ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศความสำเร็จต่อเนื่อง ประเดิมศักราชใหม่ปี 2567 เดินหน้ารับ 2 รางวัลอันทรงเกียรติ ได้แก่ รางวัล Best Investor Relations Bank และ รางวัล Best Environmental Sustainability Bank จากเวที International Finance Awards 2023 จัดโดย International Finance Magazine (IFM) นิตยสารด้านธุรกิจและการเงินชั้นนำระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ซึ่งสะท้อนความโดดเด่นของทีทีบีในฐานะธนาคารไทยที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับบนเวทีระดับนานาชาติ โดยเป็นธนาคารที่ให้ความสำคัญและมีมาตรฐานการดำเนินงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ในระดับสูงและเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอด พร้อมทั้งมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตามแนวทางความสำเร็จสู่ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ตามกรอบ B+ESG โดยมีนางสาวดารารัตน์ อุระพันธมาศ หัวหน้านักลงทุนสัมพันธ์ ทีเอ็มบีธนชาต และนายกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต เป็นผู้แทนรับมอบรางวัล ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ 

ทั้งนี้ รางวัล Best Investor Relations Bank เป็นรางวัลที่สะท้อนความโดดเด่นของผลงานและกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์ในระดับสากลและเป็นที่ยอมรับจากนักวิเคราะห์ ตลอดจนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สำหรับรางวัล Best Environmental Sustainability Bank จากการที่ธนาคารให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมผ่านโซลูชันทางการเงินที่ยั่งยืน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ ตราสารหนี้สีเขียว ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล หรือ ตราสารหนี้สีฟ้า สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อสีเขียวเพื่อสนับสนุนธุรกิจในการอนุรักษ์และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และยังขับเคลื่อนองค์กร มุ่งเดินตามกรอบ B+ESG นำแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืนเป็นรากฐานในการวางกลยุทธ์ทั่วทั้งองค์กรอีกด้วย

เปลี่ยนขวดพลาสติกกว่า 1,700,000 ขวด เป็นของใช้ ตอกย้ำ “ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” มุ่งสร้างความตระหนักรู้ตามกรอบ B+ESG

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองภาคเกษตรไทยติดหล่มการพัฒนาจากข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้มีรายได้และกำไรไม่เพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยภาคเกษตรต่ำกว่านอกภาคการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ มีสิ่งชักจูงให้คนรุ่นใหม่ละทิ้งภาคเกษตรในขณะที่แรงงานเกษตรในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงที่ใกล้ออกจากตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น แนะรัฐและเอกชนร่วมมือยกระดับเศรษฐกิจเกษตรไทยให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ยังมีความต้องการในการทำงานในภาคเกษตรก่อนจะสายเกินไป

เศรษฐกิจภาคการเกษตรนับเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจภูมิภาคและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่มีถิ่นอาศัยในภูมิภาคโดยมีข้อจำกัดในตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่มักกระจุกตัวในเขต กรุงเทพ-ปริมณฑล ภาคตะวันออก และในพื้นที่เขตเมืองของจังหวัดในแต่ละภูมิภาคเท่านั้น โดยตามข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยในปี 2565 มีมูลค่าราว 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของ GDP โดยในปี 2566 ttb analytics ประมาณการว่ามูลค่าเศรษฐกิจภาคการเกษตรคาดว่าจะลดลงเหลือเพียงสัดส่วน 8.6%

สัญญาณของสัดส่วนเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่ปรับลดลงเล็กน้อยอาจดูไม่สะท้อนภาพ แต่ถ้ามองลึกลงไปพบว่า บทบาทเศรษฐกิจภาคการเกษตรมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง หากเมื่อเทียบกับปี 2555 เศรษฐกิจภาคเกษตรไทยเคยมีสัดส่วน 11.5% ของ GDP ที่มูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาเพียงผิวเผินอาจมองเป็นเรื่องปกติเนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมและภาคบริการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสินค้าเกษตร แต่หากเมื่อมองถึงอัตราการขยายตัวพบว่าภาคเศรษฐกิจการเกษตรไทยยังติดกับดักการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาคเกษตรไทยขยายตัวเพียง 7.7% ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ มีการขยายตัวในอัตราที่สูง เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเวียดนาม ขยายตัวอยู่ที่ 51.5% 82.7% และ 53.2% ตามลำดับ และรวมถึงประเทศที่เน้นบทบาทของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น จีน และเยอรมัน ที่ขยายตัว 68.6% และ 51.0% ตามลำดับ

