January 22, 2025

อลิอันซ์เปิดรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอย่างรอบด้านสำหรับปี 2567-2569 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับปานกลางแต่จะมีเสถียรภาพท่ามกลางปัญหาที่ยังคงดำเนินต่อไป และคาดว่าจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 2.8% ต่อปี โดยเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเป็นกำลังสำคัญของการเติบโตในปี 2567 แม้จะยังคงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะถดถอย เศรษฐกิจโลกจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยุโรปจะมีการเติบโตที่ช้าแต่คงที่ มาตรการรัดเข็มขัด การขึ้นภาษี และกลยุทธ์ลดต้นทุนในทั้งสองภูมิภาคจะส่งผลต่อจีดีพี

มีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ สามารถผ่อนปรนนโยบายการเงินได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป นโยบายเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค การขึ้นค่าจ้างจะช่วยกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น แม้ว่าเงินเฟ้อในระดับสูงในบางภาคส่วนจะยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาคธุรกิจยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ โดยมีสัญญาณของการเพิ่มการลงทุน แต่มีความกังวลเรื่องการล้มละลายในภาคธุรกิจ นโยบายของธนาคารกลางจะทำให้เกิดข้อจำกัดในตลาดการเงินโลก ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางการเมือง เช่น ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

การเติบโตและความท้าทายของเอเชียแปซิฟิก

เศรษฐกิจจีนในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตในอัตราประมาณ 5% แม้จะยังคงมีความเสี่ยงยังคงอยู่ ปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณสินค้าคงคลังจำนวนมากและราคาบ้านที่ลดลง ยังคงส่งผลต่อการบริโภคในภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของจีนยังคงมีแนวโน้มที่ดีซึ่งส่งแรงหนุนให้ภาคการผลิตของประเทศ ธนาคารกลางจีนผ่อนปรนนโยบายและคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2568 อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้อาจช่วยบรรเทาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่อาจจะไม่ได้ช่วยกอบกู้สถานการณ์

ในทางกลับกัน เศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกในภาพรวมจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 4.2% ในปี 2567 จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของอินเดียและประเทศในกลุ่มอาเซียน การผ่อนคลายนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่เป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารกลาง และการค้าโลกที่ฟื้นตัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจของภูมิภาค ธนาคารกลางของเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียจะยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชียจะได้ประโยชน์จากพลวัตที่เปลี่ยนไปของโลกาภิวัตน์และการปฏิรูปนโยบายในประเทศ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ไทย และไต้หวัน จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในภาคการส่งออก โดยเฉพาะในตลาดอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศต่างๆ หลายประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจากการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาค สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินต่อไป รวมถึงความตึงเครียดที่มากขึ้นในทะเลจีนใต้และไต้หวันยังคงสร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุน แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ โดยมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรมนุษย์ ประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์และจีนเป็นผู้นำในแง่ของความสะดวกในการทำธุรกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะยังคงมีปัญหาในด้านต่างๆ เช่น การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานและทรัพย์สินทางปัญญา

ประเทศไทย: ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและความท้าทาย

เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตถึง 2.7% ในปี 2567 และ 3.1% ในปี 2568 เมื่อเทียบกับการเติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ความต้องการภายในประเทศยังสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดงานที่กำลังปรับตัวดีขึ้น ยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่ง และกิจกรรมการผลิต ในภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19

นโยบายแบบผสมผสานของไทยคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนนโยบายการเงินด้วยความระมัดระวังในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการผ่อนคลายมาตรการและการรักษาวินัยทางการคลัง

แม้ว่าสินทรัพย์ในภาคครัวเรือนจะเติบโต แต่ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายทางด้านการเงินที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ โดยสินทรัพย์ทางการเงินรวมลดลง 1.9% ในปี 2566 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี 2551 การลดลงของหลักทรัพย์และเงินฝากธนาคารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดลงนี้ อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ประเภทประกันและเงินบำนาญมีการเติบโตเล็กน้อย แม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็ตาม อัตราหนี้สินที่สูงของประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่ 91% ของจีดีพีที่เป็นตัวเงิน ยังคงเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาค

