January 22, 2025

งานวิจัยโดย The Circulate Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติกในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ได้เผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการกำจัดขยะพลาสติกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

รายงานเรื่อง "ประโยชน์ในด้านสภาพภูมิอากาศจากการกำจัดขยะในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" รายงานถึงศักยภาพของการลงทุนเพื่อกำจัดและรีไซเคิลขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพใน 6 ประเทศของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากเครื่องมือคำนวณวงจรชีวิตพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (PLACES) ฉบับล่าสุดที่จัดทำโดย The Circulate Initiative ซึ่งเป็นการคำนวณเพื่อติดตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนปริมาณพลังงานและน้ำที่ใช้สำหรับการจัดการและรีไซเคิลขยะพลาสติกทั่วภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเครื่องมือคำนวณซึ่งเป็นเครื่องมือแรกที่เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาด้านมลพิษพลาสติกมากที่สุดนั้นเป็นผลมาจากการขาดโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะ ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการกับปัญหามลพิษพลาสติกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นสำคัญ ประกอบไปด้วย

● หากสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องในประเทศไทยได้ทั้งหมดภายในปี 2573 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 27.9 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์กว่า 6.2 ล้านคันจากท้องถนนในหนึ่งปี

● 85% ของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทยเกิดจากการเผาขยะในที่โล่งและในโรงเผาขยะ หากเปลี่ยนการกำจัดขยะจำนวน 1 ตันจากจากการเผาในที่โล่ง ไปสู่การคัดแยกขยะและรีไซเคิลอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 3 ตัน

● หากประเทศไทยยังคงกำจัดขยะพลาสติกด้วยการเผาขยะและการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน จะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3.3 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้โดยการใช้โซลูชันการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล

นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยว่า การรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องในอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมกันจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 229 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 61 แห่งเป็นเวลาหนึ่งปี

เครื่องมือ PLACES ได้รับความร่วมมือในการพัฒนากับหน่วยงาน Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) ในสิงคโปร์เพื่อดำเนินโครงการในอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม อีกทั้งยังมีข้อมูลที่อัปเดตสำหรับการดำเนินงานในอินเดียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตแห่งสิงคโปร์ (SIMTech) ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ A*STAR ได้ให้การสนับสนุนการวิจัยด้านการศึกษาและประเมินปริมาณของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ขั้นตอนการเดินทางของขยะพลาสติกที่สิ้นอายุการใช้งานแล้ว

นับตั้งแต่เปิดใช้งานในปี 2564 เครื่องมือ PLACES ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทต่าง ๆ นักลงทุน นักรีไซเคิล ผู้ให้บริการกำจัดขยะ และนักวางผังเมือง ในการผลิตข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเชิงลึกเพื่อนำไปใช้ในการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกำจัดและรีไซเคิลขยะ

นายอุเมช มาดาวาน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ The Circulate Initiative กล่าวว่า “การเจรจาเพื่อบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับมลพิษจากพลาสติกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยผลการวิจัยของเราสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการลงทุนในการกำจัดและรีไซเคิลขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหามลพิษพลาสติกและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ไปพร้อม ๆ กัน”

“การนำเครื่องมือ PLACES มาใช้ให้ครอบคลุมจำนวนประเทศเพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนหลากหลายประเภท รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจในภูมิภาคสามารถประเมินโอกาสด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกที่ขึ้นอยู่กับปริมาณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายอุเมช กล่าวสรุป

นายเบนจามิน ซาวัคกี้ ผู้เชี่ยวชาญโครงการระดับอาวุโสของมูลนิธิเอเชีย กล่าวสุนทรพจน์ในงาน EAS Hackathon Combatting Marine Plastic ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565

 ออสเตรเลีย อินเดีย และสิงคโปร์ ผนึกกำลังร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแฮกกาธอนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือ EAS (East Asia Summit) Hackathon ในหัวข้อ “การต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล (Combating Marine Plastic)” เมื่อวันที่ 13 - 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยงานแฮกกาธอนครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พณฯ วิล แนนเคอร์วิส (H.E. Will Nankervis) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำอาเซียน; พณฯ ไชยันต์ โคบราเกด (H.E. Jayant Khobragade) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอาเซียน และนาย บอร์ก เซียน ธรรม (Borg Tsien Tham) อุปทูตผู้แทนถาวรประเทศสิงคโปร์ประจำอาเซียน เป็นประธานเปิดการแข่งขัน ร่วมด้วยเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่จาก EAS รวมถึงเจ้าหน้าที่อาวุโสจากสำนักเลขาธิการอาเซียน องค์กรภาคประชาสังคม และผู้แทนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ มีตัวแทนจากประเทศไทย 1 ทีมเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

การแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของงาน EAS Marine Plastic Debris Workshop ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเอเชีย (TAF) มูลนิธิอาเซียน และ องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ (Singapore’s National Environment Agency) และศูนย์บริการข้อมูลมหาสมุทรและการวิจัยชายฝั่งแห่งชาติประเทศอินเดีย (India’s National Centres for Ocean Information Services and Coastal Research) ที่มาร่วมแบ่งปันข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลระดับภูมิภาคให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้รับทราบ

เยาวชนจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม EAS (EPCs) ได้เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชันในการช่วยตรวจสอบปริมาณขยะในทะเลให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการทิ้งขยะเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลดการใช้พลาสติกและหันมารีไซเคิลพลาสติกให้มากขึ้น

ลพิษขยะพลาสติกในทะเลถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยคิดเป็น 80% ของมลพิษทางทะเลทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณพลาสติกมากถึง 8-14 ล้านเมตริกตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทร อีกทั้งยังมีพลาสติกและไมโครพลาสติกกว่า 20-75 ล้านล้านชิ้นในมหาสมุทร ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ปริมาณขยะพลาสติกจะมีน้ำหนักมากกว่าปลาทั้งหมดในมหาสมุทร โดยปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบร้ายแรงกับสัตว์ทะเลและระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และสุขภาพของมนุษย์เช่นเดียวกัน

หลายภาคส่วนได้ริเริ่มมาตรการและโครงการต่างๆ มากมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) การจัดตั้งธนาคารแปรรูปขยะ และการสนับสนุนการใช้พลาสติกรีไซเคิล เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันที่เหล่าเยาวชนได้พัฒนาขึ้นระหว่างการแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้ ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการจัดการกับปัญหามลพิษขยะทางทะเลที่เกิดขึ้น

พณฯ วิลล์ นานเคอร์วิส เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำอาเซียน กล่าวว่า “ปัญหาของพลาสติกในทะเลจะไม่ได้รับการแก้ไข หากขาดการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างยั่งยืน”

“เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ การตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในวงกว้างจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสังคมถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” พณฯ ไชยันต์ โคบราเกด เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอาเซียน กล่าวเสริม

นาย บอร์ก เซียน ธรรม อุปทูตผู้แทนถาวรประเทศสิงคโปร์ประจำอาเซียน กล่าวย้ำว่า “งานแฮกกาธอนครั้งนี้เปรียบเสมือนเวทีสำคัญที่ให้เหล่าเยาวชนของเราได้มีโอกาสโชว์ทักษะความสามารถและไอเดียการแก้ปัญหาที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์”

งานแฮกกาธอนครั้งนี้มีทีมผู้แข่งขันจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมด 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี ไทย และเวียดนาม โดยในระหว่างการแข่งขัน ทีมที่เข้าร่วมยังได้รับคำแนะนำจากคณะผู้เชี่ยวชาญ และต้องผ่านการประเมินจากคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลาสติกในทะเล และกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ

ชาญฤทธิศักดิ์ พก และบุญเนตร พึง จากประเทศกัมพูชา ผู้ชนะรางวัลอันดับหนึ่ง ของ EAS Hackathon ในหัวข้อ Combatting Marine Plastic

ทีมตัวแทนจากกัมพูชา ชาญฤทธิศักดิ์ พก (Chanrithisak Phok ) และ บุญเนตร พึง (Bunnet Phoung) ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัลอันดับหนึ่งของการแข่งขัน EAS Hackathon หลังจากผ่านกระบวนการการตัดสินอย่างยุติธรรมและเข้มข้น โดยทั้งคู่ประสบความสำเร็จในการสร้างแอปพลิเคชันที่มาจากความภักดีของลูกค้า หรือ loyalty-based application ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถลดการใช้พลาสติกลงได้ แอปพลิเคชันนี้ยังเชื่อมต่อกับร้านค้ามากมาย ตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงร้านขายของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าเหล่านี้โดยไม่ใช้พลาสติก จะได้รับสิทธิ์ในการสแกนคิวอาร์โค้ดที่กำหนดไว้เพื่อเปลี่ยนเป็นรางวัลผ่านทางแอปพลิเคชันได้

รางวัลที่สองและรางวัลที่สามตกเป็นของทีมตัวแทนจากสาธารณรัฐเกาหลี กู ฮง มิน (Gu Hong Ming) และ ทอ ฮง มิน (To Hong Ming) และทีมตัวแทนจากมาเลเซีย ห่าวเจียต้า (Hoh Jia Da) ฟาง แจ๊ค ออสการ์ หลิง (Fang Jack Oscar Ling) ตามลำดับ

“เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ และรู้สึกตื่นเต้นที่เราจะมีโอกาสได้นำเสนอไอเดียของเราต่อบุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโปรแกรมการอบรมของ CSIRO และเครือข่ายที่เราสร้างขึ้น

(ในช่วงการแข่งขันแฮกกาธอน) จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันของเรา และสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ในที่สุด” ชาญฤทธิศักดิ์ พก และบุญเนตร พึง ทีมผู้ชนะจากกัมพูชา กล่าว

ชาญฤทธิศักดิ์ พก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าแนวคิดของพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากข้อมูลที่พวกเขาค้นพบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนทำให้เกิดมลพิษขยะพลาสติกในทะเลมากถึง 31%

นอกจากโอกาสในการได้เป็นวิทยากรในเวทีระดับภูมิภาคแล้ว ผู้ชนะการแข่งขันแฮกกาธอนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก (EAS Hackathon) ยังได้รับรางวัลเงินสดมูลค่าทั้งสิ้น 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 250,000 บาท) พร้อมโอกาสในการเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมที่ศูนย์นวัตกรรมพลาสติกของ CSIRO ด้วย

ดร. หยาง หมี่ เอ็ง ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมของเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความตระหนักรู้เรื่องปัญหาพลาสติกในทะเล ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าพลังของเยาวชนจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการแก้ปัญหานี้ได้ โดยเมื่อพิจารณาจากผลงานที่ทีมผู้เข้าแข่งขันได้ส่งเข้ามา เราพบไอเดียความสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมายที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราหวังว่าการแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้จะช่วยปูทางไปสู่การวิจัย การสร้างสรรค์นวัตกรรม และสร้างความตระหนักรูู้แก่สาธารณชนโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนให้มากขึ้นในอนาคต

นับตั้งแต่เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา นอกจากอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหรือสิ่งของต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นแล้ว “ขยะ” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

X

Right Click

No right click