 

สัญญาณการเติบโตที่ต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของภาคการเกษตรไทย แสดงถึงข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่สามารถเพิ่มรายได้สร้างกำไรที่สูงขึ้นย้อนกลับไปหาเกษตรกรเพื่อใช้ยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงกำไรยังถือเป็นส่วนสำคัญของเกษตรกรที่จะนำมาใช้เพื่อลงทุนพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจในมิติต่าง ๆ เช่น การซื้อที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงน้ำเยอะสำรองไว้ในช่วงน้ำน้อย หรือการลงทุนในเทคโนโลยีการเพาะปลูกทางการเกษตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการเพาะปลูกในระยะยาว ซึ่งตามข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไม่สามารถลงทุนต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตใด ๆ ได้เลยจากรายได้ที่ดูเหมือนจะไม่เติบโตในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง ttb analytics ได้สรุปสาเหตุที่ภาคการเกษตรของไทยไม่สามารถขยายตัวได้ ตามเหตุผลหลัก ๆ ต่อไปนี้

1) เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับการขายสินค้าเกษตรโดยไม่ผ่านการแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากสินค้าเกษตรเมื่อผ่านการแปรรูปย่อมมีมูลค่าเพิ่มจากกรรมวิธีการผลิตที่แปรรูปจากสินค้าเกษตรที่ไม่มีเอกลักษณ์ให้กลายเป็นสินค้าบริโภคที่มีความเฉพาะตัว รวมถึงสามารถเพิ่มมูลค่าผ่านรูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมซื้อสินค้าต่างกันออกไป รวมถึงการแปรรูปยังสามารถช่วยลดการพึ่งพิงพ่อค้าคนกลางเพื่อให้ช่วยรับซื้อสินค้าจากข้อจำกัดเรื่องที่สินค้าเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มที่เน่าเสียได้ง่าย

2) เกษตรกรไทยเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้จากผลผลิตที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่สามารถก้าวผ่านการเป็นผู้ผลิตเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ จึงยังมีฐานะเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย เช่น ในกรณีศึกษาข้าวขาวพบว่า ปี 2566 ข้าวขาวราคาเฉลี่ย 20.7 บาท/กิโลกรัม กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการก่อนหักต้นทุนการขายและการบริหารที่ราว 4.05 – 5.8 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้จากผลผลิตขั้นสุดท้ายถึงมือผู้ประกอบการที่ 19.6% -24.5% ในขณะที่เกษตรกรไทยได้รับกำไรจากการเพาะปลูกข้าวเพียงราว 0.22 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้ที่ย้อนกลับมาในมือของเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.1% ของราคาข้าวขาวที่เป็นสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย

ดังนั้น บนสถานการณ์ที่ภาคการเกษตรไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะทำให้รายได้ย้อนกลับสู่เกษตรกรได้เหมาะสม ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานภาคการเกษตรในปี 2565 อยู่ที่เพียง 128,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่กลุ่มแรงงานนอกภาคการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยถึง 580,000 บาทต่อคนต่อปี ย่อมส่งผลต่อให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มละทิ้งภาคการเกษตรและหันเข้าทำงานในกลุ่มนอกภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่สูงกว่า สอดคล้องกับสถิติที่ชี้ชัดว่าในปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนมากถึง 15.4 ล้านคน ในขณะที่ปี 2565 แรงงานภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 11.9 ล้านคน และแรงงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 23.6 ล้านคนเป็น 27.3 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากในเชิงโครงสร้างยังพบว่าเกษตรกรไทยที่เป็นกลุ่มแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 62 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อเนื่องว่าระยะถัดไปที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ออกจากตลาดแรงงานบนเงื่อนไขของแรงงานรุ่นใหม่เลือกไม่ทำงานในภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่ต่ำกว่า รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเกษตรและมีประสบการณ์ที่ครอบครัวทำการเกษตรมาตลอดชีวิตแต่ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ก็คงไม่อยากจะเดินตามรอยครอบครัวที่ทำมาในอดีต ด้วยเหตุนี้ทาง ttb analytics จึงมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทยเพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพียงพอเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจที่ยังทำงานในภาคการเกษตร ก่อนที่ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกร คงเกิดคำถามว่าใครจะปลูกข้าวให้เรากิน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประมาณรายได้ท่องเที่ยวไทยปี 2567 อยู่ที่ระดับ 2.75 ล้านล้านบาท จากการท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวสมบูรณ์ในฝั่งของรายได้ ในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่านักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาเพียง 52% ของภาวะปกติจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และพฤติกรรมการเดินทางที่เริ่มเปลี่ยนตามโครงสร้างอายุและรายได้ แนะภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมต่างกัน

