เทคโนโลยีจำนวนมากที่เคยถูกมองว่าไม่จำเป็นหรือมีความสำคัญเพียงเล็กน้อย วันนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับทั้งคนทั่วไปและองค์กรต่างๆ ที่พยายามสร้างสภาวะปกติในชีวิตประจำวัน ขณะที่ยังคงปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ของโรคระบาด
ข้อมูลและความเห็นจางานเสวนา Technology for Change Week Asia ที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งจัดโดยนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ผู้นำจากหลากหลายอุตสาหกรรมรวมทั้งบริษัทเทนเซ็นต์ องค์กรภาครัฐของประเทศสิงคโปร์ Infocomm Media Development Authority (IMDA) กลุ่มบริษัท Unreasonable Group และกองทุน The Commons Project ได้มาร่วมกันพูดคุยในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค และบทบาทของเทคโนโลยีที่จะคงยังมีความสำคัญต่อไปในยุคหลังการแพร่ระบาด
งานเสวนา “Bytes don’t kill people – is tech a force for good?” ได้พูดคุยเชิงลึกถึงปัญหาต่างๆ รวมทั้งยกตัวอย่างที่ผู้คนและองค์กรต่างพากันเปิดรับเทคโนโลยีด้วยความรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยังได้ผลลัพธ์ที่ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี
ปฎิรูปการศึกษา
ภาคส่วนที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากการเปิดรับเทคโนโลยีในช่วงการแพร่ระบาดคือภาคการศึกษา จากรายงานขององค์การยูนิเซฟซึ่งได้เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า จากการที่โรงเรียนปิดการเรียนการสอนไปเกือบหนึ่งปีเต็มสืบเนื่องจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้มีนักเรียนได้รับผลกระทบกว่า 168 ล้านคน นอกจากนี้ เด็กอีกประมาณ 214 ล้านคนทั่วโลก หรือเทียบเท่ากับ 1 ใน 7 ของเด็กจากทั่วโลก ยังพลาดการเรียนในชั้นเรียนมากกว่า 3 ใน 4 ครั้ง[1]
และเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ภาคการศึกษาจึงได้จัดทำการเรียนการสอนในรูปแบบดิจิทัลเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนหนังสือได้ต่อไป ภายในงานเสวนาซึ่งจัดโดย ดิอีโคโนมิสต์ คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้จัดการทั่วไปของกลุ่มธุรกิจต่างประเทศเทนเซ็นต์ ได้กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาคือกุญแจสำคัญในการปรับเครื่องมือการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้สึกใกล้เคียงกับการเรียนแบบปกติให้มากที่สุด เครื่องมือเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกจำกัดการใช้เพียงเพื่อการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียวแบบที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว
“ตอนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคครั้งแรก เทนเซ็นต์ตระหนักทันทีว่า เราจะต้องนำเทคโนโลยีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ Tencent Meeting (หรือ Tencent VooV Meeting ในตลาดนอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่) มาปรับใช้กับระบบ Smart Classroom Solutions สำหรับโรงเรียน ทำให้เราสามารถช่วยให้ครูและนักเรียนกลับมาทำการเรียนการสอนได้ในทันที สิ่งนี้สอดคล้องกับพันธกิจ Value for Users, Tech for Good ของเรา และ Tencent Education Platform นี้ก็ได้แก้ปัญหาให้กับครูและนักเรียนในประเทศจีนนับล้านคนในช่วงที่มีการแพร่ระบาด” คุณกฤตธีกล่าว
ความสำคัญของเทคโนโลยีในยุคหลังการแพร่ระบาด
เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามผ่านความท้าทายต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค คุณกฤตธี เชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมสังคมควบคู่ไปกับการที่ทุกคนกำลังปรับตัวกับวิถี New Normal
“เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบดิสรัปชั่นเสมอไป ที่จริงแล้ว นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสามารถทำให้การสื่อสารและการแบ่งปันกลายเป็นเรื่องที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เทนเซ็นต์หวังว่า เราจะได้ทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยดิจิทัล” ในการมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับชีวิตผู้คน และช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่าน พร้อมยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดต่อไป” คุณกฤตธี กล่าวเสริม
ในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรค คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ได้ช่วยเสริมความคล่องตัวให้กับธุรกิจพร้อม รองรับการขยายตัว และควบคุมงบประมาณ และอีกไม่นาน เทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของทั้งธุรกิจและประเทศต่างๆ นอกจากนี้ คุณกฤตธี ยังเสริมว่า การทำงานนอกออฟฟิศจะกลายเป็นกิจกรรมปกติ เพราะหลายบริษัทได้เห็นแล้วว่า การประชุมไม่จำเป็นต้องเจอกันทุกครั้งไป เทรนด์ต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลจะกลายมาเป็นเรื่องปกติธรรมดา
“ท้ายที่สุดแล้ว นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ยึดตามผู้ใช้เป็นหลักจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราจะแสวงหาสิ่งที่สะดวกที่สุดและได้ผลดีที่สุด และถึงแม้ผมจะชื่นชอบการเดินทางเพื่อไปทำธุรกิจมากเพียงใด ผมก็เชื่อว่าการประชุมแบบ virtual จะสร้างประสิทธิภาพและผลงานให้กับธุรกิจได้อย่างดีต่อไปเช่นกัน และตราบใดที่เรายึดมั่นในหลักการ ‘Tech for Good’ ผมเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ผ่านเทคโนโลยี เพื่อสังคมที่ดีกว่าเดิม” คุณกฤตธี กล่าวปิดท้าย