November 08, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

Blendata ผนึก TGGS ยกระดับวงการ Big Data ไทย มุ่งสร้างบุคลากรคุณภาพดันซอฟต์แวร์ประเทศสู่มาตรฐานโลก

June 09, 2022 2459

 

 

เบลนเดต้า (Blendata) บริษัทด้าน Deep Technology ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการ Big Data อัจฉริยะ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (มจพ.) หรือ TGGS ยกระดับการศึกษา การวิจัย และการสรรหาบุคลากร ด้านเทคโนโลยี Big Data โดย Blendata เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทดลองปฏิบัติงานจริง พร้อมมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอดการทำวิทยานิพนธ์ อีกทั้งยังเปิดให้เข้าทัศนศึกษาและดูงาน นอกจากนี้ยังมีการทำข้อตกลงในการทำวิจัยร่วมกัน และ Blendata ยังสนับสนุนทุนการศึกษาและทุนวิจัยรวมกว่า 6 ล้านบาท หนุนศักยภาพบุคลากรไทย เพิ่มองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรมระบบ การประมวลผลประสิทธิภาพสูง (HPC) การประมวลผลแบบขนาน และการบริหารจัดการข้อมูล มุ่งสร้างซอฟท์แวร์ไทยได้คุณภาพมาตรฐานสากล

นายณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เบลนเดต้า จำกัด บริษัทด้าน Deep Technology ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการ Big Data เปิดเผยว่า ปัจจุบัน Big Data เป็นเมกะเทรนด์ของโลก องค์กรทั่วโลกต่างมองหาเทคโนโลยีที่ช่วยในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer architecture) การประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High-performance computing) การประมวลผลแบบขนาน (Parallel computing) การบริหารจัดการข้อมูล (Data management) รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบค้นข้อมูล (Query optimization) โดยวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วประเทศไทยยังต้องพึ่งพาซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้งาน เข้าถึงได้ยาก มีราคาสูง และเป็นเพียงผู้ใช้เท่านั้น Blendata ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีสัญชาติไทยในด้านนี้ เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีความต้องการยกระดับการศึกษาและการวิจัย ด้านเทคโนโลยี Big Data สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งเสริมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มาร่วมกันพัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีฝีมือคนไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานให้สามารถออกไปยืนบนตลาดโลกได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ Blendata ที่ต้องการสร้าง Ecosystem ด้าน Big Data แบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การวางกลยุทธ์ พัฒนาความสามารถของแพลตฟอร์ม บริหารจัดการความปลอดภัยในข้อมูล บริการด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เพื่อนำข้อมูลไปต่อยอด รวมถึงสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญสู่สายงาน Big Data เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับวงการธุรกิจ 

Blendata ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (มจพ.) หรือ TGGS ใน 6 ด้าน ดังนี้