 ในปี 2566 ที่ผ่านมานับเป็นความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทยทั้งในมิติของนักท่องเที่ยวในประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ตัวเลข 254.4 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้กว่า 8 แสนล้านบาท รวมถึงในฝั่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้ตามเป้าที่ทาง ttb analytics ประมาณการไว้ที่ 28 ล้านคน สร้างเม็ดเงินราว 1.4 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมประเทศไทยสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 73% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดเดิมที่ 3 ล้านล้านบาทในปี 2562 อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินดังกล่าวหลุดเป้าไปราว 2 แสนล้านบาทจากที่ภาครัฐได้ตั้งเป้าไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้การประมาณรายได้จากนักท่องเที่ยวที่พลาดเป้าในปีที่ผ่านมา ในปี 2567 นี้ ก็ยังเห็นมุมมองของภาครัฐที่ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งในมิติของจำนวนที่คาดว่าจะสูงถึง 40 ล้านคนสร้างรายได้กว่า 2.5 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ จะสามารถสร้างเม็ดเงินได้สูงถึง 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นกว่า 60% ทั้งที่รายได้จากปีก่อนก็ยังหลุดเป้าไปราว 10% โดยในมุมมองของ ttb analytics มีความเห็นว่าในปี 2567 นี้ ศักยภาพรายได้จากการท่องเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ราว 2.75 ล้านล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) กลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย ttb analytics ประเมินปี 2567 การท่องเที่ยวในประเทศยังสามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปี 2566 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสูงถึง 292.1 ล้านคน-ครั้ง บนพฤติกรรมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อทริปลดลงจากภาวะค่าครองชีพและภาระทางการเงินที่สูงขึ้นลดทอนรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง แต่จากการชดเชยของมิติเชิงจำนวนสามารถดันให้รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศคาดแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท ได้อีกครั้งหนึ่ง บนรูปแบบของการท่องเที่ยวจากคนไทยดังนี้ 1) เทรนด์การเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ (One-Day Trip) โดยไม่พักแรมเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวในภาคกลาง และภาคตะวันตก ฟื้นตัวเทียบช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่ 136% และ 146% แต่รายได้กลับฟื้นตัวเพียง 103% และ 119% ตามลำดับ 2) นักท่องเที่ยวคนไทยมีแนวโน้มเที่ยวเมืองรองที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเมืองหลักเพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ ในพื้นที่ภาคเหนือมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% และจังหวัดสตูล และนราธิวาส ในพื้นที่ภาคใต้มีตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 3) การปรับลดคืนค้างแรมลงโดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดห่างไกล ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่ลดลงต่อทริป

โดยเฉพาะในกลุ่มภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนผ่านเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเทียบก่อนสถานการณ์โควิด-19 กลับมาที่ 58% และ 72% ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวในอัตราที่สูงกว่าที่ 100% และ 92% ตามลำดับ

2) ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2567 คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 33.1 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.75 ล้านล้านบาท จากค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายต่อทริปที่คาดสูงขึ้นจากราคาที่พักที่ปรับตัวรับอุปสงค์ และแนวโน้มวันท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น โดยในรายละเอียดพบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวไม่นับรวมชาวจีน (Non-Chinese Travelers) คาดกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ปัจจัยที่น่าจับตา คือการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีน (Chinese Travelers) ที่คาดยังไม่ฟื้นตัวสมบูรณ์ด้วยอัตราการกลับมาที่ราว 5.7 ล้านคน คิดเป็น 52% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากแรงกดดันดังต่อไปนี้