นอกจากนี้ การกระจายความมั่งคั่งในประเทศยังคงไม่สมดุลอย่างมาก โดยประชากรกลุ่มมั่งคั่งเพียง 10% เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงิน 76% ของสินทรัพย์ทางการเงินรวมสุทธิของประเทศ ความไม่เท่าเทียมนี้เกิดขึ้นเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว โดยสถานการณ์แทบไม่ดีขึ้นเลย ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรมากขึ้นในอนาคต

นายลูโดวิค เซอร์บราน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของกลุ่มอลิอันซ์ กล่าวว่า "แนวโน้มเศรษฐกิจที่อลิอันซ์คาดการณ์สะท้อนถึงการมองโลกในแง่ดีอย่างระมัดระวังของเราท่ามกลางความท้าทายทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค แม้ว่าการเติบโตคาดว่าจะคงที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เรายังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ วินัยทางการเงิน และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่ยังคงมีอยู่ จะยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องแก้ไขเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งในระยะยาว"

รายงานของ Allianz Risk Barometer ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกของนักบริหารความเสี่ยงกว่า 3,000 คน ได้เปิดเผยความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในประเทศไทยในปี 2567 โดยชี้ให้เห็นว่า การหยุดชะงักทางธุรกิจ (อันดับ 1, 47%) และภัยพิบัติทางธรรมชาติ (อันดับ 1, 47%) ถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับแรกในประเทศไทย ตามมาด้วยภัยทางไซเบอร์ (อันดับ 3, 33%) เช่น มัลแวร์เรียกค่าไถ่ การละเมิดข้อมูลและการหยุดชะงักด้านไอที ไฟไหม้และการระเบิด และเทคโนโลยีใหม่ เช่น ความเสี่ยงจากผลกระทบของ AI และรถยนตร์ไฟฟ้า เป็นความเสี่ยงที่อยู่ในอันดับ 4 และ 5

อย่างไรก็ตาม สำหรับทั่วโลกและในเอเชีย ความเสี่ยงสามอันดับแรกได้แก่ ภัยทางไซเบอร์ การหยุดชะงักทางธุรกิจ และภัยธรรมชาติ รองลงมา ได้แก่ ไฟไหม้และการระเบิด (เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 8 เป็นอันดับที่ 4 เมื่อเทียบปีต่อปี) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยังคงอยู่ที่อันดับที่ 5)

เปโตร ปาปานิโคเลา ซีอีโอ Allianz Commercial แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวว่า “ความเสี่ยงที่สำคัญและปัญหาสำคัญที่อยู่ในอันดับสูงขึ้นใน Allianz Risk Barometer ประจำปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอน ความเสี่ยงเหล่านี้เข้ามาใกล้เราทุกทีแล้ว สภาพอากาศที่รุนแรง มัลแวร์เรียกค่าไถ่ และความขัดแย้งในภูมิภาค จะเป็นบททดสอบความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานและโมเดลธุรกิจในปี 2567 เอเย่นต์และลูกค้าของบริษัทประกันภัยควรคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้และปรับความคุ้มครองให้สอดคล้อง”

บริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และธุรกิจขนาดเล็กต่างกังวลกับความเสี่ยงเหมือนกัน โดยส่วนใหญ่มักกังวลเกี่ยวกับภัยทางไซเบอร์ การหยุดชะงักของธุรกิจ และภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ความสามารถในการฟื้นตัวของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็กแตกต่างกันมากขึ้น เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่ตระหนักถึงความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่โควิด 19 โดยมีแรงผลักดันสำคัญที่จะพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัว ในทางกลับกัน ธุรกิจขนาดเล็กมักจะไม่มีเวลาและขาดทรัพยากรในการค้นหาความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ความเสี่ยงที่หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจขนาดเล็กจึงใช้เวลานานกว่ากว่าจะฟื้นตัวหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด

