EIC คาดเศรษฐกิจไทยปี 2023 อาจไม่สดใสมากจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความไม่แน่นอนรอบด้าน

November 22, 2022 3845

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการ EIC คาดเศรษฐกิจไทยปี 2023 อาจไม่สดใสมากจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความไม่แน่นอนรอบด้าน

KEY SUMMARY

เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสสาม

เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกันที่ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐาน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2021 ยังเผชิญมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 เข้มงวด และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามขยายตัวถึง 1.2% หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ_sa) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน กอปรกับภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวดีตามการเปิดเมืองและเปิดประเทศ ส่งผลให้ในภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2022 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.1%

หากพิจารณากิจกรรมเศรษฐกิจด้านภาคการผลิต (Production approach) พบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวจากเดิมที่หดตัวในไตรมาสก่อน ภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกับการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาคการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐ ประกอบกับการหดตัวของภาคเกษตรตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022

EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยราว 10.3 ล้านคนในปี 2022 จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง High season นักท่องเที่ยวจากประเทศเมืองหนาวจะเดินทางมาไทย อีกทั้ง จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเองก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการในภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การฟื้นตัวของภาคบริการท่องเที่ยวมีส่วนสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนเติบโตดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น สำหรับการส่งออกสินค้าในช่วงท้ายปีอาจได้รับอานิสงส์จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และวัตถุดิบที่เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในช่วงท้ายปี ด้านความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีน้อยลงจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเต็มจำนวนแล้ว และเหลือเพียงราว 42,000 ล้านบาทที่รอเบิกจ่าย

EIC คาดเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนรอบด้านกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปี 2023

สำหรับปี 2023 EIC คาดเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตดีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาหลายมิติ รวมถึงตลาดสำคัญในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้และกลางปีหน้า ตามลำดับ ส่งผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในส่วนที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก สำหรับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังทำให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

เศรษฐกิจไทยในปี 2023 จะมีการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน เช่น ความไม่แน่นอนของจีนในการผ่อนคลายมาตรการ Zero covid ที่อาจใช้เวลานานกว่าคาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยน้อยลงและช้าลง รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายช้าลง ภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในช่วงต้นปี 2023

KEY POINTS

เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามของปี 2022 ขยายตัว 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) 

หรือคิดเป็น 1.2% เทียบกับไตรมาสก่อน หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ_sa) ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ 2.5%YOY หรือ 0.7%QOQ_sa

ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) องค์ประกอบส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่แรงส่งจากภาครัฐลดลง

  • การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวมากถึง 9% เร่งตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส และขยายตัวทุกหมวดสินค้า จากภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน การดำเนินชีวิตที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น แนวโน้มการท่องเที่ยวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมาก รวมถึง
    ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม มีแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และพลังงาน
  • การลงทุนภาครัฐหดตัว -7.3% ต่อเนื่องจากการหดตัว -9% ในไตรมาสก่อน จากการลงทุนของรัฐบาลที่หดตัว -11.8% ในขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังขยายตัวได้ 1.1% โดยในไตรมาสนี้ การลงทุนภาครัฐหดตัว
    จากด้านเครื่องจักรเครื่องมือ -11.6% จากการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ที่ลดลง อีกทั้ง รัฐวิสาหกิจบางแห่งลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือลดลง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
    บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการประปานครหลวง สำหรับการลงทุนก่อสร้างขยายตัว 5.9% ชะลอลงจาก 6.6% ในไตรมาสก่อน
  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวมากถึง 11% เร่งตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส จากการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือที่ขยายตัว 13.9% โดยขยายตัวดีในหมวดยานยนต์และเครื่องใช้สำนักงาน (คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร) ขณะที่การลงทุนก่อสร้างพลิกกลับมาขยายตัว 2% หลังจากหดตัว
    -1.3% ในไตรมาสก่อน จากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวต่อเนื่อง
  • การบริโภคภาครัฐหดตัว -0.6% หลังจากที่ขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงในช่วงสองไตรมาสก่อน การหดตัว
    ในไตรมาสนี้เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการที่หดตัว -7.8% อีกทั้ง การโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการชะลอตัวเหลือ 9.9% จากที่ขยายตัว 17% ในไตรมาสก่อน
  • ปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัว 2.7% แม้ขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 7 แต่ก็เป็นอัตราการเติบโต
    ที่ชะลอที่สุดในรอบ 7 ไตรมาสเช่นกัน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีจากการส่งออกน้ำตาลทราย แผงวงจรรวม เครื่องปรับอากาศ รถบรรทุก ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักร ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรลดลงจากการส่งออกผลไม้เป็นสำคัญ สำหรับสินค้าเกษตรสำคัญอื่นหลายสินค้ายังขยายตัวได้
  • ปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวเร่งกว่าการส่งออกอยู่ที่ 8% โดยเร่งตัวจาก 7.1% ในไตรมาสก่อน โดยการนำเข้าสินค้าในไตรมาสนี้ขยายตัวทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบ สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การนำเข้าทองคำขยายตัวสูง อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักร
  • การส่งออกภาคบริการขยายตัว 87% เร่งตัวขึ้นจาก 54.3% ในไตรมาสก่อน จากรายที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว รวมถึงรายรับจากค่าบริการอื่น ๆ ทางธุรกิจที่ขยายตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่การนำเข้าบริการขยายตัว 8.9% ด้วยสาเหตุเดียวกัน
  • มูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น 216,443 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อน ในไตรมาสนี้การสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่สินค้าเกษตรและเหมืองแร่สะสมสินค้าคงคลังลดลง โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่อยู่นอกฤดูกาลเก็บเกี่ยวและข้าวสารที่มีผลผลิตลดลง อีกทั้ง มีการบริโภคในประเทศและการส่งออกที่มากขึ้น