2.1) แรงกดดันจากเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน เช่น ปัญหาการว่างงานในคนอายุ 16-24 ปี ที่สูงเกินกว่า 20% ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่จะเดินทางออกนอกประเทศที่ลดลง ซึ่งตามสถิติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชี้นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกกว่า 63% มีอายุต่ำกว่า 35 ปี รวมถึงความมั่งคั่งสุทธิที่ลดลงจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงินที่ยังน่ากังวล ที่ส่งผลให้สินทรัพย์หรือรายได้ของชาวจีนบางกลุ่มลดลงจนอาจกระทบต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวต่างประเทศ

2.2) จำนวนนักท่องเที่ยวที่ส่งสัญญาณเติบโตชะลอตั้งแต่ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2560-2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไทยเพิ่มขึ้นที่ 6.5% ต่อปี ในขณะที่ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ยังรักษาอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้สูงถึง 14% และ 20% ต่อปีตามลำดับ กอปรกับในปี 2566 พบนักท่องเที่ยวชาวจีนขาออกนอกประเทศภาพรวมฟื้นตัวกว่า 60%-65% ในขณะที่การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในไทยกลับฟื้นตัวเพียง 32% ของภาวะปกติ

2.3) ความดึงดูดในเรื่องของอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวไทยเป็นตลาดที่เข้าถึงง่ายจากค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ไม่สูง ส่งผลให้ตลาดไทยอยู่ในฐานะจุดหมายแรกของการเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (Entry Level) ที่อาจได้ประโยชน์ในระยะแรกแต่อาจเริ่มถูกตั้งคำถามถึงอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ (Revisit Intention) เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาอาจมีทางเลือกในการเดินทางไปยังประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น สะท้อนผ่านสัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนในปี 2562 มีสัดส่วนที่เท่ากันที่ 28% ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนในฝรั่งเศสที่มีสัดส่วนเพียง 3% แต่สามารถสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 7%

 โดยสรุป ttb analytics คาดว่าปี 2567 มูลค่าการท่องเที่ยวไทยจะมีมูลค่า 2.75 ล้านล้านบาทต่ำกว่าเป้าที่ภาครัฐได้วางไว้ที่ 3.5 ล้านล้านบาทหรือห่างจากเป้าหมายเกือบ 8 แสนล้านบาท แต่มองว่ายังมีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นในเชิงคุณภาพ หากมีการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ให้ตรงตามกลุ่มให้ชัดเจน เช่น นักท่องเที่ยวจากเอเชียที่ไทยได้ประโยชน์จากการเดินทางที่สะดวกและค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ต่ำ ภาครัฐควรตั้งเป้าหมายในการดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำ เช่น สิทธิประโยชน์ที่อาจมอบให้เมื่อมีการกลับมาท่องเที่ยวซ้ำ ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้สะดวก ปลอดภัย ที่สามารถเชื่อมกับภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมีความต้องการท่องเที่ยวซ้ำในภูมิภาคอื่น ๆ และในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่อยู่อาศัยระยะยาวสูงโดยเปรียบเทียบอาจให้เป็นในรูปแบบสิทธิประโยชน์เรื่องการจัดหาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ จัดหาบริการระบบประกันสุขภาพที่

ครอบคลุม รวมถึงในภาพรวมควรจัดตั้งหน่วยงานสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนที่สามารถแก้ปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวไปอีกระดับเพื่อสามารถส่งต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เป็นมิตร เพิ่มโอกาสการกลับมาเที่ยวซ้ำสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวอายุน้อย และโน้มน้าวให้นักท่องเที่ยวมีความประสงค์ที่จะอยู่อาศัยระยะยาว เพื่อโอกาสในการยกระดับให้การท่องเที่ยวไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว

ตอกย้ำความเป็นพันธมิตร สนับสนุนให้ลูกค้าเติบโตอย่างยั่งยืน

X

Right Click

No right click