  1. ร่วมมือกันส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการสรรหาบุคลากร ด้าน Big Data โดยทางมหาวิทยาลัยจะจัดหาศาสตราจารย์และบุคลากรที่มีประสบการณ์ เพื่อช่วยในการทำวิจัยและให้ความรู้แก่นักศึกษา รวมทั้งทาง Blendata จะจัดหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปช่วยให้ความรู้และคำแนะนำแก่นักศึกษาเช่นเดียวกัน
  2. เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทดลองปฏิบัติงานจริงที่บริษัทฯ โดยนักศึกษาจะได้ฝึกลงสนามการทำงานจริงและได้เรียนรู้ทักษะอย่างเต็มที่ โดยมีพนักงานของ Blendata คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานหลังจบการศึกษา ช่วยให้นักศึกษามีสถานที่ทำงานรองรับ และนำความรู้มาพัฒนาเทคโนโลยีในด้าน Big Data ร่วมกับ Blendata ต่อไป
  3. มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอดการทำวิทยานิพนธ์หรือบทความวิจัย เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจถึง Pain Point ในการทำ Big Data อย่างแท้จริง จากประสบการณ์ของ Blendata ซึ่งได้ร่วมงานกับธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยนักศึกษาจะได้นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและร่วมกันสร้างเทคโนโลยี Big Data ที่มีประสิทธิภาพ
  4. เปิดให้นักศึกษาและบุคลากรเข้าทัศนศึกษาและดูงานที่บริษัทฯ เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดการทำงาน รวมทั้งสามารถขอคำแนะนำจากพนักงานเบลนเดต้าที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาได้โดยตรง
  5. Blendata และ TGGS ร่วมมือกันทำวิจัย ในหัวข้อเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ Distribute file system for decoupled compute & storage architect, High performance Query engine for big data workload, Disaggregated memory และ HW-SW co-design for serverless เป็นต้น ซึ่ง Blendata ได้ให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาและแนะนำจากพนักงานผู้เชี่ยวชาญของ Blendata สนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าลงทะเบียนตีพิมพ์งานวิจัย ค่าใช้จ่ายในกรณีนำเสนองานวิจัยในงานประชุมเชิงวิชาการและตีพิมพ์งานวิจัย รวมทั้งสนับสนุนด้านอุปกรณ์การทำงานและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยหลังจากการทำวิจัยเสร็จสิ้น Blendata จะนำผลการวิจัยไปต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ต่อไป
  6. สนับสนุนทุนการศึกษาและทุนวิจัยชั้นปริญญาโทและปริญญาเอก ให้กับคณะวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ปริญญาโท ทุนเต็มจำนวน 2 ทุน แบบให้บางส่วน 2 ทุน และ 2. ปริญญาเอก ทุนเต็มจำนวน 2 ทุน แบบให้บางส่วน 2 ทุน ซึ่งทุกทุนการศึกษาจะมีการสนับสนุนเงินเดือน (Stipend) จำนวน 15,000 บาท สำหรับทุนเต็มจำนวน และ 7,500 บาทสำหรับทุนแบบให้บางส่วน ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ร่วมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัย เช่น ค่าเข้าร่วมงานประชุมเชิงวิชาการหรือเวทีวิชาการต่าง ๆ ค่าเข้าร่วมนำเสนอโครงการวิจัยและตีพิมพ์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์และค่าจ้างบุคลากรสำหรับโครงการวิจัยในหัวข้ออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ 

จากความร่วมมือทั้งหมดนี้ Blendata และ TGGS มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะมุ่งสร้างบุคลากรด้าน Big Data Technology ป้อนตลาด ด้วยเล็งเห็น Pain Point บุคลากรไทยยังขาดองค์ความรู้ดังกล่าว เป้าหมายเพื่อให้ซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีไทยมีคุณภาพเทียบเท่าหรือสูงกว่ามาตรฐานสากลนายณัฐนภัส กล่าว 

ด้านศาสตราจารย์ ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) กล่าวว่า หลักสูตรของเรา มุ่งเน้นให้มีการเรียนการสอนแบบสหกิจศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการผลิตวิศวกรไทยให้มีความรู้ความสามารถตรงตามสาขา เน้นการวิจัยและพัฒนางานวิจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ปรับปรุงกระบวนการ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ และการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ ภายใต้ปรัชญา การศึกษาขั้นสูงเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจและความสามารถในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและระบบซอฟต์แวร์ 

จากความร่วมมือกับ Blendata ทาง TGGS มีความคาดหวังและมีเป้าหมายในการสร้างบุคลากร ด้านสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรมระบบ การประมวลผลประสิทธิภาพสูง (HPC) การประมวลผลแบบขนาน และการบริหารจัดการข้อมูล รวมทั้งต้องการสร้างเครือข่ายการทำงานหลังจบการศึกษา และสร้างโอกาสในการทดลองงานให้กับนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนด้านทรัพยากรจาก Blendata ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การทำงาน และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งสนับสนุนการตีพิมพ์และนำเสนอโครงการวิจัยในงานประชุมเชิงวิชาการหรือเวทีวิชาการต่าง ๆ อีกด้วย 

นิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเงื่อนไข และสมัครได้ที่ https://forms.gle/uDz6phuQyiHwDwVa6 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึง 31 ตุลาคม 2565 นี้

X

Right Click

No right click