ในด้านการผลิต (Production approach) เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคบริการ อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ขณะที่ภาคเกษตรหดตัว

  • ภาคการเกษตรหดตัว -2.3% หลังจากขยายตัว 4.4% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิต
    มันสำปะหลัง ผลไม้ (โดยเฉพาะทุเรียนและสับปะรด) และประมง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุทกภัยในหลายพื้นที่ ขณะที่ผลผลิตข้าว ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์เพิ่มขึ้น
  • ภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัว 4.7% หลังจากหดตัว -1.8% ในไตรมาสก่อน โดยสาขาการผลิตอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัวมากถึง 6.3% ตามการขยายตัวของอุปสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศ
    ขณะที่สาขาเหมืองแร่และเหมืองหินหดตัวต่อเนื่อง -14.8% จาก -22.4% ในไตรมาสก่อน โดยการผลิตลดลงหลักทุกรายการ ทั้งแร่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ หิน ทราย และดิน
  • ภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้น 5.3% จาก 4.5% ในไตรมาสก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวสูง โดยสาขาที่พักแรมและอาหารขยายตัวได้ถึง 53.6% ตามด้วยสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าที่ขยายตัว 9.9% และสาขาข่าวสารและการสื่อสารที่ขยายตัว 4.9% อย่างไรก็ตาม สาขาการก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง -2.8% จาก -4.5% ในไตรมาสก่อน จากการก่อสร้างถนน สะพาน อาคารของภาครัฐที่ลดลง ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนปรับดีขึ้น
IMPLICATIONS

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2022 ฟื้นตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2022 ขยายตัวต่อเนื่องสี่ไตรมาสติดต่อกันที่ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐาน เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสสามของปี 2021 ที่เผชิญวิกฤตโควิดจนต้องปิดเมืองและปิดประเทศจากนโยบายควบคุมการระบาดเข้มงวด หากพิจารณาการขยายตัวเทียบกับเดือนก่อนหลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ_sa) พบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.2% เร่งขึ้นจาก 0.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่เดิมซบเซาจากการระบาดของโควิดและมาตรการควบคุมโรคได้ฟื้นตัวขึ้นมากตามการเปิดเมืองและเปิดประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและจำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยมากถึง 5.7 ล้านคน และ 144.5 ล้านคน เทียบกับ 85,000 คน และ 40 ล้านคนใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2021 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา แรงสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ในไตรมาสนี้แรงสนับสนุนจากภาครัฐแผ่วลงตามเม็ดเงินที่มีจำกัดมากขึ้น

หากพิจารณาฝั่งการผลิต (Production approach) พบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวได้จากเดิมที่หดตัวในไตรมาสก่อน ภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและขยายตัวเร่งขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาคก่อสร้างยังคงหดตัวตามการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลง ประกอบกับการหดตัวของภาคเกษตรตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและกระทบการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่ง

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 นำโดยภาคการท่องเที่ยว EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยราว 10.3 ล้านคน ตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) การทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก อีกทั้ง จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเองก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเป็น 202.4 ล้านคนในปี 2022 ทั้งนี้คาดว่าในไตรมาส 4 ผู้เยี่ยมเยือนไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วง High season โดยจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานจะเป็นจุดหมายที่ดึงดูดผู้เยี่ยมเยือนไทยได้ดีในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ภาคบริการ โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง การบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานกลับมาเป็นปกติมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าแม้อาจได้รับอานิสงส์จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และวัตถุดิบ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย แต่ในภาพรวมมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อีกทั้ง เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเต็มจำนวนแล้ว และรอเบิกจ่ายอีกราว 42,000 ล้านบาท

EIC คาดเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนรอบด้านกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปี 2023 สำหรับปี 2023 EIC คาดเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง (รูปที่ 5) เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศจากการส่งออกที่ชะลอลง และปัจจัยภายในประเทศจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ซบเซาและฟื้นตัวช้า รวมถึงตลาดสำคัญทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้และกลางปีหน้า ตามลำดับ ส่งผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ด้านแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะมีน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังทำให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในปี 2023 ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ปรับสูงขึ้นและความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเศรษฐกิจไทยจะได้ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ แต่ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน

เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำจากปัจจัยภายนอกประเทศเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป โดยเฉพาะในปี 2023 ได้แก่ (1) เศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย (2) การใช้นโยบาย Zero covid ของจีนที่อาจยาวนานกว่าคาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยได้น้อยลงและช้าลง รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายได้ช้าลง (3) ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง (4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ (5) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในช่วงต้นปี 2023 รวมถึงภาระทางการคลังที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายอุดหนุนต่าง ๆ ภายหลังการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการใช้มาตรการการพยุงค่าครองชีพเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ EIC กำลังติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ และจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

 

บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/gdp-21112022 


ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์

ดร. ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์, นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


วิชาญ กุลาตี, นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

X

Right Click

No right click