับเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเกือบ 15 เท่า จาก 0.1% เป็น 1.5% และทำให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตไทยส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นเพียง “ผู้รับจ้างผลิตและประกอบ” กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำและมีโอกาสถูกทดแทนได้ง่าย ส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยมีทิศทางลดลงทั้งในมิติของราคาต่อหน่วยและปริมาณการส่งออก ขณะเดียวกัน ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นในระยะหลัง ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันยากขึ้น

4) เสถียรภาพเศรษฐกิจมีข้อจำกัดในหลายมิติ จากข้อมูล 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมเพียง 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่ผ่านมาที่เคยเกินดุลประมาณ 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่ง ttb analytics มองว่าไทยอาจไม่สามารถกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้เหมือนในอดีต จากแนวโน้มเกินดุลการค้าลดลงตามการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนมากขึ้น อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานสูงถึงเกือบ 18% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านการคลังในระยะหลังเปราะบางขึ้น จากการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นและข้อจำกัดจากเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ประกอบกับความกังวลต่อเสถียรภาพด้านการเมืองที่อาจยึดโยงไปสู่การบริหารจัดการและการดำเนินนโยบายการคลังให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าอาจไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้รวดเร็วเหมือนในอดีต

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น โดยจะอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศยังคงเปราะบางกว่าในอดีต หลังเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ดุลการชำระเงินไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายตัว ทำให้ค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงอ่อนค่าและผันผวนอยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในช่วงปลายปีนี้ แนะธุรกิจเตรียมรับมือกับความเสี่ยงจากสถานการณ์ตลาดการเงินที่ยังมีความไม่แน่นอน 

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทโดยรวมปรับอ่อนค่า 7% มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เป็นรองเพียงเงินเยนของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศ เช่น ฤดูการจ่ายเงินปันผล และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่กดดันการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ เป็นต้น  แต่สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง หากพิจารณาจากสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ทิศทางค่าเงินบาทมักจะปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 โดยเฉลี่ยถึง 4.9%  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยที่มีความต้องการเงินบาทจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น รวมถึงความต้องการค่าเงินบาทของกลุ่มบริษัทในการปิดงบประมาณสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในเชิงการเมืองและการค้า ดังนั้น ttb analytics ได้ประเมินแนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นในครึ่งหลังของปี ณ สิ้นปี 2567 ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากมุมมองปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย และการเปลี่ยนแปลงทางการเงินและเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบ โดยมีรายละเอียดดังนี้  

 1) ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ยังไม่สามารถสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเหมือนในอดีต 

ตัวที่สะท้อนภาพได้ชัดเจน คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่บอกถึงรายรับและรายจ่ายเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าและบริการ ปัจจุบันไทยมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่มากเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าของไทยโตได้ช้าลง เนื่องจากเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีเก่าที่มีความต้องการในตลาดโลกน้อยลง และผลจากนโยบายการกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น จากการระบายสินค้าของจีน (De-Stocking) เข้ามาในไทยและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งหากดูตัวเลขดุลการค้า (Trade Balance) ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลเพียง 7.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าเกินดุลเฉลี่ยปี 2558-2562 ที่ 14.4 พันล้านดอลลาร์ ในส่วนดุลบริการของไทยครึ่งแรกของปีของปี 2567 การท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวน 0.83 ล้านล้านบาท น้อยลงจากช่วงปี 2562 ที่สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท ผลจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนไป  ในขณะที่ดุลบริการในส่วนของค่าขนส่งที่ปกติขาดดุลอยู่เดิมมีแนวโน้มติดลบมากขึ้นจากการปรับขึ้นค่าระวางเรือตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจากปัญหาความขัดแยังในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ  

2) ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital & Financial Account) ยังขาดดุลเพิ่มขึ้น กดดันค่าเงินบาทต่อเนื่อง   
ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่สะท้อนการลงทุนโดยตรง และสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีแนวโน้มไหลออกจากปัจจัยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังมีอยู่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนภายในประเทศ และทิศทางของเงินทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงกว้างกว่าในอดีต ยังไม่เอื้อต่อการแข็งค่าของเงินบาท หนึ่งในนั้นคือการที่นักลงทุนภายในประเทศมีความสนใจสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ (Bonds) ที่มีเงินทุนไหลออกกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่ 1 จากผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้น ตามวัฏจักรดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การไปลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนในประเทศ ประกอบกับดอกเบี้ยต่างประเทศที่สูงกว่าทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มส่งออกมีการฝากเงินสกุลต่างชาติมากขึ้น แทนการแลกเงินสกุลบาททันที เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศยังคงกว้างกว่าในอดีตมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น  

3) แนวโน้มวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงทั่วโลก อาจช่วยสนับสนุนการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ แต่ต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์    ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศ แม้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะคาดว่า Fed จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในช่วงปลายปีนี้ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ซึ่งบางส่วนอาจช่วยลดแรงกดดันเงินทุนไหลออกจากประเทศไทยได้บ้าง เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินตลอดทั้งปีนี้  

อย่างไรก็ตาม การดึงดูดเงินทุนต่างชาติเข้าสู่สินทรัพย์ของไทยยังคงจำกัดจากการที่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีหุ้นกลุ่ม Growth และดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงต่ำ เมื่อเทียบกับภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลก และเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ ตลอดจนความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่ 

จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยถึงสิ้นปีนี้อาจไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการค้าโลก ขณะที่ปัจจัยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังกดดันราคาพลังงานและขนส่งสินค้าให้อยู่ในระดับสูงต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น วัฏจักรนโยบายการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านนโยบายทางการเมืองของสหรัฐฯ จะสร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนมากขึ้นให้กับตลาดการเงินโลก ทำให้ ttb analytics มองประเด็นเหล่านี้จะสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินบาทผันผวนและอ่อนค่าได้ ทำให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงของค่าเงินบาท เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในช่วงเวลาต่อไป 

Page 1 of 12
X

Right Click

No right click