January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 807

บริษัททั่วโลกรวมทั้งในไทย เผชิญปัญหาการใช้นวัตกรรมกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ

July 21, 2017 2426

PwC เผย 54% ของบริษัททั่วโลกเผชิญปัญหาการเชื่อมโยงนวัตกรรมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ

รายงานล่าสุด PwC Innovation Benchmark ที่ทำการสำรวจผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 1,200 คนทั่วโลก วิเคราะห์ถึงความท้าทายด้านนวัตกรรมที่บริษัทชั้นนำกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน พบว่าบริษัททั่วโลกกำลังประสบปัญหาในการเตรียมความพร้อมด้านนวัตกรรม โดยมีความเสี่ยงทางธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์เป็นเดิมพัน

ทั้งนี้  บริษัทส่วนใหญ่ หรือ 54% กำลังประสบปัญหาในการกำหนดกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของตน ทำให้ธุรกิจหลายรายยังคงมืดแปดด้านและลังเลว่า ตนควรจะลงทุนและพัฒนานวัตกรรมในด้านใด

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นด้วยว่า แท้ที่จริงแล้ว “กลยุทธ์” ไม่ใช่ “ขนาดของเงินลงทุน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยกำหนดความสำเร็จในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมขององค์กร

“จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำองค์กรจะต้องแก้ปัญหาความท้าทายด้านนวัตกรรมอย่างตรงจุด แต่บ่อยครั้งเราจะพบว่า ผู้บริหารยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไรและตรงไหนก่อน”

 นาย โวลเกอร์ สต๊าก ผู้ร่วมเขียนรายงาน และ หัวหน้าสายงานฝ่ายนวัตกรรม ประจำโกลบอลและสหรัฐอเมริกา บริษัท Strategy& ของ PwC กล่าว

“รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องดังกล่าวของผู้บริหารทั่วทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยช่วยหาทางออกในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เชื่อมโยงและสอดคล้องไปกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ส่งผลให้ผลประกอบการดำเนินไปสู่ความสำเร็จในที่สุด”

รายงานยังศึกษาถึงวิธีการที่หลากหลายในการเข้าถึงแนวคิดและรูปแบบด้านนวัตกรรมที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยพบว่า ในภาพรวมนั้นบริษัทต่างๆ มีการประยุกต์ใช้รูปแบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open innovation model) ที่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายจากพนักงานในทุกระดับและสายงานมากขึ้น

ซึ่งนี่ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ แต่ยังเป็นการเสริมสร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ ในปัจจุบันธุรกิจต่างมอง “ลูกค้า” เสมือนเป็น “หุ้นส่วน” ขององค์กรมากขึ้น โดยลูกค้าจะช่วยให้ธุรกิจสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนเกิดการปฏิวัติด้านนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ผลการศึกษาจากรายงาน Innovation Benchmark ของ PwC ยังพบประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ผู้นำองค์กรมีความเชื่อมั่นต่ำต่อความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของบริษัท โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามเพียง 1ใน 4 เท่านั้นที่เชื่อว่า บริษัทของพวกเขาเป็นผู้นำที่เหนือคู่แข่งในด้านนวัตกรรม
  • บริษัทต่างๆ กำลังประยุกต์ใช้รูปแบบนวัตกรรมแบบเปิดมากขึ้น ปัจจุบันองค์กรที่เป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมต่างกำลังผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทั้งจากภายในและภายนอกขององค์กร โดยลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคขององค์กรในด้านต่างๆ เพื่อเปิดรับความคิด ข้อมูลเชิงลึก ดึงดูดบุคลากรคุณภาพ และเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ 61% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า บริษัทของตนมีการใช้รูปแบบนวัตกรรมแบบเปิด ตามมาด้วย การคิดเชิงออกแบบที่ 59% การสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับลูกค้า คู่ค้า หรือ ผู้ค้าที่ 55% โดยทั้งหมดยังนำหน้าการวิจัยและพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ 34%
  • มนุษย์: “ดิ เอ็กซ์แฟกเตอร์” ของนวัตกรรม แม้การใช้ข้อมูลจากบิ๊กดาต้าจะช่วยให้เข้าใจถึงพฤติกรรมบางอย่างของกลุ่มลูกค้า แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงต้องอาศัยความสามารถของมนุษย์ในการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมนั้นๆ สะท้อนได้จาก 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามต่างระบุว่า พนักงานของพวกเขา คือ หุ้นส่วนที่สำคัญที่สุดในการสร้างนวัตกรรมขององค์กรอย่างแท้จริง
  • การออกแบบพัฒนานวัตกรรมยุคใหม่ 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า บริษัทของพวกเขามุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เป็นหลัก

ด้าน นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “องค์กรไทยส่วนใหญ่ก็กำลังประสบปัญหาในการพัฒนานวัตกรรมเช่นเดียวกับทั่วโลก โดยหลักๆ คือ ผู้นำองค์กรไม่รู้ว่า ควรพัฒนานวัตกรรมรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม และสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้ ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่จะมีความพร้อมด้านเงินทุนและบุคลากรในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น วัฒนธรรมองค์กร และ กระบวนการทำงาน จึงทำให้ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ หันไปร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ หรือตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น เพราะสตาร์ทอัพมีความคล่องตัวในการทำงานและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วกว่า แต่อย่างไรก็ดี เรายังพบว่า องค์กรขนาดใหญ่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมเหล่านั้นมาต่อยอดธุรกิจ หรือขยายขนาดของนวัตกรรมให้ใหญ่ขึ้นเท่าที่ควร เนื่องจากเรื่องดังกล่าว ต้องใช้ทักษะจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เฉพาะเข้ามาช่วยในการวางแผน ซึ่งในขั้นตอนนี้ เราเห็นกระแสของการที่บริษัทไทยส่วนใหญ่หันมานิยมจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจเข้ามาช่วยวางแผนมากขึ้นเป็นลำดับ”

X

Right Click

No right click