คริสเตียน แซนดริก กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคของ Allianz Commercial Asia กล่าวว่า “ภัยทางไซเบอร์ การหยุดชะงักทางธุรกิจ และภัยธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของบริษัทในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือธุรกิจขนาดเล็ก บริษัทต่างๆ เผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง รวมถึงมาตรการที่แข็งแกร่งในการรองรับและการประกันภัย ตัวอย่างเช่น บริษัทต่างๆ กำลังศึกษานโยบายข้ามชาติที่อำนวยความสะดวกสำหรับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงการเลือกใช้โซลูชันทางเลือกสำหรับถ่ายโอนความเสี่ยง เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่ยากต่อการรับประกันในตลาดทั่วไป”

ความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในประเทศไทย

ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกำลังกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ แผนการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานและความต่อเนื่องทางธุรกิจจึงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถรับมือกับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวได้”

ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ น้ำท่วมในภาคใต้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อครัวเรือนนับหมื่น นับตั้งแต่น้ำท่วมซึ่งเริ่มขึ้นธันวาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนกว่า 70,000 หลังคาเรือนในจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บริการรถไฟบางแห่งในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งติดกับมาเลเซียกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากปิดไปหลายวัน เนื่องจากรางรถไฟทรุดตัว ช่วงฤดูฝนในประเทศไทยมักเกิดน้ำท่วมทุกวันเป็นเวลาหลายเดือน แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดโดยฝีมือมนุษย์อาจทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น

การผลิตข้าวนอกฤดูกาลในเอเชียมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ลดลง และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้ผลผลิตลดลงในช่วงต้นปี 2567 ทำให้อุปทานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น จากการวิเคราะห์ของผู้ค้าข้าวและนักวิเคราะห์ ประเทศไทยซึ่งผลิตข้าวมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อาจจะผลิตข้าวนอกฤดูลดลงในไตรมาสแรก และคาดว่าจะมีการส่งออกข้าวน้อยลง

ลาร์ส แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่า “การเร่งพัฒนา AI ในปี 2566 ช่วยให้เกิดโอกาสอย่างมากสำหรับธุรกิจต่างๆ และสังคมโดยทั่วไป ในขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลที่จะตามมาของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ ซึ่งปัญหาหลายอย่างที่เรากังวลว่าจะเกิด ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ศักยภาพของ AI ในการพลิกโฉมธุรกิจจะพัฒนาขึ้นไปอีก โดยจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรมและทุกด้านของชีวิตตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ในฐานะเทคโนโลยีอเนกประสงค์”

เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ผลกระทบด้านความเสี่ยงจาก AI เป็นความเสี่ยงอันดับที่ 5 ของประเทศไทย สื่ออย่างบางกอกโพสต์รายงานว่า 72% ของผู้สำเร็จการศึกษาชาวไทยอาจตกงานเพราะ AI ภายในปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานธุรการและการจัดการสำนักงานทั่วไปที่ขาดทักษะเฉพาะด้าน นอกจากแผนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบด้าน AI แล้ว แนวทางสำคัญของยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้าน AI แห่งชาติของประเทศไทยที่เปิดตัวในปี 2565 ได้แก่ การปรับปรุงความสามารถด้านการศึกษาและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับ AI รายงานความคืบหน้าในเดือนสิงหาคม 2566 ให้ข้อมูลไว้ว่า รัฐบาลได้อนุมัติแผนการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้าน AI แล้วเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของภาคอุตสาหกรรม

มร.โอลิเวอร์ เบเทอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มอลิอันซ์ กล่าวว่า

อลิอันซ์​เปิดเผยรายงาน Global Wealth Report ฉบับที่ 13 วิเคราะห์สถานการณ์​ทรัพย์สินและหนี้ครัวเรือนในเกือบ 60 ประเทศทั่วโลก

ด้วยมูลค่าแบรนด์กว่า 39 พันล้านยูโร ติดอันดับที่ 30 ในกลุ่มแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลก

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click